คุยกับ "อาจารย์จี" เทพเกษตร จาก มธ. เชี่ยวชาญปัญหาโรคพืช ลงทุนแปลงบ้านเป็นแปลงผักทดลอง ห่วงปัญหา การใช้ปุ๋ยเคมี เผย วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ล้วนเกี่ยวข้องกับงานเกษตร ...

“คนทั่วไปมองการเรียนเกษตร คือ งานขุดดิน ถางหญ้า แต่ความจริงไม่ใช่ การเรียนวิชาแขนงนี้ มันสอนให้เรารู้ว่า ทำอย่างไรเพื่อไม่ต้องขุดดินและถางหญ้า แล้วผลผลิตมันออก”

ทุกๆ วันจันทร์ กับ คอลัมน์เกษตรและความยั่งยืน และในวันนี้ เรามีโอกาสพูดคุยกับ “อาจารย์จี” หรือ ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ เชื้อบุญ อาจารย์สาขาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ผู้ที่ทำงานวิจัยนับร้อยเล่ม และลงมือทดลองในสวนบ้านตัวเอง เพื่อสร้างเกราะป้องกันโรคพืชและผลไม้เศรษฐกิจ

ครอบครัวเกษตรกร เห็นความตรากตรำ อยากนั่งนับเงิน เรียนบริหาร

ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ กล่าวว่า คนจะเป็นเกษตรกรได้ ใจต้องมาก่อน เพราะการลงมือทำมันเหนื่อยมาก บางคนเห็นโพสต์ภาพสวยๆ ในโซเชียลฯ นึกว่าไม่เหนื่อย ความจริงคือ เราโพสต์ไป เป็นเพียงภาพที่อยากให้คนอื่นเห็น ส่วนตอนเหงื่อไหลไคลย้อย มือด้าน มือแตก ไม่มีใครเห็น

“การเป็นเกษตรกร หากทำแบบฉาบฉวย ก็จะรู้สึกสนุกและมีความสุข แต่เมื่อทำจริงจัง หมายถึงได้เงินจากมัน จะไม่ใช่ความสุขแล้ว จะกลายเป็นความกดดัน เพราะลุ้นผลลัพธ์ว่า พืชผลจะเสียหายไหม ขายได้หรือเปล่า”

อาจารย์จี ยอมรับว่า สมัยก่อนไม่เคยคิดจะเป็นเกษตรกร หรือคิดจะเรียนเรื่องการเกษตรเลย เพราะเป็นลูกเกษตรกร เห็นพ่อแม่ตรากตรำลำบากมาโดยตลอด ทำแล้วไม่รวย ทำให้เราไม่อยากจะเรียนเกษตรเลย ความรู้สึกเดียว คือ อยากจะเรียนหนังสือให้จบ วิชาอะไรก็ได้ที่ได้เงินเยอะๆ เช่น บริหารธุรกิจ เพื่อเอาเงินมาให้ครอบครัว

...

แต่...พอเราโตขึ้น ความคิดเราเปลี่ยนไป เราเข้าใจมากขึ้น คนทั่วไปมองการเรียนเกษตร คือ งานขุดดิน ถางหญ้า แต่ความจริงไม่ใช่ การเรียนวิชาแขนงนี้ มันสอนให้เรารู้ว่า ทำอย่างไรเพื่อไม่ต้องขุดดินและถางหญ้า แล้วผลผลิตมันออก

สิ่งเหล่านี้ต่างหาก คือ การเรียน การศึกษาเกี่ยวกับดินและพืช หาวิธีการทำให้ดินร่วนซุย จะได้ไม่ต้องขุดดิน ในปัจจุบัน เทคนิค เทคโนโลยีการเกษตรมีเยอะ และพัฒนาไปมาก

ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หลอมรวมเป็นงานเกษตร

ผู้เชี่ยวชาญโรคพืช ในฐานะเกษตรกร เลกเชอร์ประเด็นสำคัญว่า “การเกษตร” คือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือ การนำวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มามัดรวมกัน

ฟิสิกส์ : เปรียบดั่ง สิ่งมีอยู่จริง มองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ ยกตัวอย่างคือ “ความรัก” มีอยู่จริงไหม มองเห็นความรักหรือไม่ แต่สัมผัสถึงมันได้ หรือเปล่า หรือถ้าหลักฟิสิกส์ อย่าง แสง กับ ความร้อน แสงมองเห็น ความร้อนมองไม่เห็น แต่เราสัมผัสได้

ดังนั้น เราเอาหลักการ “ฟิสิกส์” มาใช้ เช่น การเอา UV มาใช้ ซึ่งหากเราเอา UV จากธรรมชาติ สาดลงไปในดิน ก็เท่ากับการเชื้อโรคในดิน นี่แหละ คือการรู้จักใช้ธรรมชาติในการจัดการ

