ประเด็นเรื่องค่าแรง 450 บาท นโยบายทำทันทีของ “ก้าวไกล” มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือแม้แต่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ก็ออกมาพูดในทำนองที่คล้ายกัน โดยบอกว่า ทำทันทีก็มีสะเทือนแน่ๆ
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” นั้นจะขึ้นได้ทันทีหรือไม่ หรือจะขึ้นในลักษณะไหน คงต้องรอรัฐบาล ว่าที่นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จาก "ก้าวไกล" เป็นรูปเป็นร่างก่อน
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามาย้อนดู “สถานการณ์” SMEs ในวันนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร มีปัจจัยเรื่องใดที่เป็นปัญหา วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ น.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มาขยายภาพให้เข้าใจ
...
SME ไทย ขาด “ผลิตภาพ” ทำให้สู้กับต่างชาติไม่ได้
นักวิจัยอาวุโสของ TDRI พูดถึง ภาพรวม เอสเอ็มอีของไทยในเวลานี้ยังขาด “ผลิตภาพ” (การวัดประสิทธิภาพของการผลิต ตลอดจนการทำงาน) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เป็นขนาดกลาง หรือขนาดย่อย ที่เป็นรายเล็ก การไม่นำ “ผลิตภาพ” มาใช้ จึงทำให้ไม่รู้ผลลัพธ์ เช่น การไม่นำเทคโนโลยี หรือระบบออนไลน์ มาใช้ในการประกอบธุรกิจ ทำให้วัดผลไม่ได้ เมื่อกิจการไม่ดี แก้ปัญหาการจัดการภายในร้านไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลต่างๆ ในการนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจ
การขาดผลิตภาพ จึงส่งผลค่อนข้างรุนแรง ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่มีตัวเลข จะขอกู้แบงก์ไหนก็ไม่ผ่าน ถึงแม้ที่ผ่านมา ภาครัฐ จะมีนโยบายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด มีการปล่อยกู้หลายแสนล้าน แต่ทาง SMEs เหล่านี้ก็เข้าไม่ถึงอยู่ดี เพราะไม่สามารถกู้กับสถาบันการเงินได้ สุดท้ายไปจบลงที่เงินกู้นอกระบบ
เมื่อถามว่า SME ในหมวดไหนที่มีปัญหาด้านแหล่งเงินทุนมากที่สุด น.ส.ธารทิพย์ นิ่งไปเล็กน้อย ก่อนจะตอบสั้นๆ ว่า แทบทุกหมวดหมู่ เพราะถึงแม้จะอยู่ใน “อุตสาหกรรมภาคการผลิต” แต่ถ้าผลผลิตของเขาไม่ดี การเข้าถึงตลาดไม่ได้ ก็จะยังไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ หรือแม้แต่สายบริการ อย่างพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ ที่มีการคิดและทำระบบ 2 บัญชี เพื่อ “หลบเลี่ยงภาษี”
เหรียญ 2 ด้าน “เลี่ยงภาษี” กับการขาดแหล่งเงินทุน ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ
การหลบเลี่ยงภาษีตรงนี้ ส่งผลต่อการเติบต่อของธุรกิจด้วยหรือ? น.ส.ธารทิพย์ ตอบว่า ใช่... หาก SMEs เข้าระบบภาษีทุกราย ก็ส่งผลให้บริษัทของคุณมีความน่าเชื่อถือ เพราะคุณมีความสามารถในการชำระภาษี ดังนั้นบริษัทคุณจะสามารถเข้าถึงระบบสถาบันการเงินได้ เพราะมีเครดิตส์สกอริ่งก็จะดีกว่า
เมื่อถามว่า ปัญหาในการค้าขายของคนไทยไม่ชอบจ่ายภาษี นักวิจัยอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ก็เพราะมีข่าวออกมาว่า สรรพากรเก็บภาษีแพง คนทั่วไปก็ไม่รู้ จึงพยายามหลบเลี่ยงดีกว่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี มันก็ไม่จำเป็นต้องจ่าย
“ดังนั้นสิ่งที่คนที่ทำธุรกิจขนาดเล็กไม่เข้าใจ คือ ความเข้าใจในระบบภาษี และการทำระบบบัญชี จากที่เราเคยเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ สาเหตุที่เขาเลือกที่จะเลี่ยงภาษี ก็เพราะการยื่นเอกสารประกอบภาษี บางครั้งเขาไม่มีใบเสร็จ สรรพากรก็จะประเมินเป็นแบบเหมา 60:40 แต่ในความเป็นจริงการเสียภาษีจริงๆ อาจจะไม่ใช่เรต 60:40 ก็ได้ เพราะเขามีรายจ่ายมากกว่า 60% ฉะนั้นมันควรจะหักมากกว่า 60%”
ที่ผ่านมา ภาครัฐ ใช้โครงการ “คนละครึ่ง” และมีร้านค้าเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นวิธีเก็บข้อมูลเพื่อนำมาคำนวณภาษีอย่างหนึ่ง แต่พอเราเห็นคนละครึ่งเฟสหลังๆ จำนวนมากไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะคาดว่าน่าจะถูกตามเก็บภาษี ซึ่งเขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องจ่ายในเรตนี้ ฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การไปทำความเข้าใจให้กับร้านค้า เพราะสิ่งที่เขาเจอ ทำให้เขาพยายามหลีกเลี่ยง
...
ข้อเสนอแนะ กับ “วินิจฉัยธุรกิจ” ดั่งการพบหมอวินิจฉัยโรค
น.ส.ธารทิพย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทาง TDRI ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ SMEs ไปแล้ว โดยในภาพรวม คือ ข้อเสนอในการให้ SMEs มีผลิตภาพ (Productivity) โดยเฉพาะทักษะการประกอบอาชีพ ใช้เทคโนลีและนวัตกรรม ซึ่งเราก็เห็นนโยบาย “คูปองนวัตกรรม” ซึ่งตรงกับข้อเสนอแนะของเรา ส่วนสิ่งที่เป็นข้อกังวล คือ เรื่อง “หนี้สิน” เพราะ SMEs ส่วนมากจะเข้าไม่ถึงเงินกู้ แม้ภาครัฐจะมีนโยบายปล่อยกู้ แต่ก็ขาดคุณสมบัติ
ในอนาคตหากต้องการช่วยเรื่องเงินทุน ควรจะต้องผ่านการอบรมสกิลต่างๆ ด้วย เรียกว่าไม่ได้ให้แค่เงิน หรือแค่ปลา แต่เราต้องให้ “เบ็ดตกปลา” ไปด้วย
คำถามคือ ทำไมเขาไม่เอา “เบ็ดตกปลา” ไปด้วย นักวิจัยอาวุโสจาก TDRI กล่าวว่า เมื่อภาค SMEs ได้เงินไปแล้วส่วนมากก็คือเอาเงินไปหมุนใช้ระยะสั้น ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการช่วยระยะยาว ทำให้เขาหลุดพ้น เพื่อให้เขาอยู่รอดและเติบโต
สิ่งที่อยากจะสนับสนุนให้เกิดในอนาคต คือ ระบบ “วินิจฉัยธุรกิจ” ระบบนี้ในญี่ปุ่นเขาทำ เหมือนเอาที่ปรึกษาเขาไปคุยกับ SME ไปหาสาเหตุของปัญหา ทำไมถึงไปไม่รอด มีปัญหาด้านธุรกิจตรงไหน สิ่งที่ใช้ลดต้นทุนได้ไหม ใช้อย่างอื่นจะได้สินค้าที่ดีกว่าหรือไม่ หรือควรจะเจาะตลาดแบบไหน...
...
เมื่อถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเงื่อนไขของการกู้หรือไม่ น.ส.ธารทิพย์ กล่าวว่า ถ้าได้แบบนั้นก็จะดี ซึ่งในความจริงแบงก์อาจจะประเมินและไม่ให้เงินกู้ก็ได้ หากมองว่าสถานะของเขามีสายป่านมากพอ
“ระบบ “วินิจฉัยธุรกิจ” ควรจะเป็นสิ่งแรกที่เข้าไปช่วยธุรกิจนั้น เปรียบเทียบง่ายๆ คือ เหมือนเราไปหาหมอ หมอจะได้วินิจฉัยว่าเราป่วยอะไร จะได้ให้ยาตรงกับโรค และทำให้เขาหายและมีชีวิตอยู่ต่อได้ในระยะยาว”
นักวิจัยอาวุโสจาก TDRI ทิ้งท้ายว่า เวลานี้ SMEs ทุกรายต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลก เนื่องจากเวลานี้อาจจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด น่าจะช่วยให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้อง ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็คือ ต้องประเมินตัวเอง และดูสถานการณ์โลก เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินนั้น บอกตรงๆ ว่าเขากำลังเข้มงวด มีหนี้เสียเยอะ ฉะนั้นโอกาสที่ SME จะผ่อนคืนให้เขามีมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็ต้องมาดูภาพรวมของ SMEs นั้นๆ มีผลิตภาพที่สามารถพาตัวเองไปรอดภายใน 1-2 ปีแค่ไหน...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...