หนี้เสียในการกู้ซื้อรถเพิ่มสูงขึ้น 4 เดือนแรกของปีนี้ เป็นสัญญาณเตือนทำให้สถาบันการเงินส่วนใหญ่ เริ่มปล่อยสินเชื่อรถยนต์ยากมากขึ้น เนื่องจากมีหนี้เสียกว่า 5 แสนบัญชี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน เหตุมาจากอัตราดอกเบี้ย และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในเชิงกฎหมาย ผู้ซื้อสามารถคืนรถ หากผ่อนต่อไม่ไหว

จากกรณีที่ เครดิตบูโร ออกมาเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์พุ่งสูงขึ้น โดยช่วงไตรมาสแรก (เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม) 2566 มีบัญชีสินเชื่อรถยนต์ที่เป็นลูกหนี้ค้างจ่ายค่างวด 1-3 งวด ประมาณ 450,000 บัญชี และบัญชีหนี้เสียอีกประมาณ 550,000 บัญชี จึงมีความเสี่ยงว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2566 อาจมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1 ล้านคัน

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค เล่าถึงปัญหาการผ่อนรถยนต์ของบุคคลทั่วไปว่า ขณะนี้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ที่เพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด ทำให้คนที่ผ่อนรถยนต์ มีปัญหาด้านรายจ่าย ในทางกฎหมาย สามารถคืนรถได้ โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม

ขณะนี้คนจำนวนมากผ่อนไม่ไหว จนมีความต้องการปิดหนี้รถ โดยมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคว่า ถ้าผู้บริโภคผิดนัดในการชำระหนี้ ต้อง 3 งวดติดต่อกัน ดังนั้นถ้าไม่เคยค้างติดต่อกันเกิน 3 งวด เจ้าหนี้จะมาอ้างผิดนัด แล้วขอยึดรถหรือริบเงินไม่ได้

“สำหรับคนที่ผ่อนรถอยู่ แต่ขาดจ่ายไม่เกิน 3 งวด สามารถนำรถไปคืนได้ที่ศูนย์ แต่ก่อนคืนต้องตรวจสภาพรถ ถ่ายรูปรถไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานการส่งคืนว่าในวันส่งมอบสภาพรถเป็นอย่างไร และต้องมีหลักฐานรับมอบการส่งรถคืน โดยรถจะถูกนำไปขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ ถ้ามีส่วนต่างผู้ที่นำรถมาคืน จะไม่ต้องรับผิด ถือว่าเป็นการยกเลิกสัญญาต่อกัน ดังนั้นจะมาเรียกร้องค่าส่วนต่างอีกไม่ได้”

...

การส่งมอบรถคืน ต้องมีการเช็กราคาตลาดของรถ เพื่อยืนยันว่า ณ ช่วงเวลาที่ส่งรถคืน มูลค่ารถในตลาดมีค่าเท่าใด เช่น รถมีราคา 5 แสนบาท แต่ราคาทั้งหมดรวมดอกเบี้ย 8 แสนบาท เมื่อขายทอดตลาดแล้วได้ 5 แสนบาท อีก 3 แสนบาท คนที่คืนรถไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

กรณีที่ศูนย์ไม่รับรถคืน แต่ผู้บริโภคขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน การนำรถไปส่งมอบ และวางกุญแจไว้สามารถทำได้ แต่ต้องถ่ายหลักฐานต่างๆ ยืนยันไว้ด้วย โดยผู้บริโภคยังมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกสัญญาได้ตามกฎหมาย

ในทางกลับกัน ถ้าผู้ซื้อรถค้างชำระเกิน 3 งวด จะอ้างเรื่องการยกเลิกสัญญาไม่ได้ แต่จะกลายเป็นผู้ผิดสัญญา ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อนำรถไปขายทอดตลาด เงินส่วนต่างยังต้องจ่ายเพิ่มอยู่

อีกกรณีหากผ่อนไม่ไหว แต่จำเป็นต้องใช้รถอยู่ ต้องไปรีไฟแนนซ์ ข้อเสียจะทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มพูนขึ้นไปอีก ซึ่งผู้ที่ซื้อรถต้องตระหนักให้ดีว่าถ้ารีไฟแนนซ์แล้ว ยังไม่มีกำลังจ่ายอีก ก็ต้องถูกคืนรถอยู่ดี

“สิ่งที่ผู้กู้ต้องระวังในการค้างชำระ แม้ยังไม่ขาดส่งเกิน 3 เดือน แต่ในการจ่ายเงินที่ค้างอยู่บางส่วน ยอดการตัดเงินอาจตัดเพียงดอกเบี้ย โดยไม่ตัดเงินต้น และอาจเป็นเหตุผลทางกฎหมาย ที่ถูกนำมาอ้างว่า ขาดส่งเกิน 3 เดือนได้ ดังนั้น ลูกหนี้ควรสังเกตทุกครั้งหลังจากจ่ายเงินแล้ว”

สิ่งที่อยากฝากผู้บริโภคคือ หากต้องการจะออกรถ ควรเลือกรถที่ตนเองสามารถผ่อนไหว ไม่ควรเลือกรถรุ่นที่มีราคาแพง เพราะสุดท้ายจะกระทบต่อรายจ่ายของตัวเอง และเป็นปัญหาเรื้อรังตามมา ขณะเดียวกันหลักฐานในการจ่ายเงินควรเก็บไว้เพื่อยืนยัน หรือทางที่ดีควรโอนเงินผ่านระบบดิจิทัล เพราะจะเป็นหลักฐานในระบบ สามารถนำมายืนยันได้ดีกว่าเอกสารแบบกระดาษ ที่อาจลืมหรือหายได้.