คุยกับเจ้าของฟาร์มกบ นครปฐม 10 วันได้เงินจากลูกอ๊อด 3 เดือนครึ่งกำเงินจากกบเนื้อ ขายดี รายได้ปีละเป็นล้าน เผยเทคนิคการดูแลให้ตัวใหญ่ ไซส์เบิ้มๆ...
เป็นหนึ่งในงาน “ปศุสัตว์” ที่ทำเงิน และเป็นที่นิยมมากในเวลานี้ สำหรับ “ฟาร์มกบ” ซึ่งเขาผู้นี้เป็นหนึ่งใน “ผู้บุกเบิก” และมีชื่อเสียงมากที่สุดในยุทธจักร นี้ ก็คือ "ต้อง ธีรภัทร์ เถาตะกู" เจ้าของฟาร์ม ส.สุรีรัตน์ ฟาร์มกบใหญ่ ใน จ.นครปฐม ที่เรียนรู้ และทดลองทำด้วยตัวเอง
“ด้วยที่ว่าผมเป็นคนไม่ชอบอยู่ว่าง พอมีเวลาก็จะออกไปหาความรู้ ดูอาชีพที่น่าสนใจ และก็มาพบฟาร์มกบเล็กๆ แห่งหนึ่ง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ด้วยความสนใจ จึงเข้าไปสอบถามเพราะความอยากรู้”
นี่คือจุดเริ่มต้น เมื่อปี 2545 ตอนนั้น ได้เริ่มใช้ชีวิตครอบครัว โดยได้แต่งงานกับภรรยา และเวลานั้น ก็ทำงานโรงย้อมผ้ากับพ่อตาแม่ยาย พอมีเวลาว่าง ก็เลยชวนภรรยาออกไปข้างนอก เห็นฟาร์มกบ ลุงกับป้า คนหนึ่ง เราขี่มอไซค์ผ่าน ก็มองแล้วมองอีก ตอนแรกก็ยังไม่กล้าเข้าไปดู
...
พี่ต้อง เล่าว่า กว่าจะเข้าไปได้ก็ใช้เวลาสักพัก เราก็พยายามถามเขาว่า ซื้อลูกพันธุ์กบมาจากไหน แกก็บอกว่า ซื้อมาจากแถวกำแพงแสน มีลูกหลานนำมาให้ จากนั้น เมื่อถามข้อมูลอื่นๆ ก็ไม่ได้รับคำตอบมากนัก
“ตอนนั้นยังไม่ได้ลงมือทำทันที เพราะเราก็ช่วยโรงย้อมผ้าที่บ้านแฟน นอกจากนี้ ก็เลี้ยงวัวเนื้อ ขุนอาหาร ให้กินเปลือกสับปะรด เลี้ยงเสร็จก็ขาย เรียกว่ามีกำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง แต่ก็พออยู่ได้”
กระทั่งเวลาผ่านไป 5 ปี ในปี 2550 รู้สึกว่า เลี้ยงวัว ไม่น่าไหว จึงคิดอยากเปลี่ยนแปลง
ลงทุนไร้ความรู้ ขาดทุน แต่ยังสู้!
นายธีรภัทร์ เล่าว่า ตอนแรกที่เริ่มลงมือทำ ทำบ่อปูน 3 บ่อ โดยเอาพันธุ์มาจากพี่ชาย ที่เพาะไว้ในครัวเรือนของตนเอง โดยขอซื้อ “ลูกกบ” มาเลี้ยงเพื่อขุนเนื้อแล้วขาย เบื้องต้น พี่ชายขายให้ตัวละ 1 บาท ซื้อมา 9,000 ตัว ปล่อยบ่อละ 3,000 ตัว
“ด้วยความที่ไม่รู้อะไรเลย ก็เลยให้อาหารเป็น “อาหารกบ” และ “อาหารปลาดุก” ให้สลับๆ กัน โดยหวังลดต้นทุน เพราะอาหารกบจะแพงกว่า แต่ผลที่ได้คือ การกินอาหารปลาดุก แล้ว กบจะไม่โต โดยเราทำไปเพราะความไม่รู้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ พอนำกบไปขายแล้วขาดทุน”
พี่ต้อง กลั่นประสบการณ์เจ้าของฟาร์มกบ เผยว่า ตอนนั้นเงินลงทุน แบ่งออกเป็นราคาลูกกบ และอาหารกบ ซึ่งการที่กบจะทำน้ำหนักได้ กบจะกินอาหารในปริมาณเท่าๆ กับน้ำหนักตัว แปลว่า เราขายกบได้ 1,000 กิโลกรัม ก็จะกินอาหารประมาณ 1 พันกิโลกรัม
“สรุปว่า คอกแรกในการขุนกบขาย เราลงทุนประมาณ 30,000 บาท แต่ขายได้เงินประมาณ 28,000 บาท เรียกว่าขาดทุนนิดหน่อย 2,000-3,000 บาท”
ฮึดเริ่มใหม่ เริ่มเลี้ยงกบ คอกที่ 2 คราวนี้เสมอตัว
