ศึกเลือกตั้ง 2566 นโยบายด้านการเกษตรและความมั่นคงในอาหาร ซึ่ง 11 พรรคการเมือง ได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา เพราะจากข้อมูลพบว่าตลอด 10 ปี ไทยใช้งบอุดหนุนเกษตรกรเฉลี่ย 1.2 แสนล้านบาท โดยล่าสุดปีงบประมาณปี 2564 ใช้งบ 1.8 แสนล้านบาท แต่เกษตรกรรายย่อย 20 เปอร์เซ็นต์ ที่มีที่ดินน้อย ได้รับผลประโยชน์เพียง 1.8 - 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ผลประโยชน์ ตกอยู่กับเกษตรกรรายใหญ่ ประเด็นนี้ถูกถกเถียง ในเวทีเสวนา “เกษตรกรรม และความมั่นคงทางอาหาร : เลือกตั้ง 2566” จัดโดย สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิชีววิถี
พรรคก้าวไกล เกษตรกรต้องอยู่ได้และเลือกได้
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตัวแทนพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เกษตรกรต้องอยู่ได้ และเลือกได้ สำหรับเงินอุดหนุนภาคเกษตรที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ การให้เงินอุดหนุนที่ยังติดอยู่กับการปลูกพืชเดิม ดังนั้นจึงต้องแยกการช่วยเหลือด้วยแนวทางสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะเกษตรกร 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้สูงอายุ
...
นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรต้องปลดล็อกคือ 1.ที่ดิน เพราะมีเกษตรกรประมาณ 50 ล้านไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน โดยต้องมีกองทุนในการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตั้งงบประมาณไว้ 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 4 ปี
2.หนี้สินเกษตรกร จะมีมาตรการว่าถ้าสามารถชำระได้ครึ่งนึง อีกครึ่งรัฐบาลจะชำระให้ แต่ถ้าไม่มีเงินชำระหนี้ ส่งเสริมให้ปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยเป็นการเช่าที่ดินในการปลูก และนำรายได้ส่วนนี้มาชำระหนี้ ตั้งแต่วันแรกที่รัฐทำการเช่าที่ดิน เมื่อครบกำหนดการเช่าที่ดิน จะแถมต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ให้เกษตรกรอีกครึ่ง สุดท้ายถ้าเกษตรกรไม่มีเงินและที่ดิน จะมีโครงการติดแผงโซลาร์เซลล์ บนหลังคาบ้าน รายได้จะนำมาชำระหนี้
พรรคภูมิใจไทย รู้ราคาผลผลิตก่อนปลูก
ศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นโยบายของพรรคมุ่งเน้นให้เกษตรกรรู้ราคาผลผลิตก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย และถ้าพืชผลผลิตเสียหายมีประกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้คือ เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่จำนวนมาก และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
ต้องมีการส่งเสริมความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อย ในการลดต้นทุน ทั้งปุ๋ย และอาหารสัตว์ ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีราคาสูง แต่ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดเกษตรกร ให้หันมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำขึ้นเองได้ และมีโครงการสนับสนุนจากธนาคารของรัฐให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้
หากได้เป็นรัฐบาล จะมีการประกาศนโยบายว่า เกษตรเพื่อสุขภาพ คนไทยไม่เป็นโรค ลดการใช้สารเคมีลงร้อยละ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 ปี เพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ มีการเก็บภาษีสารเคมี ที่เป็นอันตรายเพิ่มขึ้น ตลอดจนห้ามโฆษณาสารเคมีอันตราย
พรรคประชาธิปัตย์ มหาอำนาจอาหารโลก
อลงกรณ์ พลบุตร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาด้านเกษตรกรรม มีการกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นมหาอำนาจด้านอาหารของโลก แต่ต้องคำนึงถึงปริมาณคุณภาพ และโภชนาการ รวมถึงเพิ่มความสำคัญให้กับภาคเกษตรให้มีจีดีพีสูงขึ้น จาก 8.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี รวมของทั้งประเทศ
ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ และเกษตรคาร์บอนต่ำ ลดโลกร้อน รวมถึงขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย ครัวไทยสู่ครัวโลก ส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต โดยเฉพาะโปรตีนทางเลือกใหม่ เช่น โปรตีนจากพืช แมลง
พัฒนาภาคการเกษตรสู่ อาหาร การท่องเที่ยว และพลังงาน สร้างความปลอดภัยด้วยการทำเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ให้ความรู้และเพิ่มพื้นที่การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ 5 ล้านตัน
สร้างความมั่นคงในเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เป็นฐานโลก ในการสร้างเงิน สร้างคนและสร้างชาติ โดยมีการเติมทุนให้กับเกษตรกรอินทรีย์ แปลงใหญ่ 3 ล้านบาท ประมาณ 1 หมื่นแปลง
พรรคชาติไทยพัฒนา เกษตรทฤษฎีใหม่ แก้ความยากจน
นิกร จำนง ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า มีการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อแก้ความยากจน และระบบสหกรณ์ จะเป็นรากฐานในการประคองให้ไปได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกยึดครองจากเกษตรกรรายใหญ่ ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ เนื่องจากทุกวันนี้สร้างถนนมากกว่าสร้างคลองชลประทาน
ต้องมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้กับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น สนับสนุนแหล่งคาร์บอนเครดิต ให้มีรายได้ โดยเฉพาะเกษตรกรสูงอายุ เพื่อมีรายได้ส่วนนี้ในการมาจุนเจือ ดังนั้นนโยบายของการช่วยเหลือเกษตรกร ถือเป็นนโยบายหลักของพรรคที่ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
...
พรรคประชาชาติ ผลักดันปราชญ์ชาวบ้าน
มนตรี บุญจรัส ตัวแทนพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายด้านการเกษตร มีการกดทับทำให้เกษตรกรรายย่อย และปราชญ์ชาวบ้านขาดศักยภาพในการทำงาน เพราะกฎหมายบางอย่างที่ออกมา ทำให้ปราชญ์ชาวบ้าน ที่สามารถผลิตปุ๋ยเองได้ และแจกจ่ายชาวบ้าน ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ทวงถามถึงใบอนุญาตในการครอบครองสารบางอย่าง สิ่งนี้ทำให้ปราชญ์ในชุมชนบางส่วน เลิกล้มการผลิต ทั้งที่เป็นวิถีของชุมชน
เกษตรกรมีหนี้สินจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาด และไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ขณะที่ไทยมีแหล่ง ปุ๋ยโพแทสเซียม ควรมีการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวให้มีการผลิตปุ๋ย หรือไปแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่นที่มีทรัพยากรในการผลิตปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรในประเทศ
รวมถึงลดต้นทุนเกษตรกร โดยให้ปุ๋ยฟรี ควรมีการคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะไปทำไบโอแก๊ส ส่วนขยะที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ควรแยกนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ แจกให้กับเกษตรกร ที่ช่วยให้เกษตรกรค่อยๆ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี อย่างค่อยเป็นค่อยไป
พรรคชาติพัฒนากล้า นำสหกรณ์เข้าตลาดหลักทรัพย์
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายเกษตรกรวนอยู่กับเรื่องประชานิยม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เช่น การจำนำข้าว แต่จะปรับเปลี่ยนใหม่ ในแนวทางของ “โอกาสนิยม” โดยจะเน้นเกษตรแปรรูป และจะนำสหกรณ์เข้าตลาดหลักทรัพย์
ไม่ว่าเป็นการทำเกษตรแบบแม่นยำ หรือเกษตรอินทรีย์ ถ้ามุ่งไปยังการเกษตรแบบแปรรูป ทำให้มีการควบคุมการปลูก เช่น แยมสตรอว์เบอร์รี จะมีการควบคุมว่า สตรอว์เบอร์รี ขนาดไหนถึงจะนำมาแปรรูปได้ และควบคุมไม่ให้เป็นผลผลิตที่ใส่สารเคมี จนเกินความเหมาะสม
ส่งเสริมการทำแอปพลิเคชัน นำข้อมูลทั้งหมดของกระทรวงเกษตร และสร้างสังคมบนโลกออนไลน์ ที่เกษตรกรสามารถค้นหาและรู้ได้ว่า พื้นที่ของตัวเองเหมาะกับการปลูกพืชชนิดไหน ต้องใช้ปุ๋ยแบบใด หรือคนที่อยากทำเกษตรอินทรีย์ มีข้อมูลแนะนำให้เหมาะกับพื้นที่ รวมถึงสร้างสังคมบนโลกออนไลน์ ให้มีการแจ้งว่ามีโรคระบาดของพืช เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่อื่น ได้ป้องกันผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว การสร้างแอปพลิเคชัน สามารถทำได้ด้วยการสนับสนุนของภาคเอกชน เพียงแต่หน่วยงานรัฐ ต้องนำข้อมูลที่ตัวเองมีใส่ไปในระบบ เพื่อเป็นการทลายการทำงานของราชการในรูปแบบเดิม
...
พรรคกรีน ธนาคารต้นไม้ องค์กรชุมชน
พงศา ชูแนม ตัวแทนพรรคกรีน กล่าวว่า จะมีการตั้งธนาคารต้นไม้ ที่เป็นองค์กรชุมชน แล้วเอามูลค่าต้นไม้ที่ปลูกไปไว้ในธนาคาร โดยเปลี่ยนเป็นเงินได้ ถือเป็นหลักประกันในทรัพย์สิน และมีการออกหวยต้นไม้ โดยต้นไม้ที่เกษตรกรปลูก จะมีหมายเลขกำกับ เมื่อเลขรางวัลออกตรงกับต้นไม้ที่ปลูกไว้ จะได้เงินรางวัล ทำให้เกษตรกร อยากปลูกต้นไม้เพิ่ม และต้องมีโรงรับจำนำต้นไม้ โดยเกษตรกรนำบัตรที่ออกโดยธนาคารต้นไม้ ไปจำนำได้
พรรคเพื่อไทย พักหนี้เกษตรกร 3 ปี รายได้ดี 3 เท่า
น.สพ.ชัย วัชรงค์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีนโยบายพักหนี้เกษตรกร 3 ปี รายได้ดี 3 เท่า เพื่อฉุดเกษตรกรพ้นจากความยากจน ในการพักหนี้จะมีการชดเชยทั้งต้นและดอกแทนเกษตรกร เพื่อให้คนที่เป็นหนี้ตอนนี้ตั้งหลักได้ ต่อจากนั้นจะมีการพิสูจน์สิทธิ์ ในการออกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่
ส่วนนโยบายเพิ่มรายได้เป็น 3 เท่าใน 4 ปี จะใช้แนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม โดยเปลี่ยนชาวนาประมาณ 20 ล้านไร่ ตามความสมัครใจ ให้เปลี่ยนไปทำการเกษตรที่ตลาดต้องการ ระยะเปลี่ยนผ่านจะมีเงินอุดหนุนให้ ประมาณ 3 พันบาท/ไร่ หากเปลี่ยนผ่านไปสู่สินค้าที่มีตลาดรองรับ ตามนโยบายรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนพิเศษเพิ่ม
โดยพืชที่เป็นเป้าหมาย ที่มีตลาดรองรับเช่น ข้าวโพด โดยไทยนำเข้ามาปีละ 3 ล้านตัน ทั้งที่สามารถผลิตได้ โดยมีโครงการสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามเผา ทำให้เกิดมลพิษตามมา
ขณะเดียวกัน มีการส่งเสริมให้ปลูกถั่วเหลือง เพราะผลผลิต 1 ไร่ สร้างรายได้ประมาณ 3,500 บาท ดีกว่าการปลูกข้าวแบบเดิมถึงสามเท่า ส่วนบางรายส่งเสริมให้เลี้ยงโคเนื้อ โดยทำโครงการประมาณ 1 - 2 ล้านตัว เปลี่ยนที่นามาเลี้ยงหญ้าให้โค และเงินจากการปลูกหญ้าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร
...
ส่งเสริมให้เอกชนทำแอปพลิเคชัน มาใช้ในภาคการเกษตร และกำหนดเคพีไอ การทำงานตั้งแต่ปลัดกระทรวงเกษตร ไปจนถึงระดับล่าง หากทำงานได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะมีกระบวนการพิจารณา
ด้านนโยบายประหยัดต้นทุน จะผลักดันให้มีโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงปุ๋ย เป็นปุ๋ยที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น โดยจะมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่มีเงื่อนไขในการผลิตปุ๋ย ให้ใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์
พรรคพรรคไทยสร้างไทย ไบโอเทคโนโลยีผสมผสาน
ศรัณยู คงสวัสดิ์เกียรติ ตัวแทนพรรคพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หากสินค้าของเกษตรกรพัฒนาไปได้ดี จะมีโอกาสจากกองทุนที่ช่วยเหลือเงิน เพื่อพัฒนาตัวเองจากเกษตรกรไปเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันจะมีการงดใช้กฎหมาย ที่ไม่จำเป็นสำหรับเกษตรกร เพื่อสร้างศักยภาพให้กับเกษตรกร
ไบโอเทคโนโลยี นำมาผสมผสานในการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้เพิ่มผลผลิตได้ และเพิ่มงบประมาณในการวิจัยพันธุ์พืช ให้ทนต่อศัตรูพืชและโรคต่างๆ และส่งเสริมพืชออร์แกนิก ที่เพิ่มมูลค่ารายได้ พยายามผลักดันตราสินค้าของไทย ที่มีมาตรฐาน และได้รับการยอมรับในระดับโลก
พรรคสามัญชน สนับสนุนอาหารที่ปลอดภัย
ณัฐพร อาจหาญ ตัวแทนพรรคสามัญชน กล่าวว่า ฐานของเกษตรกรรมส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย แต่การพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นไปยังเกษตรกรรายใหญ่ ขณะเดียวกัน ที่ดิน เป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความยากจน และไม่เกิดความมั่นคงในอาชีพ
ต้องสนับสนุนให้คนในประเทศเข้าถึง อาหารที่ปลอดภัยก่อนเป็นเรื่องแรก ซึ่งปัจจัยต้องควบคุม ในขณะที่เรื่องน้ำ ต้องพิจารณาเชิงระบบนิเวศของพื้นที่แต่ละแห่งด้วย กรณีภาคอีสานที่พื้นดิน มีโพแทสฯ จะขุดขึ้นมาใช้ ต้องระวังเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
พรรคพลังประชารัฐ 3 ลด 3 เพิ่ม
ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำประกอบด้วย 3 ลด 3 เพิ่มคือ การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ เพิ่มนวัตกรรมให้กับเกษตรกร และจะสนับสนุนเกษตรอินทรีย์จะเป็นหนทางในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยพรรคจะส่งเสริมในเรื่องนี้รวมไปถึงการปรับโครงสร้างดินและน้ำเพื่อให้เกิดการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้พรรคจะเติมทุน 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน แบบมีเงื่อนไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต รวมทั้งจะสนับสนุนให้เกิดการแปรรูปเพื่อส่งออกในต่างประเทศ.