คุยกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ "ไผ่ ลิกค์" กับเบื้องหลังคุยกับพรรคเพื่อไทย ระบุ ไม่มีประเด็นเรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

27 กรกฎาคม 2566 จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 คราวนี้เป็นทีของ “เพื่อไทย” ที่รับหน้าที่เป็น “เจ้าภาพ” หาผู้สนับสนุน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยมีตัวเต็งที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ท่ามกลางกระแสข่าวลือถึงความพยายามในการสลัด ก้าวไกล พรรคการเมืองที่ไม่ค่อยมีเพื่อนคบ เหตุเพราะการผลักดันในการแก้ไขมาตรา 112 

27 กรกฎาคม 2566 จะเป็นอย่างไร ก็คงต้องรอวันนั้น แต่...กว่าจะถึงวันนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวจากพรรคเพื่อไทย ในการ “เกี้ยวพา” พรรคอื่นๆ ที่ไม่อยู่ใน 8 พรรคที่ร่วมลงนาม MOU 

โดยเพื่อไทยส่งหนังสือถึง 5 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ภูมิใจไทย ชาติพัฒนากล้า รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และพลังประชารัฐ 

โดยการพูดคุยแต่พรรค มีแนวทางแตกต่างกัน บางพรรคคุยหารือร่วมรัฐบาล ส่วนอีกบางพรรค เช่น รวมไทยสร้างชาติ และ พลังประชารัฐ คือ หารือ หาทางออกประเทศ และการโหวตนายกฯ แค่นั้น? 

...

หลายพรรค พูดคุยในบรรยากาศชื่นมื่น มีเพียง “พลังประชารัฐ” ที่ เจอ ม็อบเล็กๆ สาดแป้งกัน ในขณะที่บรรยากาศภายนอก ที่มีการแกนนำอย่าง บก.ลายจุด หรือ “สมบัติ บุญงามอนงค์” ฝ่าฝน มาร่วมชุมนุม แปรอักษรที่แยกอโศกมนตรี 

สำหรับเบื้องหลังการหารือเป็นอย่างไร นั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ไผ่ ลิกค์ หนึ่งในแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ร่วมพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย วันนั้น เปิดเผยเบื้องหลังการพูดคุยว่า สิ่งที่คุยวันนั้น ออกมาในรูปแบบการหารือกันมากกว่า แต่ละคนมีแนวทางทางการเมืองกันอย่างไร เรียกว่า “คุยในภาพกว้าง” เขาถามว่า จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐเป็นอย่างไร มีข้อแม้อะไรหรือไม่ ที่พลังประชารัฐจะโหวตช่วยนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย 

หมายถึงว่า โหวตช่วยคุณเศรษฐา ทวีสิน? ไผ่ ลิกค์ รีบตอบทันทีว่า เป็นใครผมยังไม่ทราบ แต่ขอให้ช่วยในนามแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย 

“ผมพูดไม่ได้หรอกครับ ว่าจะหนุนใคร แต่ยอมรับว่า พูดคุยกันแล้วในระดับหนึ่ง เราบอกชัดเจนว่า เราจะไม่ร่วมเลย คือ การแก้ไขมาตรา 112” 

เมื่อถามว่า บรรยากาศการพูดคุย เป็นอย่างไร ไผ่ ยอมรับว่า ตอนที่พูดคุยกัน ไม่ทราบว่า ข้างนอกมีความวุ่นวายเล็กน้อย ซึ่งส่วนตัว ตนเองมีความคุ้นเคยกับพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เพราะเคยทำงานอยู่ที่นี่ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคใด

ทั้งนี้ การเดินทางมาพูดคุยในวันนั้น ทางเพื่อไทย เป็นคนส่งหนังสือเชิญมา เราเห็นว่าเขาเป็นพรรคใหญ่ เราก็เลยให้เกียรติ เดินทางมาพูดคุย 

เมื่อถามว่า ภาพที่ออกมา เหมือนเป็นการพูดคุยการตั้งรัฐบาล เพื่อไทย พลังประชารัฐ ประเด็นนี้ ไผ่ กล่าวว่า เราก้าวไปทีละก้าวดีกว่า ที่สำคัญคือ หากเราจะร่วมรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องพูดคุยลักษณะนี้ 

“ผมอยู่ตรงนี้มานาน เวลาเขาจะตั้งรัฐบาล ส่วนมากเขาจะคุยกันเงียบๆ ดังนั้น หากการพูดคุยดังกล่าว จะมองแต่มุมนั้นอย่างเดียว ก็คงไม่ใช่.. หากมองดูดีๆ “ขั้วการเมือง” ในสมัยก่อน ที่ไม่เคยบวกกันได้ แต่สมัยนี้ก็บวกกันมาแล้วก็มี และในอดีต เคยมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง วันนี้หายไป ดังนั้น สิ่งที่ทำในเวลานี้จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป”

...

เมื่อถามว่า แบบนี้ความขุ่นเคืองที่เคยมีในอดีต ช่วงที่แตกออกมาเป็นพลังประชารัฐ กับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า นายไผ่ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ส่วนตัวผมไม่มีความขุ่นเคืองกับเพื่อไทย ส่วนตัว ท่านธรรมนัส ก็ไม่ได้มีเช่นกัน สิ่งที่จะต้องโฟกัส คือ “รวมไทยสร้างชาติ” กับ “เพื่อไทย” มากกว่า เพราะในความเป็นจริงคือ “พลังประชารัฐ” กับ “เพื่อไทย” คุยกันได้อยู่แล้ว...

แต่กับ “ก้าวไกล” ล่ะ นายไผ่ ตอบว่า แนวทางความคิดมัน “สุด” แบบคนละแบบ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง มาตรา 112 

เมื่อถามว่า ในการพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย มีประเด็นเรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ นายไผ่ ตัดบททันทีเลยว่า “ไม่มีครับ เรื่องนี้ไม่มีการพูดคุยกัน” 

...

เมื่อถามว่า หากถามในมุมมองส่วนตัว จะมีพรรคใด มาร่วมตั้งรัฐบาลได้บ้าง นายไผ่ บอกว่า เรื่องนี้เราพูดไม่ได้ เพราะมันเป็นหน้าที่ของเพื่อไทย เราต้องทำตามมรรยาททางการเมืองก่อน โดยให้มีพรรคอันดับ 1 โหวต เลือกนายกฯ ก่อน จากนั้นก็มาถึงพรรคอันดับ 2 แต่ถ้าทางเพื่อไทย ตั้งไม่ได้ ก็คงต้องไปอันดับ 3 

เมื่อถามว่า จะหนุนคุณอนุทิน ไหม ถ้าเกิดมาถึงอันดับ 3 นายไผ่ กล่าวสั้นๆ ว่า ยังไม่อยากพูดอะไรที่มันไกลขนาดนั้นครับ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