เสี่ยต้องเจ้าของฟาร์มกบ บอกว่า หลังจากเรียนรู้ในการเพาะกบครั้งแรกแล้วขาดทุน ก็เลยตัดสินใจสู้ต่อ ในการรอบที่ 2 คราวนี้เรียกว่าเสมอตัว
“ด้วยเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ จึงลงทุนต่อ ด้วยการสร้างบ่อปูนเพิ่มอีก 3 บ่อ รวมเป็น 6 บ่อ แต่คราวนี้เราเปลี่ยนวิธีการ จากที่รับลูกกบมาเลี้ยง เปลี่ยนเป็นลูกอ๊อด โดยเอามาจากคนที่รู้จัก คราวนี้ลงบ่อละ 20,000 ตัว 6 บ่อ และมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บางส่วนด้วย โดยผลลัพธ์ที่ได้คราวนี้ เราเสมอตัว คือไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่ได้กำไร”
สาเหตุที่เป็นแบบนั้น เพราะตอนนั้นเรายังเลี้ยงไม่เก่ง ลูกอ๊อดบ่อละ 2 หมื่นตัว แต่โตมาเป็นลูกกบ ประมาณ 3,000-4,000 ตัว แต่ข้อดีของการเริ่มด้วยการเลี้ยงลูกอ๊อด มันลดต้นทุนได้มาก
พี่ต้อง ยอมรับว่า หลังจากเลี้ยงรอบสองนี้ แม้จะไม่ได้กำไร แต่ใจก็ฟูมากขึ้น เพราะสิ่งที่ได้ คือความรู้ ในการเลี้ยงกบ จึงตัดสินใจขยายบ่อเพิ่ม คราวนี้ทำเป็นบ่อดิน กว้าง 30 คูณ 30 เมตร เราล้อมแบบบ่อกุ้ง และก็เริ่มเพาะลูกอ๊อดอีกครั้ง...
...
“รอบที่ 3 นี้ จากการลงทุนเพิ่มไป สุดท้ายเราได้กำไรมาหมื่นกว่าบาท ซึ่งการขายกบ 3 รอบนี้ ใช้ระยะเวลาลองผิดลองถูกมา 3 เดือน”
พี่ต้อง เศรษฐีฟาร์มกบ ยอมรับว่า เงินกำไรก้อนแรกที่ได้รับนี้ ดีใจมาก จากนั้นจึงตัดสินใจขยายพันธุ์ และเพาะกบเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณพี่ชายเพื่อน ที่ขายลูกอ๊อดให้ เพราะนอกจากที่เขาจะขายให้แล้ว เขายังให้วิชาความรู้ในเรื่องของการเลี้ยงกบด้วย”
ขยายกิจการ คัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ก่อนกิจการเติบโต
นายธีรภัทร์ เผยว่า ช่วงนั้น ยังถือเป็นช่วงการทดลองต่างๆ แต่เราก็พยายามพัฒนาและขยายกิจการ ด้วยการคัดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กบไว้ โดยใช้วิธีการเลือก คือ หากเป็นกบตัวเมีย จะคัดตัวใหญ่ๆ ส่วนตัวผู้จะตัวเล็กกว่า
“เราให้มันทับกัน ทับกันไป ทับกันมา ผลปรากฏว่า กบที่ได้ตัวไม่ใหญ่มาก เพราะมันเป็นพ่อแม่เดียวกัน มันเป็นลักษณะ “เลือดชิด” บางตัวออกมาพิการ ตัวที่ปกติ เวลาโตก็จะตัวไม่ใหญ่...”
...
กระทั่งต่อมา เราจึงเปลี่ยนวิธีการ โดยเลือกสายพันธุ์ “บูลฟร็อก” ผสมกับ พันธุ์ “จาน” มีการขยายบ่อเพิ่มเติม จนกระทั่งมีลูกค้าเริ่มสนใจในวงกว้าง นอกจากขายกบแล้ว ยังขายลูกอ๊อด ลูกกบด้วย โดยเริ่มต้นขายลูกอ๊อด ตัวละ 8 สตางค์ กบตัวละ 1 บาท เรียกว่าขายดีมาก กลายเป็นว่าชื่อเสียงในสายกบ ลูกอ๊อด เป็นที่รู้จักในจังหวัดนครปฐม และต่อมาก็กลายเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ เพราะมีนิตยสารเกี่ยวกับสัตว์น้ำ มาสัมภาษณ์ลง ทำให้มีออเดอร์จากทั่วประเทศเลย
...
มุ่งเพาะ ลูกอ๊อด รายได้ดี!
