“ดาบช้าง” ด.ต.มานพ วงษ์นารี อายุ 50 ปี ผบ.หมู่.ป.สภ.เมืองสมุทรสาคร ตำรวจน้ำดีที่ป่วยด้วยโรคอ้วน เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างรักษา เมื่อ 22 พ.ค. 2566 สร้างความเสียใจให้กับเพื่อนร่วมงานและครอบครัว ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมข้อคิดและบทสัมภาษณ์ เพื่อสะท้อนข้อคิดตำรวจชั้นผู้น้อย แม้ป่วยโรคอ้วนจนถูกคนบูลลี่ แต่ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง เป็นแบบอย่างให้กับตำรวจรุ่นน้อง
เรื่องราว “ดาบช้าง” ด.ต.มานพ วงษ์นารี ผบ.หมู่.ป.สภ.เมืองสมุทรสาคร เริ่มต้นจากมีผู้ไปพบเจอระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และอัดคลิปลงบนโลกโซเชียล ก่อนที่ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ติดตามจนได้สัมภาษณ์ สะท้อนถึงปัญหา ถูกบูลลี่ ระหว่างทำงาน และค่ายารักษาที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ซึ่งบทสัมภาษณ์สะท้อนมุมมองตำรวจชั้นผู้น้อย ที่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ แม้มีปัญหาสุขภาพไว้ดังนี้
- “เราเป็นตำรวจที่ป่วยกาย ไม่ได้ป่วยใจ” ดาบช้าง เล่าถึงเป้าหมายการทำงาน เพื่อประชาชน แม้บางคนไม่เข้าใจกับร่างกายที่หนักถึง 218 กิโลกรัม เนื่องจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำ ขณะที่ยารักษาบางส่วนอยู่นอกการเบิกจ่าย หมอแนะนำว่าต้องผ่าตัดกระเพาะ ใช้เงินกว่า 2 แสนบาท แต่มีเงินไม่เพียงพอ
- ระยะเริ่มแรกของความผิดปกติ หมอประเมินว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะตำรวจ ต้องทำงาน พักผ่อนไม่เป็นเวลา และสลับเข้าเวรกลางคืน ส่งผลให้เกิดภาวะฮอร์โมนทำงานผิดปกติ
- เมื่อถามถึงการทำงาน ดาบช้าง เล่าว่า การช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ขาดตกบกพร่อง ถ้างานยาก จะเรียกเพื่อนที่โรงพักมาช่วย ที่ผ่านมามักถูกบูลลี่จากคนที่ไม่เข้าใจ เคยมีคนถ่ายคลิปขณะทำงาน แล้วไปโพสต์ในโลกโซเชียลว่า ตำรวจทำไมอ้วน เพราะคนโพสต์ไม่รู้ว่าเราป่วย
- ระยะแรกที่ถูกบูลลี่ เคยปรึกษาผู้บังคับบัญชา ท่านแนะนำว่า ตำรวจต้องให้บริการประชาชน บางคนอัดคลิปไปโพสต์ต่อ แต่ต้องทำหน้าที่ให้ดี ตำรวจ คือคนของสังคม แม้ถูกด่าก็ต้องหนักแน่น
- สังคมไทยมักตั้งมาตรฐานว่าตำรวจต้องหุ่นดี แต่ไม่นึกว่าบางคนมีอาการป่วย สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ เวลาทำงาน ถ้าคนนั้นไม่ชอบ ก็แค่ทำงานของตัวเองให้เสร็จสิ้น แล้วรีบกลับโรงพัก ไม่ต้องไปโชว์ตัว หรือแสดงออกให้คนอื่นเห็นมากนัก
- “ผมมักทำงานช่วงกลางคืน เพราะกลางวันอาจเป็นที่สังเกตของคนที่ไม่เข้าใจ บางคนมาแอบถ่ายไปลงโซเชียล ทั้งที่ใจเราก็อยากช่วยประชาชน แต่บางคนมองแค่รูปร่างภายนอก”
- “ผมท้อได้บางครั้ง แต่ท้อตลอดชีวิตไม่ได้ ผมอยากให้ทุกคนที่ท้อ หันมาสู้ เชื่อว่าการทำความดี ไม่เป็นสิ่งที่ผิด อย่างน้อยชาวบ้านก็เอ็นดูเรา ถึงพิการทางร่างกาย แต่ชาวบ้านก็ช่วยเหลือผม คอยให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ผมจะสู้จนกว่าจะไม่ไหว เมื่อใดที่นายบอกว่าผมไม่ไหว ก็พร้อมพิจารณาตัวเอง”
...
โรคอ้วน ภาวะแทรกซ้อนหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
อาการวูบหมดสติจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันของดาบช้างระหว่างการรักษา โดยควบคุมน้ำหนักลดลงไป 13 กิโลกรัม แต่ยังไม่ได้ผ่าตัดกระเพาะ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์ว่า ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน มีความผิดปกติของการทำงานอวัยวะต่างๆ ตามมาด้วย เช่น ไขมันในเส้นเลือดสูง จนอาจเป็นเหตุทำให้เส้นเลือดหัวใจเกิดการตีบตัน ทำให้หัวใจขาดเลือด จนเสียชีวิตเฉียบพลันได้สูง
ขณะเดียวกันอาจมีโรคเบาหวาน ที่เกี่ยวโยงกับเส้นเลือดหัวใจ ต้องทำงานสูงขึ้น ส่งผลต่อความดันโลหิตตามมา ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจโต จนเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
กรณีของดาบช้าง ที่มีน้ำหนัก 218 กิโลกรัม แต่ก่อนเสียชีวิตลดน้ำหนักมาได้ 13 กิโลกรัม ซึ่งยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเดิม อาจไม่มีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการลดน้ำหนัก แต่น่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อยู่กับตัวมาตั้งแต่ต้น และทำให้เกิดการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันตามมา
สำหรับคนที่เป็นโรคอ้วน ต้องทำการรักษากับแพทย์ แต่ถ้าเป็นบุคคลทั่วไป การลดความอ้วนแบบควบคุมโภชนาการ จะช่วยทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ได้
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ “ดาบช้าง” ตำรวจน้ำดี ที่ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชน แม้ร่างกายป่วยด้วยโรคอ้วน ขณะเดียวกันก็สะท้อนชีวิตของตำรวจชั้นผู้น้อย ให้รุ่นน้องๆ ในแวดวงสีกากี ได้เดินตามเป็นแบบอย่างอันดี ในการทำงานต่อไป.