คุณรู้หรือไม่ว่า การเพาะปลูกของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ชลประทาน เพียง 26% ส่วนอีก 74% อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน

คุณรู้หรือไม่ว่า ตอนนี้เข้าสู่ภาวะ “เอลนีโญ” และหมายความว่า ประเทศไทยจะมี “ฝน” ลดน้อยลง และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจเกิด "มหาภัยแล้ง"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เอลนีโญ และแนวโน้มความเลวร้ายด้านสภาพอากาศที่รุนแรง

รศ.ดร.วิษณุ อธิบายเป็นภาษาบ้านๆ ว่า เอลนีโญ จะดูจากอุณหภูมิในน้ำที่สูงกว่าค่าปกติ 0.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือน ก็จะเข้าสู่หมวด “เอลนีโญ”

ความรุนแรงของ เอลนีโญ ดูจาก อุณหภูมิของน้ำ คือ หากอุณหภูมิยิ่งสูงก็ยิ่งจะรุนแรง กล่าวคือ หากเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะเรียกว่า เอลนีโญ ในระดับรุนแรง แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิน 2 องศาเซลเซียส จะอยู่ในระดับ “รุนแรงมาก”

...

“จากแบบจำลองทั่วโลกพบว่าอุณหภูมิของน้ำจะเกิน 2 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ หากเป็นแบบนั้นจริง พลังของเอลนีโญจะเพิ่มขึ้น ความรุนแรงของสภาพอากาศจะหนักหน่วง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อย เพราะในรอบ 73 ปี เกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เพียง 5 ครั้งเท่านั้น...และครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งที่ 6”

เอลนีโญ และ "มหาภัยแล้ง" 

รศ.ดร.วิษณุ ได้ย้อนเหตุการณ์ “เอลนีโญ” ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาฯ คือช่วงปี 2525/2526, 2558/2559 และในปี 2540/2541 หากใครจำได้สิ่งที่เจอคือ “มหาภัยแล้ง” การเกิดขึ้นแต่ละครั้งประเทศได้รับความเสียหายเยอะ

สิ่งที่แตกต่างจากครั้งก่อนกับครั้งนี้คือ เวลานี้ประเทศไทยมีการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” มากกว่าแต่ก่อน ซึ่งทำให้เราต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นกว่าเดิม  

“สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารคือ ทุกครั้งที่เราเจอ “เอลนีโญ” เราจะเจอสภาพอากาศร้อนจัดทำลายสถิติทุกครั้ง และมีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงปีหน้าทั้งปี อุณหภูมิของโลกเราจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย ฉะนั้น สิ่งที่เราอาจจะเจอคือความร้อนและแล้งมากรุนแรงมาก ดังนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ควรประมาท และต้องหาทางป้องกัน แต่...หากมันไม่เกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นความโชคดี”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย้ำว่า ภาคที่ต้องระมัดระวังคือ “ภาคใต้” เพราะจะต้องเจอ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ ร้อนและแล้ง ในขณะที่ภาคอื่นๆ นั้นก็ยังไม่แน่ เพราะกรมอุตุฯ ของประเทศอังกฤษ และสหรัฐฯ ยังทำนายไม่ตรงกัน

น้ำภาคการเกษตรไม่เพียงพอ ต้องช่วยเหลือตัวเอง

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของทาง กรมชลประทาน พบว่า ทางนั้นเริ่มมีการวางแผนจัดสรรน้ำ แต่...ในความจริง แผนที่วางไว้กับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง อาจไม่เป็นไปตามแผน นี่คือสิ่งที่น่ากลัว หากพิจารณาการเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ในเวลานี้คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยังพอมีน้ำ “ต้นทุน” อยู่บ้าง หากปีนี้แล้งจริงๆ ก็คาดว่าน่าจะพอเอาอยู่ เพราะเราได้น้ำมาจาก “ลานีญา” ก่อนหน้านี้

แต่...หาก เอลนีโญ รุนแรงและยืดเยื้อ ซึ่งในอดีต เอลนีโญ อยู่สั้นที่สุด 7 เดือน ส่วนยาวที่สุด 18-19 เดือน ครั้งนี้คือไม่มีใครรู้ว่าจะยาวแค่ไหน แต่จากแบบจำลองคาดว่าอาจจถึงมีนาคมปีหน้า แต่ในความเป็นจริงคือเราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าเอลนีโญจะอยู่สั้นหรือยาว

“สิ่งที่เห็นเด่นชัดในเชิงวิทยาศาสตร์คือ สภาพอากาศเลวร้ายนี้เริ่มเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น หาก...มันลากยาวถึงปี 2568 อันนี้คือปัญหาใหญ่(ลากเสียง) ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำในปีนี้คือต้องกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อไปสู้กับแล้งหน้า และแล้งยาวถึงปี 2568”

ปัญหาเรื่องน้ำกับการเกษตร ปัจจุบันเราโฟกัสไปที่ “กรมชลประทาน” ซึ่งความจริงเขาดูแลเพียง 30 ล้านไร่ แต่พื้นที่เกษตรกรรมของไทยมี 150 ล้านไร่ พูดง่ายๆ คือ พื้นที่ 4 ใน 5 อยู่นอกเขตชลประทาน ฉะนั้น หากเจอแล้งนานๆ คนที่ขุดบ่อเอาไว้ก็อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ

“ตรงนี้นอกจากกระทบภาคเกษตรแล้วยังกระทบทุกภาคส่วน อาทิ ภาคอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง ปกติก็ขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว ภาคท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่สุด คือ อยู่ที่การจัดสรรต้องทำอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมาเราลงทุนกับเขตชลประทานไปเยอะ แต่คนนอกเขต เราจะไม่ช่วยหรือ...ผมเคยเสนอให้ภาครัฐช่วยแล้ว แต่เงินที่ลงไปน้อยมาก”

...

กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เผยว่า เงินหลายหมื่นล้านทุ่มไปกับการช่วยเหลือเกษตรในพื้นที่ชลประทานซึ่งมีเพียง 26% ในขณะภาคเกษตรอีก 74% จะต้องปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว พึ่งพาตนเองหรือ หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น นี่คือประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งลงทุน

การลงทุนนั้นมีหลายรูปแบบ อาทิ ส่งเสริมให้เกษตรกร หรือชุมชน มีสระน้ำของตนเอง อาจจะจูงใจด้วยการให้ “สินเชื่อ” ดอกเบี้ยต่ำ, หากพื้นที่ไหนยังไม่มีแหล่งน้ำ ภาครัฐควรเข้ามาประเมินความเสี่ยง เพื่อทำแหล่งน้ำให้เกิดขึ้น

“บ้านเราฝนตกเยอะ แต่กลับปล่อยน้ำลงทะเลหมด คำถามคือ เราจะเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างไร การทำ “หลุมขนมครก” ที่ใช้เก็บน้ำ ควรจะมีอยู่ทุกพื้นที่ มันจะช่วยเรื่องเพาะปลูกได้ในระดับหนึ่ง หากในพื้นที่มีเขื่อนก็ช่วยได้ ส่วนแม่น้ำลำคลองที่เคยตื้นเขิน หากมีการขุดให้ลึกขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มการกักเก็บได้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ช่วยได้ทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม”

ปลูกพืชช่วงแล้ง ต้องปรับตัว

...

สำหรับสิ่งที่ รศ.ดร.วิษณุ แนะนำในช่วงแล้งที่กำลังจะมาถึง คือ การปรับตัวในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกข้าว โดยระบุว่า รัฐเองอาจต้องส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวด้วยเทคนิคใหม่ๆ เช่น การปลูกเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว วิธีการนี้มีการพิสูจน์กันมาแล้วว่าได้ผล คือ ประหยัดน้ำ เพิ่มผลผลิตได้ด้วย ถือเป็นการลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ

ส่วนพืชอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้าว เช่น ข้าวโพดหลังนา อ้อย มันสำปะหลัง หรือพืชไม้ผล สิ่งที่เสียดายคือในพื้นที่ชลประทานเรานำไปปลูกข้าว ซึ่งถือเป็นพืชมูลค่าเพิ่มต่ำ โดยเฉพาะข้าว คำถามคือทำไมเราไม่ใช้ที่ที่มีน้ำ ไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง ผัก ไม้สวน เราสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่านี้ ตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องช่วยวางแผน รวมถึงสนับสนุนเงินทุนในการปรับตัว และให้องค์ความรู้

ทุกการปรับตัวจะมี “ต้นทุน” เสมอ โดยเฉพาะการใช้เงิน เพราะการเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นก็ต้องลงทุนในการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ใหม่ นอกจากนี้ “ความรู้” ก็ต้องหาใหม่ เรียนรู้ใหม่

“นี่คือสาเหตุที่รัฐพยายามบอกว่าให้เกษตรกรปรับตัว แล้วชาวบ้านไม่ปรับ เพราะมันมีต้นทุนเรื่องนี้อยู่ แค่บอกให้ปรับ...แต่ไม่มีสิ่งช่วยเหลือลงมา ก็ทำให้ปรับตัวได้ยาก องค์ความรู้คือสิ่งสำคัญในกาปรับตัว หากเขาไม่มี ก็ทำให้เกษตรกรเหล่านี้ขาดความมั่นใจ”

ส่วนเรื่องนโยบาย เวลารัฐลงมา มักให้นโยบายแบบประชานิยม เช่น ประกันรายได้ ประกันสินค้าเกษตร ปลูกให้ตายก็ยังได้เงิน ฉะนั้น จะปรับตัวไปทำไม นี่คือเรื่องที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่แก้ต่อไปภาครัฐจะเสียงบประมาณมากขึ้น ความเสียหายจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเลย

“เงินให้เปล่า” ต้องลด แต่ต้องให้แบบมีเงื่อนไข เช่น หากจะเอาเงินทุนก็ต้องปลูกข้าวแบบเปียกผสมแห้ง หรือต้องทำข้าวแบบ GAP (Good Agriculture Practices) ซึ่งการให้เงินแบบนี้สุดท้ายข้อดีทั้งหมดก็ตกไปที่เกษตรกร

...

อนาคตประเทศไทย กับ เอลนีโญ

ในช่วงท้าย รศ.ดร.วิษณุ ได้อ้างอิงถึงวารสาร science ซึ่งล่าสุดมีการประเมินว่า ไทย อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในระดับต้นๆ ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเอลนีโญที่จะกระทบกับรายได้ต่อหัวถึง 5% แปลง่ายๆ ว่า ประเทศไทย มีความเปราะบางกับเรื่องนี้มาก นี่แค่พูดในเชิงภาพรวม

ในขณะที่ภาคเกษตรฯ ที่ผมทำงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่าความเสียหายหลังจากนี้ไป ตั้งแต่ปี ค.ศ.2011-2050 มูลค่าความเสียหายโดยรวมอาจจะสูงถึง 6 แสนล้านบาท ถึง 2.85 ล้านล้านบาท คือเกือบเท่างบประมาณแผ่นดิน นี่คือ...ผลกระทบหากเราไม่ลงทุนในการแก้ปัญหา

“เรื่องนี้ควรเป็นวาระแห่งชาติมานานแล้ว เพราะปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้กระทบแค่ภาคเกษตร แต่กระทบภาพรวมทุกด้าน ร้อนขึ้น กระทบสุขภาพ กระทบค่าใช้จ่าย ธุรกิจที่ทำงานกลางแจ้ง แรงงานกลางแจ้ง อาจต้องลดเวลาทำงาน เจ็บป่วยทำงานไม่ได้ ทุกอย่างเชื่อมโยงในทุกมิติ แม้แต่การท่องเที่ยว ซึ่งระบบนิเวศนั้นมีขีดจำกัด”

นี่ยังไม่รวมผลกระทบเชิงนโยบาย หมายความว่าในอนาคตเราอาจจะเจอมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะการกีดกันประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก เมื่อเราส่งสินค้าไปขาย เราจะถูกจัดเก็บภาษีมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็กระทบไปถึงเกษตรกรด้วย

ฝากรัฐบาลหน้า อย่าแก้ปัญหาแบบประชานิยม

เมื่อถามทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลหน้าแก้ปัญหาอย่างไร รศ.ดร.วิษณุ บอกว่า อยากให้รัฐเปลี่ยนแปลงการให้เงินแบบประชานิยมมาเป็นการให้เงินแบบมีเงื่อนไข เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ถ้าหากเราไม่ทำ ผลกระทบก็จะมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที แต่ติดเพียงเรื่องเดียว คือ ผลประโยชน์ในเชิงการเมือง กับ ประเทศ มักไม่ไปด้วยกัน

“นักการเมืองมักต้องการอะไรที่เห็นผลเร็ว แต่การแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศมันไม่ได้แก้วันเดียว ผลที่เกิดขึ้น คือ ผู้กำหนดนโยบายมักให้ความสำคัญน้อย สิ่งที่ชอบทำคือ แจกถุงยังชีพ ถ่ายรูป เราควรจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะมันเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