นายธีรภัทร์ ยอมรับว่า หลังการเพาะลูกอ๊อด ลูกกบขาย และเป็นที่รู้จัก ทำให้เราสามารถได้เงินจากตรงนี้ จากหลักหมื่น สู่หลักแสน และไปถึงหลักล้านบาท
พี่ต้องอธิบายว่า เขาสามารถขายลูกอ๊อดได้ เดือนละ หลายแสนตัว ตัวละ 10 สตางค์ โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 10 วัน ส่วนลูกกบ ก็หลักแสนตัว/เดือน ตัวละ 1.50 บาท ขณะที่กบเนื้อ ขายกิโลกรัม
“กบที่ขายเนื้อ ของผมมันจะตัวยาวและใหญ่ เนื่องจากเราเอากบสายพันธุ์ “บูลฟร็อก” มาไฟต์กับ จาน กบนา มันทำให้ตัวใหญ่ขึ้น จับขึ้นมา คือ ขาตรง ตัวตรง โดยเวลาเราจะให้มันไฟต์กัน เราจะเลือกคนละบ่อเลย เพราะป้องกันปัญหาเลือดชิด สู้กบคนละพ่อแม่ มาผสมกัน จะได้ผลลัพธ์ดีกว่า และเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เวลานี้ตลาดเนื้อกบ เป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะคนทั่วไป หันมาบริโภคมากขึ้น”
ขั้นตอนการเลี้ยงดู ลูกอ๊อด และ กบ
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงดูนั้น พี่ต้องเล่าว่า เรามีการจัดตารางอาหาร โดย ลูกอ๊อด กบ และ ลูกกบ จะให้อาหารแตกต่างกัน
ลูกอ๊อด ลูกเขียด : จะให้อาหารกบไฮเกรด แบบเม็ดเล็กที่สุด แต่ต้องให้ 4 เวลา ตั้งแต่เช้า เริ่มตั้งแต่ 07.00 น., 13.00 น. และ 20.00 น.
“หากเป็นไซต์เขียด จะประมาณเท่านิ้วโป้ง อายุประมาณ 35-40 วัน เริ่มส่งไปถึงมือเกษตรกรแล้ว เขาจะนำลูกอ๊อด เขียด ไปต่อยอด หากเริ่มตัวใหญ่ขึ้น ก็จะให้อาหารขนาดใหญ่ขึ้น เท่าเม็ดถั่วเขียว”
ลูกกบ : ตัวประมาณ 2 นิ้วกว่าๆ จะเริ่มเปลี่ยนอาหาร มาให้อาหารไฮเกรด ไซส์ใหญ่ขึ้น อาหารเม็ด ขนาดใหญ่กว่าเม็ดถั่วเขียว โดยจะให้อาหาร 2 เวลา คือ 07.00 น. และ 18.00 น.
กบ : หากตัวใหญ่มากกว่า 3 นิ้ว ก็จะเปลี่ยนอาหารให้เป็นอาหารเม็ด ลูกเท่าประคำ ซึ่งจะให้อาหารวันละมื้อเท่านั้น เลี้ยงแบบนี้ไปถึง 3-4 เดือน ก็จะได้กบไซส์ขนาด 3-7 ตัว/กิโลกรัม ที่เป็นแบบนี้เพราะกบจะขนาดไม่เท่ากัน เพราะตัวผู้จะตัวเล็กกว่าตัวเมีย
รายได้เข้าเดือนละหลักแสนบาท แต่ก็มีต้นทุนสูง
พี่ต้อง ยอมรับว่า กบ จะมีฤดูกาลด้านราคา เพราะช่วงมิถุนายน ถึง สิงหาคม ราคากบจะถูกลงมาหน่อย เพราะมีกบตามธรรมชาติออกเยอะ ราคาอยู่ที่ 50-60 บาท/กิโลกรัม แต่หากเป็นหน้าอื่นๆ ราคาก็จะเพิ่มไป กิโลกรัม 70-100 บาท ก็มี
“การขายกบ ลูกอ๊อด นั้น ที่หนักที่สุด จะอยู่ที่ราคาอาหาร เพราะกบจะกินอาหารเท่าๆ กับปริมาณน้ำหนักตัว เช่น กบหนัก 1 ตัน ก็จะกินอาหารประมาณ 1 ตัน ฉะนั้น รายได้ที่เข้ามาดูเหมือนจะเยอะ แต่ค่าใช้จ่ายที่เราลงทุนไปก็เยอะด้วย เพราะค่าอาหารนั้น ตันละ 40,000 บาท แต่เราขายกิโลกรัมละ 65 บาท ฉะนั้น มันจะเหลือส่วนต่างประมาณ 30% ของเงินลงทุน และเรายังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก แต่ถ้าช่วงไหนราคากบดี เราก็จะได้กำไรมากขึ้น”
กบจะขายได้ ต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 เดือนครึ่งถึง 4 เดือน แต่ถ้าเป็นลูกอ๊อด ใช้เวลาเพียง 10 วัน ฉะนั้น สิ่งที่เป็นรายได้ ส่วนใหญ่ของเราจะมาจากลูกอ๊อด และ กบเนื้อ เพราะเราเลี้ยงที่บ่อดิน บ่อใหญ่ มีรายได้เข้าทุกวัน เพราะเวลาเราจับกบเนื้อ ครั้งหนึ่งก็หลักสิบตัน ก็ลองคูณราคาขายดู...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