คุยกับ ดร.สิงห์ อินทรชูโต กับแนวคิด Upcycling การนำขยะแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ นวัตกรรม และการดีไซน์ แปลงขยะพลาสติกในทะเล เป็นผลิตภัณฑ์ช่วยชีวิต...

“หลายคน blame ดีไซเนอร์ว่า เป็นผู้กระตุ้นกิเลส ทำให้เกิดการบริโภค และใช้ทรัพยากรแบบนี้ แต่การออกแบบนั้นมีหลายวิธี เช่น ออกแบบให้ซ่อมแซมได้ ให้รีไซเคิลง่าย ออกแบบให้กระบวนการผลิตเหลือเศษน้อย หรือแม้กระทั่งให้ใช้ได้นาน หรือยั่งยืน” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ เพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ Osisu ซึ่งทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กับแนวทาง Upcycled Material ที่มีความแตกต่างกับการ Recycle 

จุดเริ่มต้น ของ Upcycle และการมองข้ามของคนไทย  

รศ.ดร.สิงห์ เล่าว่า สนใจในเรื่อง Upcycling ตั้งแต่ปี 2006 โดยตั้งบริษัท Osisu ขึ้นมา เวลานั้นโลกยังไม่ได้มีกระแสสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก เพียงแต่เราให้ความสนใจในเรื่อง “อาคารประหยัดพลังงาน” การตัดสินใจทำเรื่องนี้ เพราะเล็งเห็นว่า การออกแบบและก่อสร้างอาคารนั้น ทำให้มีขยะเยอะมาก จึงเริ่มเก็บและเปลี่ยนขยะเหล่านั้น มาเป็นวัสดุก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อทำออกมาจริงๆ ปรากฏว่า ไม่มีใครใช้สินค้า ที่เราคิดและออกแบบผ่านงานวิจัยในแล็บแล้วก็ตาม

กูรูด้านงานดีไซน์และออกแบบผลิตภัณฑ์ กล่าวต่อว่า เราจึงเปลี่ยนวิธีด้วยการดีไซน์ “วัสดุก่อสร้าง” มาเป็น “ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน” และจากการทำสำรวจตลาดเบื้องต้น พบว่า “ไม่มีลูกค้า” ฉะนั้น สิ่งที่เราทำคือการเน้นตลาดส่งออก 

...

“เราพยายามอธิบายว่า ของที่มาจากเศษขยะเหล่านี้ ไม่ได้มี “นางพราย” สิงสู่ ไม่ใช่ของที่เน่าเสีย แต่ก็มักมีคำถามเบสิกเหล่านี้เข้ามา...” อาจารย์สิงห์ เล่าเบื้องหลัง ที่เหมือนเรื่อง “ตลกร้าย” ของสังคมไทย

สภาพอากาศเลวร้าย สังคมเริ่มตื่นตัว ในการ Upcycled Material

หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ความนิยมในเรื่องนี้ก็มีมากขึ้น จนกระทั่งมีการตั้งห้องปฏิบัติการ เพื่อเน้นเรื่องการ Upcycling โดยมีการช่วยเหลือโรงงานต่างๆ ผ่านโครงการของ ITAP ของ สวทช. 

รศ.ดร.สิงห์ เผยว่า “ผมรับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ และเดินสายดูโรงงานกว่า 60 แห่ง (ณ เวลานั้น) เพื่อมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เก็บเศษวัสดุ มาปรับเปลี่ยนเป็นสินค้า ของโรงงานนั้นๆ โดยการขายสินค้าต่างๆ ที่นำมาจากเศษเหลือใช้นั้น บางคนแทบไม่เชื่อว่ามาจากเศษของเหลือใช้ เพราะผ่านการออกแบบมาอย่างดีมากๆ จนนำไปสู่การทำ upcycled certification (ฉลากรับรองการ upcycle) โดยองค์กรแรกที่ทำ คือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมก็คือ หนึ่งในคณะกรรมการก่อตั้ง” 

