เปิดใจทุกมุม "ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร" ปาร์ตี้ลิสต์ การเมือง และพรรคประชาธิปัตย์...

เปิดใจ “ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 10 พรรคประชาธิปัตย์ สำหรับความพร้อมในการลงทำศึกเลือกตั้ง 2566 อะไรคือความคาดหวัง, กระแสพรรคประชาธิปัตย์, โพสต์ปริศนา, เรื่องวุ่นๆ จากการเปลี่ยนถ่ายเลือดภายในพรรค และอะไรคือเหตุผลในการขยับขึ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สามารถรับฟังทุกคำตอบนี้ได้ผ่านการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ในวันนี้

“ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 10 พรรคประชาธิปัตย์
“ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 10 พรรคประชาธิปัตย์

จิตภัสร์ กฤดากร กับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ :

...

“สำหรับเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งสองอย่างค่ะ คือ ทางพรรคตัดสินใจให้ลงระบบบัญชีรายชื่อ และส่วนตัวเองก็แสดงเจตจำนงไปว่าต้องการลงระบบบัญชีรายชื่อด้วยเช่นกัน

คือแบบนี้ค่ะ...มันเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีโอกาสเข้าไปหารือกับ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคในเวลานั้น) ว่าจะให้ ตั๊น ลง ส.ส.เขต หรือ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งตอนนั้นทางผู้ใหญ่ก็มองว่า ตั๊น น่าจะช่วยเหลือพรรคได้มากกว่าหากลง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะค่อนข้างเป็นที่รู้จักสำหรับประชาชนจำนวนมาก และจะช่วยในแง่ของการประชาสัมพันธ์หาเสียงให้กับทางพรรคได้มากขึ้น ซึ่งพอรอบที่แล้วได้ลงบัญชีรายชื่อ มาคราวนี้ก็เลยได้ลงบัญชีรายชื่ออีกครั้ง”

เฉลิมชัย ศรีอ่อน กับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ :

“ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน ท่านต้องการแสดงสปิริตให้เห็นว่าท่านเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และท่านไม่ได้เว้นวรรคทางการเมืองนะคะ เพราะท่านก็ยังคงทำหน้าที่ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อยู่ และหลังการเลือกตั้งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ท่านเฉลิมชัย ก็ยังคงทำหน้าที่ในจุดนั้นอยู่ต่อไป

โดยหากไปดูรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นได้ว่า พรรคมีความชัดเจนมากในเรื่องลำดับอาวุโส เรามีความชัดเจนตรงจุดนั้น เพราะมีกฎระเบียบของพรรคที่ชัดเจน อย่างเช่นกรณีของ ตั๊น เลือกตั้งคราวที่แล้วอยู่ลำดับที่ 20

แล้วตอนนั้น...ท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านวางไว้ 5-10-15 (ผู้สมัครหญิง) นั่นคือลำดับที่ 5 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ลำดับที่ 10 คือ แม่เลี้ยงติ๊ก (นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ปัจจุบันย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ) ส่วนลำดับที่ 15 คือ ซ้อเจน (นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ปัจจุบันย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ) และลำดับต่อมา ลำดับที่ 20 ก็คือ ตั๊น

ฉะนั้นปัจจุบันในเมื่อทั้งลำดับที่ 10 คือ แม่เลี้ยงติ๊ก และลำดับที่ 15 คือ ซ้อเจน ย้ายออกจากพรรคไปแล้ว ตั๊น ได้ขยับขึ้นมาอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 10 ก็ถือเป็นเรื่องปกตินะคะ ไม่ได้แปลกอะไรเลย ซึ่งมันก็ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะเป็นระบบที่พรรคทำมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คือ ระบบอาวุโส ซึ่งท่านเฉลิมชัย ท่านก็คงเล็งเห็นในจุดนั้นก็เลยให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามา”

...

จิตภัสร์ กฤดากร กับ ส.ส.เขต :

“ลงเลือกตั้งครั้งแรกจำได้เลย ตอนนั้นคิดเหมือนกันนะคะว่า พรรคปล่อยเราไปลงสมัคร ส.ส.ได้อย่างไร (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นยังเด็กมาก (ลากเสียง) อายุเพิ่ง 25 ปีเอง แถมลงเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตยังให้ประเดิมลง ส.ส.เขตดุสิต เขตราชเทวี ซึ่งก็แพ้เสียด้วย...แม้จะแพ้แค่ 400 กว่าคะแนนก็ตาม (หัวเราะ)

แต่พอมาถึงวันนี้...ลองมองย้อนกลับไป เข้าใจเลยว่าเพราะอะไรพรรคประชาธิปัตย์จึงตัดสินใจแบบนั้น เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการลงเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต ทำให้เข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น และได้เรียนรู้เรื่องระบบการเมืองหลายๆ อย่าง เช่น วิธีในการลงพื้นที่ การเดินหาเสียง และการวางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าพบบรรดาแกนนำประชาชน ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ

หากตอนนั้นไม่ผ่านการลง ส.ส.เขต มาก่อน ณ วันนี้ ส่วนตัวก็คงไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นผู้บริหารที่จะเข้าใจถึงการเลือกตั้งได้ เพราะถ้าไม่ผ่านประสบการณ์ในจุดนั้นมาก่อน ก็จะไม่รู้เลยว่าการทำงานและระบบการทำงานมันต้องขับเคลื่อนไปอย่างไร?

ซึ่งประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ได้รับมานี้เอง ทำให้เราซึ่งเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ณ วันนี้ สามารถไปใช้สำหรับการให้ความช่วยเหลือ และแนะนำพี่ๆ น้องๆ ผู้สมัคร ส.ส.เขต ทั่วประเทศได้

เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ...การเมืองไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้ แต่มันเป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ ซึ่ง 13 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า...ได้เรียนรู้อะไรมามากพอสมควร มีประสบการณ์มากขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น และเข้าใจการเมืองมากขึ้น ซึ่งหากตอนนั้นลง ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย โดยไม่ผ่านการลง ส.ส.เขตมาก่อน เราอาจจะมองไม่เห็นภาพว่าการหาเสียงมันเป็นอย่างไร?

...

เอาเป็นว่า...มันเป็นยิ่งกว่าแบบฝึกหัดสำหรับการเป็น ส.ส.เสียอีก (หัวเราะ) มันคือประสบการณ์ชีวิต เพราะเมื่อเราเข้าการเมืองมาแล้ว เราต้องพร้อม เพราะเราต้องถือว่าเราเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน”

ความฝันของ ด.ญ.จิตภัสร์ และโพสต์ที่สื่อถึงการบอกลา :

“คือ...ตั๊นมีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์มาก เพราะเลือกพรรคนี้เป็นพรรคแรกตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง ตามความฝันที่อยากเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่เด็ก และยังคงอยู่กับพรรคมาจนถึงวันนี้...(ลากเสียง) ในขณะที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลายคนที่เคยร่วมอุดมการณ์กันมา บางส่วนได้แยกย้ายกันออกไปอยู่กับพรรคอื่นแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการเมือง

ส่วนหากถามว่ามีพรรคอื่นมาติดต่อทาบทามไหม? ก็ยอมรับค่ะว่ามีอยู่บ้าง แต่เราก็ยืนหยัดอยู่ตรงนี้ เพราะเรารู้สึกว่าเราผูกพันกับบ้านหลังนี้ คือ...เอาล่ะ (เว้นเสียง) แม้เราอาจจะอยู่ตรงจุดไหนก็ได้ที่เราสามารถเดินตามอุดมการณ์ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

แต่ถ้า...เราไม่มีพื้นที่ในการทำงาน จนกระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ มันก็คงไม่ตรงกับอุดมการณ์ของเราเช่นกัน มันก็เลยมีความรู้สึกว่า ถ้า...(เว้นเสียง) ที่นี่...ไม่มีที่ให้เราทำงาน เราก็ขอไปในจุดที่เราสามารถทำงานให้กับพี่น้องประชาชนได้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นมันก็มีความรู้สึกเพียงเท่านั้นจริงๆ”

...

“แล้วตอนนั้น...เอาจริงๆ คุณตั๊น คิดว่าตัวเองจะอยู่ต่อ หรือจะไปสักกี่เปอร์เซ็นต์?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รีบชิงถามโดยพลัน

“คือ...(หัวเราะ) ตอนนั้น....ตั๊นไปกระโดดร่มค่ะ เลยไม่ได้คิดอะไร (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นไปฝึกอบรมหลักสูตรกระโดดร่มกับตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ค่ะ (หัวเราะ) เลยไม่ได้คำนวณเรื่องการตัดสินใจเลยค่ะ ว่าจะสักกี่เปอร์เซ็นต์ (หัวเราะ) ซึ่งก็ต้องขอขอบพระคุณประชาชนทุกคนที่ส่งทุกๆ กำลังใจที่ส่งมาให้ในช่วงนั้นนะคะ”

กระแสพรรคประชาธิปัตย์ขาลง :

“จริงๆ แล้วมันก็ถือเป็นเรื่องปกตินะคะ...ที่การเมืองจะมีขึ้นมีลง เป็นยุคเป็นสมัยไป พรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยผ่านการเป็นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาแล้ว ซึ่งมันถือเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย และขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเลือก หรือถูกใจใคร ณ วันนั้น แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าความผูกพันระหว่างพรรคและประชาชนยังคงมีอยู่

แต่เอาล่ะ...ในบางช่วงเวลาต้องยอมรับว่ากระแสพรรคมันอาจจะตกต่ำลงไปบ้าง แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนตัวยังมีความเชื่อมั่นว่าสนามเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ ส.ส.กลับคืนมาบ้างสัก 1 หรือ 2 เก้าอี้ (หัวเราะ) เพราะคราวที่แล้วเราไม่ได้เลยสักคน (หัวเราะ) และสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นลำดับที่ 2 รวมถึงได้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มาบางส่วนด้วย สำหรับพื้นที่ภาคใต้ เรามี ส.ส.เขตที่มีคุณภาพ และทำงานในพื้นที่มายาวนานติดต่อกันหลายสมัย ฉะนั้นส่วนตัวจึงมีความมั่นใจว่าเราจะได้ ส.ส.กลับคืนมาแน่นอน

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวยังมีความเชื่อมั่นด้วยว่ายังมีเวลาเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือมีกระแสที่ดีขึ้นได้ เพราะเกือบตลอด 4 ปีที่ร่วมรัฐบาลมา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เกือบทุกนโยบาย ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ พรรคแกนนำ ซึ่งผลงานเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดความรู้สึกของประชาชนเองว่าจะเลือก พรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ในรอบนี้”

พรรคประชาธิปัตย์ กับ การเปลี่ยนถ่ายเลือด :

“ยอมรับค่ะว่ารู้สึกเสียดายเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ออกจากพรรคไป แต่มันก็เป็นเรื่องของการเมือง เพราะการตัดสินใจย้ายพรรคมันเป็นเรื่องการตัดสินใจส่วนบุคคล ซึ่งทุกคนในพรรคต้องให้ความเคารพ เพราะแน่นอนว่า ทุกคนย่อมอยากอยู่ในจุดที่สามารถกลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้งได้ อย่างบางคนเปลี่ยนพรรคมาแล้ว 3-4 พรรคก็มี (หัวเราะ) มันเหมือนเป็นเรื่องปกติ

ส่วนหากถามว่า การเปลี่ยนถ่ายครั้งนี้มีผลบ้างไหม ส่วนตัวคิดว่าความเป็นประชาธิปัตย์มันเป็นมากกว่าตัวบุคคล เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นสถาบันทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากจุดเริ่มต้นของนักการเมืองส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นที่พรรคประชาธิปัตย์ และในที่สุดก็ออกไปเติบโต หรือต่อยอดที่อื่น ซึ่งก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ เพราะทุกคนย่อมต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองอยู่เสมอ”

พรรคประชาธิปัตย์ = ไม่มีผลงาน? :

“คือแบบนี้นะคะ...บางทีเราทำผลงานจริง แต่ว่าอาจจะประชาสัมพันธ์ไม่ถึงพี่น้องประชาชนจนไม่เกิดความรับรู้ว่านี่คือสิ่งที่เราทำ ฉะนั้นในช่วงระยะเวลาหาเสียงนี้จึงถือเป็นช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุดที่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ในสิ่งที่เราได้ทำ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใดในการเลือกตั้งครั้งนี้ และส่วนตัวคิดว่ายังมีเวลามากเพียงพอที่สำหรับการเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้”

จิตภัสร์ กฤดากร กับ บทบาทการเลือกตั้ง 2566 :

“ในฐานะที่เป็นรองเลขาธิการพรรค จึงมีหน้าที่ออกไปตระเวนช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงทั่วประเทศ เพราะในเมื่ออยู่กับพรรคมาถึง 13 ปี ภาพของเรามันเลยชัดเจนมากกว่า คือ ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ดีพื้นที่ที่อาจจะต้องเน้นก็คือพื้นที่ฝั่งธนบุรี เนื่องจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายเอาไว้ว่าอยากให้ลงไปช่วยหาเสียงเป็นพิเศษ รวมถึงการดูแลในเรื่องการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของพรรคด้วย

และเนื่องจากแคมเปญหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง 2566 คือ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ อีกทั้งส่วนตัวเป็นคนที่มีความถนัดและทำงานในเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ผู้พิการ กลุ่มเปราะบางมาโดยตลอด

ฉะนั้นเวลาไปลงพื้นที่หาเสียง จึงจะเน้นการประชาสัมพันธ์เรื่องการทำอย่างไรประชาชนเหล่านี้จึงจะสามารถเข้าถึงโอกาสได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียมจากนโยบายเรียนฟรี และอินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด รวมถึงนโยบายตรวจโรคและรักษาฟรีสำหรับผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง”

บทบาทพลังการเมืองคนรุ่นใหม่ และพลังหญิง เลือกตั้ง 66 :

“ต้องยอมรับว่าจำนวน ส.ส.พลังหญิงในสภาเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งแตกต่างจากหลายปีก่อนมาก เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะ ส.ส.หญิงหลายต่อหลายคนสามารถสร้างบทบาทและผลงานให้ประชาชนและพรรคการเมืองยอมรับได้มากขึ้น และถ้าหากจะบอกว่า ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย ในยุคนี้มันก็ไม่แน่เสมอไปนะคะ...ดูอย่างกรณี ตั๊น (หัวเราะ)

เมื่อทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งหนังสือถึง ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญ ส.ส. 500 คนให้เข้าร่วมฝึกอบรมกระโดดร่ม ซึ่งปรากฏว่า...มี ตั๊น แค่คนเดียว (หัวเราะ) ที่ผ่านการทดสอบร่างกายจนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการนี้นะคะ (หัวเราะ)

ฉะนั้น ตั๊น จึงคิดว่าเรื่องเพศไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการทำหน้าที่ ส.ส. อีกแล้ว เพราะผู้หญิงก็สามารถทำงานได้ไม่แพ้ผู้ชายเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงควรมุ่งโฟกัสไปที่ผลงานในการทำงานที่มีคุณภาพมากพอสำหรับการจะมาเป็น ส.ส.ให้กับประชาชนมากกว่า และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด!” จิตภัสร์ กฤดากร ปิดท้ายการสนทนากับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง