ความจริงในคุกจากปาก 'จตุพร' การค้นพบสัจธรรมในเรือนจำ และกรณีคุกของนายกฯ 'ทักษิณ'...
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนักโทษทางการเมืองให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งความผิดของคดีก็แตกต่างกันออกไป ถึงอย่างนั้นก็มีน้อยคนนักที่ออกมาเล่าประสบการณ์ด้านใน 'เรือนจำ' และประวัติของการเป็น 'ผู้ต้องขัง'
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ติดต่อพูดคุยกับ 'จตุพร พรหมพันธุ์' หนึ่งในอดีตนักการเมือง ที่เคยผ่านประสบการณ์ในเรือนจำมาแล้วถึง 5 ครั้ง เพื่อให้เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวบางส่วน ที่ได้ใช้บางช่วงเวลาของชีวิตอยู่ในนั้น...
จตุพร กล่าวว่า ถ้าติดคุกจริงๆ ต้องไม่พกความคับแค้นใจเข้าไป และไม่เอาความคับแค้นใจออกมา อย่าไปคิดว่าตัวเองเคยเป็นใคร และออกไปจะเป็นใคร ไม่อย่างนั้นเราจะทุกข์เสียเอง
"ต้องคิดว่าตัวเองเป็นเพียงแค่นักโทษคนหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าคิดว่าอดีตคือเป็นใคร มันจะนอนไม่หลับ เพราะใจใหญ่กว่าคุก ถ้าใจเต็มไปด้วยความเจ้าคิดเจ้าแค้น สุดท้ายเราจะเป็นทุกข์"
...
แค่เปิดบทสนทนาช่วงแรก คำพูดของจตุพรก็แสดงถึงความปลงของชีวิต และการไม่ยึดติดกับตัวตน
"การติดคุกก็เหมือนกับการไปบวช" เขาเปรียบเทียบให้ทีมข่าวฯ เห็นภาพชัดขึ้น สำหรับจตุพรแล้ว ถ้าอยากใช้เวลาในแต่ละวันให้ผ่านไปได้ ก็ลองทำตัวให้เหมือน 'พระ' และ 'คนตาย'
"ให้ทำตัวเหมือนคนที่ตายแล้ว เพียงแต่อยู่ในสุสานคนเป็น เพราะเรายังมีชีวิตอยู่ ถ้าคิดได้อย่างนี้ เวลาเท่าไรก็ผ่านไปแป๊บเดียว พี่อยู่ในคุก 5 ครั้ง เหมือนกับการไปบวช ปฏิบัติเหมือนคนที่ไปบวชพระทุกอย่าง
บางครั้งเราอาหารกินมื้อเดียว หรือหลังเที่ยงไม่กินอะไรยกเว้นน้ำเปล่า นั่งสมาธิ สวดมนต์ เวลาทุกอย่างนี้ เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว จิตใจก็ผ่องใส แต่ว่าถ้าติดคุกแล้ววางไม่ลง นอนหลับวันนึง อีกวันนึงก็นอนไม่หลับ พอเช้ามาร่างกายก็เพลีย แต่ถ้าจิตวางตั้งแต่ต้น ไม่ได้สนใจว่าอดีตเคยเป็นใคร อดีตจะทำให้เราทุกข์"
ชีวิตความเป็นอยู่ :
เรื่องของอาหารการกิน เรือนจำมีเลี้ยงฟรีให้บรรดานักโทษ และก็สามารถสั่งอาหารของกรมราชทัณฑ์ได้ ถ้าคุณมีเงินหน่อย "สมัยผมอยู่เขาให้ใช้ได้วันละ 300 บาท เดือนละ 9,000 บาท เป็นการ์ดไว้รูดบัตรสั่งอาหาร" ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมอาหารที่มีคนมาเยี่ยมหรือกรมราชทัณฑ์ส่งมาให้ แต่อยู่ที่นั่นใครขาดเหลือก็ช่วยกัน จตุพรกล่าวกับเรา...
