'ตลาดจตุจักร' ปัญหาที่ถูกกลบบังไว้ ด้วยสมญานาม 'แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก'

"ดูก่อนได้นะพี่" "Hello madam, welcome" เสียงเรียกของพ่อค้าแม่ขาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่คุณสามารถได้ยินตลอดเส้นทางเดินของ 'ตลาดจตุจักร' หนึ่งในตลาดนัดกรุงเทพฯ ที่ใหญ่ติดอันดับโลก ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 68 ไร่ แบ่งโซนร้านค้าออกเป็น 31 โครงการ มีสินค้าละลานตาจนนับไม่ถ้วน

ตลอดระยะเวลามากกว่า 40 ปี ตลาดแห่งนี้สามารถดึงดูดชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเยือนได้ แต่วันเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ย่อมมีบางอย่างที่เปลี่ยนไป แม้ว่า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะไม่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้ผ่านอะไรมาบ้าง แต่สำหรับผู้ขายบางคนคงให้คำตอบนี้ได้...

ทีมข่าวฯ เดินทางไปตลาดด้วยรถไฟฟ้า BTS สู่สถานี หมอชิต หลังจากลงบันไดของสถานี ก็เดินเลียบไปตามรั้วของสวนจตุจักร แต่การเดินบนทางเท้าอาจจะยากเล็กน้อย เพราะต้องผ่านผู้คนที่ยืนรอรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ที่พร้อมจะเข้ามาถามคุณทุกเมื่อว่า "ไปไหม" หรือจะเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมไปถึงสะพานลอย ที่กินพื้นที่ของทางเท้าจนเหลือขนาดแค่ 1 คนเดิน แต่เมื่อพ้นสิ่งเหล่านั้นมาได้ ทางเข้าของตลาดก็อยู่ด้านหน้าแล้ว

...

ประมาณ 09.00 น. ของวันเสาร์ เราไม่เคยมาที่นี่เช้าขนาดนี้ ภาพที่จินตนาการในหัว คือ ผู้คนบางตา และร้านค้ายังปิดบริการ แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ประตูตลาดก็ผิดคาดจากที่คิด ร้านค้าพร้อมให้บริการ มีคนเดินพร้อมซื้อของ กวาดสายตามองรอบๆ หากไม่นับรวมผู้ขายชาวไทย จะเห็นว่าคนที่เดินไปมาเป็นชาวต่างชาติแทบทั้งหมด

เนื่องจากช่วงเช้าถึง 12.00 น. ตลาดอนุญาตให้นำรถเข้ามาจอดได้ ทำให้มีการสัญจรเข้า-ออกอยู่ตลอด การเดินดูรอบนอกตลาดช่วงเวลานั้นจึงต้องระวัง รถ เป็นพิเศษ ทีมข่าวฯ เปลี่ยนเข้ามาเดินในซอย พบว่ารูปแบบสินค้าต่างจากด้านนอกที่เน้นขายเสื้อผ้าสไตล์ต่างๆ ส่วนภายในจะขายของฝากไทยๆ ของสะสมโบราณ และงานศิลปหัตถกรรม ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าบรรยากาศด้านในซอยค่อนข้างอึดอัด พื้นที่คับแคบ และอากาศไม่ถ่ายเท กว่าจะเดินครบทุกซอยได้ ก็เดินหลงไปแล้วไม่รู้กี่รอบ

จากใจพ่อค้าแม่ขาย :

ทีมข่าวฯ ออกมาด้านนอกอีกครั้ง พบว่า ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง คนเริ่มแน่นทางเดิน โดยเป็นต่างชาติแทบทั้งหมด และตอนนี้เรามีโอกาสได้เข้าไปคุยกับแม่ค้าเสื้อผ้าร้านหนึ่ง เธอบอกว่า...

"หลังโควิด-19 ต่างชาติกลับมาเที่ยวเยอะขึ้น คิดว่าเขาไม่เจอปัญหาอะไร ทุกคนดูแฮปปี้ แต่หลังโควิดเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น กำลังซื้อน้อยลง เมื่อก่อนจะซื้อกันมากกว่านี้ ตอนนี้เหมือนเน้นมาเที่ยว มาหาของกิน ไม่ได้มาซื้ออะไรมาก นอกจากจะถูกใจจริงๆ"

ในฐานะคนขาย เธออยากให้ตลาดเพิ่ม จุดนั่งพัก "ควรจะมีที่นั่งพักผ่อนให้ชาวต่างชาติและคนที่มาตลาด ที่นั่งมักจะเป็นของร้านอาหารที่อยู่ตามซอกซอย ซึ่งชาวต่างชาติไม่ทราบ บางคนเขาเดินเหนื่อย แต่ไม่มีที่ให้นั่งพัก"

เธอพาเราเดินไปคุยกับ 'ปอ' (นามสมมติ) ผู้ขายอีกร้านที่อยู่ไม่ไกลกันนัก เธอเริ่มบทสนทนากับปอให้เราว่า "นักข่าวมาขอสัมภาษณ์ เมื่อกี้ให้บอกเขาไปว่า น่าจะมีเก้าอี้ให้นักท่องเที่ยว" ปอตอบรับเห็นด้วยทันทีว่า "เป็นเรื่องที่ดี ผมอะชอบ เพราะที่นี่มันไม่มีจุดพักเลยนะ" ปอเชิญทีมข่าวฯ นั่งในร้าน ท่าทางที่มั่นใจและการพูดจาที่ฉะฉาน คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับปอที่ค้าขายในตลาดแห่งนี้มากว่า 10 ปี

...

"เปิดร้านขายมาเป็น 10 ปี ตั้งแต่เช้าถึง 16.00 น. 80% ของจตุจักรเป็นชาวต่างชาติ หลังจากนั้นจะเป็นคนไทยมาเดิน เพราะคนไทยไม่ชอบอากาศร้อน ก่อนหน้านี้ถนนเส้นหลักจะมีคนเดินแน่นกว่านี้เยอะมาก แต่หลังจากเกิดโควิดนักท่องเที่ยวลดลงไปประมาณ 50%

เศรษฐกิจช่วงนี้วันเสาร์คนจะเยอะ ส่วนวันอาทิตย์จะน้อย เป็นแบบนี้อยู่ประจำ วันอาทิตย์อาจจะไปที่อื่นกัน เพราะตอนนี้มีตลาดเปิดคล้ายกัน และตลาดกลางคืนก็เยอะมาก ก็ขายได้เรื่อยๆ ไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน"

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า "อยากให้ตลาดแห่งนี้ปรับปรุงอะไรไหม" คำถามสั้นๆ จากเรา ทำให้ปอบรรยายสิ่งที่อยากแก้ไขออกมาได้มากมาย...

"ควรเพิ่มจุดพักของนักท่องเที่ยว และถังขยะก็หายาก ตลาดควรปรับปรุงค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ย้อนกลับไปก่อนโควิด-19 ต่างชาติชอบมาถ่ายรูปที่ถนนจตุจักร เพราะว่าบนหลังคาช่วงทางเดินจะมีของประดับ อาจจะเป็นธง หรือร่ม มันทำให้ดูสวยและมีลูกเล่น

อย่างห้องน้ำ ถ้าต้องให้คะแนนเต็ม 10 ก็คงได้ประมาณ 3 เพราะมองว่าแย่ และมีน้อยมาก ถ้าเทียบกับจำนวนคนที่มา ซึ่งควรจะเป็นหน้าเป็นตาที่ดีกว่านี้ ผมมองว่ามันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก คนมาเที่ยวก็อยากเจอสิ่งดีๆ การตกแต่งควรดีกว่านี้

...

อยากให้ผู้บริหารที่มาทำ ตั้งใจพัฒนากว่านี้ ตลาดมันอาจจะไม่ได้ใหญ่เหมือน กทม.ทั้งหมด แต่อยากให้จริงจัง ไม่อยากให้มองว่ามันอยู่ได้แม้ไม่ต้องทำอะไร

ถ้าเป็นเอกชนเข้ามาทำ ตลาดอาจบูมไปแล้ว เพราะเขาต้องการให้ตลาดสวยและดี ตอนนี้ถ้าเราต้องการทำร้านขึ้นมาใหม่ให้สวยขึ้น เราต้องขออนุมัติจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งบางทีก็ไม่อนุมัติ ไม่ค่อยอยากให้ทำ"

ทีมข่าวฯ ถามกลับว่า ตลาดจตุจักรในอดีตกับตอนนี้ต่างกันอย่างไรบ้าง ปอบอกว่า...

"ถ้าย้อนกลับไป 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตลาดที่นี่กลางคืนก็สวยมาก เมื่อก่อนตลาดกลางคืนจะมีตั้งแต่วันศุกร์ลากยาวถึงเช้าของวันเสาร์ อยากให้มีการโปรโมตที่ดีกว่านี้ แต่ก่อนสามารถตั้งของออกไปได้มากกว่านี้ เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าขอทางเพิ่มได้ไหม พ่อค้าแม่ค้าก็โอเคเพื่อให้มันเป็นระเบียบ

อีกอย่างหนึ่ง คือ เวลามองมาจากข้างนอก ขับรถผ่าน หรือนั่งรถเมล์ผ่าน บางคนที่ไม่รู้จะไม่รู้เลยว่านี่คือตลาดจตุจักร ข้างในกับข้างนอกต่างกันมาก ข้างนอกไม่ได้เห็นความตื่นเต้นของคนข้างใน ซึ่งจริงๆ กำแพงสามารถตกแต่งให้เห็นว่านี่คือสถานที่เที่ยวได้ และมันจะดีมากเลย"

...

คำบอกเล่าจากปากปอ เขายืนยันว่าไม่ได้ต้องการโจมตีใคร สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดก็อยากให้ตลาดแห่งนี้สดใสกว่าเดิมที่เคยเป็น อย่างไรก็ตาม ปัญหาห้องน้ำ ที่ปอพูดถึงข้างต้น สอดคล้องกับข้อมูลที่เราได้จากการสัมภาษณ์ชาวต่างชาติ

ปัญหาจากสายตาชาวต่างชาติ :

'Sara' สาวเยอรมัน และแฟนหนุ่มของเธอ เล่าให้เราฟังว่า "รู้จักตลาดจตุจักรจากอินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะเดินทางมาเมืองไทย เมื่อได้เดินทางมาแล้วรู้สึกว่าค่อนข้างร้อน ฉันคิดว่าปัญหาของตลาดคือห้องน้ำ ที่มีน้อยและหายาก และสำหรับห้องน้ำผู้หญิงก็อาจจะต้องต่อแถวรอนานด้วย

ส่วนของในตลาดมีให้เลือกซื้อเยอะมาก ฉันค่อนข้างชอบตรงนี้ แต่บางทีเหมือนว่าคนขายจะคิดราคาเป็น 2 เท่าสำหรับชาวต่างชาติ ทำให้บางทีฉันปฏิเสธและเดินไปเลือกซื้อร้านอื่น หลักๆ อยากให้แก้ไขเรื่องห้องน้ำ" ส่วนแฟนของเธอเสริมว่า "อยากให้มีแผนที่ของตลาดแจกด้วย"

เรื่องของห้องน้ำน่าจะเป็นเรื่องที่ชาวต่างชาติมองว่าเป็นปัญหาจริงๆ 'Nick' จากอเมริกา เล่าให้เราฟังว่า "ห้องน้ำในตลาดหายากมาก ผมต้องเดินถามคนขายของว่า ห้องน้ำอยู่ตรงไหน ตอนแรกผมเดินอยู่ด้านในตลาด ก็ต้องเดินออกมาเข้าข้างนอก ซึ่งระยะทางไกลพอสมควร อยากให้มันมีมากกว่านี้

ผมชอบที่นี่นะ ของกินและสินค้ามีให้ผมเลือกเยอะ แต่ก็รู้สึกว่าราคาขายให้กับคนไทยและชาวต่างชาติค่อนข้างต่างกัน ซึ่งบางทีผมซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าคนไทย"

ราคาสินค้า ของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจสูงกว่าปกติ ก็เหมือนจะเป็นปัญหาเช่นกัน จากการพูดคุยกับสองเพื่อนสนิท 'Audrey' สาวอเมริกา และ 'Huy' หนุ่มเวียดนาม ทั้งคู่ก็ได้พูดถึงปัญหาการโดนโก่งราคาเช่นกัน (แม้ว่าจะไม่ได้เจอจากตลาดแห่งนี้) พวกเขารู้จักตลาดจตุจักรจากออนไลน์ ยูทูบ และกูเกิล เมื่อเดินทางมาถึงรู้สึกว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

"ตลาดใหญ่มาก แต่ผมไม่มีแผนที่ บางครั้งหลงทางพอเดินเข้าไปในซอย (หัวเราะ)" Huy กล่าว... ส่วน Audrey บอกกับเราว่า "ชอบที่นี่เพราะมีของให้เลือกซื้อเยอะ และของกินหลากหลาย ทั้งที่เรากินได้ และอาจจะกินไม่ได้"

เราถามทั้งคู่ว่า คิดว่าโดนเอาเปรียบไหมในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ Huy ตอบกลับทันทีว่า "มี เมื่อวานนี้เอง ผมไปวัดโพธิ์มา และจะซื้อของบางอย่าง แต่คนขายจะขายในราคา 500 ดอลลาร์ ผมเคยเห็นในออนไลน์มาบ้างว่าคนต่างชาติอาจจะต้องซื้อของในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง"

Audrey เสริมว่า "เรื่องพวกนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับเรามาก่อน คุณเคยเจอไหม" เราตอบว่า "ไม่เคย" แม้ตลอดการสนทนาจะมีปัญหาให้พวกเขาพูดถึง แต่ทั้งสองคนก็ตอบด้วยรอยยิ้มที่สดใส และพูดคุยสนุก

มาถึงตรงนี้ทำให้ทีมข่าวฯ พออนุมานได้ว่า ปัญหาที่ชาวต่างชาติอยากให้แก้ไขมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ห้องน้ำ และ ราคาสินค้า สำหรับเรื่องแผนที่ที่ชาวต่างชาติบอกว่า "ไม่มี" ทีมข่าวฯ เดินเข้าไปสอบถามยังจุดบริการนักท่องเที่ยว 2 จุด พบว่า...

จุดทางเข้าจาก MRT กำแพงเพชร ยังมีแจกอยู่ แต่ค่อนข้างน้อย ส่วนบริเวณทางเข้า 2 เจ้าหน้าที่แจ้งว่า "ปกติมีครับ แต่วันนี้หมด" ทางเข้าตรงนี้เองมีแผนที่ขนาดใหญ่ให้ดู ทีมข่าวฯ เห็นว่ามีชาวต่างชาติหลายคนยืนมองและทำท่าทางชี้ไปมา บ้างก็ถ่ายรูปเก็บไว้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดบริการนักท่องเที่ยวมีน้อย และค่อนข้างห่างกันไกล

มุมมองคนไทย :

ปัญหาของราคาสินค้าคงไม่ได้เกิดแค่กับชาวต่างชาติ 'อาร์ม' หนึ่งในคนไทยที่มาเที่ยวบอกกับเราว่า "เสื้อผ้าราคาสูง ส่วนของกิน หรือว่าร้านอาหารก็แพง เหมือนเน้นขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทุกครั้งที่มาจะไม่ได้เลือกกินของในตลาดจตุจักร แต่จะเลือกไปที่ศูนย์อาหารในห้างที่อยู่ข้างๆ ซึ่งราคาใกล้เคียงกัน หรือบางอย่างก็ถูกกว่าด้วยซ้ำ"

แล้วอยากให้ตลาดแห่งนี้มีการพัฒนาส่วนไหนหรือไม่ ทีมข่าวฯ ถามต่อ

"คงเป็นเรื่องของความสะอาดภายในตลาด แล้วก็การหาเทรนด์ให้ร้านมาขายของใหม่ๆ เพราะเคยหลงไปในจตุจักรตรงบล็อกหนึ่งที่เป็นร้านติดๆ กัน แล้วก็มีหลังคาข้างบนชนกันเป็นซอยเล็กๆ รู้สึกว่ามันขายของไม่ได้ ตอนเดินก็ยังคุยกับเพื่อนอยู่เลยว่า ร้านขายได้จริงเหรอ เพราะร้อนและรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก"

"ของขายมันเป็นเหมือนของที่คนไทยเดินแล้วไม่ซื้อ ต่างชาติก็ยังต้องตั้งคำถามเลยว่าจะซื้อดีหรือไม่ซื้อดี เพราะว่ามันเป็นมีพวงกุญแจจากเชียงใหม่บ้าง เป็นพวกลายไม้สัก หรือว่าตุ๊กตาปั้นอะไรต่างๆ แค่รู้สึกว่าเป็นของที่ขายยาก"

"จริงๆ ทำเลมันดีมากเลย มีทั้งตลาด มีทั้งสวนสาธารณะ มีทั้งแหล่งน้ำ มองว่าควรที่จะชู 2 ส่วนนี้ไปพร้อมๆ กัน เพราะถ้าชาวต่างชาติมาเดินเขาก็คงคิดว่ามันคงเป็นตลาดธรรมดาหรือเปล่า จุดขายของอะไรก็ไม่ได้มีที่จะดึงดูดมากขนาดนั้น

รู้สึกว่าที่นั่งก็ไม่ได้มีเยอะด้วย อันนี้พูดถึงทั้งตลาดจตุจักรและฝั่งของสวนสาธารณะ ซึ่งก็ไม่มีเก้าอี้เยอะเหมือนกัน ถ้าเป็นในตลาดอย่างก็จำเป็นที่จะต้องซื้อบางอย่างเพื่อที่จะได้นั่ง ถ้าเพิ่มและพัฒนาเรื่องที่นั่งได้ คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ"

ทีมข่าวฯ ยื่นแผนที่ของตลาดให้อาร์มดู พร้อมสอบถามว่า เมื่อดูแล้วคิดเห็นอย่างไรบ้าง อาร์มบอกว่า…

"ดูจากแผนที่ ถ้าชาวต่างชาติมาครั้งแรกก็คงจะงงว่าอยู่ตรงไหน ต้องหันหัวแผนที่ไปตรงไหน มันไม่ค่อยเก็บรายละเอียด อีกอย่างคือแบ่งโซนของที่ขายไม่ชัดเจน อยากจะดูของบางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าควรที่จะเดินไปซอยไหน กลายเป็นแบบเดินไปเรื่อยๆ เดินวนรอบนึงเสร็จแล้วก็กลับ"

คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถานที่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่แห่งหนึ่งจะมีปัญหาเล็กน้อยซ่อนอยู่ บางครั้งเราอาจจะมองข้ามปัญหาเหล่านี้ไป เพราะคิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร แต่ถ้าคิดอีกมุม หากแก้ไขและพัฒนาได้ สิ่งที่ดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม 'ตลาดจตุจักร' ในวันนี้ก็ยังคงเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และเราเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดได้อีก เพื่อให้สมกับการเป็นตลาดที่ยิ่งใหญ่ติดอันดับโลก.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

อ่านบทความที่น่าสนใจ :