เคมี : คือการพัฒนาเคมีทางเกษตร ปัจจุบันก็มีการพัฒนาไปมาก ซึ่งมันมีทั้งดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละบริษัท

“เราอย่ามองว่า สารเคมี คือ ผู้ร้าย ทางการเกษตร และพระเอก ต้องมีแต่เกษตรอินทรีย์อย่างเดียว มันก็ไม่ใช่ ในความจริง ตัวที่เป็น “ผู้ร้าย” คือ การใช้งานแบบขาด “องค์ความรู้” ต่างหาก

อาจารย์จี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ และเข้าใจว่า หากมีการระบุในคู่มือให้ใช้เคมี 20% ผสมน้ำ 80% เกษตรกรบางรายกลัวใช้ไม่ได้ผล ก็ไปเพิ่มสัดส่วน จาก 20% เป็น 40% จากนั้นก็ต้องเพิ่มอัตราส่วนไปเรื่อยๆ จนต้องใช้เพียวๆ แบบนี้ส่งผลร้ายแรง นอกจากเกิดสารตกค้างแล้ว หากเข้าไปสะสมในร่างกาย ก็จะเกิดโรคร้ายตามมา โดยเฉพาะมะเร็ง หากเข้าร่างกายทางไหน ก็จะทำให้อวัยวะนั้นๆ ได้รับผล

ชีวะ : คือการศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติของพืช

จากการทดลองในแล็บ สู่พื้นที่ของตนเอง หวังแก้ปัญหาโรคพืช  

ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ เล่าว่า สาเหตุที่ทำให้อาจารย์จีต้องใช้ที่บ้านมาปลูกพืช แปลงพื้นที่ 1 งานกว่าของตัวเองมาเป็นแปลงทดลอง เพราะเดิมทีได้มีการทดลองเกี่ยวกับโรคพืชต่างๆ ในห้องแล็บ จากนั้นก็เอาข้อมูลมาเขียนเป็นเปเปอร์ แต่รู้สึกว่าเท่านั้นไม่เพียงพอ จึงมีการทดลองจริง ลงแปลงจริง เจอสภาพดินฟ้าอากาศแบบจริงๆ เพื่อดูผลลัพธ์ว่า “ดีเหมือนอยู่ห้องปฏิบัติการ” หรือไม่ การเลือกใช้พื้นที่ตัวเอง เพราะจะได้ไม่กระทบกับของใคร การจะไปทดลองกับผลผลิตของชาวบ้าน หากเกิดปัญหาก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ไปทดลองในสวนทุเรียน รู้ไหม ทุเรียน 1 ต้น มูลค่าเป็นล้านบาท

...

อาจารย์จี อธิบายว่า เป้าหมายของการทดลอง คือ แนวคิดการแก้ปัญหา “โรคพืช” โดยเฉพาะ “เชื้อรา” ศัตรูตัวร้ายของพืชเกือบทุกชนิด แต่สิ่งที่มุ่งไป คือ การแก้ปัญหาให้กับพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ข้าวโพด ทุเรียน

สร้างเกราะป้องกันพืชผัก ผลไม้ การทดลอง คือ การสร้างองค์ความรู้ใหม่

ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ กล่าวว่า เราทดลองกับพืชทุกแบบ เพราะเป้าหมายที่ทำ คือ การ “อารักขา” พืช หาหนทางป้องกันโรค ไม่ให้พืชผักเจ็บป่วย และการทดลองก็ยิ่งทำให้เราได้ “องค์ความรู้” ใหม่ๆ การทำการทดลองในบ้าน ทำให้รู้สึกความสบายใจ มีความสุข ได้ไอเดียในงานวิจัยต่างๆ ด้วย ซึ่งถึงวันนี้มีงานวิจัยมากกว่าร้อยเรื่องแล้ว

“อาจารย์เข้ามาใน ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาโรคพืชและการควบคุมโรคพืช ที่ผ่านมา เราติดตามเรื่องนี้มาตลอด สิ่งที่พบกับการลงพื้นที่ต่างๆ พบว่าเกษตรกรยังใช้สารเคมีและพบ “สารเคมี” ตกค้างอยู่มาก”

อาจารย์จี ระบุว่า สิ่งที่เราสอน คือ หลักสูตรการจัดการวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการเกษตรอินทรีย์ ความหมาย คือ การปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี

...