ส่วนพื้นที่ขับถ่ายไม่ได้มิดชิดแบบที่คนทั่วไปใช้ ห้องส้วมในเรือนจำความสูงแค่หน้าอกเท่านั้น นั่งถ่ายก็เห็นหน้ากันหมดใครเดินผ่านไปผ่านมา "เราเป็นคนที่คนอื่นรู้จัก ใครผ่านมาเขาก็ไหว้ตอนเราปลดทุกข์ มันก็รู้สึกไม่สะดวก (หัวเราะ)
ต้องวางแผนการกินอาหารและขับถ่ายให้ดี ยกเว้นวันไหนท้องแปรปรวน ก็จะรบกวนผู้คุมขอใช้ห้องน้ำร่วมกับเขาหน่อย เพราะเรานั่งแล้วคนผ่านสี่ร้อยห้าร้อยคน ยกมือไหว้กันไม่หวาดไม่ไหว (หัวเราะ) ถ่ายไม่ออกเพราะต้องทักกันตลอด"
ที่ต้องวางแผนการขับถ่ายให้ดี เพราะในเรือนจำต้องเข้าเรือนนอนเวลา 15.30 น. และจะถูกปล่อยออกมาอีกที 06.00 น. "ถ้าเข้าเรือนนอนไปแล้ว ก็อยู่ในนั้นตลอด ข้าวเย็นกินตอน 14.00 น. แต่ว่าผมหลังเที่ยงก็ไม่แตะอาหาร เป็นคนทานน้อยอยู่แล้ว จะไม่กินให้พลังงานในร่างกายเหลือมากเกินไป เพราะจะได้หลับสบาย"
อย่างที่จตุพรเปรียบเปรยกับเราว่า 'คุกคือสุสานคนเป็น' เพราะพื้นที่ในการนอน มีแค่กระเบื้อง 3 แผ่น ประมาณ 45 เซนติเมตร มีผ้าห่มให้ 3 ผืน ปูนอน 1 ผืน หนุนหัว 1 ผืน ห่ม 1 ผืน การนอนในเรือนจำก็มีเพียงเท่านั้น... "ผมเอาหนุนหัว 1 ผืน ห่ม 2 ผืน ก็นอนหลับไปด้วยความเคยชิน เราแพ้พัดลมก็กินยาแก้แพ้เอา มิฉะนั้นนอนไม่ได้"
...
ประสบการณ์ในเรือนจำที่ผ่านมาของจตุพร ทำให้เขาบอกกับว่า การติดคุกรอบหลังกินเฉพาะมังสวิรัติ บางวันเป็นสลัด เป็นผลไม้หรือนม และเดินออกกำลังกายในพื้นที่ประมาณ 20 เมตรกว่า ต้องเดินไปเดินมาให้เหงื่อออก เพราะช่วงโควิดระบาด ไม่มีโอกาสเจอแสงแดด 97 วัน ลดน้ำหนักไปได้ 30 กว่ากินโลกรัม ตอนเข้าไป 90 กว่ากิโลกรัม
เรื่องเสื้อผ้าจะต้องดูว่าใส่อยู่ไหน หรือไปทำอะไร กรณีที่ต้องไปศาลจะใส่ชุดสีน้ำตาล ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์มีให้ อยู่ในเรือนจำจะใส่สีขาวเป็นหลัก และถ้าต้องไปสถานพยาบาลเขาจะมีชุดสีฟ้าให้ กางเกงที่ใส่ก็จะเป็นกางเกงขาสั้น
"น้องๆ ผู้ต้องขังเขามาช่วยซักให้ เราก็ดูแลเขา เช่น ผู้ต้องขังที่ไม่มีรายได้เขาก็อยากมาดูแล พวกนี้เจอคดีอุกฉกรรจ์ทั้งนั้น แต่เขาน่ารัก เสื้อกางเกงสีขาวขาสั้น ซึ่งแห้งเร็วอยู่แล้ว ไม่ต้องรีดอะไร เท่านี้ก็ใช้พอแล้ว ในเรือนจำไม่มีใครใส่กางเกงขายาวหรอก รวยล้นฟ้าแค่ไหนก็ใส่แค่ขาสั้น"
สำหรับเขาแล้ว มองว่าคุก VIP ไม่มีอยู่ แต่อาจจะหมายถึงพื้นที่ที่ไม่แน่นหนาก็เท่านั้น "ตามจริงคุก VIP ถ้าอยู่ในเรือนจำไม่มีหรอก อาจจะหมายความถึงห้องที่จำนวนไม่แน่น ตอนที่ผมอยู่เรือนจำพิเศษเกือบ 5,000 คน ตอนนี้เหลือ 2,000 กว่าคน พื้นที่ก็จะหลวมๆ มันก็อาจจะสบายขึ้นนิดนึง จากที่อยู่สัก 50 อาจจะเหลือสัก 20 คน"
...
