เดิมพันสูง กับศรัทธาประชาชน ในห้วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกและประเทศ ประธาน ส.อ.ท. ยอมรับ เห็นใจ รัฐบาลเศรษฐา หลังเห็นชื่อ ครม.เศรษฐกิจ รับห่วงมือใหม่
เวลานี้ประเทศไทยได้รัฐบาลอย่างเต็มตัว มีนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย “เศรษฐา ทวีสิน” นักธุรกิจหมื่นล้าน มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมควบตำแหน่ง รมว.คลัง โดยมีทีมงาน “คณะรัฐมนตรี” หรือ ครม. มาช่วยบริหารประเทศ
แต่...เมื่อ ครม.เศรษฐา 1 คลอดออกมาแล้ว บางฝ่ายออกอาการ “ไม่ปลื้ม” เนื่องจากได้หน้าเก่าจากรัฐบาลเดิม หรือบางคนเป็น “มือใหม่” ถูกตั้งคำถามว่า จะไหวหรือ ในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะประเด็น “ปากท้อง” ซึ่งถือเป็นเรื่องด่วนที่สุด!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กับการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และรูปโฉม “ครม.เศรษฐกิจ” กับรัฐบาล “เศรษฐา 1”
...
เห็นใจ รัฐบาลเศรษฐา ห่วง “มือใหม่” คุมกระทรวงเศรษฐกิจ
นายเกรียงไกร มองว่า ตอนนี้ประชาชนคาดหวังกับรัฐบาล โดยอยากให้มี “ทีมเศรษฐกิจ” ที่เก่ง มีรองนายกฯ ที่ดูแล และกำหนดนโยบายให้ชัดเจน ส่วนตัวรู้สึก “เห็นใจ” เพราะ ครม.เศรษฐกิจ หลายกระทรวงฯ นั้นเป็น “มือใหม่” หลายคนไม่เป็นที่รู้จัก และเพิ่งมารู้จัก ทำให้เกิดความสงสัยกับความเชี่ยวชาญ
“ครม.เศรษฐา 1 มาจากพรรคร่วมรัฐบาลถึง 11 พรรค ถือว่าเยอะมาก สาเหตุเราคงทราบกันดีอยู่แล้ว ตามโครงสร้างทางการเมือง และรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้เป็นแบบนี้ ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับ “โควตา” ที่มาจากการเจรจา ข้อจำกัดเหล่านี้ คงทำให้ออกมาผสมอย่างที่เห็น (ครม.) และบางพรรคอาจไม่มีความพร้อมของบุคลากร แต่ว่าได้โควตา จึงต้องจัดสรรมาลงให้ได้ และต้องเลือกคนในพรรคก่อน...เรื่องนี้ไม่เป็นไร”
ประธาน ส.อ.ท. ระบุ ทุกคนยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคหลักตั้งรัฐบาล ถือว่ามีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และผลงานในอดีตที่ทุกคนเชื่อมือ โดยเป็นพรรคที่หานวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอตลอดกว่า 20 ปี และมองว่ายังเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย”
หนี้ครัวเรือนสูง ปากท้องต้องแก้ให้เร็ว เร่งลดค่าครองชีพ
นายเกรียงไกร ระบุว่า ความคาดหวังของประชาชนในเวลานี้มีมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจในมือพรรคเพื่อไทยจะกลับมาฟื้นฟู โดยเฉพาะปัญหา “ปากท้อง” ค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำ ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ร้อยละ 90.6 แล้ว ยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 19.6 ซึ่งหากรวม 2 หนี้ข้างต้นนี้ เท่ากับ 110 แล้ว นี่คือสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อน ทำอย่างไรให้การปรับโครงสร้างหนี้ของประชาชนเกิดขึ้นโดยเร็ว ทำอย่างไรให้หนี้นอกระบบ 19.6 ที่มีปัญหาเรื่อง “ดอกเบี้ยโหด” ที่มีการเก็บรายวัน ให้เข้าสู่ระบบเร็วที่สุด
“ต้องลดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงาน น้ำมัน และไฟฟ้า ให้เร็วที่สุด ซึ่งเท่าที่ได้ฟังนายกฯ เศรษฐา พูด บอกว่าจะทำเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งหวังว่าท่านจะทำทันที เพราะมันชักช้าไม่ได้ ถือเป็นการลดค่าครองชีพได้เร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการ “เพิ่มเงิน” ในกระเป๋าประชาชนทางอ้อม เหล่านี้คือสิ่งแรกๆ ที่ต้องทำ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ตามมายังมีอีกเยอะ เช่น การช่วย SMEs ช่วยเหลือแหล่งเงินให้เข้าถึงได้ การปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชน ที่ไม่สามารถขยายงานได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง “ภัยแล้ง” ที่อาจจะเป็นผลต่อเนื่องและยาวนาน"
...
