วิเคราะห์อนาคต "พิธา" หลังถูกสกัด ไม่ได้โหวตนายกฯ อ่านเกมเพื่อไทย จับขั้วตั้งรัฐบาล กับเผือกร้อน ว่าที่นายกฯ ที่ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" อาจต้องเผชิญ....

“ขอใช้โอกาสนี้ในการอำลาท่านประธาน จนกว่าเราจะพบกันใหม่ แล้วก็ขอฝากเพื่อนๆ สมาชิกในการใช้รัฐสภาในการดูแลพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วครับ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม และถ้าเกิดประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไปครับ”

นี่คือเสียงของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ที่กล่าวก่อนเดินออกจากสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากทราบผลว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจาก กกต. เพื่อวินิจฉัย ปมถือหุ้น itv ว่าจะส่งผลทำให้การเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาล รธน.รับแล้ว ยังได้มีคำสั่งให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราวด้วย เป็นที่มาของการเดินออกจากรัฐสภา และในเวลาต่อมา สภาได้ลงคะแนนเสียง 395 คะแนน ต่อ 312 คะแนน เป็นมติต้องห้าม ผิดข้อบังคับการประชุมสภาที่ 41 ทำให้ นายพิธา ไม่ได้รับโอกาสในการโหวตรอบ 2    

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้  (19 กรกฎาคม 2566) เสมือนเป็นวันที่ “โหดร้าย” ทางการเมือง สำหรับ นายพิธา แต่...อนาคตทางการเมืองของ นายพิธา จะสิ้นสุด หรือเดินต่อไปได้หรือไม่ เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลอย่างไร จะเจอม็อบหรือเผือกร้อนหรือไม่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เชิญ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มาให้ทัศนะ...

...

วันนี้กระบวนการทุกอย่างถูกเผยออกมาหมดในวันนี้ หากได้โหวต...ก็ไม่รอด เพราะทุกอย่างมันชัดเจน สมมติว่าวันนี้ไม่โหวต และเสนอชื่อซ้ำทำไม่ได้ ผลออกมาเป็นแบบนี้มันจะเป็นการ “สะสมอารมณ์ความโกรธ” คุณไม่รับรองแคนดิเดตของฉัน แถมยังไม่ให้โอกาสเสนอชื่อซ้ำอีก มันจะโหดร้ายกันเกินไปไหม..หากได้โหวตแล้วไม่ได้ ความโกรธ ก็จะเท่าๆ เดิม เชื่อว่ามีคนอยากแสดงออก แต่ความพีกในอารมณ์จะไม่มากไปกว่าเดิม เขาก็คงรอดูว่าเป็นอย่างไร ผลคือ ถ้าไม่ได้ ก็จะยอมจำนนด้วยเสียงโหวต  

ข้างต้น คือ ข้อสังเกตที่ อาจารย์สติธร มองไว้ล้วงหน้า (ทีมข่าวสัมภาษณ์ เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 19 ก.ค. ก่อนที่ประชุมสภาเปิดให้โหวต) 

อาจารย์สติธร กล่าวว่า หลังจากนี้ ก็จะมาดูข้อกำหนด MOU ทั้ง 8 พรรคการเมือง ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะฝั่งเพื่อไทย ต้องมารอลุ้นต่อได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็จะโกรธขึ้นเยอะอีก แบบนี้...พาลจะมาโกรธเพื่อไทยอีก 

การไร้แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 2 ของก้าวไกล คือความผิดพลาดหรือไม่ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ฟันธงว่าไม่ใช่เรื่องผิดพลาด เพราะมันไม่สามารถเดินตามเกมอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ว่า “ก้าวไกล” เขาอ่านกฎหมายผิด แต่กฎหมายที่เขียนไว้ จำเป็นต้องตีความให้ถูก 

“วันนี้มีคนพาล พยายามตีความไปในทางที่ไม่ถูก สิ่งที่ก้าวไกลต้องทำ คือ ยืนยันในหลักการ หากไม่มีหลักการ บ้านเมืองจะวุ่นวาย ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าห้ามเสนอชื่อ พิธา ซ้ำ ไม่งั้นเรามีแคนดิเดตคนอื่นต่อ ซึ่งการแก้เกมทางการเมือง แต่มันจะผิดหลักการ”

เมื่อถามว่า คุณพิธา จะได้โอกาสรับโหวตในรอบที่ 3 หรือไม่ อาจารย์สติธร ตอบแบบฟันธงว่า “ไม่มี เพราะเสียงที่ได้ ก็ไม่น่าจะได้เพิ่มตามที่พรรคประกาศ เผลอๆ จะลดลง”  

