ถึงขั้นบานปลาย เขียน “จดหมายเปิดผนึก” กันเลย สำหรับ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ที่ “ส่งสาสน์” ไปถึงผู้กุมธุรกิจ “โรงหนัง” โดยระบุว่าเป็นเรื่อง การจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทยที่ไม่เป็นธรรม

โดยระบุว่า สืบเนื่องจากมีประเด็นการจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทยหลายครั้ง ล่าสุดคือเรื่อง ขุนพันธ์ 3 โดยปัญหาการจัดโรงและรอบฉายที่ไม่เป็นธรรม ตัดโอกาสของภาพยนตร์ไทย เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นเรื่อยมา เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่คนทำงานในวงการภาพยนตร์ไทย

เมื่อการสร้างภาพยนตร์ไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะมีโรงและรอบฉายที่มาก เหมาะสมสำหรับการสร้างรายได้ให้กับภาพยนตร์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้สร้างจำนวนมาก ไม่กล้าลงทุนในภาพยนตร์คุณภาพที่มีเนื้อหาหลากหลาย จนเป็นเหตุให้ผู้ชมจำนวนมาก รู้สึกเสื่อมศรัทธากับภาพยนตร์ไทย เพราะมีเนื้อหาที่ซ้ำซาก ไร้การพัฒนา แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ มีคุณภาพ กลับได้รับการจัดโรงและรอบที่น้อยจนหมดโอกาสในการสร้างผู้ชมและรายได้

...

ทั้งนี้ มีการเรียกร้อง 2 ข้อ คือ

1. ขอให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นตัวกลาง จัดสรรรอบฉาย เพื่อประโยชน์ของผู้ชมและวงการหนังไทย

2. ขอให้สื่อฯ นำเสนอ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจปัญหา เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา...

แม้ใน “จดหมายเปิดผนึก” ไม่กล่าวตรงๆ ว่า โรงหนังที่ว่าคือโรงภาพยนตร์ใด แต่ในยุทธจักรธุรกิจฉายหนัง ก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า หลายคนก็คงพอเดากันได้...

คำถามคือ “เกิดอะไรขึ้นกันแน่...” อะไรเป็นชนวนเหตุความขัดแย้ง จนกลายเป็นดราม่าระหว่างโรงหนังกับหนังไทยด้วยกันเอง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามเรื่องนี้กับ “พี่อ๊อด” บัณฑิต ทองดี ผู้กำกับ นักเขียนบทภาพยนตร์ และอดีตนายกสมาคมผู้กำกับไทย เผยเบื้องหลังว่า สิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะมาจากปัญหาธุรกิจโรงหนัง ที่มีการแข่งขันจนเกิดความขัดแย้ง แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “ขุนพันธ์ 3” จึงเหมือนกลายเป็นเหยื่อ...

หนังขุนพันธ์ กำลังเริ่มที่จะทำเงิน แต่เมื่อมีปัญหาขัดแย้งกันภายใน ส่งผลให้อีกฝ่าย ให้โรงฉายน้อยลง หรือ ลดรอบ เหมือนกับว่า ฝ่ายหนึ่งลดรอบโรงหนังเรื่องหนึ่ง อีกฝ่ายก็เลยลดรอบหนังอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งที่หนังเรื่องนั้นมีกระแส และกำลังกอบโกยรายได้ก็ตาม...

ความขัดแย้งของโรงหนัง ส่งผลอย่างไรต่อวงการภาพยนตร์ “อ๊อด บัณฑิต” ยอมรับว่า ไม่เป็นผลดีเลย ซึ่งเรื่องนี้เรียกว่า กลายเป็นกรณีศึกษาก็ว่าได้ เพราะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต และหนังเรื่องอื่นๆ

กลายเป็นว่า คนที่ทำหนังมาฉาย... ก็จะรับเคราะห์ไปด้วย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความขัดแย้งนี้มาก่อนเลย

“พูดตรงๆ ว่า ปัญหามันเกิดขึ้น มันเกิดก่อน  กระทั่งมีหนังของ สหมงคลฯ เข้ามาฉาย กลายเป็นว่ากลับโดนลดรอบ ลดโรง จึงถือเป็นการเสียโอกาสของหนังเรื่องขุนพันธ์”

กลับกัน หากหนังเรื่องขุนพันธ์ เป็นหนังของค่าย GDH ปัญหานี้อาจจะไม่เกิดก็เป็นได้...?

จดหมายเปิดผนึก “ผู้กำกับหนังไทย” กับปัญหาที่อาจเริ่มบานปลาย อ๊อด บัณฑิต ให้มุมมองว่า คนในวงการผู้กำกับหนังไทย มองว่าเป็นเรื่องการเมืองและความขัดแย้งในธุรกิจหนัง แต่ผลลัพธ์มาลงที่หนังไทย

การที่หนังเรื่องหนึ่ง ฉายยืนโรงมา 1 เดือน และจัดโปรโมชั่นในช่วงท้ายโปรแกรม ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีการกีดกัน หรือเลือกเฉพาะกับหนังบางเรื่อง ผมว่ามันอาจจะไม่เป็นธรรมกับหนังไทยที่กำลังทำเงินสูงสุดของสัปดาห์ คือ 15 ล้านบาท แต่กลับลดรอบฉาย...? แบบนี้แปลว่า ใช้มาตรการการผูกขาดของธุรกิจ มาทำร้ายกันหรือไม่? อ๊อด บัณฑิต ตั้งคำถามกับเรื่องที่เกิดขึ้น

...

