ภาพน่ารักของ เซียร่า และ ฮาร่า สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ทีมค้นหา USAR Thailand ในการปฏิบัติภารกิจหาผู้สูญหาย เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศตุรกี เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับชื่นชม จนมีการมอบรางวัลเกียรติยศ “ย่าเหล สดุดี” แต่ในกระบวนกฝึกสุนัข มีกระบวนการฝึกซับซ้อน ต้องใช้ความอดทนกว่า 2 ปี ก่อนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ในสนามจริง
สุทธิเกียรติ โสภณิก หัวหน้าชุดสุนัขค้นหาและกู้ภัย มูลนิธิอนุรักษ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม กล่าวว่า การฝึกสุนัขช่วยค้นหาในเหตุภัยพิบัติ เช่น ตึกถล่ม แผ่นดินไหว มีการฝึกแตกต่างจากสุนัขทั่วไป ต้องใช้ความอดทนของผู้ควบคุม และสุนัขต้องมีร่างกายแข็งแรง ขณะเดียวกันสุนัขเองต้องมีพรสวรรค์ ในการรับกลิ่น สายตาสำรวจค้นหาที่แตกต่างจากตัวอื่น รวมถึงทักษะการฟังเสียง หากสุนัขมีองค์ประกอบนี้ ถือเป็นสุนัข มีความพิเศษ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสายพันธุ์
“ถ้าสุนัขไม่มีใจรักในการค้นหา ฝึกไปเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล สิ่งสำคัญของสุนัขที่ผ่านการฝึกนี้ สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สุนัขมีประสาทการได้กลิ่น มากกว่าคน แต่คนมีความเฉลียวฉลาดมากกว่า ดังนั้นคนที่ควบคุมสุนัข ต้องทำอย่างไร ให้สุนัขใช้จมูกดมกลิ่น และการได้ยิน เพิ่มขึ้นจากความเป็นปกติ ตัวอย่างเช่น ในห้องที่ปิดไฟมืด คนเข้ามาไม่เห็นอะไร แต่ถ้าสุนัขเข้ามา จะเปลี่ยนประสาทสัมผัสจากการมองเห็นมาเป็นการได้กลิ่น”
...
จากประสบการณ์ฝึกสุนัขในการค้นหามากว่า 20 ปี พบว่า สุนัขใช้ประสาทสัมผัสผ่านดวงตาก่อน หากมองไม่เห็นจะใช้การดมกลิ่น ตัวอย่างเช่น การค้นหามนุษย์ในเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ร่างผู้ประสบภัยมักถูกฝังไว้ในโคลน แต่ถ้าใช้สุนัขค้นหา ผู้ควบคุมจะสั่งให้สุนัขใช้การดมกลิ่น เพื่อค้นหาผู้สูญหายแทน
สำหรับการค้นหาในป่า หากเป็นช่วงเวลากลางคืน ใช้สุนัขในการค้นหาได้มีประสิทธิภาพ เพราะกลางคืนอากาศเย็น สุนัขจะรู้สึกสบายตัวกว่า เมื่ออากาศเย็น กลิ่นต่างๆ จะไม่ลอยขึ้นสูง ทำให้การดมกลิ่นมีความแม่นยำ ที่สำคัญดวงตาสุนัขจะมองเห็นสีขาวกับดำได้ดี ทำให้สุนัขสามารถมองเห็นในสถานการณ์ทึบแสงได้ดีกว่ามนุษย์ แต่ไม่เหมาะกับการค้นหากลางซากปรักหักพัง เพราะสุนัข และผู้ควบคุมอาจได้รับอันตรายจากเศษวัสดุ
สุนัขค้นหาใช้ตั้งแต่อายุ 18 เดือน – 10 ปี หากมีอายุมากกว่านี้ จะมีปัญหาการเดินและวิ่ง การเลือกใช้สุนัขแต่ละช่วงอายุ ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ หากเป็นงานค้นหาในตึกถล่ม ที่มีความซับซ้อน ต้องใช้สุนัขอายุมาก เพราะมีประสบการณ์ในการค้นหา
การฝึกสุนัขในการค้นหา ให้มีประสิทธิภาพต้องผ่านการฝึกมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ในองค์กรมีการประเมินสุนัขที่ผ่านการฝึก ด้วยมาตรฐานระดับโลก มีสุนัขที่ผ่านการประเมินแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากสุนัขที่ใช้ดมหายาเสพติด ฝึกเพียง 6 เดือน สามารถออกปฏิบัติหน้าที่ได้
สิ่งที่เป็นปัญหาในการฝึกสุนัขค้นหา ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากสุนัข แต่มาจากตัวผู้ควบคุม หลายคนไม่ว่างมาฝึกอย่างต่อเนื่อง หรือบางคนทนความเหนื่อยหนักไม่ไหว แต่มีบางคนที่มาฝึก เพื่อหวังนำทักษะนี้ไปต่อยอดในการหารายได้ ทั้งที่จริงแล้วทักษะการฝึกสุนัขแบบนี้ คนที่ฝึกและสุนัขต้องมีจิตใจสาธารณะ หากคาดหวังในเชิงธุรกิจ ก็ยากจะประสบความสำเร็จ เพราะการฝึกเพื่อค้นหา แตกต่างจากการฝึกสุนัขไว้โชว์
...
รางวัลเกียรติยศ “ย่าเหล สดุดี”
น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการมอบรางวัลเกียรติยศ “ย่าเหล สดุดี” ให้กับสุนัขในทีมค้นหาในการช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหว ที่ประเทศตุรกี ในนามทีมไทยแลนด์ โดยมอบให้กับ เซียร่า สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ วัย 7 ปี และ ซาฮาร่า สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ วัย 6 ปี การมอบรางวัลครั้งนี้ เป็นปีแรก ไม่เคยมีการมอบรางวัลให้กับสัตว์และคนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสาธารณะมาก่อน ซึ่งสุนัขทั้ง 2 ตัว เป็นตัวแทนประเทศไทย จึงมีการยกย่อง เป็นแบบอย่างในการทำความดี
รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อุปนายกนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมอบรางวัลในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างคนและสัตว์ มีผลต่อการบำเพ็ญประโยชน์ในสาธารณะ เพราะในระบบนิเวศของการใช้ชีวิต ไม่สามารถขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญ ดังนั้นรางวัลนี้เป็นการเริ่มต้น และทำให้คนทั่วไปเห็นถึงการมีจิตสาธารณะของคนและสัตว์
ภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