ถ้อยทีถ้อยอาศัย :
ทีมข่าวฯ ถามว่าได้มีโอกาสเจอกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนอื่นบ้างหรือไม่ เขาบอกว่าเจออยู่ตลอด ทั้งฝ่ายเดียวกันและฝ่ายเห็นต่าง ในเรือนจำหนีกันไปไหนไม่รอด เพราะว่ากำแพงคุกชนกันหมดอยู่แล้ว เจอกันก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ปกติ การต่อสู้มันอยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ จตุพรบอกกับเรา
นักโทษคดีทางการเมืองและคดีอื่นๆ ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร "ต้องเรียนว่าผู้ต้องขังข้างในเป็นมิตรไมตรีนะ เพราะไม่ว่าคุณจะต้องคดีอะไร คนอยู่ในคุกก็เป็นคนผิดต้องคำพิพากษาทั้งนั้น เคยเห็นเคสหนึ่งเป็นนักโทษฉกรรจ์รับโทษมานาน แต่ช่วงเขาอยู่ในเรือนจำ เขาดูแลคนแก่ที่ทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาไม่ได้เป็นญาติอะไรกันทั้งสิ้น ทั้งอาบน้ำให้ ล้างก้นให้
ตอนแรกเขาจะได้รับการพักโทษ แต่ตัดสินใจสละสิทธิ์พักโทษ เพราะคนแก่ที่เขาดูแลนั้นไม่มีใครดูแล และเขาก็ดูแลจนวันสุดท้ายที่ต้องอยู่ในเรือนจำ กำลังจะยกตัวอย่างว่า ท่ามกลางคนร้ายๆ เราก็เจอคนที่มีน้ำใจงดงาม ทุกคนในคุกต้องโทษเหมือนกัน เราอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ส่วนถ้าเราไม่ถือตัว เขาก็จะเกรงใจเราเองไปโดยปริยาย"
สุดท้ายแล้วก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้การนับถือระหว่างกัน...
สัจธรรมจากคุก:
...