การแยกทางของเพื่อไทยและก้าวไกล กับการตั้งรัฐบาล 

เมื่อถามว่า เพื่อไทยควรทำอย่างไร ดร.สติธร ระบุว่า เพื่อไทยต้องใจเย็นๆ และดูสถานการณ์ต่อไป วันนี้สิ่งที่เพื่อไทยทำ คือ การยึดมั่นใน MOU ร่วมกัน และเดินไปกับทั้ง 8 พรรค แต่ถ้าก้าวไกลบอกกับเพื่อไทยว่า “มันเดินมาสุดทางแล้ว” ครั้งหน้าให้โอกาสแคนดิเดตในนาม 8 พรรค ตาม MOU เดิม ข้อเสนอแบบนี้ก็ควรต้องรับ และเดินต่อไปก่อน 

จำเป็นหรือไม่ ที่ท่าทีดังกล่าวต้องออกมาจากก้าวไกลก่อน ดร.สติธร ยอมรับว่า “จำเป็น” เพราะมันคือมติของ 8 พรรค เพราะคุยกันไว้แต่แรกว่า จะให้ คุณพิธา อีกรอบ หากคะแนนไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่...ถ้าก้าวไกลมาแถลงความชัดเจนซ้ำ มันก็โอเค 

...

“ถามว่าควรจับมือกับก้าวไกลต่อหรือไม่ ผมว่าเพื่อไทยควรจับมือก้าวไกลต่อ เพราะหากมองเกมยาว เนื่องจากเป็นเจตนารมณ์ของประชาชน อย่างน้อยก็ได้ความรู้สึกของประชาชน เพราะอยากให้ 2 พรรคนี้ไปเป็นรัฐบาลด้วยกัน แต่หากเพื่อไทยลองดูแล้ว และไปต่อไม่ได้ เพื่อไทยก็ต้องเปิดเกมใหม่ ด้วยการเติมคะแนนเสียงจากพรรคอื่นก่อน เพราะหวังเสียง ส.ว.ยาก ก็ต้องเติมเสียงให้ได้ 376 เฉพาะฝั่ง ส.ส.อย่างเดียว” ดร.สติธร กล่าวและว่า 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ การต่อรอง เช่น ไปต่อรองกับภูมิใจไทย หากคำตอบบอกว่า “ยินดีร่วมกับเพื่อไทย แต่ไม่ร่วมกับก้าวไกล” แบบนี้ต้องคุยกับก้าวไกล ว่าจะเอาอย่างไร... 

เมื่อถามว่า ภูมิใจไทยประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่เอา..? ดร.สติธร กล่าวว่า เพื่อไทยก็ต้องกลับไปถาม “ก้าวไกล” หากตกลงกันไม่ได้จริงๆ เพื่อไทยก็ต้องประกาศว่าจะขอเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีความพยายามแล้ว ดีกว่าปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รักษาการไปเรื่อยๆ 

การแยกทางของก้าวไกลกับเพื่อไทย สิ่งสำคัญ คือ วิธีการ โดยต้องแยกแบบต่างฝ่ายต่างยอมรับกันและกันได้ แบบนี้เรียกว่าจบด้วยดี ไม่มีปัญหา เพื่อไทยก็ไปทำหน้าที่รัฐบาล และตอบคำถามคนที่เลือกเพื่อไทยมา แต่ไม่อยากร่วมรัฐบาลกับบางพรรคให้ได้ ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน จากนั้นก็พิสูจน์กันใน “สนามเลือกตั้ง” อีก 4 ปี พอถึงเวลาประชาชนก็จะเป็นผู้ตัดสิน 

แต่ถ้าแยกย้ายกันไม่ดี เพื่อไทยก็จะบาดเจ็บเยอะหน่อย เสียงคนที่เลือกเพื่อไทย ว่ามองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่...ไม่ได้แปลว่า 9 ล้านในระบบเขตและบัญชีรายชื่อจะหายหมด เท่าที่ประเมินเต็มที่ คะแนนเพื่อไทยก็หายไม่เกิน 1 ใน 3 แต่การเป็นรัฐบาลมีโอกาสสร้างคะแนนนิยมได้”

...

แต่...การข้ามขั้วนั้น จะทำให้เพื่อไทยไปมีสถานะใหม่ กลายเป็นตัวแทนของอีกฝ่าย

หมายความว่า ภาพเพื่อไทยจะกลายเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม? ดร.สติธร ตอบว่า ใช่ จะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมที่สร้างมาดูดคะแนนของพรรคร่วมอื่นๆ มาร่วมกับตัวเองได้ เช่น หากพรรคพลังประชารัฐ ต่อไปไม่มีลุงป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โรยราไป ก็เชื่อว่าหลังจากนั้น พลังประชารัฐบางส่วนก็จะไหลมารวมกับเพื่อไทย ภูมิใจไทย จะมีพลังดูดหนักแน่นแค่ไหน อาจจะดึงภูมิใจไทยมาได้ “ขนาดพรรค” อาจจะเท่าเดิม หรือโตขึ้นก็ได้ 

“คนที่บอกว่า เพื่อไทยต่อไปเละเทะแน่ กลายเป็นพรรคต่ำร้อย ก้าวไกล แลนด์สไลด์ แบบนี้ประเมินเกินไปนิดนึง เพราะคนที่เลือกเพื่อไทยไม่ได้มีจุดยืนเดียวกับก้าวไกล เพราะคนเลือกเพื่อไทยวันนี้มี 2 แบบ คือ 1. คนแบบอุดมการณ์ 2. บุคคลที่ผูกพันนโยบายและตัวบุคคล สิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ คือ แม้ว่าพรรคก้าวไกลกระแสดีขนาดนี้ เขาก็ยังเลือกเพื่อไทยอยู่ แปลว่านี่แหละ แฟนพันธุ์แท้เพื่อไทย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีกระแสเชียร์ให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาลแข่ง แปลว่าเพื่อไทยไม่ได้เสียงหาย 100 เปอร์เซ็นต์ เต็มที่ก็คือ 1 ใน 3 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสทวงคืน ส.ส.จากฝั่งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทยได้ เพราะการที่เป็น “ขั้วเดียวกัน” ก็สามารถโยกย้ายถ่ายเทได้”

...

เมื่อถามว่า ถึงเวลาจริงๆ ก้าวไกลกับเพื่อไทย ก็คือคู่แข่งทางการเมือง? อาจารย์สติธร กล่าวว่า ใช่ เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นการแข่งขันของ 2 ขั้ว อาจจะกลายเป็นแบบยุโรป คือ ฝั่งซ้ายและขวา โดยเพื่อไทยเป็น ปชต.ขวา ก้าวไกล ปชต.ซ้าย 

จับสัญญาณ “เพื่อไทย” กับการชูนายกฯ ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” 

ทีมข่าวฯ ถามว่า วานนี้ (18 ก.ค.) มีการให้สัมภาษณ์จาก อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ว่าจะสนับสนุน นายเศรษฐ ทวีสิน ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณหรือไม่ ดร.สติธร บอกว่า “ชัดเจน” หากเพื่อไทยได้โอกาสเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ก็จะเสนอ คุณเศรษฐา หากมองในทางการเมือง ทั้ง อิ๊งค์ และ เศรษฐา ก็เป็นนายกฯ ได้ทั้งคู่ เพราะทั้งคู่มีข้อดีและข้อเสียคนละแบบ

เศรษฐา ทวีสิน : ได้ภาพความเป็นอาวุโส เป็นคนมีประสบการณ์ในด้านเศรษฐกิจ 

อิ๊งค์ : ได้ภาพความเป็นผู้มีบารมี เนื่องจากเป็นลูกสาวของคุณพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร) คุณอิ๊งค์ พูดอะไร ส.ส.ในพรรคก็ต้องเชื่อ 

“แต่หาก คุณเศรษฐา พูด ไม่แน่ใจว่า ส.ส.ภายในพรรคจะเชื่อหรือไม่ เพราะ “เอกภาพ” ในการคุมพรรค คุณเศรษฐา อาจจะเป็นรองคุณอิ๊งค์ กลับกันในทางบริหาร คุณเศรษฐา น่าจะได้รับการยอมรับในฝีมือมากกว่า ทั้งภายในและนอกพรรค” 

อาจารย์สติธร ประเมินว่า การชุมนุมทางการเมืองอาจจะแรง แต่ระยะสั้น ได้ระบายก็จบ หากจับอารมณ์คนจากการโหวตครั้งแรก ก็แสดงออกระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ออกมาแบบเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะคนที่สนับสนุนก้าวไกลก็แสดงความคิดเห็นแตกออกเป็นหลายแบบ อาทิ ชนะแล้ว พิธา ต้องได้เป็นนายกฯ ถ้าไม่ได้แหลกแน่, ถ้า พิธา ไม่ได้นายกฯ ต้องจับมือกันสู้ไป, วันนี้ยังไม่ได้ รออีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อแลนด์สไลด์ ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว รอได้ เวลาอยู่ข้างหลัง, ถอยออกมาเป็นฝ่ายค้านหล่อๆ เลย, พยายามให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นรัฐบาล ยอมถอย ม.112 เป็นต้น 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