เมื่อถามว่า หากจะให้คะแนนภาพรวม คะแนน ครม.เศรษฐกิจ นายเกรียงไกร รีบตอบทันทีว่า “อย่าให้คะแนนเลย”
สิ่งที่อยากจะบอก คือ อาจจะต้องให้เวลาหน่อย ปัญหาทางการเมืองจะถูกแก้ไข เมื่อได้บริหารสักระยะ ส่วนตัวเชื่อว่า เขาคงรู้อยู่แล้วว่ามีบางอย่างทำไม่ได้ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอาจจะมีการปรับ ครม. เพื่อความเหมาะสม
“ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รออยู่ข้างหน้า โดยมีประชาชนกำลังรอและคาดหวังกับ ครม.เศรษฐกิจไว้มาก...”
เมื่อถามว่า ห่วงกระทรวงใดที่สุด นายเกรียงไกร ยอมรับว่า หลายกระทรวง (เสียงอ่อยลง) แต่อยากจะให้เพื่อไทย ซึ่งมีจุดแข็งเรื่องเศรษฐกิจได้ทำงานก่อน ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่า สมัยก่อนมีการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจหลายเรื่องที่ถูกต่อต้าน แต่เมื่อทำจริงๆ ก็ “เวิร์ก” หลายเรื่อง
“ครั้งนี้เพื่อไทยเดิมพันสูงมาก เพราะมีการสลับ “ข้ามขั้ว” ด้วย ฉะนั้น สิ่งเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือ ผลงาน” นายเกรียงไกร กล่าว
นโยบายเรือธง! เงินดิจิทัล 10,000 ค่าแรง 600 บาท ป.ตรี 25,000 บาท
...
สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรงและเงินดิจิทัลนั้น ประธาน ส.อ.ท. ชี้ว่า หากมองจากนโยบายหาเสียง การขึ้นค่าแรงสำหรับเพื่อไทย มีความคล้ายกับก้าวไกล เพราะต้องการเติมเงินให้กับประชาชน แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ก้าวไกล จะขึ้น 450 บาททันที ใน 100 วัน แต่เพื่อไทยมีความยืดหยุ่น คือ 600 บาท ในกรอบ 4 ปี
“เมื่อก่อนเคยกระชากค่าครองชีพ 300 บาท ซึ่ง ส.อ.ท. ในอดีตก็เคยคัดค้าน เพราะกระชากแรง แม้หลักการคือเติมเม็ดเงินให้ภาคแรงงาน แต่ต้องคิดถึงผู้ประกอบการในเวลานี้ด้วยที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคบริการที่อยู่กับการท่องเที่ยว สิ่งที่เพื่อไทยจะทำนั้น มันมีกรอบ 4 ปี เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่า ดังนั้น โอกาสที่จะขึ้นค่าแรงในอัตราของเพื่อไทยนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ที่แน่ๆ คือไม่ใช่เวลานี้ สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ คือการสร้างความมั่นใจ แก้ปัญหาปากท้องก่อน เมื่อทุกอย่างขับเคลื่อนแล้ว มีเวลาเหมาะสม ก็ใช้กลไกไตรภาคี โดยมีกรอบเวลา 4 ปี (หากรัฐบาลอยู่ครบวาระ)
ประธาน ส.อ.ท. เชื่อว่า การที่นายกฯ เศรษฐา ต้องควบ รมว.คลัง เพราะมีเหตุผล ถามว่าเป็นอะไร คงไม่รู้ทั้งหมด แต่ถ้าจะเดา น่าจะมาจากนโยบายเรือธง “กระเป๋าตังค์ดิจิทัล 10,000 บาท” ให้กับคนไทยทุกคน อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงิน 5.6 แสนล้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่
เมื่อถามว่า นายกฯ เศรษฐา ไม่ใช่นักการเงินการธนาคารจะไหวหรือ นายเกรียงไกร มองลึกกว่านั้น คือ มีทีมงานคือ รมช.คลัง ที่เป็นอดีตปลัด ก.คลัง ซึ่งหากเป็นงานอย่างอื่น คงให้ รมช.คลัง ช่วยทำงาน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสานงานต่อเนื่องได้เลย
...
กำลังซื้อตกต่ำ ไทยส่งออกติดลบต่อเนื่อง
สำหรับปัญหาที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญในเวลานี้ นายเกรียงไกร ร่ายยาวว่า ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเจอปัญหา “กำลังซื้อ” ที่ตกต่ำ หลังจากโควิด จนมาถึง รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านพลังงานและเงินเฟ้อ
เมื่อกำลังซื้อลดลง ส่งผลต่อประเทศไทย เพราะมีการพึ่งพาการส่งออกกว่า 60% ของ GDP โดยวิกฤตินี้เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกซบเซา กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ประเทศส่งออกอย่างประเทศไทย รวมถึงหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งจีน ได้รับผลกระทบ เพราะตลาดในการขายหลักๆ คือ สหรัฐฯ ประเทศในสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ประสบปัญหา
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำการส่งออกของไทยมีตัวเลขติดลบติดต่อกัน 10 เดือน! ดังนั้น หากจะสรุปปัญหาในเวลานี้ คือ
1. ภาคการส่งออกมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องลดการผลิต ลดเวลาการทำงาน
2. เศรษฐกิจภายในประเทศ กำลังเผชิญกับต้นทุนสินค้าราคาแพง วัตถุดิบในการนำเข้าต้นทุนสูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ทำให้ค่าครองชีพสูง และที่สำคัญ คือ ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่ง ธปท.ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบาย จาก 2 เป็น 2.25 บาท ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุน เงินกู้สูงขึ้น ถือเป็นการ “กดทับ” กำลังซื้อ
3. ราคาพลังงาน ค่าไฟ แพงมาก ต้นทุนสำคัญ ส่งผลต่อการแบกรับภาคการผลิต ถึงแม้จะรู้ว่าปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศในฐานการผลิตคล้ายคลึงกับไทย แต่เมื่อเปรียบราคาค่าไฟของเขา กลับถูกกว่าเราเกือบเท่าตัว นี่คือสิ่งที่ ส.อ.ท. ร่วมกับภาคเอกชน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะ ก.พลังงาน เร่งลดค่าไฟ ซึ่งพูดเรื่องนี้มา 7 เดือนแล้ว
ศึกหนัก สินค้าจีน ทะลัก ต้องออกมาตรการรองรับช่วยผู้ประกอบการ
“สิ่งที่เป็นศึกหนัก คือ ภาคการผลิตของจีนเจอปัญหาแซงก์ชันจากสหรัฐฯ และยุโรป ไม่สามารถส่งไปได้ “สินค้า” เหล่านี้ก็เลยทะลักเข้ามาในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน รวมถึงเข้าประเทศไทย เดิมสินค้าเหล่านี้ทะลักเข้าประเทศไทยในทางออนไลน์เยอะอยู่แล้ว แต่เวลานี้มันทะลักเข้ามาทุกทาง ทางบก ทางเรือ หรือทางออนไลน์ (อากาศ)”
ประธาน ส.อ.ท. ชี้ว่า ปัญหาสำคัญ คือ ไทยมีข้อตกลงกับจีนว่า หากเป็นสินค้าออนไลน์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท จะนำเข้าได้โดยไม่ต้องเสียภาษี นี่คือปัญหาค้างคามา 2 ปีแล้ว ทำให้สินค้าออนไลน์จากจีน มาแย่งการผลิตภายในประเทศ
ล่าสุด หนักถึงหนักที่สุด คือ การทะลักทุกทิศทาง โดยดูจากตัวเลขการนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าราคาถูก ประเด็นสำคัญ คือ มาตรการในการรองรับเรื่องนี้สำหรับประเทศไทย
“สิ่งที่ ส.อ.ท. อยากเรียกร้อง คือ การกำหนดมาตรการสินค้าออนไลน์ หากให้ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย เขามีมาตรการเข้มงวดกับสินค้าราคาถูก แต่คุณภาพไม่ดี เขาจึงกำหนด “ค่ามาตรฐาน” ต้องให้มีหน่วยงานตรวจสอบอย่าง “เข้มงวด” ย้ำนะ ต้องเข้มงวด หากด่านไม่ดี คนไม่ดี ก็จะเข้ามาง่าย และมันจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในประเทศ”
ทั้งหมดนี้ คือ “งานหิน” ที่รอรัฐบาลเพื่อไทย ที่มีชายที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้นำในการแก้ไข...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