ในเวลาต่อมา สังคมโลกเจอปัญหาที่เลวร้ายกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change คราวนี้จึงเริ่มตระหนักว่า โลกต้องการลดคาร์บอน และภาครัฐก็เริ่มส่งเสริม จึงมีการเปลี่ยนแปลงฉลาก เป็น Upcycle Circular Economy ภายใต้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ต่อมาถูกเปลี่ยน เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา 

Upcycle for Life เน้นช่วยทุกชีวิต 

“เวลานี้ การนำเศษวัสดุต่างๆ มาทำสินค้าใหม่ ถือเป็นเรื่องปกติ  สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ คือ ทำให้ต่างชาติรู้ว่า หากจะนึกถึงสินค้า Upcycle ต้องนึกถึงประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่ท่านโปรดคือ การดำน้ำ และการดำน้ำของท่าน ท่านพบว่า ในทะเลอ่าวไทย และที่อื่นๆ มีเศษขยะพลาสติกเยอะมาก ต้องไปตัดแหอวน เก็บขยะมากมาย บวกกับพระองค์ท่านชอบเรื่องการออกแบบ ให้ความสนใจเรื่องแฟชั่น จึงเรียกผมให้ช่วยถวายงาน โดยเป็นผนวกเรื่อง วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และแฟชั่นเข้าด้วยกัน” 

...

รศ.ดร.สิงห์ เผยว่า ความห่วงใยของพระองค์ ทรงตรัสไว้ ตั้งแต่ปี 2018 แต่เวลานั้น มีปัญหาเรื่อง โควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ในปี 2019 ก็เลยเกิดปัญหา พระองค์ทรงติดตามตลอด ไต่ถามว่า ทำไมถึงไม่ทำสักที จนกระทั่งปี 2023 ที่เริ่มหลุดจากโควิด จึงได้เดินหน้าทำโครงการ ภายใต้มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ก็มีการหารือกันว่า จะหาวิธีดูแลสัตว์ทะเลและปะการัง อย่างไร เพราะที่ผ่านมา เราพบสัตว์ทะเลตายจากพลาสติกค่อนข้างมาก 

“ส่วนตัวผมรู้สึกว่า เราทำของ Upcycling ขายคนรวยมาทั่วโลกแล้ว ตั้งแต่ดาราฮอลลีวูด ยุโรป อเมริกา ก็มีหมดแล้ว หากเรายังทำต่อไป มันก็เดิมๆ ท่านอยากให้เรานำขยะพลาสติกมาออกแบบ จึงคิดว่า ควรทำ “แนวทางใหม่” เราไม่ทำของตกแต่งบ้าน ไม่ทำสินค้าแฟชั่น ไม่ทำของให้คนรวยมาซื้อมาตกแต่ง แต่เรา จะทำ Upcycle ผลิตภัณฑ์เพื่อมา “ช่วยชีวิต” เลยเป็นโครงการ  Upcycle for Life โดยมีเป้าหมายช่วยชีวิต” 

ชีวิตที่จะช่วยมีอะไรบ้าง คำตอบของคำถามนี้ รศ.ดร.สิงห์ อธิบายว่า ทีแรกคิดว่า จะช่วย คน ต้นไม้ สัตว์ทั้งบกและทะเล แต่ที่จริงคือ การช่วยทุกสรรพสิ่ง โดยผลิตภัณฑ์แรกๆ ที่ทำออกมา คือ การทำอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง คือ ทำ bed pan จากขยะพลาสติก นอกจากนี้ เรายังมีทีมพัฒนาอื่นๆ กำลังคิด และทำผลิตภัณฑ์ออกมา โดยใช้เศษขยะพลาสติกที่เก็บได้ เช่น เปล ใช้อุ้มสัตว์ทะเลที่เกยตื้น, เฝือก แขนขาและอื่นๆ จากเศษพลาสติก, 3d printing พลาสติก ปะการังเทียม เพราะเราไม่อยากจะโยนล้อรถยนต์ ก้อนซีเมนต์ ลงไปในน้ำแล้ว เราจะปรินต์จากพลาสติกให้กลายเป็นปะการังสวยๆ เพื่อให้สัตว์ต่างๆ มาเกาะ หรืออยู่อาศัยได้  

...

“ตอนนี้เราต้องการความช่วยเหลือเยอะ เพราะขยะพลาสติกมีเหลือเยอะ และเราก็ไปขอจาก “ดาว เคมิคอล” ได้ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณกรมควบคุมมลพิษ ส่วน ม.เกษตรฯ ก็จะสนับสนุนงบ บางส่วนในการผลิต ผลิตภัณฑ์ UPCYCLE เพื่อคนและต้นไม้ และตอนนี้เข้าใจว่า บริษัท ดับเบิ้ล ล็อค จะช่วยทำพิมพ์ให้ และเรากำลังหารือกับทหารเรือ เพื่อของบประมาณสนับสนุน เพื่อเดินหน้าโครงการของพระองค์ท่าน เกิดเป็นรูปธรรม” 

ที่มาขยะพลาสติก ที่นำมาใช้ UPCYCLE 

เมื่อถามว่า “ขยะพลาสติก” ส่วนใหญ่ ที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ UPCYCLE มาจากไหน นอกจากทะเล รศ.ดร.สิงห์ กล่าวว่า มีอยู่ 3 ส่วน ส่วนหนึ่ง คือ ตามแม่น้ำและบนบก ซึ่งบนบกมาจากหลุมฝังกลบทั้งหลายด้วย โดยมาจากมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ส่วนที่สอง ก็มาจากทะเล ที่บริษัทต่างๆ ไปเก็บมา ส่วนที่ 3 คือ ของเหลือที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม 

“ส่วนอัตราส่วนนั้นเป็นอย่างไร ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครเก็บข้อมูลมารวมกัน ส่วนจำนวนที่นำมาใช้ในแต่ละปี เทียบสัดส่วนถือว่าน้อยมาก แค่ 1% จากที่เหลือทิ้งๆ กัน สิ่งที่เราทำ หรือ ที่ทำกันทั้งโลก ถือว่าเป็นส่วนที่ “ขี้ประติ๋ว” มาก กับขยะที่มันอยู่ในธรรมชาติตอนนี้ แต่...เราจะไม่ทำก็ไม่ได้”

...

เมื่อถามว่า เวลานี้ สังคมไทย คนไทย ตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือยัง กูรูด้านการออกแบบ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า คนไทยตื่นตัวมากๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก จนกระทั่งเป็นนโยบายของรัฐ คือ BCG   

ประเด็นสำคัญ คือ กฎระเบียบนานาชาติ เริ่มกีดกัน “สินค้า” ที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และนี่คือ “ภาคบังคับ” และเอกชนไทย กำลังเข้าสู่ภาคบังคับ เช่น บังคับไม่ให้ปล่อยสารที่มีไอระเหยสูง ภายในอาคาร บังคับให้ใช้วัสดุ ที่เป็นการรีไซเคิล โดยมีระบุเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของโครงการต่างๆ ว่ามีนโยบาย สอดรับด้วย 

UPCYCLE กับการอนุรักษ์โลก

อาจารย์สิงห์ ยอมรับว่า ในความเป็นจริง สิ่งที่ทำนั้น อาจช่วยโลกไม่ได้เลย แม้จะทำฉลาก, สอนคน, ทำเป็นโมเดลธุรกิจ, ทำโครงการที่สนับสนุนเรื่องนี้บนเนื้อที่ 300 ไร่ แต่...มันยังน้อยไป ทำได้แค่การตื่นรู้ แต่ไม่รู้ทันหรือไหม เพราะเทคโนโลยี ที่จะเอามาใช้ในการ UPCYCLE จำเป็นต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ ณ เวลานี้ เทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่ได้พัฒนาไปไกลเท่าที่ควร...

ทีมข่าวฯ ถามว่า เท่าที่ประเมิน คือ เทคโนโลยีฯ เดินมาถึงแค่ไหน อาจารย์สิงห์ ถอนใจก่อนตอบว่า “นี่คือ คำถามที่ผม รู้สึกว่าทำผิดพลาดมาแล้วในอดีต คือ การตั้งบริษัท Osisu ขึ้นมา โดยไม่ได้บอกว่า จะ UPCYCLE เศษวัสดุอะไร...ผมจะ UPCYCLE เศษวัสดุไปหมด ตอนแรก UPCYCLE  เศษไม้ ต่อมาทำเศษแก้ว, เปลือกไข่, กีบหมู หรือ เศษจากหนัง  

“หากเป็นแบบนี้ บริษัทเราแย่แน่ เพราะจะมีการลงทุนไม่สิ้นสุด ดังนั้น ถามว่าเราช่วยได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว จึงตอบได้ยาก เพราะวัสดุมันหลากหลายจนไม่รู้ว่า อะไร ฉะนั้น สิ่งที่ดูในเวลานี้มีเพียงอย่างเดียว คือ พลาสติก โดยที่เราไม่ได้กลับไปดูเลยว่าเศษหนังเรา UPCYCLE  ได้เท่าไร แม้กระทั่ง เศษแก้ว เราทราบอยู่แล้วว่าเศษแก้ว รีไซเคิลได้ แต่ในความจริง เรารีไซเคิลได้แค่แก้วใส หากแก้วมีสีเมื่อไหร่ ก็ต้องทุบและฝังกลบ” 

รศ.ดร.สิงห์ กล่าวว่า ตอนแรกเราเข้าใจว่าเราสามารถแก้ปัญหาเศษวัสดุได้ทุกเศษ แต่ในความเป็นจริง คือ เราแทบไม่รู้เลยว่าเทคโนโลยี มันไปไกลแค่ไหน ในแต่ละอุตสาหกรรม ก็มีหลายแบบ ทั้งทันสมัยมาก และเชย อย่างงานไม้ ก็มีเทคโนโลยีใหม่ เช่น การประกอบไม้โดยไม่มีสารระเหย เทคโนโลยีสร้างเสา เป็นคานรองรับน้ำหนักตึก 10 ชั้นได้ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้มีการพัฒนาอยู่ตลอด แต่ก็รู้ว่า พัฒนาไม่ทัน เพราะเรารู้ว่า ผลที่เกิดขึ้นที่เห็นในตลาด มันก็ออกมาแบบเดิม ในขณะเมื่อดูในหนังสือ ดูทฤษฎี มันมีเยอะไปหมด แต่เมื่อจะหามาใช้จริง ปรากฏว่าไม่มีให้ใช้

ฉะนั้น “ความรู้” ที่มี แต่เมื่อจะปรับเปลี่ยนให้นำไปสู่การผลิต มันยังขาดตอนอยู่ เหมือนกับ Technology Readiness Levels (TRL) เครื่องมือในการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนา มี 9 ระดับ 1-4 ในแล็บ, 5-6 ในระดับต้นแบบ, ระดับ 7-9 เอาไปใช้ในตลาด ตอนนี้เรามี ความรู้ในระดับ 1-5 แต่มีการพัฒนาไปสู่ผลิตอุตสาหกรรม ในระดับ 9 นั้น มีน้อยมาก ดังนั้น การตอบคำถามนี้ยากมาก

เมื่อถามว่า สาเหตุที่ไปไม่ถึงในระดับนั้น เพราะอะไร อาจารย์สิงห์ ตอบว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ ลงทุนแล้วได้กำไรทันที ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมที่กำไรชัดเจนได้ ต้องรู้ก่อนว่า “ลูกค้า” คือ ใคร รองรับได้เท่าไร และเป็นสินค้าที่เคยเห็นมาแล้ว 

Upcycled Material ในหลายๆ วัสดุ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การยอมรับจึงเป็นไปได้ช้า พอช้าแล้ว SMEs ที่สายป่านไม่ยาว อยู่ได้ 2-3 ปีก็เจ๊งไป นี่คือปัญหา คือไม่มีระบบยอมรับในระยะยาว อีกประเด็นสำคัญ คือ ประเทศไทย เป็นประเทศเล็ก การยอมรับจึงได้น้อย ดังนั้น การจะไปสู่ในระดับ “อินเตอร์” ทันทีเลย เราก็จะเจอปัญหาเรื่องความพร้อมหลายอย่าง อาทิ เครื่องมือทดสอบต่างๆ เราต้องไปต่างประเทศ ระเบียบต่างๆ ก็ไม่แม่น ภาษาก็ไม่เก่ง สิ่งเหล่านี้ คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรายังหยุดนิ่งแบบนี้ แม้ที่ผ่านมา จะมีกองทุนของหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน แต่ก็มีเงินไม่สูงนัก 

ชนชั้นกลาง คือ กลุ่มคนที่สร้างขยะ?  

เมื่อถามว่า สาเหตุหนึ่งที่การ UPCYCLE ยังไม่ไปสู่ระดับสาธารณะ เพราะมันไกลตัวผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำหรือเปล่า อาจารย์สิงห์ตอบประเด็นนี้อย่างน่าสนใจว่า “ผมว่าคนหาเช้ากินค่ำไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาทิ้งขยะน้อย และประหยัด แต่คนชั้นกลาง นี่แหละ “ตัวดี” เงินมีซื้อของ มักง่ายก็ได้ ไม่ตาย คนกลุ่มนี้ต่างหาก ที่ยังไม่ปฏิบัติ เพราะแนวทางไม่ส่งเสริมพอ เช่น หากเราแนวทางว่า คนทิ้งขยะเยอะ ต้องจ่ายมาก จ่ายตามน้ำหนัก แบบนี้เชื่อว่า คนชั้นกลาง ก็จะไม่ทิ้งเยอะ เก็บของเก่า มาใช้ใหม่ เพื่อลด “ค่าใช้จ่าย” การจัดการขยะ 

“นโยบายแบบนี้ไม่เกิด กลายเป็นว่า คนกลุ่มใหญ่ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็จะปล่อยๆ มันไป พรุ่งนี้ค่อยเริ่มได้ พรุ่งนี้ค่อยเริ่มก็ได้ เพราะวันนี้เหนื่อย มีตังค์ซื้อชิ้นใหม่ ฉะนั้น สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือการใช้นโยบายเชิงบังคับ ซึ่งมันสามารถคิดได้หลายนโยบาย อาทิ หากซื้อสินค้า UPCYCLE ช่วยลดหย่อนภาษีได้” 

รศ.ดร.สิงห์ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ในอนาคต สังคมไทย สังคมโลก อาจจะไม่มีทรัพยากรใช้ เราต้องเก็บขยะที่ทิ้งๆ เอามาใช้ เพราะมันจะไม่มีของใหม่ 

“ในชีวิตเรา เราลองนึกดูว่า อะไรที่มาจากธรรมชาติที่เราสร้างได้บ้าง อย่างมากก็มีต้นไม้ เขาควาย กีบหมู หอย เปลือกไข่ ที่งอกใหม่ได้ นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรแล้วนะ ถ้าเรารู้ว่า อะไรที่เราใช้ไปแล้ว ไปลับ อีกหน่อยมันจะไปลับจริงๆ ถ้าเราไม่จัดการ” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ที่มารูป FB : Osisu 

อ่านบทความที่น่าสนใจ