ผู้เล่นในธุรกิจ “โรงหนัง” มีน้อย ก่อปัญหาหรือไม่

ผู้กำกับชื่อดัง ยอมรับว่า โรงหนังมีอิทธิพลสูงมากกับรายได้ของหนัง สมมติว่า หากเขาไม่อยากฉายเรื่องไหน และลดรอบ ลดโรง ก็ส่งผลต่ออุตสาหกรรมหนังไทยแน่ เรียกว่า ให้คุณให้โทษได้

“บางครั้งถึงขั้นต่อรองในการ “ลดราคา” ฉายหนัง เช่น ถ้าไม่ลดราคาลงมาราคานี้ เราจะให้รอบน้อยลงนะ ซึ่งเรียกว่า สามารถชี้เป็นชี้ตายหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้”

การวางโปรแกรมหนังไทย มีปัญหาอะไรหรือไม่ อ๊อด บัณฑิต อธิบายว่า ไม่ค่อยมีผล เพราะหนังเข้าฉาย เป็นการเลือกของเจ้าของหนังเองว่าจะเข้าช่วงไหน แต่ทางโรงหนังจะให้คำปรึกษาได้ว่า ช่วงนี้มีโปรแกรมหนังจากต่างประเทศเข้ามา จะเข้าชนหรือไม่... หรือ ช่วงนี้ไม่ค่อยมีหนังเข้า สนใจจะเข้าโปรแกรมฉายหรือไม่

แต่ที่สำคัญคือ “รอบ” และ “โรงฉาย” ผู้กำหนดก็คือโรงหนัง โดยเขาจะพิจารณาจากหน้าหนัง การโปรโมต กระแสตอบรับ ดังเช่น หนังเล็กๆ มักจะโดนลดรอบลดโรงอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมา เคยมีการพูดคุยถึง “กติกามารยาท” เกี่ยวกับการเอาหนังเข้าฉายหรือไม่ ว่าควรยืนระยะแค่ไหน ถ้าหากเป็นหนังฟอร์มเล็ก ได้ยาวนานที่สุดแค่ไหน

...

ผู้กำกับหนังและละครที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน ยอมรับว่า เรื่องแบบนี้พูดยากเหมือนกัน ที่ผ่านมามีการขอว่า อยากจะให้ยืนรอบและโรงฉาย สัก 2 สัปดาห์ แต่... เมื่อมีหนังเล็กๆ เข้า มีคนดูในโรงหนัง 2-3 คน ต่อรอบในสัปดาห์แรก แบบนี้ก็ไม่ไหว เราก็ต้องเห็นใจเขาด้วย เขาสามารถอธิบายเหตุผลทางด้านธุรกิจของเขาได้

สมมติว่า หนังเล็กๆ เข้าก่อน จากนั้นไม่กี่วัน มีหนังมาร์เวลเข้า ก็มีแต่คนอยากดูหนังมาร์เวล แบบนี้เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย.... กลับกัน ในมุมผู้สร้างเอง ก็อยากได้โอกาส

รายได้ โรงหนัง VS ค่ายหนัง :

ปัจจุบันนี้ โรงหนังกับค่ายหนัง ยังแบ่งกัน 50:50 จากค่าตั๋ว ไม่ว่าตั๋วราคาเท่าไร ก็แบ่งกันครึ่งๆ เช่น หนังเรื่อง “ทิดน้อย” จัดโปรโมชั่น ตั๋ว 39 บาท ก็แบ่งครึ่งกัน คนละ 19.50 บาท โดยทางโรงหนังอาจจะต้องไปปรึกษาเจ้าของหนังก่อน ถ้าเจ้าของหนังโอเค ถึงจะได้ไปต่อ

หนังบางเรื่อง สร้างรายได้มาพอสมควรแล้ว เมื่อมีโปรโมชั่นแบบนี้ เจ้าของหนังก็ไม่ได้เสียอะไร...

หรือ บางกรณี เช่นหนังเรื่อง “วัยอลวน” มีการพูดคุยและขอให้ลดค่าตั๋วหนังลง ตั้งแต่ต้นโปรแกรมเลย ในราคา 99 บาท แต่ทางเจ้าของหนังปฏิเสธ...

ทางออกร่วมกัน จบอย่าง Happy?

อ๊อด บัณฑิต นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนตอบอย่างทอดเสียงยาวว่า “น่าจะยาก...เพราะทุกคนก็ล้วนมีเหตุผลของตัวเอง ฝั่งผู้สร้าง นายทุนทำหนัง ก็อยากขอความเห็นใจ ขณะที่ฝั่งโรงหนังเอง เขาอาจจะลงทุนสูง กู้เงินธนาคารมามากมายแล้ว ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา

ดังนั้น คำว่า “ลงเอ่ยอย่าง Happy Ending นั้น ส่วนตัวจึงคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่ก็อยากจะขอความเห็นใจว่า อยากให้โอกาสหนังไทยมากขึ้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

...

ที่มารูป : เฟซบุ๊กสหมงคลฟิล์ม

อ่านบทความที่น่าสนใจ