วันที่ 24 ก.พ. 23 คือวันครบรอบ 1 ปีเต็มของสงครามยูเครน หรือ ที่ฝ่ายรัสเซียเรียกขานว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนานมาถึง 1 ปีเต็มๆ ทั้งๆ ที่ศักยภาพทางการทหารของฝ่ายยูเครน “ด้อยกว่า” กองกำลังฝ่ายหมีขาวอย่างเห็นได้เด่นชัด และเมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นโฉมหน้าของสงครามจะเปลี่ยนไปทิศทางใด วันนี้ “เรา” ไปร่วมรับฟังทัศนะและการวิเคราะห์จาก “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ส่งเทียบเชิญให้มาร่วมวิเคราะห์สงครามครั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นๆ ของสงครามในปีที่ผ่านมาแล้ว อ่านเพิ่มเติม : ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน EP.9 การบุกระลอกสองของรัสเซียเพื่อตัดสินเกม

“พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
“พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

...

ปัจจัยอะไรที่ทำให้สงครามยูเครน ยืดเยื้อมายาวนานถึง 1 ปี :

ข้อที่ 1. "ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน" ของรัสเซีย คงรู้สึกผิดหวังพอสมควรหลังการทำสงครามกับยูเครนซึ่งน่าจะยุติได้โดยเร็ว และรัสเซียเป็นฝ่ายชนะได้โดยง่าย ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ หลังยูเครนได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ "นาโต" อย่างชนิดที่เรียกว่า “คิดไม่ถึงว่าจะได้รับความช่วยเหลือมากมายได้ขนาดนี้”

ข้อที่ 2. ต้องยอมรับว่ากองทัพรัสเซีย ไม่ได้เฉียบ ไม่ได้คม หรือ มีแสนยานุภาพอะไรที่สามารถทำให้กองทัพยูเครนสยบยอมลงได้โดยง่ายอย่างที่คาดการณ์ไว้

ข้อที่ 3. นาโตซึ่งแต่เดิมภายในเกิดความหลวมคลอน แต่เพราะความหวาดวิตกการแผ่อิทธิพลของรัสเซีย จึงสามารถฟื้นคืนความเป็นเอกภาพและหันมาจับไม้จับมือกันช่วยเหลือยูเครนเพื่อต่อต้านรัสเซียได้อย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับรัสเซียไปในที่สุด

“หากพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงเหมือนกับ รัสเซียแทบจะโดนรุมอยู่ฝ่ายเดียวแล้ว”

ข้อที่ 4. การแสดงออกถึงศักยภาพผู้นำของ "ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี" ซึ่งนอกจากจะสามารถรวมใจคนในชาติให้ต่อสู้กับรัสเซียได้อย่างน่าชมเชยแล้ว ยังสามารถแสดงบทบาทในการโน้มน้าวและเรียกร้องสิ่งที่ต้องการจากนานาประเทศได้อย่างเหลือเชื่อ จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

“การทุ่มเทในการให้ความช่วยเหลือยูเครนมากมายถึงขนาดนี้ แทบจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้พบได้เห็นมาก่อนในโลกที่แบ่งขั้วแบ่งข้างกันเลยก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องชมเชยภาวะผู้นำที่มั่นคง ซื่อตรงและเด็ดเดี่ยว ของ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่ใช้สื่อได้เก่ง ผ่านการปรากฏตัวด้วยวิดีโอคอลในพื้นที่ต่างๆ และเวทีต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยสิ่งที่เป็นหลักฐานถึงความสามารถอันโดดเด่นของผู้นำยูเครนได้เป็นอย่างดีที่สุด คือ การบินมาปรากฏตัวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กลางกรุงเคียฟ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมถามว่าหากเขาไม่เก่งจริง ระดับผู้นำสหรัฐฯ จะยอมบินมาพบถึงที่บ้านเขาหรือ?”

เหตุใด 1 ปี การคว่ำบาตรรัสเซียจึงไม่ได้ผล :

...

ความพยายามรุมคว่ำบาตรรัสเซียไม่ว่าจะเป็นทางการค้า หรือ ทางการทูต เบื้องต้นต้องยอมรับใช้ไม่ได้ผลกับรัสเซีย เพราะต้องยอมรับว่า รัสเซียเองก็มีศักยภาพที่แข็งแกร่งในเชิงการทูตระหว่างประเทศ ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นรัสเซีย ก็ยังมีประเทศที่ขอวางตัวเป็นกลาง เช่น อินเดียและจีน คอยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการค้าโดยเฉพาะด้านพลังงานอยู่

“กรณีของจีนนั้น ได้ประโยชน์จากปริมาณการค้าขายกับรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 400% ในขณะที่อินเดียเองก็ได้ประโยชน์จากการที่รัสเซียเสนอขายน้ำมันให้ในราคาสุดพิเศษเช่นกัน”

หลังผ่านสงคราม 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ :

เป้าหมายเดิมของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ คือ เปลี่ยนระบอบการปกครองของยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ซึ่งฝ่ายรัสเซียเรียกว่า “Kyiv Regime” ให้หมดสิ้นอำนาจลงไป แต่ในเมื่อผู้นำยูเครน สามารถต้านทานการรุกรบของกองทัพรัสเซียได้อย่างเหนียวแน่น
รัสเซียจึงต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ที่ได้จากสงครามครั้งนี้ คือ 4 แคว้นสำคัญของยูเครน ที่รัสเซียยึดได้และประกาศผนวกดินแดนไปแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย แคว้นโดเนตสก์ เคอร์ซาน ลูฮันสก์ และ ซาปอริซเซีย โดยทั้ง 4 แคว้นนี้เป็นแนวกันชนทางภาคพื้นระหว่างรัสเซียและแหลมไครเมีย ซึ่งรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อปี 2014 เอาไว้ให้ได้ เพราะทั้ง 5 แคว้นนี้คิดเป็นพื้นที่ถึง 20% ของประเทศยูเครนแล้ว

...

“ผมเคยพูดอยู่เสมอตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของสงครามครั้งนี้ว่า เราคงไม่สามารถพูดได้หรอกว่าใครแพ้ใครชนะ แต่สิ่งที่จะปรากฏ คือ รัสเซียจะได้มากหรือได้น้อย เพราะยังไงรัสเซียก็ได้ เพราะดินแดนที่ถูกผนวกรวมกับรัสเซียนี่คือสิ่งที่รัสเซียได้และจะไม่มีวันยอมปล่อยให้หลุดมือไปเป็นอันขาด ส่วนฝ่ายยูเครนจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า เสียมากหรือเสียน้อย และเดิมพันที่จะต้องเอาคืนมาให้ได้ก็คือ 4 แคว้นที่เสียไปให้กับรัสเซีย”

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสงครามยูเครน :

หลังครบ 1 ปี สงครามยูเครน และฤดูหนาวผ่านพ้นไป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า “น่าจะเกิดอะไรขึ้นสักอย่างหลังจากนี้แน่นอน”

“ปัจจุบันนอกจากรัสเซียจะสั่งเกณฑ์ทหารเพิ่มแล้วยังมีการปรับกำลังใหม่ พร้อมทั้งประกาศด้วยว่ารัสเซียจะไม่มีวันยอมแพ้สงครามในครั้งนี้ นั่นย่อมหมายความว่า 4 แคว้นที่ยึดได้จะไม่มีวันหลุดมือไป ในขณะที่ฝ่ายยูเครนก็ได้รับการสนับสนุนทางการทหารแบบอุ่นหนาฝาคั่ง

เพราะฉะนั้นรูปการณ์ต่างๆ เหล่านี้ที่ปรากฏ มันคือข้อบ่งชี้ว่า...น่าจะมีศึกใหญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติการอะไรบางอย่าง ซึ่งรัสเซียก็ส่งสัญญาณอยู่เสมอๆ ว่า อยากจะปฏิบัติการตรงนี้ เพราะฉะนั้นมันอาจจะเกิดอะไรที่ขาวที่ดำขึ้นในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก แสดงทัศนะปิดท้ายกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

...

UKRAINE 1 YEAR OF WAR :

ความสูญเสียในสงคราม 1 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 23 ที่ผ่านมา UN Human Rights Monitoring Mission in Ukraine หรือ MRMMU เปิดเผยว่า สงครามในยูเครนได้ทำให้พลเรือนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8,000 ศพ นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียบุกยูเครนนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 22

โดยในจำนวนนี้ได้รับการยืนยันทางอัตลักษณ์แล้วว่า เป็นเพศชาย 61.1% และเพศหญิง 39.9% โดยมากถึง 90% เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีด้วยอาวุธร้ายแรง เช่น ปืนใหญ่ ขีปนาวุธ และการโจมตีทางอากาศ

ส่วนจำนวนพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ 13,300 คน โดยผลของสงครามทำให้ พลเรือน 18 ล้านคน กำลังรอความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ส่วนพลเรือนอีก 14 ล้านคน ต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย และพลเรือนอีก 8 ล้านคน ต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปตะวันตก อย่างไรก็ดี MRMMU เชื่อว่า ตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตจากสงครามน่าจะสูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการนี้มาก

การให้ความช่วยเหลือยูเครน หลังสงครามครบ 1 ปี :

3 ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือยูเครนมากที่สุด โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Kiel Institute for the World Economy ตั้งแต่ 24 ม.ค.-20 พ.ย. 22 ประกอบด้วย :

1.สหรัฐอเมริกา : ส่งมอบความช่วยเหลือรวมมูลค่า 47,820 ล้านยูโร โดยแบ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน 15,050 ล้านยูโร การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 9,900 ล้านยูโร และการช่วยเหลือด้านอาวุธ 22,860 ล้านยูโร

2.สหราชอาณาจักร : ส่งมอบความช่วยเหลือรวมมูลค่า 7,080 ล้านยูโร โดยแบ่งเป็นการให้ช่วยเหลือด้านการเงิน 2,560 ล้านยูโร การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 400 ล้านยูโร และการช่วยเหลือด้านอาวุธ 4,130 ล้านยูโร

3.เยอรมนี : ส่งมอบความช่วยเหลือรวมมูลค่า 5,450 ล้านยูโร โดยแบ่งเป็นการให้ช่วยเหลือด้านการเงิน 1,150 ล้านยูโร การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 1,950 ล้านยูโร และการช่วยเหลือด้านอาวุธ 2,350 ล้านยูโร

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก Theerapong C.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง