คุยกับ คุณ "มินนา สิริกาญจน์" เจ้าของสวนผักปลอดสารพิษ แห่งอุตรดิตถ์ ที่ชีวิตพลิกผัน จากอาชีพ "พิสูจน์อักษร" สู่นักเขียนรายได้ดี กระทั่งไปหมดตัวกับงานขายตรง สุดท้ายรู้สึกเหมือนหลังชนฝา ต้องกลับมาหาเกษตร...

แต่ละคน มีเส้นทางชีวิตของตนเอง บางคนทำงานแรกก็ประสบความสำเร็จในชีวิต มีเงินทองมากมาย แต่บางคนก็ล้มลุกคลุกคลาน เรียกว่า มาเริ่มนับ 1 ใหม่ ในขณะที่บางคน “ตกเหว” ถึงขั้นติดลบ เป็นหนี้เป็นสินมากมาย บางคนท้อแท้พ่ายแพ้ บางคนก็ฮึดลุกขึ้นสู้ จนกลับมายืนได้อีกครั้ง  

เฉกเช่นเดียวกับ คุณมินนา หรือ นางสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง เจ้าของสวนสิริกาญจน์ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ 

จากปรู๊ฟ สู่นักเขียน กับความล้มเหลว เพราะความโลภ สู่อาชีพขายตรง 

คุณมินนา เล่าว่า เราไม่ได้เรียนจบปริญญาตรี แต่จบ การตลาด วุฒิ ปวส. จากนั้นก็มาทำงานที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ด้วยอาชีพ “พิสูจน์อักษร” เราเองก็ทำงานทั้งพิสูจน์อักษร แล้วก็ทำงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกด้วย แรกเริ่มเราก็ทำไม่เป็น พี่ๆ ที่นั่งข้างกันเขาก็คอยสอนจนเริ่มที่จะทำได้ 

“เราทำงานพิสูจน์อักษรทุกวัน อ่านงานคนที่เป็นระดับอาจารย์เยอะ ด้วยความซึมซับในงาน อาจารย์เขาก็ถามเรา ว่าอยากจะเขียนหนังสือไหม ซึ่งเขาคงเห็นแววของเรา เราก็ตอบรับทันทีว่าเราสนใจ เขาจึงบอกเทคนิคและแนะนำการเขียนหนังสือให้ จากนั้นเป็นต้นมา เราก็เริ่มเขียนหนังสือ ซึ่งก็มีทุกแนว ยกเว้นงานที่เป็น นวนิยาย เราไม่ถนัด” 

...

คุณมินนา เล่า เธออยู่ในสำนักพิมพ์แห่งนี้ประมาณ 3 ปี จากนั้นก็ลาออก แต่ก็ยังรับงานเขียนฟรีแลนซ์ในกรุงเทพฯ อยู่ โดยเขียนงานส่งให้หลายๆ สำนักพิมพ์ ซึ่งก็ถือว่ามีรายได้ดีอยู่ เขียนให้เล่มหนึ่งก็ได้เงิน 2 หมื่นกว่าบาท เรียกว่าอยู่ได้ เพราะเราก็ทำอาร์ตเวิร์คด้วย ออกแบบปกเองด้วย ทำให้ชีวิตเราอยู่ได้ แต่ก็มีจุดเปลี่ยน คือ ปัญหาในครอบครัว ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน ซึ่งเราก็ยังเขียนหนังสืออยู่ แต่...ช่วงหลัง สำนักพิมพ์เริ่มมีปัญหา ค่อยๆ ตายลง และช่วงนั้นก็มีเพื่อนมาชวนทำงาน “ขายตรง” เรียกว่าโทร. มาตื้อมากๆ จนเราใจอ่อน...

“ช่วงหลังต้นฉบับที่ส่งลดลงไปมาก และก็มีเพื่อนมาชวนทำอาชีพขายตรง ตอนแรกกะว่าจะไม่ไป แต่ไปถามแม่ แม่ก็บอกลองดูก็ได้ เพราะอาชีพนี้ก็เห็นมีแต่หมอๆ ทั้งนั้น แต่พอเข้าไปแล้ว เหมือนเชีวิตเรามันแปลกไป มึนๆ งงๆ ไปหมด ทำไปทำมา 3 ปี หมดตัวเลย”

นางสิริกาญจน์ เล่าว่า เราหมดเงินไปหลายแสนบาท ตอนที่เข้าไป เขาก็ใช้ “จิตวิทยา” ในการพูดกับเรา และด้วยความอยาก ความโลภ ของเรา รวย รวย รวย! เงินที่เคยเข้ามา ก็มีไหลออก จากการที่เราต้องซื้อของรักษายอด เงินที่ต้องดูแลจากการชักชวนผู้คนให้เข้ามาซื้อของ หรือ มาร่วมขายของ หากขายได้ก็จะได้เงินเป็นเปอร์เซ็นต์ 4,000 - 5,000 บาท 

“เงินที่เสียจากการซื้อของ เรายังกินได้ แต่เงินที่ใช้จ่ายช่วงการอบรม การเดินทางไปที่นั่นที่นี่ ดูแลคนนั้น คนนี้ เสียค่าเช่าสถานที่ การดูแลต่างๆ ตรงนี้แหละ คือ เสียไปหลายแสนบาทในช่วงหลายปี จนเราหมดตัว” 

กลับบ้านรักษาแผล “แม่” แนะนำกลับมาทำเกษตร ตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์ 

นางสิริกาญจน์ เล่าว่า ตอนนั้นเครียดมาก ใครโทร. มาก็ไม่รับ ก็พยายามอยู่กับตัวเอง ตั้งสติ จนกระทั่งตัดสินใจ บอกบริษัทขายตรงไปว่า “ไม่ต้องโทร. มาละนะ พอแล้ว” สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็มีมุมดี เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ความอยาก ความโลภ ความไม่รู้จักพอ ทำให้ชีวิตเราพัง! 

เมื่อกลับมาที่บ้าน เล่าให้แม่ฟังว่า ชีวิตเราติดลบแล้ว แม่ก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร แม่ก็มีที่ดินอยู่ข้างๆ บ้านนิดหน่อย งั้นมาทำเกษตรไหม...

“ตอนนั้นความรู้สึกเหมือนหลังชนฝา ให้ทำอะไรก็ทำแล้ว แต่ก็รู้สึกเครียด เพราะไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม เป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำ ความรู้ก็ไม่มี น้องชายก็เข้ามาช่วยปรับที่ให้ ซึ่งที่บ้านมีที่ดินอยู่ 5 ไร่ โดยแม่เขาใช้ไปแล้ว 2 ไร่ ปลูกกล้วย ขนุน ข้าวโพดบ้าง ที่เหลือน้องชายก็มาปรับที่ดินให้” 

สำหรับการออกแบบการปลูกพืชของคุณมินนา ด้วยที่ไม่มีความรู้ด้านเกษตรเลย จึงคิดว่าจะเริ่มต้นด้วย “ศาสตร์พระราชา” ก็ไปศึกษาหาความรู้ก่อน ตัวแม่ก็เคยไปอบรมกับทาง ธกส. กับโครงการ 459 หมายถึงว่า 4-5 ก้าว ก็มีพืชกินแล้ว

จากนั้นแม่ก็แนะนำให้โทร. หาอาจารย์ในโครงการนี้ คือ อาจารย์ประเสริฐ ปิ่นนาค ซึ่งเคยทำงานในโครงการเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ซึ่งเราก็ขอความรู้ต่างๆ เราจะไปหา แต่อาจารย์บอกว่าไม่ต้องมา เดี๋ยวเขามาหาเอง จากนั้น เมื่ออาจารย์มาถึง ก็ช่วยออกแบบต่างๆ

...

เคล็ดลับ เตรียมดิน ทำปุ๋ย เริ่มต้นปลูกผักครัวเรือน ลดค่าใช้จ่าย 

นางสิริกาญจน์ กล่าวว่า เมื่ออาจารย์มาถึง ก็บอกว่า พื้นที่นี้สามารถทำเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ จากนั้นเราก็ไปเรียนกับอาจารย์ ก็ค่อยๆ ได้ความรู้มากขึ้น โดยสิ่งที่อาจารย์สอนคือ สิ่งแรกที่ต้องมีในการทำเกษตรอินทรีย์ คือ ปุ๋ยน้ำหมัก จากนั้นก็ใช้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ แบบผสมผสาน ด้วยการปลูกพืชผักหลายชนิด โดยเราจะเน้นปลูกเป็นบล็อกๆ ซึ่งช่วยให้มีหญ้าน้อย บล็อกปุ๋ยได้ โดยก่อนจะลงผักปลูก เราต้องเตรียมดินก่อน ด้วยการใช้ “ปุ๋ยใต้ดิน” โดยเราจะแหวกดินออกมาก่อน จากนั้นก็ใส่แกลบดิบ แกลบดำ มูลสัตว์ ใบไม้แห้ง จากนั้นก็ใช้น้ำหมักที่เตรียมไว้ช่วย ซึ่งน้ำหมัก ปกติแล้วต้องหมัก 4 เดือน แต่เรามีหัวเชื้ออยู่แล้ว ก็ทำให้หมักเพียง 1 เดือน 

“พอเราเริ่มปลูกพืช เราจะเน้นเรื่องการปลูกผัก แบบกินในครัวเรือนลดค่าใช้จ่าย โดยเน้นผักสลัดต่างๆ เราก็ปลูกผักขายแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยเน้นจุดขายเรื่องผักออร์แกนิก ไร้สารพิษ จนกระทั่ง 4 ปีผ่านไป ก็สามารถเปิดศูนย์เรียนรู้ได้ และเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็มีห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ ก็ติดต่อมาให้เราไปขายผักในห้างของคนในเมืองอุตรดิตถ์” 

นางสิริกาญจน์ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 7 แล้วที่เราทำอาชีพเกษตร เรียกว่ามีความสุข มีรายได้อย่างเพียงพอ รายได้แต่ละเดือนก็หลักหมื่นบาท สิ่งที่คิดและทำในขณะนี้ก็คือ การพยายามขยายเครือข่ายให้มากขึ้น มีเวลาก็สอนคนอื่นๆ ในศูนย์เรียนรู้นี้ 

...

ตั้งใจสานต่อปณิธาน ในหลวง ร.9 ให้เกษตรกรอยู่ได้ 

“สาเหตุที่เราทำศูนย์เรียนรู้เพราะตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ท่าน เราบอกกับพระองค์ในวันที่เริ่มทำ ซึ่งปีนั้น ท่านสวรรคต เรากราบลงแผ่นดิน บอกว่า ลูกจะขอเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ ลูกไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นมือใหม่ ไม่รู้อะไรเลย ขอให้พระองค์ช่วยลูกขับเคลื่อน ซึ่งหลังจากนั้นก็มีอะไรดีๆ เข้ามา คนที่เข้ามาดูงานกับเรา ก็มักมีหน่วยงานใหญ่ๆ เข้ามา ทั้งที่เราไม่เคยไปติดต่อ หรือ ขอใครเลย” 

นางสิริกาญจน์ เล่าว่า เธอมีความตั้งใจเป็นอย่างมาก ใครที่เข้ามาเรียนในศูนย์เรียนรู้เราก็ตั้งใจสอน อยากให้เกษตรกรที่มาเรียนสามารถพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่ายต่างๆ ให้สำเร็จ 

สิ่งที่เราทำหลังจากนี้ คือ ความพยายามขับเคลื่อนเรื่องตลาด โดยเร็วๆ นี้ เรานัดเครือข่ายผักปลอดสารพิษ กว่า 40 เครือข่ายมาหารือ เพื่อหาทางเพิ่มตลาด ปลูกพืชด้วยเกษตรอินทรีย์ เพราะที่ผ่านมา มีบางคนเขาก็โทร. เข้ามาบ่นว่า ขายไม่ดี สู้ผักตลาดทั่วไปไม่ได้ ซึ่งเราก็อยากจะบอกว่า แม้ผักของเราจะแพงกว่า ผักทั่วไปนิดหน่อย แต่ก็อยากให้คนมีสุขภาพดี 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...