การตรวจจับเนื้อหมูเถื่อน ส่งมาทางเรือ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อปีที่แล้ว 116 ตู้คอนเทนเนอร์ ยังไม่มีการทำลาย เพราะไม่มีงบประมาณ คาดว่าต้องใช้งบทั้งสิ้น 4 ล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนเป็นห่วงว่าเนื้อหมูของกลางจะมีการลักลอบนำมาจำหน่าย และเตรียมจ้างทีมนักสืบ หาตัวผู้บงการในขบวนการลักลอบนำเข้าหมูรายใหญ่มาลงโทษ

นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงหมูประสบปัญหามา 2 ปี โดยเฉพาะโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้หมูขาดตลาด ผู้เลี้ยงมัวแต่วุ่นวายอยู่กับการเตรียมโรงเลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ ขณะที่หมูเถื่อน มีการลักลอบนำเข้ามามากขึ้นตั้งแต่ปี 2564 และเริ่มมีมากขึ้น

หมูเถื่อนกว่า 90% ลักลอบเข้ามาทางเรือ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือใหญ่ ทำให้สมาคมฯ อยากให้หน่วยงานภาครัฐคุมเข้มในการนำเข้าสินค้าในท่าเรือแห่งนี้ มีการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง และการขายในราคาถูกกว่าท้องตลาดตามโซเชียล คาดว่ามีการลักลอบนำเข้ามาต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1 พัน–2 พันตัน

เมื่อปีที่แล้วมีการจับกุม การลักลอบนำหมูเถื่อนเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ ขณะนี้เก็บของกลางไว้นาน จึงอยากให้กรมปศุสัตว์เร่งทำลาย แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทางกรมฯ ยังไม่มีงบประมาณ และมีการเร่งกดดันให้สืบหาผู้ที่นำเข้ามา โดยทางสมาคมได้ติดตามไปยังตำรวจสอบสวนกลาง นอกจากนี้ ต้องมีการควบคุมของกลาง ไม่ให้มีการลักลอบนำออกมา จึงต้องมีกระบวนการตรวจทาน 161 ตู้ ซึ่งเป็นของกลางอยู่เป็นประจำ

...

หมูเถื่อนทั้ง 161 ตู้ นำเข้ามาจากบราซิล โดยไม่มีคนมาแสดงตัวเป็นเจ้าของ มีการแจ้งว่าเป็นอาหารทะเล แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าเป็นหมูเถื่อน จึงแสดงว่ามีความจงใจจะหนีภาษี เพราะเท่าที่ทราบมีการนำมาจำหน่ายกิโลกรัมละ 7 บาท

“การทำลายเนื้อหมูที่จับได้ 161 ตู้ น้ำหนัก 4.5 พันตัน ต้องใช้รถบรรทุกหลายเที่ยวในการนำไปทำลายที่เพชรบุรี เนื่องจากพื้นที่ชลบุรี เป็นพื้นที่ควบคุมเขตปลอดโรค ไม่สามารถนำเนื้อหมูมากลบทำลายได้ ดังนั้นงบประมาณในการขนย้ายเนื้อหมูเถื่อนทั้งหมดมาในพื้นที่ทำลาย มีค่าขนส่งประมาณ 3.2 ล้านบาท ไม่รวมกับค่าขุดดิน และสารที่ใช้ในการฝังกลบอีกประมาณ 1 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านบาท ตอนนี้มีการทำลายเนื้อหมูไปแค่ 1 ตู้ ทั้งที่จริงควรทำลายพร้อมกัน เพื่อประหยัดต้นทุน”

การที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่จัดการขบวนการลักลอบนำเนื้อหมูเถื่อนเข้ามา ยิ่งทำลายระบบราคาของเกษตรกรในประเทศ เพราะทุกวันนี้ เราต้องแบกต้นทุน เพราะหมู 1 ตัว 65% เป็นต้นทุนมาจากอาหารสัตว์ ส่วนอีก 35% เป็นต้นทุนการจัดการฟาร์ม

ขณะนี้ทางสมาคม พยายามเร่งรัดในการดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน และมีการจ้างนักสืบ เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจจับและหาคนผิดมาลงโทษ ขณะเดียวกัน เนื้อหมูเถื่อน ที่ยังเก็บอยู่เป็นของกลาง 161 ตู้ ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำลาย และควบคุมไม่ให้ของกลางหลุดออกมาส่งผลต่อผู้บริโภคได้.