อย่างที่เล่าไปข้างต้น 'การไม่ยึดติด' และ 'ธรรมะ' เป็นแนวคิดที่จตุพรใช้ตลอดการอยู่เรือนจำ เพื่อให้ความคิดหลุดพ้นจากความคิดมาก และให้เวลาแต่ละวันได้ผ่านไป
"ถ้าติดคุกแล้ววางไม่ลง จะทำให้นอนหลับวันนึง อีกวันนึงนอนไม่หลับ พอเช้ามาร่างกายก็เพลีย ต้องวางจิตตั้งแต่ต้น ไม่สนใจว่าอดีตเป็นใคร เพราะอดีตจะทำให้เราทุกข์" กิจวัตรแต่ละวันในคุกของเขาวนเวียนอยู่เหมือนเดิม เพราะมองว่านี่คือ 'การบวช'
"มนุษย์เราไม่ว่าอยากดีมีจน เมื่อมาอยู่ในคุกมันก็เหมือนกัน ผมตื่นขึ้นมากลางดึกดูผู้ต้องขังที่อยู่ในห้อง เศรษฐีบริษัทหมื่นล้านเติมไปหมด ในห้องนั้นรวมกันมูลค่าน่าจะเป็นแสนล้านบาท แต่ท้ายที่สุดมาติดคุกร่วมกัน นอนบนกระเบื้อง 3 แผ่น
ตื่น 03.00 น. มาล้างหน้าล้างตา 03.30 น. ก็นั่งสมาธิสวดมนต์ พอ 06.00 น. ปล่อยตัวมาข้างนอกก็กรวดน้ำทุกวัน แต่ช่วงโควิดอยู่ห้องอย่างเดียว ทำวัตรเช้า-วัตรเย็นเอาอย่างเคร่งครัด จิตใจก็ลืมวันลืมคืนไป ผ่านไปอีกทีก็เป็นปีแล้ว"
ทักษิณกลับไทย:
กรณีของนายกทักษิณ จตุพรบอกว่า จะต้องรับโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ก่อน จึงจะได้การลดโทษ ส่วนอภัยโทษตามเงื่อนไขอื่นๆ หรือเฉพาะรายนั้นเป็นตามพระราชอำนาจ ดังนั้นถ้าคิดจะมาอยู่ที่โรงพยาบาลตามที่หลายคนได้ฉายภาพกันมานั้น คงจะทำไม่ได้ ต้องตรวจสอบตามจริง และดูว่าเวลาที่รักษาควรเท่าไร "สักพักจะยากลำบาก ก่อนมาทุกอย่างจะดีหมด แต่ว่าหลังมามันจะยากตามลำดับ"
จตุพรเปรียบเปรยกับกรณีของ 'บุญทรง เตริยาภิรมย์' "เขาใช้ชีวิตธรรมดาอยู่ในเรือนจำ เพียงแต่เขาได้รับการอภัยโทษ ซึ่งเป็นอภัยโทษโดยพระราชกฤษฎีกาตามปกติ จนวันหนึ่งเขาได้รับพระราชทานอภัยโทษตามลำดับที่เป็นพระราชกฤษฎีกา แต่มีคนไปเห็นเข้าเลยทำเรื่องร้องไปยังวุฒิสภา แล้ววุฒิสภาร้องไปยังรัฐบาลนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้นจึงกำหนดเงื่อนไขใหม่ในคดีทุจริต เช่น ต้องรับโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จึงจะเริ่มลดโทษให้ หรือ โทษสูงต้องจำคุกมาไม่น้อยกว่า 8 ปี จึงจะลดโทษให้ ดังนั้น ไม่ว่า 1 ใน 3 หรือ 8 ปี มาถึงก่อน ก็ให้ปฏิบัติตามเส้นทางนั้น
กรณีของท่านนายกฯ ทักษิณ แม้ว่าท่านจะกลับมาในฐานะคนป่วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสายตาก็ตาม จริงอยู่ว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีจักษุแพทย์ อาจจะส่งไปโรงพยาบาลตำรวจ หรือโรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องรักษาตามอาการข้อเท็จจริง ถ้าคิดว่าจะไปอยู่โรงพยาบาลยาวนาน ในช่วงเวลาของการถูกจองจำนั้นคงจะยาก เพราะท่านเป็นคนสาธารณะ ทุกคนจะสนใจและติดตาม ท้ายที่สุดจะมีกระบวนการไปตรวจสอบความเป็นอยู่ของท่าน"
เรื่องราวของนายกทักษิณเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป และหากมีอะไรคืบหน้า ทีมข่าวฯ จะรายงานให้ทราบต่อไป...
บทสัมภาษณ์จาก 'จตุพร พรหมพันธุ์' ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวของนักโทษทางการเมือง และบางส่วนของนักโทษที่อยู่ในนั้น ซึ่ง 'คุก' เองก็สอนสัจธรรมให้เขาหลายอย่าง จนทำให้เรารู้สึกว่าบางทีชีวิตก็เท่านี้ สุดท้ายแล้วโลกใบนี้ อะไรจะเป็นสีขาว สีดำ หรือสีเทา ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :