เวลา 23.30 น. วันที่ 18 ธันวาคม 2565 คือวันที่ “เรือหลวงสุโขทัย” เกิดอับปางและจมสู่ท้องทะเลอ่าวไทย จนกระทั่งถึงวันนี้ ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 6 ที่เรือหลวงนับพันล้าน ยังคงอยู่ภายใต้พื้นทะเลที่ความลึกกว่า 50 เมตร แม้ที่ผ่านมา ทางกองทัพเรือ ได้มีแผนที่จะกู้เรือรบลำนี้ขึ้นมา
กระทั่งล่าสุดวันนี้ (1 มิ.ย.) เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผยถึงแผนการกู้เรือหลวงสุโขทัยว่า ได้มีการของบกลาง จำนวน 200 ล้านบาท ในการกู้เรือ
กับประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายสัมภาษณ์พิเศษ พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ซึ่งเผยเบื้องหลัง และแผนเดินหน้านำเรือหลวงสุโขทัย ขึ้นสู่ผิวน้ำอีกครั้ง
งบกู้เรือหลวงสุโขทัย 200 ล้านบาท
โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ตอนนี้ทาง ทร. ได้เชิญ บริษัทต่างๆ ที่จะกู้เรือ มาให้ข้อมูลถึงการกู้เรือหลวงสุโขทัย จำเป็นต้องใช้งบประมาณเท่าไร และจากข้อมูลที่ได้ พบว่า ราคากลาง อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท ทางกองทัพเรือ จึงทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณไปที่ ก.กลาโหม และ ทาง กลาโหม ก็ส่งต่อเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อจะขออนุมัติ ครม. แต่ระหว่างทางนั้น เรื่องนี้ต้องผ่านทางไปยังสำนักงบประมาณ
...
“เรื่องนี้สำนักงบประมาณ ตอบว่า สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ 90 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ ทางกองทัพเรือ จึงต้องพยายามหางบประมาณ อีก 110 ล้านบาท เพื่อจะได้ดำเนินการกู้เรือขึ้นมาได้ โดยขั้นตอนการทำเรื่องของบจากสำนักงบนั้นฯ ยังติดอยู่ที่ว่า เวลานี้อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ยังไม่มีรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องผ่านการเห็นชอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้งเสียก่อน จากนั้นค่อยส่งต่อไปยัง ครม. อนุมัติ ซึ่งจากนี้ไปคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน”
แต่หลังจากนั้น หากได้งบประมาณมาแล้ว ทางกองทัพเรือ ก็จะมอบหมายให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) เป็นประธานในการดำเนินการกู้เรือหลวง จากนั้นท่าน ผบ.กร. ก็จะทำเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง
“เท่าที่ทราบเวลานี้ พบว่า มีบริษัทที่สนใจที่จะกู้เรือหลวงสุโขทัย ทั้งหมด 14 บริษัท ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ในการทำราคา TOR ส่วนใครที่ให้ราคาต่ำที่สุด และได้มาตรฐาน กองทัพเรือก็จะทำการคัดเลือก ซึ่งขั้นตอนนี้ ทร. จะพยายามทำให้เร็วที่สุด โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยเราจะขอให้นำเรือขึ้นมาในสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยต้องไม่แยกเรือเป็นชิ้นๆ จากนั้น จะนำเรือลำนี้มาที่อู่เรือมหิดล ที่ สัตหีบ เพื่อดำเนินการดูว่ามีอุปกรณ์ชิ้นใด ที่สามารถนำมารีไซเคิลใช้ต่อไปได้” พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวและว่า
นอกจากนี้ ที่สำคัญที่สุด คือการมาตรวจสอบสาเหตุการ “อับปาง” มาจากสาเหตุใด ซึ่งเรื่องนี้เรายังไม่เห็นและถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุด หากนำขึ้นมาได้ ก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการตรวจสอบให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่า หากหาเงินจำนวน 110 ล้านบาท ไม่ได้ จะทำอย่างไร โฆษกกองทัพเรือ ตอบว่า “ก็คงต้องเฉือนเนื้อตัวเอง จากงบที่ได้รับมา ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังดูว่า เราจะสามารถประหยัด หรือ ตัดงบจากส่วนไหนมาได้ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ
“การที่เราไม่แยกชิ้นส่วนเรือขึ้นมา เพราะเราต้องการดูให้ชัดเจนว่า เรืออับปางเพราะอะไร ซึ่งก็มีการคาดการณ์ว่า อาจจะเกิดรอยฉีกขาด ตัวเรือใต้แนวน้ำ เพราะหากไม่นำเรือขึ้นมาทั้งลำ เราก็จะไม่เห็นภาพตรงนี้ หรือ จะฉีกขาดในบริเวณอื่น ตรงไหนอย่างไร”
พล.ร.อ.ปกครอง เผยว่า ปัจจุบันได้มีการสอบสวนกำลังพล ทั้งของเรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงกระบุรี และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 189 ปาก ทั้งหมดแล้ว ซึ่งทุกคนที่ให้การ ก็จะบอกในสิ่งที่ตัวเองเห็น บางคนอยู่หัวเรือ ก็จะบอกภาพที่ตัวเองเห็นที่หัวเรือ ซึ่งแต่ละคนจะอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน เราก็นำบอกเล่าจากภาพที่เห็นทุกคน มาประกอบร่าง เรื่องราว และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ “ตัวเรือหลวงสุโขทัย” มาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง
แสดงว่า การสอบถามทั้ง 189 นั้น ก็จะได้สาเหตุการอับปางมาแล้ว? โฆษกกองทัพเรือ บอกว่าได้ข้อมูลเกือบจะสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงหลักฐานประกอบ ที่จะได้ยืนยันได้อย่างชัดเจน ตรงตามที่ได้รับการบอกเล่ามาหรือไม่ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร คงต้องรอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทาง ทร. ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ที่เป็นประธาน ซึ่งเรื่องนี้ ยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกมา ส่วนตัวตนเองก็ยังไม่ทราบผล
...
อุปสรรคและข้อกังวล ในการกู้เรือหลวงสุโขทัย
จากคำถามข้างต้น พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในการกู้เรือหลวงสุโขทัย คือ ความลึกของน้ำทะเล โดยเรือจมในระดับความลึก 50 เมตร โดยที่ผ่านมา กองทัพเรือ ไม่มีประสบการณ์การกู้เรือ รวมถึงบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ที่ไม่มีประสบการณ์การกู้เรือในระดับ 50 เมตรลงไป
ส่วนอีกหนึ่งข้อกังวล ก็คงเป็นเรื่องสภาพอากาศ เรายังไม่รู้ว่าจะเจอสภาพคลื่นลมอย่างไร หากลมแรง ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรค ส่วนวิธีการกู้นั้น หลายๆ บริษัท เสนอวิธีการคล้ายกัน คือ การ “อัดลม” เพื่อให้เรือค่อยๆ ลอยขึ้นมา ร่วมกับการใช้ “เครน” ค่อยๆ ดึงขึ้นมา ส่วนรายละเอียดนั้น ต้องมีข้อมูลอีกเยอะ เพราะต้องหาวิธีการป้องกัน “ตัวเรือแตก”
ทางบริษัทต่างๆ เขาต้องนำเสนอวิธีการ และขั้นตอนให้เรา โดยที่เราจะต้องร่วมประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เราเองก็ต้องวิเคราะห์ร่วมกัน ว่าบริษัทใดจะดำเนินการได้
เมื่อถามต่อว่า หลายๆ บริษัท มีการเสนอการกู้เรือกี่วิธี โฆษก ทร. ยอมรับว่ามีรายละเอียดเยอะมากจริงๆ และไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการการกู้ แต่เท่าที่ทราบคือ วิธีการที่เสนอนั้นคล้ายกัน อัดลมผ่านทุ่นให้เรือลอยขึ้น จากนั้นก็ใช้เครนยก
"เรือเครน ที่จะยกนั้น ประเทศไทย ก็ไม่มี คาดว่าน่าจะต้องนำเข้า.."
...
"เรือดำน้ำ" ที่ต้องรอความชัดเจน รัฐบาลใหม่
เมื่อคุยถึงเรื่องการกู้เรือหลวงสุโขทัยแล้ว ทีมข่าวยังได้ถามความคืบหน้าการซื้อเรือดำน้ำ ที่ยังมีปัญหากันอยู่ โดย พล.ร.อ.ปกครอง กล่าวว่า หลังจากที่เราทราบแน่นอนแล้วว่า บริษัท CSOC ที่มีการติดต่อซื้อเรือ ไม่สามารถนำเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้า MTU ของเยอรมนีมาได้ ทางบริษัท ดังกล่าว จึงนำเสนอเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าของจีนแทน
“ขณะนี้ กองทัพเรือได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกองทัพไปตรวจสอบสเปกแล้ว และตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้กองทัพเรือเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะเดินหน้าต่อไม่”
เมื่อถามว่า หากไม่เดินหน้าต่อ เงินบางส่วนที่จ่ายไปแล้ว จะได้คืนหรือไม่ โฆษกกองทัพเรือ ตอบในประเด็นนี้ว่า ลักษณะการซื้อขายนั้น ไปการซื้อขายแบบ G to G คือ รัฐต่อรัฐ เพราะหลังจาก G to G แล้ว ทางรัฐบาลไทยได้กำหนดให้กองทัพเรือเป็นผู้แทน ในขณะที่ทางรัฐบาลจีนก็กำหนดให้ บริษัท CSOC เป็นผู้แทน จากนั้น กองทัพเรือ กับ CSOC ก็ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อสร้างเรือดำน้ำ ซึ่ง 1 ลำ ราคา 13,700 ล้านบาท ซึ่งเวลานี้ได้จ่ายไปแล้วครึ่งหนึ่งคือ 7,700 ล้านบาท
และเมื่อขั้นตอนดังกล่าว มาถึงตรงนี้ก็สะดุด ตรงที่ไม่ได้เครื่องตามที่ตกลงไว้ จึงไม่มีการดำเนินการต่อ โดยหลังจากนี้ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า จะทำอย่างไร เพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง
“เรื่องนี้ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ ในการใช้เครื่องจีน แต่สุดท้ายแล้ว เราจะต้องขออนุมัติ ครม. ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะมันเป็นการเซ็นสัญญาแบบ G to G ก็คือต้องรอรัฐบาลใหม่ ซึ่ง กองทัพเรือ “น้อมรับ” ทุกข้อ ตามที่รัฐบาลชุดใหม่จะกำหนด”
เมื่อถามอีกครั้งว่า หากสุดท้ายแล้ว มีการยกเลิกสัญญา เรามีโอกาสได้เงินที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ โฆษกกองทัพเรือ ตอบว่า หากคู่สัญญาคือ บริษัท CSOC ไม่ได้ดำเนินการตามสัญญา เราก็ต้องยกเลิกสัญญา จากนั้นก็จะกลับไปที่ G to G คือ ระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลจีน ต้องคุยกัน ว่าเงินที่เราจ่ายไปแล้ว 7 พันกว่าล้าน จะดำเนินการชดใช้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ ทางกองทัพเรือ ก็สามารถให้ข้อมูลได้ แต่สุดท้ายคนที่ตัดสินใจ คือ รัฐบาลของไทย และ จีน
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