เมื่อก่อน มีความคิด “แง่ลบ” กับสิ่งที่เราเข้ามาทำ คิดว่า การไม่ใช้สารเคมีนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะหากพิจารณาในหลักการ ขอบเขต และมาตรฐาน การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์นั้นยุ่งยากมาก

“แต่พอเราเข้ามาอยู่ และซึมซับกับเกษตรอินทรีย์ เรารู้สึกว่ามีอะไรมากกว่าคำว่า “มาตรฐาน” มันคือเรื่องของ “จิตใจ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก หากจิตใจได้ คือ 90% ก็คือ เกษตรอินทรีย์แล้ว ยกตัวอย่าง จ.ปทุมธานี เราพบว่ามีการใช้สารเคมีกับเกษตรเยอะมาก คำถามคือ แปลงในพื้นที่บ้านเรา ใน 1 ไร่ 1 งาน ของเราจะได้รับผลกระทบไหม คำตอบคือ มันอาจจะมีการปนเปื้อนเข้ามา เราจึงต้องออกแบบระบบในการดูดซับ

เมื่อถามว่า หากเป็นพืชเศรษฐกิจ ในเชิง “อุตสาหกรรม” สามารถทำแบบเกษตรอินทรีย์ได้ไหม อาจารย์วิลาวรรณ ยอมรับว่า ทำได้ยากมาก แต่ถ้าเป็นลักษณะ plant factory (โรงงานผลิตพืช) อาจจะทำได้ ที่สามารถควบคุมได้หมด

ทฤษฎีเกษตร และความยั่งยืน

สำหรับทฤษฎีการทำเกษตรของ ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ อาจารย์ มธ. เผยว่า การเกษตร คือ การศึกษาหาวิธีการอย่างไรให้ได้ต้นพืช เมื่อได้ต้นพืชมาแล้ว มาทำอะไรต่อ บางคนทำอย่างแรกได้ ทำอย่างที่สองไม่เป็น ฉะนั้น ทฤษฎีเกษตร ควรจะปลูกได้และขายเป็น ซึ่งแค่ 2 ขั้นตอนนี้ก็มีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการปลูก คือ การดูรักษา ดิน น้ำ

ดิน : แต่ละพื้นที่และภูมิภาค มีความแตกต่างกัน เราไม่รู้ว่าดินถูกทำร้ายอะไรบ้าง ดังนั้น เราสามารถตรวจองค์ประกอบของดินได้ ถึงแม้ตัวเกษตรกรจะตรวจไม่ได้ แต่สามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจได้ฟรี และเขาจะให้คำแนะนำว่าสามารถปลูกพืชอะไรได้บ้าง เหมาะสมกับดินเราอย่างไร ยกตัวอย่าง หากจะปลูกผักสลัด เขาจะชอบดินร่วนซุย มีความเป็นกลาง

...

น้ำ : หากไม่มีน้ำ เลิกคิดปลูกพืชได้เลย ถ้ามี ต้องหาวิธีการจัดการน้ำให้ได้ นอกจากมีน้ำแล้ว ก็ต้องดูเรื่องความสะอาดด้วย เช่น น้ำเราใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ก็ต้องเปลี่ยนแหล่งน้ำ

พืช : เลือกเรียนรู้พืชแต่ละชนิดก่อน ว่าชอบความชื้นแบบไหน แสงเท่าไร มีโรคระบาดอะไร ปุ๋ยแบบนี้ เราต้องรู้ชีววิทยาของพืชก่อน โดยเรียนรู้วิธีการควบคุมโรคและแมลง

“เราพยายามวางระบบเหล่านี้ทั้งหมด อะไรที่เป็นสารเคมี เราก็กรองไม่ให้เข้ามา เพราะบางครั้งมันอาจจะทะลุเข้ามาได้ แต่เราก็ใช้สารอินทรีย์ทั้งหมด หากเราปลูกขายเองเล็กๆ เราก็ให้ กรอ. ตัวเอง คือ กูรับรองตัวเอง (หัวเราะ) แต่ถ้าจะค้าขายขนาดใหญ่ ก็ต้องให้หน่วยงานตรวจรับรอง”

อาจารย์จี เผยว่า ตอนนี้แปลงทดลองที่ปลูก มีรายได้เดือนละ 5,000 บาท เมื่อผลผลิตออกก็โพสต์ขายในกลุ่มหมู่บ้าน 10 นาที ผักก็หมดแปลง เพราะเนื้อที่ไม่เยอะ แค่ 1 งานเท่านั้น

เกษตรกรไทย ปลูกเก่ง แต่ขาย ไม่เก่ง  

สิ่งที่เป็นห่วงและอยากแก้ไขให้เกษตรกรไทย อาจารย์จี บอกว่า เรื่องการปลูกพืชไม่รู้สึกเป็นห่วงเลย เพราะเกษตรกรไทยมีความเก่ง มีองค์ความรู้ด้านการปลูกพืช แต่ที่ห่วง คือเรื่องการขาย ปลูกเป็น ขายไม่เป็น

หากผลผลิตในเชิง Mass หรือพันธสัญญา มันอาจจะแก้ได้ยาก แต่ถ้าเรารวมกลุ่ม ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ จะสามารถเรียกร้องราคาได้ ซึ่งหลายๆ กลุ่มที่ทำอยู่ โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

 อ่านบทความที่น่าสนใจ