คุยกับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก กับเบื้องหลัง รมว.กลาโหม นัดกินข้าว ผบ.เหล่าทัพ กับ 4 เรื่องในการปรับโครงสร้างกองทัพแบบนิ่มนวล...

“เดิมหนักใจ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้สบายใจขึ้นมาก เพราะการทำงานกับคนมีวินัยเขาพูดง่าย” 

ออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งแรก หลังเดินสายพบ อดีตผู้นำเหล่าทัพ เพื่อขอคำปรึกษา ในฐานะรัฐมนตรีป้ายแดงที่มาดูแลเหล่าพี่ๆ ทหาร สำหรับ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม พร้อมแย้มว่า สิ่งที่ทำได้ทันที และเป็น “รูปธรรม” ในเดือนเมษายน 2567 คือ การปรับเปลี่ยนระบบ “เกณฑ์ทหาร” ในรูปแบบสมัครใจ ส่วนการ ลดจำนวนนายพล นั้นถือเป็นเรื่องที่ กองทัพ มีแผนอยู่แล้ว 

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และว่าที่ผู้ช่วย รมว.กลาโหม เผยกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า หลังจากท่านสุทินได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ท่านก็เดินเครื่องทันที ทั้งนโยบายที่เป็นของพรรค หรือของรัฐบาล โดยมีการนำมาผสมผสานบูรณาการปรับคร่าวๆ เพื่อเตรียมดำเนินการ ซึ่งนโยบายต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนคาดหวัง 

...

สิ่งที่เป็นเรื่องดี คือ นายกรัฐมนตรี ได้มีการเชิญ ผบ.เหล่าทัพ เข้ามาพูดคุย โดยมี รมว.กลาโหม และ รมว.ต่างประเทศ (ปานปรีย์ พหิทธานุกร) มาร่วมพูดคุย ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร 

“ทราบว่าท่านรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงการพบเหล่า ผบ.เหล่าทัพ ว่ามีการพุดคุยนโยบาย ว่าได้รับการตอบสนองด้วยดี อาทิ การใช้พื้นที่ทางทหาร, การเพิ่มขีดความสามารถทางการแพทย์ทหารในการดูแลประชาชน, การช่วยเหลือประชาชนในช่วงภัยพิบัติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้หากคนระดับผู้นำคุยกัน มันทำให้ทุกอย่างง่าย เรียกว่าเป็นการทำงานสมัยใหม่ แบบไม่เป็นทางการ หากพบกันเป็นเรื่องเป็นราว อาจใช้เวลามากกว่านี้”

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

โจทย์ใหญ่ในการปฏิรูปกองทัพเป็นอย่างไร? พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อธิบายว่า ท่านนายกฯ เศรษฐา ท่านไม่ใช้คำว่า “ปฏิรูป” แต่ใช้คำว่า “การทำงานร่วมกัน” ส่วนท่านสุทินใช้คำว่า “ปรับโครงสร้าง” โดยเป็นคำศัพท์ทางวิชาการที่ทหารก็ใช้ โดยแบ่งออกเป็น 4 อย่างประกอบด้วย 

1.คน

2.เงิน 

3.ยุทโธปกรณ์ 

4.รูปแบบการบริหารจัดการ 

ทั้ง 4 อย่างนี้อยู่ในหัวข้อการ “ปรับโครงสร้าง” ซึ่งดูแล้วจะไม่ไปคุกคามหน่วยงานใด 

“เพราะคำว่า ปฏิรูปนั้น หากจะไปทำกับใคร ดูคล้ายไม่เป็นเพื่อน ฉะนั้นการปรับโครงสร้าง คือ ความนิ่มนวล ปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ได้ผลลัพธ์แบบเห็นผลเร็ว”

สุทิน คลังแสง
สุทิน คลังแสง

4 ประเด็นดังกล่าวลงลึกรายละเอียดแค่ไหน จำนวนนายพลจะลดลงมากน้อยอย่างไร  พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ออกตัวว่า ไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยด้วย แต่ทั้งหมดนี้การพูดคุยน่าจะเป็น “ภาพใหญ่” ซึ่งการพูดคุยนั้นคาดว่าน่าจะมีการเห็นพ้องในการทำงานร่วมกัน เพราะทุกคนทำงานราชการมานาน เห็นทุกอย่างมาหมดแล้ว 

“การปรับโครงสร้างไม่ได้มีแต่จะ “ลด” แต่บางอย่างก็มีเพิ่มด้วย เช่น ขีดความสามารถทางทหาร การใช้เทคโนโลยีระดับสูงเข้ามา เช่น โดรน นี่คือสิ่งที่กองทัพต้องเพิ่มศักยภาพให้มีเขี้ยวเล็บที่ทันสมัยในการทำภารกิจให้ลุล่วง”

...

เมื่อถามว่า พลเรือนคุมกลาโหมจะเป็นอย่างไร พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก มองว่า “ไม่ใช่ปัญหา” เพราะทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็คล้ายกัน เพราะหากเข้าใจในระบบประชาธิปไตยว่า นายกฯ มีอำนาจเท่าใด ทำได้แค่ไหน ข้าราชการกระทำอะไรอย่างไร เพราะทุกอย่างมีขอบเขต โดยเฉพาะ ก.กลาโหม มีกฎระเบียบ ซึ่งถือว่ามี “เส้นแบ่ง” และนี่คือ “ข้อดี” ไม่ให้ “ก้าวล่วง” กัน และท่านรัฐมนตรีก็บอกว่า ทำงานกับคนที่มีวินัย มันง่ายและเร็ว (หัวเราะ) 

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

ไม่มีผลกับการเข้าใจในการทำงาน..? พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก บอกว่า ไม่มีผลเลย เพราะท่านก็ทำงานเป็น สส.มากว่า 20 ปี อยู่ในสภาฯ มาตลอด เวลาอภิปรายต่างๆ ในสภาฯ มีการเรียบเรียงประเด็นได้ดี 

“เมื่อทำหน้าที่ตรงนั้นทำได้ดี แต่เมื่อเปลี่ยนหน้าที่มาตรงนี้ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นบวก ไม่มีใครที่จะคิดมาทำร้ายตัวเอง รวมถึงข้าราชการประจำด้วย” 

...

เมื่อถามว่ามีเรื่องใด ปรับ หรือคุยมากเป็นพิเศษ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก บอกว่า ต้องให้มีการเข้าทำงานในกระทรวงก่อน ส่วนจะเป็นเรื่องใดนั้นคงต้องเป็นเรื่องที่ทำได้เร็ว เห็นผล และได้ความร่วมมือ เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยอาจจะมีตัวเลือกว่าอันไหนจะเป็น "Quick Wins" ทำได้เร็วและจริง โดยเน้นการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เป็นการเป็นสั่ง 

มีเรื่องไหนที่เห็นต่างกันไหม? คำตอบของคำถามนี้ จาก พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ว่า ยังไม่มี เพราะการทำงานโดยสามัญสำนึก จะเอาภารกิจของ ก.กลาโหม ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภารกิจเหล่านี้อยู่ในสายเลือด เพียงแต่ทำให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้อง “กลับหลังหัน!” ทั้งหมดเราเห็นภาพเดียวกันหมด เพียงแต่ต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง และเข้าอกเข้าใจกัน.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...