ปฏิเสธได้ยากว่าระบบ “อุปถัมภ์” ถูกฝังรากในประเทศไทย และทุกอาชีพ ยิ่ง “อาชีพ” ไหน ที่คนอยากเข้ามาทำงานด้วยแล้ว ยิ่งต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่าระบบ “อุปถัมภ์” เด็กฝาก เด็กนาย ซื้อขายตำแหน่ง จนเป็นข่าวฉาว ข่าวดังมาหลายยุคสมัย

หน้าที่ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” หรืออาชีพ “ตำรวจ” เป็นงานที่ให้คุณให้โทษคนอื่นได้ การเข้ามาทำงานตรงนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมา กลับมาข่าวอื้อฉาว ตำรวจนอกแถว ทำผิดอย่างต่อเนื่อง บางคนพัวพันกับคดี ยาเสพติด และที่เป็นข่าวดังคือ การพนัน ธุรกิจสีเทา โดยใช้อำนาจหน้าที่ไปประพฤติผิดมิชอบ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องเด็กฝาก เด็กนาย ในวงการตำรวจก็มีอยู่จริง! ซึ่งเป็นปัญหามานานมาแล้ว หากจะไล่ย้อนกลับไปสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใครจะให้ใครทำหน้าที่อะไร สามารถทำได้หมด

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ยึดหลักว่า “ทุกคนเสมอกัน” ประชาชนเป็นคนออกกฎหมาย โอกาสต่างๆ ต้องมีความเท่าเทียมกัน แต่มันก็ยังเกิดการฝากกันได้อยู่ต่อมาเรื่อยๆ กระทั่งเกิด พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน โดยระบุว่า การบรรจุข้าราชการในทุกตำแหน่ง ต้องผ่านการ “สอบแข่งขัน” ถือเป็นหลักประสิทธิภาพในการคัดเลือกคนเก่ง คนดี

...

พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่า บางหน่วยงานไม่ยึดถือหลัก พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน เช่น ทหาร อยู่ใน พ.ร.บ.ระเบียบกระทรวงกลาโหม รวมถึง ตำรวจ อยู่ใน พ.ร.บ.ตำรวจ

“ก่อนหน้า ตำรวจอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน และ พ.ร.บ.ตำรวจ แต่...ในช่วงการเปลี่ยนแปลงจาก กรมตำรวจ มาเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่มีการขึ้นต่อ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน โดยยึดหลักตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ (ณ เวลานั้น) สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา คือ การคัดเลือกคนเข้ามาทำงานตำรวจ จึงยึดหลักตาม พ.ร.บ.ตำรวจ เพียงอย่างเดียว ฉะนั้น คำว่าต้อง “สอบแข่งขัน” ที่เคยเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ จึงกลายเป็น ไม่ศักดิ์สิทธิ์”

เด็กฝาก..กับช่องโหว่ “คุณวุฒิที่ขาดแคลน”

พ.ต.อ.วิรุตม์ สรุปที่มา ของการ “ฝาก” คนเข้ามาทำงานเป็น “ตำรวจ” ได้ทุกระดับ เช่น กรณี สิบตำรวจหญิง ที่มีข่าวดังก่อนหน้านี้ และมีการยอมรับทำนองว่ามีผู้ใหญ่ฝากเข้ามา...

วิธีการฝาก...ก็ใช้วิธีการประกาศรับคน ในอัตราพิเศษ เพราะในทุกกระทรวง ยังมีการเปิดช่องว่างในการเติมคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความพิเศษ ความรู้เฉพาะเรื่อง โดยระบุว่าเป็น “คุณวุฒิที่ขาดแคลน”

ในความจริง เขาต้องมีการคัดเลือกด้วยวิธีการที่ขาวสะอาด โดยการคัดเลือกจากคนที่เก่ง และเจ๋งที่สุดจริงๆ คัดเลือกมาอย่างเป็นธรรม

แต่ในการคัดเลือกจริงๆ มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก และพบว่า คนนี้นามสกุลนี้ เป็นหลาน คนนั้นคนนี้... แล้วก็บอกว่า “คุณวุฒิขาดแคลน” ซึ่งเหมือนเป็นการเปิดช่องไว้ เพื่อไม่ต้องสอบแข่งขัน

ในอดีต 20-30 ปี ก่อน บางสาขาที่เปิดสมัครแล้ว ไม่มีคนมาสมัครจริงๆ เพราะวิชาชีพบางอย่าง ยังขาดแคลน เช่น แพทย์ ถามว่าแพทย์คนไหน อยากมาทำงานตำรวจ หรือ วิศวกรรม อากาศยาน วิศวะคอมพิวเตอร์ สมัยนั้น มีคนเรียนไม่มาก มีบัณฑิตน้อย บางครั้งคนที่จบมาก็เลือกที่จะทำงานเอกชนมากกว่า เพราะรายได้ดีกว่า

“ปัจจุบัน แทบไม่มีสาขาไหน วิชาชีพใดที่ขาดแคลนแล้ว... เช่น วิทยาศาสตร์ เวลานี้ พิสูจน์หลักฐานเปิดรับสมัคร ยังต้องสมัครสอบเพื่อแข่งขันกัน เพราะการทำงานราชการสมัยนี้ ถือว่า ดีกว่าเอกชนบางแห่ง ทั้งในแง่ค่าตอบแทนและความมั่นคง มีบำเหน็จ บำนาญ เบิกสารพัด ซึ่งหากเป็นบริษัทเอกชนไม่สามารถเบิกได้” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวและว่า

ปากที่บอกว่า ตำรวจเงินเดือนน้อย ความจริงไม่ใช่ เพราะในเงินเดือนของคุณยังมีสวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงเบี้ยเลี้ยง เงินประจำตำแหน่ง แถมการทำงานจริงก็ไม่ได้หนักอะไร

เด็กฝาก สู่กาฝาก กับหลักสูตร กอส.?

มีการ แฉว่า มีหลักสูตร การอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุ หรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือ กอส. ที่กลายเป็นแหล่ง “ฝาก” ตำรวจ เรื่องนี้ มีมูลแค่ไหน พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าว เรียกง่ายๆ ว่า “ไม่ผ่านการสอบแข่งขัน” ในข้อเท็จจริง มันคือ การฝาก และการขายตำแหน่งด้วยซ้ำ โดยใช้ข้ออ้าง “คุณวุฒิขาดแคลน” จากนั้น เมื่อได้เข้ามาแล้ว ค่อยมาอบรม ตามหลักสูตรดังกล่าว

...

ส่วนมากที่เข้ามาช่องทางนี้ อาจจะมีลูกๆ นายบ่อน ลูกนักธุรกิจใหญ่ ลูกเสี่ย เศรษฐี ที่เรียนจบเมืองนอกมาแล้ว อยากจะเป็นตำรวจ โดยไม่ได้เรียนโรงเรียนนายร้อย ซึ่งคนหนุ่มเหล่านี้ ก็แค่อยากมีปืน มีอำนาจ ได้แต่งเครื่องแบบโก้เก๋ ขับรถไม่โดนตำรวจเรียกตรวจ เพราะเป็นตำรวจเหมือนกัน

หัวใจคำว่า “คุณวุฒิ” หมายถึง ปริญญา ซึ่งความเป็นจริง ทาง สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะต้องขึ้นทะเบียนไว้ว่าขาดแคลน ซึ่งบางช่วงเวลาก็ขาดแคลน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี มันอาจจะไม่ขาดแคลนแล้วก็ได้

ปัจจุบัน เชื่อว่า ไม่มีคุณวุฒิใด ขาดแคลนเลยก็เป็นได้ เพียงแต่บางหน่วยงาน ยังอิงว่า “ขาดแคลน” เพื่อฉ้อฉล เอาลูกหลานตัวเอง พรรคพวกตัวเอง หรือ นายบ่อน นักธุรกิจ สถานบันเทิง เข้ามาเป็นนายร้อยตำรวจ จากนั้น ก็เข้าไปอบรมพร้อมกัน ในหลักสูตร กอส.

