เปิดใจอดีต รปภ.สุดเก่ง! สอบติดทั้งตำรวจและอัยการ เผยเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ความพยายาม 10 ปีที่ไม่สูญเปล่า...
เป้าหมายชัดเจน-วางแผนเป็นระบบ-ทำตามอย่างเคร่งครัด นี่คือ 3 กลยุทธ์ ที่ 'นายผดุงเกียรติ พรหมแก้ว' หรือ 'มิ้น' อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด เพื่อมุ่งทำตามฝันสู่พนักงานอัยการ
ความพยายามตลอด 10 ปี ตั้งแต่ความฝันชัดเจน วันนี้ ผดุงเกียรติ ผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ. 2565 (สนามใหญ่) ได้ลำดับที่ 47 กลุ่มที่ 1 นี่คือการสอบครั้งแรกของเขา และมิ้นก็สามารถเดินทางตามฝันได้ในวัย 29 ปี
'อัยการมิ้น' เผยความรู้สึกกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า หลังจากรู้ผลว่า 'สอบผ่าน' ตนรู้สึกดีใจมากที่ทำตามความฝันสำเร็จ นี่คือปลายทางของความพยายามตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำแหน่ง 'พนักงานอัยการ' ที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป...
...
จุดประกายฝัน :
เรื่องราวความสำเร็จของ ผดุงเกียรติ ต้องย้อนกลับไปเมื่อ ปีการศึกษา 2556 ครั้งยังเป็นศิษย์ปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แรงบันดาลใจสู่เส้นทาง พนักงานอัยการ เริ่มต้นขึ้น เมื่อมีอาจารย์ที่เป็นพนักงานอัยการ เช่น อาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม มาบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัย
บทบาทหน้าที่ และเรื่องราวของพนักงานอัยการ ที่ถูกบรรยายถ่ายทอดผ่านอาจารย์ระดับประเทศ ทำให้มิ้นรู้ว่า อัยการ มีอะไรให้ทำมากกว่าการว่าความในศาล ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย หรือหน้าที่ต่างๆ ที่ถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ
เรื่องเหล่านั้นจุดประกายฝันให้ มิ้น เลือกและมุ่งมั่นสู่เส้นทางพนักงานอัยการ...
เป้าหมายชัดเจน :
ผดุงเกียรติ บอกว่า การมีเป้าหมายชัดเจน จะทำให้ไม่หลงทาง และเดินสู่เส้นทางนั้นได้ดี แต่ถ้าเป้าหมายไม่ชัด อาจจะหลงทาง และไปถึงเป้าหมายได้ช้าลง หรืออาจจะไม่ถึงก็ได้...
อย่างไรก็ตาม เขาก็มองว่า คนที่ยังไม่มีเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องผิด... "เป็นเรื่องปกติที่คนเราอาจจะยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ถ้าวันหนึ่งเราเจอสิ่งที่ชอบจริงๆ เราก็จะใฝ่หา พยายาม ทำเพื่อไปถึงจุดนั้นให้ได้"
ชัดเจน และลงมือทำ :
อัยการมิ้น เล่าว่า หลังจากตั้งใจจะเดินเส้นทางนี้ จึงเริ่มวางแผนพัฒนาตัวเอง และหาความรู้เพิ่มเติมว่า การเป็นพนักงานอัยการต้องมีคุณสมบัติอย่างไร สอบอะไร และเนื้อหาที่สอบใช้อะไรบ้าง หลังจากการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้น ทำให้เขารู้ว่าสายงานนี้ "ต้องใช้เวลายาวนานมากในการเตรียมตัวและอ่านหนังสือสอบ"
ผดุงเกียรติบอกกับทีมข่าวฯ ต่อว่า หลังวางแผนเรียบร้อย ก็เริ่มมองหางานที่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวไว้ด้วย ซึ่งโดยปกติตนนั้นจะอ่านหนังสือตอนกลางคืน สมัยเรียน ป.ตรี ได้ไปอ่านหนังสือที่มหาวิทยาลัยช่วงเย็น และกลับอีกทีตอนเช้า ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตการทำงานของ รปภ.ในเวลากลางคืน ที่เน้นการรักษาความปลอดภัยมากกว่าการบริการ
เขาจึงมองว่า นั่นเป็นข้อดี ที่ทำให้งาน รปภ.ช่วงกลางคืนมีเวลาว่าง และเริ่มสนใจที่จะใช้โอกาสจากข้อดีตรงนั้น มาเป็นอาชีพสร้างรายได้ และจะได้มีเวลาอ่านหนังสืออีกด้วย
...
รปภ. จุดเปลี่ยนสำคัญ สู่ความสำเร็จ :
เมื่อ อัยการมิ้น เริ่มเห็นหนทางแห่งโอกาสของเวลาและอาชีพ หลังศึกษาจบปริญญาตรี จึงเข้าไปพูดคุยรายละเอียดของอาชีพ รปภ. หลังจากตัดสินใจสมัครเป็น รปภ. คณะมนุษยศาสตร์ ก็ได้ถูกส่งไปฝึกจนกระทั่งกลับมาเข้าเวรประจำที่คณะฯ ตั้งแต่เวลา 19.00-07.00 น.
"การเป็น รปภ. คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสอบได้" นี่คือข้อเน้นย้ำที่เขายืนยันกับทีมข่าวฯ เพราะการสอบอัยการต้องอ่านหนังสือเยอะ และต้องมีเวลาอ่าน เพราะแม้ว่าจะสอบผ่านเกณฑ์ แต่ถ้าไม่ใช่ 150 คนแรก ความฝันของเขาก็จะต้องเริ่มต้นใหม่ ดังนั้น การทำหน้าที่ตรงนี้ จึงทำให้เขามีเวลาทบทวนตำรามากพอ และอาชีพนี้สร้างรายได้ให้เขาอีกด้วย
เขาใช้เวลาว่างระหว่างการตรวจตราความปลอดภัย เพื่ออ่านหนังสืออย่างหนัก และตั้งใจว่า "หากสอบไม่ผ่าน ก็จะสอบใหม่ เพราะนี่คือความฝัน และเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องสอบให้ได้"
...
คนรอบข้างสำคัญมาก :
"คนรอบข้างเข้าใจนั้นสำคัญมาก" นี่เป็นอีกข้อที่ทำให้ 'มิ้น' ได้เป็น 'อัยการมิ้น' สมดั่งฝัน เขามีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน ผู้บังคับบัญชา หรืออาจารย์ ครั้งยังทำงานที่ตึกคณะมนุษยศาสตร์ อาจารย์และเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจและให้โอกาสเขา แม้จะอ่านหนังสือในเวลางานก็ไม่ว่า ขอเพียงทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
"บางคนเขาอาจจะมองว่างาน รปภ. ไม่มีเกียรติ หรืออะไรก็ตาม แต่คนที่รู้จักกับเรา เขาเข้าใจ และให้กำลังใจเรา เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ถ้าเราไม่มีคนให้กำลังใจเลย ก็อาจจะเหนื่อย หมดไฟ และล้มเลิกไปในที่สุด แค่คิดว่ามีคนคอยให้กำลังใจในวันที่เหนื่อย ก็เหมือนเป็นแรงให้ก้าวสู่เป้าหมายต่อไป" อัยการมิ้นกล่าว
นายร้อยตำรวจ พนักงานสอบสวน ปมในใจของวัยเด็ก :
ในปี พ.ศ. 2561 นอกจากอัยการของเราจะสอบใบอนุญาตว่าความแล้ว ยังสอบได้ 'นายร้อยตำรวจ พนักงานสอบสวน' อีกด้วย อย่างไรก็ตามเขาเลือกที่จะสละสิทธิ์ เพราะมีเป้าหมายแน่วแน่ จึงทำงานเป็น รปภ.ต่อ เพื่อเก็บเงินจำนวนหนึ่ง และเมื่อมีทุนเพียงพอ จึงขอพักงาน รปภ. 3 เดือน แล้วไปสมัครฝึกงานที่ 'สำนักงานสุรพงศ์อัมพันศิริรัตน์ทนายความ' และหวังว่าจะมีประสบการณ์ว่าความจนครบ 20 คดี เพื่อให้ผ่านเกณฑ์การสมัคร ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย
...
ที่ต้องบอกว่า 'ปมในใจ' เพราะอัยการมิ้นเปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า ประมาณ ม.3-ม.4 เคยไปสอบนายร้อยตำรวจ แต่สอบไม่ติด จึงกลายเป็นเหมือนความคาใจ เมื่อโตขึ้นจึงสอบใหม่อีกครั้งด้วยวุฒิเนติบัณฑิต และตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า หากสอบผ่านก็จะสละสิทธิ์ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อ 'ปลดล็อกตัวเองจากปมในใจ'
เทคนิคการอ่านหนังสือสอบ และแบ่งเวลา :
อัยการมิ้น ใช้หลักในการอ่านหนังสือ คือ "1 รายวิชา อ่านเล่มเดียว ให้เข้าใจทะลุปรุโปร่ง" เขาจะไม่อ่านหนังสือหลายเล่มในเรื่องและเวลาเดียวกัน ทำเช่นนี้ในทุกๆ วิชา
แต่ก็ไม่ใช่ว่าอ่านเล่มเดียวแล้วจบแบบไม่สนใจเนื้อหาอื่น หากหนังสือเล่มอื่นมีเนื้อหาไม่ตรงกับที่อ่าน หรือมีข้อกฎหมายที่ยังไม่มีในสรุป เขาก็จะอ่านเนื้อหาและนำมาเพิ่มในสรุปอีกครั้ง เมื่อเข้าใจเนื้อหาหมดแล้ว ก็จะพิมพ์สรุปรวบรวมเป็นหนังสือของตนเอง "สุดท้ายแล้วเราจะได้สรุปกฎหมายทุกเรื่องเป็นของเราเองสำหรับการใช้สอบ โดยเราจะไม่ใช้หนังสือต้นฉบับในการอ่าน" อัยการกล่าวกับเรา
อย่างที่บอกไปว่าอัยการของเรา เข้างาน 19.00 น. และเลิกงาน 07.00 น. ในช่วงการทำงานจะมีทั้งเวลาที่เดินตรวจตรา และนั่งเฝ้าประจำโต๊ะ เมื่อหักเวลาการเดินตรวจออกไป ก็ยังมีเวลาอ่านหนังสือเยอะพอสมควร
"ตอนเข้าเวร 19.00 น. ผมจะกินข้าวประมาณ 20 นาที พอไปตรวจอะไรเสร็จเรียบร้อย ก็จะมานั่งอ่านหนังสือ พอถึงเวลาตรวจอีกรอบก็เดินไปตรวจ ตลอด 12 ชั่วโมง มันก็จะวนแบบนี้ มีความเครียดวนเข้ามาบ้างตามปกติของคนทั่วไป แต่เราจะไม่ไปจมอยู่กับมัน"
คำแนะนำสู่เป้าหมาย :
อัยการมิ้น บอกว่า การสอบอัยการนั้นค่อนข้างท้าทาย ด้วยเนื้อหาที่เยอะ แต่เวลาน้อย ช่วงเวลากระชั้นชิด ต้องจำหลักกฎหมายได้ และใช้กฎหมายเป็น ต้องทำข้อสอบ 29 ข้อให้ทันตามเวลา จึงมีคำแนะนำ 3 ข้อ ที่เขายึดเป็นสิ่งสำคัญสู่หนทางของความสำเร็จ ดังนี้
1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน - มั่งมั่นต่อเป้าหมาย จดจ่อกับสิ่งที่ใช่เท่านั้น
2. วางแผนให้เป็นระบบ - จะช่วยให้ความสำเร็จง่ายขึ้น ไม่หลงทาง ไม่เสียเวลา
3. ทำตามแผนอย่างเคร่งครัด - มีวินัยในการปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ
"ตอนนี้สอบผ่านแล้ว ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป ส่วนเรื่องของตำแหน่งพนักงานอัยการ ก็ให้เป็นไปตามลำดับ โดยไม่ไปไขว่คว้าหาอะไร เพียงทำหน้าที่ให้เต็มความสามารถ แค่นี้ผมว่าก็พอแล้ว" อัยการมิ้นกล่าวทิ้งท้าย
เหตุการณ์และเรื่องราวดีๆ นี้ คงจะเข้ากับคำพูดที่เราเคยได้ยินผ่านหูกันมาว่า "ไม่สำคัญว่าคุณเคยเป็นใคร แต่สำคัญที่คุณเลือกเป็นใคร"
หวังว่าเรื่องราวนี้จะเป็นสื่อดี ส่งต่อพลังบวกแก่ผู้อ่านทุกท่าน ให้ดำเนินเดินตามฝันให้สำเร็จ ส่วนใครยังไม่มีฝันก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ค้นหาตัวเองต่อไป ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่า วันหนึ่งก็จะถึงเวลาของทุกคนเอง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :