เปิดเบื้องหลังการตลาดของซอสผ่านความบันเทิง กับหนังเรื่อง คนหิว เกมกระหาย (Hunger) ของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลก และแบรนด์ไทยอายุกว่า 50 ปี กับ โรซ่า เชฟแอทโฮม ผัดงอแง ที่ขายของได้โดยไม่ต้องมีขวดซอสผัดแทรกในหนังที่ยาวกว่า 2 ชั่วโมง แม้แต่วินาทีเดียว

หลังจากเปิดตัวหนัง เรื่อง คนหิว เกมกระหาย หรือ Hunger ฝีมือสร้างสรรค์โดยคนไทย ใน Netflix ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ล่าสุด Netflix ภูมิใจเปิดเผยสถิติความนิยมของผู้ชม ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2566 ว่า เป็นอันดับ 1 ใน 51 ประเทศ ด้วยยอดรับชมสะสมสูงถึง 43.58 ล้านชั่วโมง และยังอยู่ใน Top 10 ในอีก 91 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย

เรียกได้ว่าใครดูหนังจบแล้ว แต่เรื่องราวของ Hunger ยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะความนิยมนี้ได้ส่งต่อมายังแบรนด์สินค้าที่สนับสนุน Hunger อีกด้วย เพราะกระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่กำลังจะตามมาคือ การบุกตลาดของ โรซ่า เชฟแอทโฮม ผัดงอแง ซึ่งโรซ่าบุกตลาดซอสผัดช้ากว่าคู่แข่งที่ครองส่วนแบ่งตลาดไปเกือบหมดแล้ว

1 ปีที่รอคอยของโรซ่า กับซอสสำหรับผัดงอแง ใน Hunger

เรื่องนี้จึงมีเบื้องหลังที่นักการตลาดกำลังสนใจ ในกระบวนการทำงาน ระหว่างแบรนด์ไทย โรซ่า ที่มีอายุ 50 ปี กับ Netflix แบรนด์ระดับโลก เพราะงานนี้ ไม่ใช่แค่วางแผนการสื่อสารแคมเปญ แต่รวมไปถึงการพัฒนาซอสผัด ที่ใช้เวลาประมาณ 1 ปีก่อนหนังฉาย ถือเป็นความใจเย็นและรอคอยที่เจ้าของแบรนด์โรซ่าบอกว่า คุ้มค่า


สุวิทย์ วังพัฒนมงคล ทายาทของแบรนด์โรซ่า ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า ความร่วมมือครั้งนี้สำหรับโรซ่า ถือว่าซื้อหวยถูก และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และที่สำคัญตอกย้ำให้เห็นว่า การโปรโมตสินค้าบริการยุคนี้ต้องหาวิธีการสื่อสารแบรนด์ที่สร้างสรรค์ 

...

เบื้องหลังของความร่วมมือนี้ เริ่มมาจาก เอเจนซี่โฆษณา วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เสนอมายังไฮคิวถึงความร่วมมือกับ Netflix กับหนังเรื่อง Hunger ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่บริษัทกำลังวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่คือซอสผัด หรือซอสปรุงรส แต่ยังไม่มีกำหนดการเปิดตัว

“ตอนนั้นแทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ รู้แค่เนื้อเรื่องคร่าวๆ ว่ามีอาหารจานหนึ่งที่เป็นอาหารเด่น และเขาถามมาว่า ถ้ามีซอสขวดเดียวผัดได้ไหม ตอนนั้นเรากำลังทำพอดี ก็เลยเป็นประตูที่สว่างขึ้นมา ที่จริงๆ ตอนนั้นพร้อมวางตลาดแต่เราไม่รีบ เพราะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ซอสผัดเข้าบุกตลาดยาก และเรามาที่หลังคู่แข่ง”

งานนี้เรียกว่าเป็นการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ถึงขนาดร่วมกันพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ที่ Netflix ต้องการผัดแล้วให้มีสีไหม้ อย่างในหนังที่เห็นผัดซีอิ๊วจนไฟลุก เพราะของเดิมที่โรซ่าพัฒนาอยู่ สีไม่เข้มขนาดนั้น แน่นอนว่าโรซ่ายอมปรับสูตร เพื่อให้ได้สีเข้มขึ้นจนออกมาเป็นสีสันของเมนูผัดงอแง อย่างที่หลายคนได้เห็นในหนัง 

หนัง Hunger ยังตอบโจทย์ของแบรนด์โรซ่า ในการเล่าเรื่องราวเมนูผัดงอแง ที่สะท้อนความผูกพัน ความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งตรงกับจุดยืน (Positioning) ของแบรนด์ที่ปรับมาก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้ผู้บริโภครับรู้ว่า เป็นแบรนด์ที่ตอบโจทย์การทำอาหาร สำหรับความสุขของครอบครัว ไม่ใช่แบรนด์ที่มีเพียงซอสมะเขือเทศ และปลากระป๋องเท่านั้น

จุดที่ยากสำหรับโรซ่า คือ ขวดซอสผัด ไม่ได้จำเป็นสำหรับแม่บ้านตัวจริง ที่สามารถหารสมือปรุงรสด้วยตัวเอง ส่วนคนที่ใช้ก็ติดใจในผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งไปแล้ว การตัดสินใจร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Netflix เป็นการตอบโจทย์ที่อยากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์อยากปรุงอาหารเอง แต่ปรุงไม่เก่ง และไม่ต้องการใช้เวลานานในการปรุงนานเกินไป

“เป็นการยกระดับแบรนด์ไทยที่อายุ 50 กว่าปี ที่ได้แบรนด์ระดับโลก และข้ามอุตสาหกรรม จากอาหารไปกับความบันเทิง ด้วยความเชื่อที่ว่า ในยุคนี้ผู้บริโภคปรับตัวเร็วมาก ดังนั้นการสื่อสารแบบเดิม โฆษณาแบบเดิมก็จะได้ผลน้อยลง แต่แบรนด์ต้องหาวิธีโฆษณา ที่ไม่เหมือนการโฆษณาให้ได้” ผู้บริหารแบรนด์โรซ่า ย้ำว่าแม้จะมาทีหลัง แต่ก็มีโอกาสบุกตลาดได้ไม่ยาก และนี่เป็นการบุกตลาดที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น