อาร์ตทอย CRYBABY จากงานศิลปะสะท้อนความรู้สึกของมนุษย์ สู่การซื้อขายเก็งกำไร...
'ทารก (?) แก้มป่องกำลังร้องไห้ มีคราบน้ำตาก้อนใหญ่บนแก้มสองข้าง' หากลองจินตนาการตาม อาจจะคิดว่าคุ้นๆ เหมือนเคยเห็นจากไหน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเรากำลังพูดถึงผลงานอาร์ตทอยชื่อดัง อย่างเจ้า 'CRYBABY' โดยฝีมือศิลปินชาวไทย ‘มอลลี่’ หรือ ‘มด - นิสา ศรีคำดี’
เอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทำให้ CRYBABY โด่งดังและผู้คนต่างต้องการเป็นเจ้าของ ทำให้ปัจจุบันผลงานของเธอมีมูลค่าสูง บางคอลเลกชันเปิดตัวหลักหมื่น แต่สามารถขายรีเซล (การนำสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสูง มาเพิ่มขายราคาอีกทอดหนึ่ง) ได้ถึงหลักแสนบาท
แต่นั่นก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับวงการอาร์ตทอย เพราะของเล่นที่ดูภายนอกแล้วเหมือนของสะสมทั่วไป แท้จริงแล้วอาจมีการผลิตแบบจำนวนจำกัด และมักจะไม่ผลิตขึ้นใหม่อีก จุดเด่นตรงนี้ทำให้อาร์ตทอยกลายเป็นสินค้าราคาแพง ยิ่งศิลปินมีชื่อเสียงมากเท่าไร ก็จะทวีความแพงไปอีกมากเท่าตัว จนบางครั้งอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า คนที่ต้องการสะสมจริงๆ จะสู้คนที่มีเงินซื้อเพื่อเก็งกำไรได้หรือ?
...
อย่างไรก็ตาม "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะพาไปรู้จัก CRYBABY ให้มากขึ้น และชวน ‘มอลลี่’ คุยถึงเรื่องธุรกิจ รวมถึงมุมมองของการเก็งกำไร!
จากกระต่ายขี้แย สู่ CRYBABY ที่โด่งดัง :
"มอลลี่" เล่าว่า CRYBABY มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นคนชอบวาดคาแรกเตอร์ร้องไห้ เมื่อเธอเจอเรื่องต่างๆ หรือรู้สึกอ่อนไหวกับสิ่งไหน จะนำเหตุการณ์เหล่านั้นมาวาดคล้ายไดอารี่ ซึ่งเริ่มแรกรูปกระต่ายร้องไห้ กระทั่งพัฒนามาเป็น CRYBABY แบบปัจจุบัน
เธอถือว่า CRYBABY เป็นตัวแทนของคนที่ "ไม่กล้าร้องไห้หรือไม่กล้าแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น" เพราะต้องติดอยู่ในกรอบสังคมที่พยายามบอกให้คนเราเข้มแข็ง ทำให้ต้องแสดงออกว่าโอเคและรับมือได้ “บางทีเราแสดงความอ่อนแอบ้างก็ได้ ให้เวลาตัวเองได้อ่อนไหว จะได้เข้าใจความรู้สึกของตนเอง แล้วก้าวผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปได้ในที่สุด” มอลลี่ กล่าวกับ ทีมข่าวฯ
ความสำเร็จตอนนี้ มอลลี่ ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ในอนาคตก็ยังคาดหวังว่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ “ตอนนี้อาจจะเดินทางมาครึ่งหนึ่งแล้ว แต่เป้าหมายยังอีกยาวไกล”
เธอเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานโด่งดัง เกิดจากปัจจุบันคนเปิดใจแสดงความรู้สึกออกมามากขึ้น เธอมองว่าบางคนอาจจะมีเพื่อนในโซเชียลมากมาย แต่ความเป็นจริงกำลังโดดเดี่ยวอยู่ที่บ้าน เมื่อได้เห็น CRYBABY ที่ต้องการสื่อสารว่า “เราสามารถอ่อนแอได้” อาจไปตรงเข้ากับความรู้สึกที่มีประสบการณ์ร่วม จึงกลายเป็นจุดที่ทำให้คนต่างชื่นชอบ
“ทุกคนมีความอ่อนแอหมด เหมือนคอนเซปต์งานนี้ที่บอกว่า ใครๆ ก็ร้องไห้ พอวันหนึ่งมีสิ่งที่เป็นเหมือนตัวแทนของเขาขึ้นมา และออกมาในแบบเข้าถึงง่าย เขาเลยมีอารมณ์ร่วมได้มากกว่า ซึ่ง CRYBABY มีหน้าที่หลายแบบ อาจจะเป็นอาร์ตทอยในแบบที่หลายคนเคยเห็น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นภาพงานศิลปะ อาร์ตทอยจึงเป็นเพียงอีกการสื่อสารที่เลือกนำเสนอ”
...
การก้าวเข้าสู่ธุรกิจ :
แรกเริ่มเดิมที CRYBABY ไม่ได้ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเป็นธุรกิจ เพราะมอลลี่ไม่ได้มีความรู้ในวงการธุรกิจจึงไม่ได้สนใจสิ่งนั้น การทำผลงานแต่ละชิ้น เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจและความชื่นชอบการประดิษฐ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อวันหนึ่งมีเวลาได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น แรงบันดาลใจวัยเด็กที่เคยหายไปก็กลับเข้ามาอีกครั้ง และเมื่อได้ลงมือทำเธอก็หยุดมันไม่ได้...
ธุรกิจของมอลลี่ เริ่มต้นจากการโพสต์รูป CRYBABY ลงอินสตาแกรม และผู้หญิงชาวจีน 1 คน หลังจากโพสต์รูปไปแล้ว มีผู้หญิงชาวจีนส่งข้อความมาหาว่า ชอบมากอยากให้ทำขาย แต่ความคิดแรกของเราไม่ได้ทำออกมาขาย แต่ทำออกมาเพื่อเป็นงานอดิเรกและต้องการเก็บไว้เอง
แต่พอเขามาถามเรา เราก็ไม่ได้ขายเลย เริ่มไปศึกษาหาข้อมูลทำธุรกิจ และพบว่าจริงๆ แล้วมันทำได้ เวลาผ่านไปหลายเดือนจึงเริ่มทำการทดลองขาย ผู้หญิงจีนที่ซื้อไปคนแรก เขาเอาไปโพสต์ในกลุ่มคนจีน ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก”
ดังนั้น ก่อนหน้านี้หากใครถามว่าใครคือฐานลูกค้า มอลลี่สามารถตอบได้ทันทีว่าเป็นชาวจีน รองลงมาเป็น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และยุโรป แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างกลับกัน CRYBABY ได้รับแรงสนับสนุนที่ดีมากจากคนไทย แม้ว่าคนจีนจะขายในราคารีเซล แต่คนไทยก็ไปกว้านซื้อกลับมาจากตลาดจีนจนหมด กระทั่งตอนนี้ที่มีการออกรุ่นใหม่มา คนจีนจะหาซื้อก็ไม่มีแล้ว ถือว่าคนไทยมาแรงจริงๆ
...
ความฝันของมอลลี่ก็คงเหมือนศิลปินหลายคน ที่อยากจะทำให้ผลงานของตนกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ใช่แค่ไทยหรือเอเชียแต่เป็นทั่วโลก...
“ในอนาคตอยากให้ไปทั่วโลก อาจจะไม่ใช่อาร์ตทอยที่เป็นธุรกิจอย่างเดียว แต่ไปในแง่ของงานศิลปะภาพวาดด้วย อยากให้ดังไปพร้อมกัน หลายปีที่ผ่านมาเราก็ยังเชื่อว่าตลาดเอเชียเป็นตลาดที่แข็งแรง อย่าง Pop Mart ที่เราเซ็นสัญญาด้วย เขาก็ตีตลาดทั่วโลกอยู่แล้ว”
มาถึงตรงนี้ก็ต้องขออธิบายเรื่อง Pop Mart สักนิดหน่อย... Pop Mart เป็นร้านขายของเล่นสะสมหรือฟิกเกอร์ที่ก่อตั้งโดยชาวจีนนามว่า นายหวางหนิง (Wang Ning) มีการร่วมมือกับศิลปิน นักวาดรูป นักออกแบบชื่อดังจากจีนและฮ่องกง มาร่วมกันออกแบบโมเดลของเล่น ให้อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Pop Mart โดยใช้กลยุทธ์ตลาดแบบกล่องสุ่ม และ มอลลี่ ถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เซ็นสัญญากับ Pop Mart อีกด้วย
“ตอนแรกที่เซ็นสัญญาไม่ได้คิดว่าเป็นคนไทยคนแรก แต่เราก็ดีใจเหมือนกัน อาร์ตทอย Pop Mart ในจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีการทำงานที่เป็นมืออาชีพ เราเลยดีใจมากที่เขายินดีทำงานกับเรา ส่วนเรื่องที่บอกว่าเป็นคนไทยคนแรก เราไม่ได้คิดถึงตรงนั้น ตอนที่เขาติดต่อเรามา ก็อาจจะติดต่อคนอื่นเหมือนกัน Pop Mart ติดต่อมาตั้งแต่ปีแรกที่เราเริ่มเข้าสู่ธุรกิจอาร์ตทอย แต่ตอนนั้นยังรู้สึกไม่พร้อม จนเข้าสู่ปีที่ 3 ทุกอย่างได้เวลาแล้วที่จะทำงานด้วยกัน เขาดูเรามาสองปีว่าจะจริงจังแค่ไหน เพราะเราก็เป็นต่างชาติด้วย”
มอลลี่ บอกว่า ตอนนี้ที่บริษัทจะมีคาแรกเตอร์อื่นๆ ที่เป็นเพื่อน CRYBABY เช่น CRYTEDDY และ CRYBUNNY สองตัวนี้จะร้องไห้เหมือนกัน แต่ใส่ชุดหมีกับชุดกระต่าย หรืออีกตัวจะเป็น FIXBOY เป็นตัวซ่อมความรู้สึกของเหล่า CRY
...
ผลงานและการเก็งกำไร :
อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า งานอาร์ตทอยถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนมักซื้อมาเก็งกำไร และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า CRYBABY ของ มอลลี่ ก็เป็นอีกผลงานที่มีการทำแบบนี้ ด้วยภาพลักษณ์ที่โดดเด่น และการผลิตแบบจำนวนจำกัด ทำให้ใครๆ ก็อยากครอบครอง
ทีมข่าวฯ ถามมอลลี่ว่า ในฐานะศิลปินคนหนึ่ง คิดเห็นอย่างไรที่ผลงานของตนเอง กลายเป็นสินค้าที่ถูกเก็งกำไร จนอาจทำให้บางคนที่รักผลงานของเธอเข้าถึงไม่ได้
“ที่จริงแล้วมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ การที่งานเรามีการซื้อขายในราคาที่สูง แสดงว่ามูลค่าในตลาดสูง ซึ่งส่งผลดีต่อแบรนด์ ถ้าแบรนด์ไม่ดีจริงมูลค่าทางการตลาดจะไม่สูงแบบนั้น เมื่อความต้องการของคนน้อยแต่ของในตลาดเยอะ ก็ไม่มีทางที่ของจะราคาสูงขึ้น แต่ตอนนี้ความต้องการมันเยอะกว่าของที่มีในตลาด ของเลยราคาสูงขึ้นได้ แปลว่าเราประสบความสำเร็จในแง่ของการตลาด
แต่ว่าในเรื่องข้อเสีย คนที่เขาอยากสะสมจริงๆ เขาอาจจะเอื้อมไม่ถึง ตลาดมีขึ้นมีลง ถ้าบางทีขึ้นไปสูงมากก็ไม่ได้ส่งผลดีต่องานโดยรวม อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ยาก เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มันมีปัจจัยอื่นเยอะ แต่ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างน่าห่วงเหมือนกัน”
คิดว่าจะมีวิธีการอย่างไร ที่ทำให้คนที่ชื่นชอบผลงานจริงๆ สามารถเข้าถึงผลงานได้มากขึ้น และรู้ถึงคุณค่าที่อยากจะสื่อสารผ่านงานศิลปะที่ออกแบบ ทีมข่าวฯ ถามกลับ...
“ตอนนี้ที่ทำงานอยู่กับ เทรนดี้ แกลเลอรี่ เขาจะช่วยคัดลูกค้า เช่น ภาพเขียนจะมีสัญญาว่า หากซื้อไปแล้วต้องเก็บไว้ที่ตัวเอง 3 ปี ซึ่งเขาเลือกลูกค้าในระดับหนึ่ง ที่จะสามารถเซฟงานเราได้ หรืองานไหนที่ผลิตจำนวนเยอะ ก็จะมีวิธีจัดสรรงานให้ถึงมือลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยทางแกลเลอรี่เองก็พยายามสกรีนให้อยู่แล้ว
อย่างตัวที่ขายออนไลน์ ทางเว็บไซต์ก็จะสกรีนตัวบอตของผู้ซื้อ หรือตรวจสอบในระดับหนึ่งว่าใครมีประวัติรีเซลมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ 100% ทางแกลเลอรี่เองก็อยากให้คนที่ชื่นชอบจริงๆ ได้งานไป
มีคนที่ชื่นชอบอยู่แล้วส่วนหนึ่งได้ผลงานไป แต่บางส่วนที่หลุดไปก็เหนือการควบคุม ตัวสัญญาที่บอกก็ไม่มีข้อบังคับเชิงกฎหมายจริงจัง แต่เป็นสัญญาที่แกลเลอรี่ตกลงกับลูกค้า เขาจะมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน เขาคัดลูกค้ามาแล้ว ลูกค้าซื้องานแล้วไปขายต่อไหม แกลเลอรี่มีข้อมูลหมด ถ้าขายก็จะรู้ว่าขายเร็วไหม เก็บงานไว้นานเท่าไร ส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่เขาจำแนกกลุ่มนักสะสม”
มาถึงตรงนี้... การซื้ออาร์ตทอยเพื่อเก็งกำไรจะใช่เรื่องผิดหรือไม่ ก็คงอยู่ที่ว่าเราจะมองเช่นไร?
ส่วนตัวผลงาน CRYBABY เอง มอลลี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มันเป็นผลงานสัญลักษณ์เชิงนามธรรม ที่แสดงถึงอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ที่ซับซ้อนมากๆ บางครั้งคนเรายังต้องศึกษาว่าตัวเองรู้สึกอะไรกันแน่?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : Molly Factory
อ่านบทความที่น่าสนใจ :