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ตำรวจที่เข้ามาในลักษณะนี้ ไม่ค่อยได้ทำงานอะไรหรอก เพราะเขาจะเลือกทำงานสบายๆ เช่น งานนั่งหน้าห้อง หรือ บางคนไม่ได้อยู่ในบรรจุจริง ชีวิตจริง อาจจะแค่เดินตามคนนั้นคนนี้...

...

ซึ่งในความเป็นจริง หลักสูตรนี้ มีคนที่ผ่านมาจำนวนมาก หลายสิบปี มีนับพันคน การบรรจุ เข้าหลักสูตรได้ ถือว่า ได้สร้างบุญคุณให้กับเหล่าเศรษฐี คนมีเส้นสาย มากมาย คำถามคือ คนที่เขาฝากเข้ามาเป็นตำรวจ นายร้อยได้ คิดว่า คนที่เป็นเศรษฐี ส่งลูกเข้ามา เขาจะไม่ตอบแทนหรือ...?

อดีตตำรวจที่เคยถูกลอบสังหาร อย่าง พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังกล่าวด้วยว่า การเข้ามาเป็นตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจไทย เป็นอาชีพที่มีอิทธิพลสูง เพราะแม้แต่พกปืน หรือขับรถผิดกฎหมาย ก็ไม่มีใครจับ ไปไหนคนก็เกรงใจ มีพรรคพวกเยอะ มีรุ่นนั้นรุ่นนี้ กลายเป็นว่า “ตำรวจ” ถือเป็นอาชีพที่ดึงดูดคนไม่ดีเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะคนที่อยากพกปืน ข่มคนอื่น...?

เด็กฝาก กับการปฏิรูปตำรวจ

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า คนที่ทำเรื่องการปฏิรูป เขาไม่เข้าใจเรื่องนี้ พอถึงเวลาประชุม เขาก็จะรับฟังแต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งตำรวจผู้ใหญ่ เขาก็ให้ความเห็นในเชิงปฏิรูปจริงหรือ...

ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามปฏิรูปตำรวจ อย่างร่างของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งถือเป็นร่างการปฏิรูปที่ดี แต่สุดท้ายภายในก็ถูกเปลี่ยนแปลง เหมือนเป็นการร่างใหม่อีกฉบับ ร่าง อ.มีชัย เคยเสนอให้กลุ่มแพทย์ พยาบาล พิสูจน์หลักฐาน การศึกษา เป็นข้าราชการตำรวจไม่มียศ

“งาน “ตำรวจ” เปรียบเสมือน function หรือ บทบาทหน้าที่ ซึ่งงานตำรวจ คือ งานพลเรือน เจ้าพนักงานยุติธรรม ที่ต้องอยู่กับความจริง ข้อเท็จจริง การมียศ ทำให้ ความยุติธรรม อาจได้รับความเสียหาย กลายเป็นว่า ความจริง อาจเป็นไปตามชั้นยศ คนมียศสูงกว่า พูดอะไรก็เป็นจริงตามนั้น หรือไม่”

...

ฉะนั้น การปฏิรูปตำรวจ และสิ่งที่ต้องลด-เลิก คือ
1.ลด-เลิก ขั้นยศและระบบวินัยสายบังคับบัญชาแบบทหาร
2.ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตรวจสอบ และสั่งงานได้
3.กระจายตำรวจเฉพาะทางทุกหน่วย ไปสังกัดหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนแบบคู่ขนาน
4.อัยการมีอำนาจสอบสวนในคดีสำคัญ

“หากทำ 4 เรื่องนี้ ได้สำเร็จ ถือว่า เป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง ซึ่งในรอบ 6-10 ปี นี้ จะทำเรื่องนี้คงลำบาก เพราะผู้อำนาจ เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความ