เมื่อการหาเสียงเลือกตั้ง 66 ผ่านโซเชียลมีเดียทำให้ TikTok โดดเด่น และเราอาจได้นายกรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น...

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใดที่ “โดดเด่น” ที่สุดใน "การเลือกตั้ง 2566" จากการที่พรรคการเมืองต่างๆ หยิบฉวยมาใช้สื่อสารกับประชาชน แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างการหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2562 และการหาเสียงเลือกตั้งในปีนี้ และท้ายที่สุด เพราะเหตุใดการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในครั้งนี้จึงกลายเป็น Entertainment! ไป

ทั้งหมดนี้ ไปรับฟังผ่านการสนทนาระหว่าง “ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์” นักวิจัยการหาเสียงเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดียในประเทศไทย จาก สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของ “งานวิจัยการเลือกตั้งทั่วไปบนโซเชียลมีเดีย ปี 2562” และ “งานวิจัยการศึกษาเครือข่ายการหาเสียงเลือกตั้งบนเครือข่าย Facebook ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2556” กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” 

“ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์” นักวิจัยการหาเสียงเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดียในประเทศไทย จาก สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์” นักวิจัยการหาเสียงเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดียในประเทศไทย จาก สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

...

TikTok แพลตฟอร์มที่เข้ามาแทน Facebook : 

“หากเทียบกันระหว่างการเลือกตั้งปี 2562 กับการเลือกตั้งปี 2566 ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า...มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ในแง่ของการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ประเด็นแรกเลย คือ พรรคการเมืองต่างๆ หันมาใช้แพลตฟอร์ม TikTok ในการหาเสียงในสัดส่วนที่มากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ โดยเฉพาะ Facebook และ Twitter ที่ถูกใช้อย่างมากในการเลือกตั้งปี 2562 อย่างเห็นได้ชัด  

และ content ที่ใช้ก็จะเน้นไปในเรื่องที่ต้องการที่จะสื่อสารแบบเรียกว่า...ฉับไวและตรงไปตรงมา และโดยมากมักมีความยาวเพียงไม่เกิน 1 นาทีครึ่งเท่านั้น ซึ่งตรงจริตกับคนยุคนี้ที่มักไม่ค่อยมีสมาธิที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานมากนัก 

ลำดับที่ 2 คือ แพลตฟอร์ม YouTube Shorts Video ที่มีความคล้ายคลึงกับ TikTok ส่วนลำดับที่ 3 คือ Facebook Live อย่างไรก็ดีสำหรับ Facebook Live เท่าที่ส่วนตัวสังเกต พบว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ พรรคการเมืองสามารถเรียกร้องความสนใจจากบรรดาผู้ติดตามได้ในแบบ Real Time อีกทั้งยังสามารถ engage กับประชาชนทั่วไปรวมถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ปราศรัยได้สะดวกมากขึ้น

ส่วนข้อเสียคือ หากมีการใช้แพลตฟอร์ม Facebook Live ในพื้นที่ ที่มีประชาชนหลากหลายทางความคิดเห็น จนกระทั่งนำไปสู่การเกิดวิวาทะขึ้นก็อาจถูกฝ่ายตรงข้าม นำเก็บไปใช้เพื่อเป็นประเด็นได้ตลอดเวลาเช่นกัน”  

หัวคะแนนแฟนคลับ : 

“อีกหนึ่งประเด็นที่ ส่วนตัวพบว่ามีความแตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 คือ การถือกำเนิดขึ้นของ หัวคะแนนแฟนคลับ (หัวเราะ) หรือหากจะพูดง่ายๆ ก็คือบรรดาแฟนคลับของพรรคการเมือง ในแบบพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งมักจะออกไปทำ content เพื่อช่วยพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบและแชร์ลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น การออกไปช่วยกันซ่อมป้ายหาเสียง เป็นต้น”

การกระชากภาพลักษณ์ของนักการเมือง : 

“สิ่งที่แตกต่างจากการเลือกตั้งคราวที่แล้วอีกหนึ่งเรื่องที่พบ คือ บรรดาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือเหล่าผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ มีความพยายามที่จะกระชากภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูเป็นกันเองกับประชาชนมากขึ้น โดยจุดที่สังเกตให้เห็นอย่างเด่นชัดมากๆ คือ ความพยายามในการช่วยหยิบโทรศัพท์มือถือของประชาชนมาเพื่อ "ถ่ายเซลฟี่" ซึ่งประเด็นนี้ส่วนตัวคิดว่า สามารถช่วยซื้อใจประชาชนได้มาก เพราะมันทำให้บรรดา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือเหล่าผู้สมัคร ส.ส. กลายเป็น Personal มากๆ อีกทั้ง มุมกล้องที่ได้มา...มันก็จะกลายเป็นอีกมุมหนึ่งของนักการเมือง ที่ประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะไม่เคยได้เห็นหรือสัมผัสมาก่อน ซึ่งรูปเซลฟี่ในลักษณะนี้เมื่อถูกนำไปแชร์ลงโซเชียลมีเดียมักจะสร้าง impact ให้กับบรรดานักการเมืองได้มากกว่า กรณีที่ให้บุคคลที่ 3 ช่วยถ่ายรูปคู่กับนักการเมืองแล้วแชร์ลงบนโซเชียลมีเดียอย่างเห็นได้ชัด”

...

“ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์” นักวิจัยการหาเสียงเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดียในประเทศไทย จาก สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์” นักวิจัยการหาเสียงเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดียในประเทศไทย จาก สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การหาเสียง ที่กลายเป็น Entertainment : 

“ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ได้กลายเป็น Entertainment ไปแล้ว (หัวเราะ) เพราะ content ที่ถูกผลิตออกมาส่วนใหญ่โดยเฉพาะจากบรรดากลุ่มผู้สนับสนุน มักจะออกมาในรูปแบบของการสื่อสารทางการเมืองที่มีต่อฝ่ายที่ตัวเองให้การสนับสนุน ในขณะที่ content ที่ถูกผลิตออกมาจากพรรคการเมือง มักจะเน้นไปที่การตัดต่อคลิปจากเวทีดีเบต เวทีการปราศรัย หรือข่าวจากสื่อหลัก แล้วนำมาทำเป็นคลิปสั้นๆ เพื่อแชร์ลง TikTok และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ และเป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเสนอนโยบายการหาเสียงในภาพใหญ่นั้น พรรคการเมืองต่างๆ มักจะแชร์เอาไว้บนเว็บไซต์หลักของพรรคเท่านั้น! 

...

ทำให้ในความเห็นส่วนตัวจึงคิดว่า...แม้นโยบายจะเป็นเรื่องสำคัญในการหาเสียง หากแต่สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 นี้ คนอาจจะไม่ได้เลือกที่นโยบายก็เป็นได้ (หัวเราะ) คือ...เอาละ! แม้มันอาจจะมีนโยบายเด่นๆ บางเรื่อง 1-2 นโยบายใหญ่ๆ ที่พรรคการเมืองต่างๆ พยายามจะนำเสนอและให้ประชาชนสามารถจดจำได้ หรือฟังแล้วรู้สึกติดหู สนใจ โดนใจ แล้วก็เอาไปพูดต่อได้ 

แต่ในภาพใหญ่ๆ แล้ว...วิธีการหาเสียงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ยังคงมีเข็มทิศหลักไปเรื่องของประเด็นทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้ง, การแบ่งขั้ว, ถูกใจหรือไม่ถูกใจ อะไรแบบนี้มากกว่า! ในขณะที่เรื่องนโยบายนั้นกลับเป็นเรื่องรองๆ ลงไป” 

ประสิทธิภาพการใช้โซเชียลมีเดียการเมือง : 

“จริงๆ แล้ว การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงเลือกตั้งไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีผิด แล้วก็ไม่มีถูก มันมีเพียง ถูกใจหรือไม่ถูกใจ โดนใจหรือไม่โดนใจ ประทับใจหรือไม่ประทับใจเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องถูกใจหรือไม่ถูกใจ มันก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเลือกตั้งด้วยเช่นกัน 

...

เท่าที่ส่วนตัวเคยได้ศึกษาและทำวิจัยเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 พบว่า บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ได้ผ่านการพยายามลองผิด ลองถูก ในเรื่องการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการหาเสียงกันมาแล้วทั้งสิ้น 

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นการวางแผนเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงที่มีรูปแบบวิธีการเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงมีการกำหนดระยะเวลาในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบมากขึ้นว่า ช่วงเวลาไหนจะมีการปล่อย content ในลักษณะใดออกมาจึงจะโดนใจบรรดากลุ่มผู้สนับสนุน 

หากเราสังเกตกันให้ดี content ต่างๆ จะถูกปล่อยออกมาเรื่อยๆ จากนั้น พรรคการเมือง จะรอดูว่า content ไหนจะถูก engage หรือถูกแชร์มากที่สุด ถูกพูดถึงเยอะที่สุด หรือว่าถูกสื่อกระแสหลักเอาไปเล่นเยอะที่สุด!”

โซเชียลมีเดีย กับ Swing Voter : 

“สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เมื่อใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการหาเสียง ผลลัพธ์ที่จะตามมาคือ จะเกิดกลุ่ม Swing Voter ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เพราะเมื่อคนเปิดที่จะรับรู้ข้อมูลจากพรรคการเมืองต่างๆ และเริ่มไป Follow หลายๆ พรรค รวมถึงเสพเรื่องการเมืองจากหลายๆ คนในแพลตฟอร์มเดียวกัน มันย่อมอาจทำให้คนสามารถเปลี่ยนความคิดหรือความนิยมชมชอบไปๆ มาๆ อยู่ได้เหมือนกัน (หัวเราะ)” 

อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่มีต่อการเลือกตั้ง : 

“เท่าที่ประเมินจากความเห็นส่วนตัวคิดว่า...น่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับกลุ่ม New Voter หรือ กลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก อายุ 18-22 ปี ซึ่งมีประมาณ 4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.67% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่เสพข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก” 

ความสัมพันธ์ระหว่าง การเมืองและโซเชียลมีเดีย : 

“ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า การที่นักการเมืองใช้โซเชียลมีเดีย มันทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับการเมืองหรือนโยบายต่างๆ สามารถพูดคุยกันได้แบบดูไม่ค่อยเป็นทางการได้มากขึ้นเท่าไร จนกระทั่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะของเป็นเพื่อนกันมากกว่า 

ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2566 เห็นได้ชัดเลยว่า...ทั้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือบรรดาผู้สมัคร ส.ส. จากหลายๆ พรรค ได้พยายามที่จะทำให้เกิดภาพลักษณ์แบบนี้ขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะลดภาพลักษณ์ของความเป็นทางการ หรือการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ผ่านวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวแพลตฟอร์ม , คำพูดที่ใช้ ชื่อที่นักการเมือง พรรคการเมือง หรือผู้สมัครใช้เรียกตัวเอง ซึ่งโซเชียลถูกนำมาใช้เพื่อการนี้ได้อย่างได้ผล

จนกระทั่งทำให้หลายๆ คนบนโซเชียลมีเดียตั้งความหวังเอาไว้ว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะได้นายกรัฐมนตรีที่ดูเหมือนเป็นเพื่อนของเรา และมีระยะห่างทางความสัมพันธ์ที่หดสั้นลงมากกว่าเก่า” ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ ปิดท้ายการสนทนา กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน   

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :