การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ โอกาสสำหรับพรรคการเมืองในการพิชิตศึก เมื่อแยกย่อยออกเป็นรายภาคและสัดส่วนกลุ่มอายุเป็นอย่างไร การก้าวขึ้นสู่เวทีการเมืองเต็มตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีโอกาสแค่ไหน การปรับปรุงภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" จะมีผลหรือไม่ การระดมสรรพกำลังครั้งใหญ่ของ "พรรคภูมิใจไทย" จะสร้างอิมแพ็กได้มากน้อยเพียงใด "พรรคเพื่อไทย" มีโอกาสสำหรับการแลนด์สไลด์แค่ไหน และ "พรรคก้าวไกล" จะคงความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ไว้ได้ต่อไปหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ “เรา” ไปร่วมรับฟังการจำลองผลการเลือกตั้งผ่านผลการสำรวจความนิยมล่าสุดของ “ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล

“ในความเห็นผมเมื่อวิเคราะห์จากสถิติต่างๆ ล่าสุด โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีมากกว่า 45%” ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล กล่าวกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

...

“ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล
“ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล

จำนวนสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง :

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงกลุ่มอายุ 18-25 ปี อยู่ที่ประมาณ 12-13% กลุ่มอายุ 26-35 ปี อยู่ที่ประมาณ 17-18% กลุ่มอายุ 36-45 ปี อยู่ที่ประมาณ 18-19% กลุ่มอายุ 46-59 ปี อยู่ที่ประมาณ 26-27% และ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ประมาณ 23-24%

ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง

“ในความเห็นมีทั้งหมด 4 ข้อหลักๆ คือ ข้อที่ 1.กระแส ข้อที่ 2.นโยบาย ข้อที่ 3.ตัวบุคคล ข้อที่ 4.ทรัพยากรทางการเมือง”

ฐานคะแนนเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ :

จากผลสำรวจล่าสุดเรื่องใครสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า กลุ่มอายุระหว่าง 18-25 ปี 36% เลือก "คุณแพทองธาร ชินวัตร" ของพรรคเพื่อไทย และ 33% เลือก "คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" พรรคก้าวไกล ส่วนกลุ่มอายุ 26-35 ปี เลือกคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 33% ด้านคุณแพทองธาร ชินวัตร ได้มา 29% ทั้งๆ ที่แต่เดิมทั้งสองกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มแฟนคลับสำคัญของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้ จากผลสำรวจเรื่องความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองยังพบอีกด้วยว่า กลุ่มอายุระหว่าง 18-25 ปี จะเลือก ส.ส.เขต พรรคก้าวไกล 42% ส่วนพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ 38% ในขณะที่กลุ่มอายุ 26-35 ปี จะเลือกพรรคเพื่อไทย 46% ส่วนพรรคก้าวไกลได้ 33% ขณะเดียวกับในเรื่องผลสำรวจความนิยมที่มีต่อ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยังพบอีกว่า กลุ่มอายุ 18-25 ปี จะเลือก ส.ส.เขต พรรคเพื่อไทย 41% ส่วนพรรคก้าวไกลได้ไป 38% ขณะที่กลุ่มอายุ 26-35 ปี เลือกพรรคเพื่อไทย 39% พรรคก้าวไกลได้ไป 33% จากสถิตินี้จะเห็นได้ว่าการปรากฏตัวของ “คุณอิ๊งค์” สามารถเจาะฐานแฟนคลับกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคก้าวไกลไปได้มากพอสมควรเลยทีเดียว

...

“ผมว่าสิ่งที่ทำให้ คุณอิ๊งค์ ทัชใจคนรุ่นใหม่ได้มากที่สุด น่าจะเป็นเพราะเบื่อภาวะการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และอยากได้ทางเลือกใหม่ๆ อะไรบ้าง มากที่สุด อีกทั้งสำหรับคนกลุ่มอายุ 18-35 ปี น่าจะไม่ติดประเด็นภาพของ คุณทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย เพราะแน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้น่าจะมีความทรงจำที่อาจจะเกี่ยวกับคุณทักษิณในเรื่องต่างๆ น้อยมากๆ”

ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่มีประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ จริงๆ แล้ว “พรรคกล้า” เคยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คนรุ่นใหม่เคยให้ความสนใจอย่างมาก แต่แล้วเมื่อ “คุณกรณ์ จาติกวณิช” ตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญด้วยการไปรวมกับ “พรรคชาติพัฒนา” จนกลายเป็น “พรรคชาติพัฒนากล้า” ดูเหมือนว่าคะแนนนิยมจากคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มก่อตัว ดูเหมือนจะค่อยๆ หายไปในทันที

“จริงๆ แล้ว คุณกรณ์ ควรจะเป็นความหวังของคนที่ไม่มีทางเลือก แต่การตัดสินใจที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะทำให้คนที่เคยคิดจะเลือกคุณกรณ์ เพื่อให้เป็นความหวังใหม่ ต้องกลับมากลายเป็นไม่มีความหวังอีกครั้ง”

การจัดวางภาพลักษณ์อนุรักษนิยมสายกลาง :

“หากสังเกตดีๆ พรรคเพื่อไทยกำลังจัดวางภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่ ที่ไม่ใช่สุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งระหว่าง อนุรักษนิยม (Conservative) หรือ เสรีนิยม (Liberal) แต่จะอยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งสองขั้ว หรือที่เรียกว่า อนุรักษนิยมสายกลาง ซึ่งหากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาวิถีแบบนี้ น่าจะต้องจริตของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร หรือตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศได้มากที่สุด”

...

สำหรับประเด็นนี้มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กำลังจะมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่กำลังจัดวางภาพลักษณ์ของตัวเองให้ตรงกับพรรคเพื่อไทยแบบนี้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “พรรคพลังประชารัฐยุคใหม่” ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยหากลองสังเกตให้ดีๆ พล.อ.ประวิตร กำลังพยายามฉายภาพความเป็น “พรรคปรองดอง” เหมือนวาทกรรม “โซ่ข้อกลาง” ในอดีต

“แต่เรื่องนี้มันติดอยู่เรื่องเดียวคือ ภาพการเป็นอดีตทหารของลุงป้อม ที่ทำให้คนหวนนึกถึงความเป็นอนุรักษนิยมอยู่ เพราะหากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา หากลุงป้อมไม่ได้เป็นทหาร คะแนนมันอาจจะมามากกว่านี้ก็ได้นะ”

การปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ของ “พล.อ.ประวิตร” ได้ผลดีในระดับหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้หากสำรวจรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าครั้งใด “บิ๊กป้อม” ไม่เคยตีโผแม้แต่ครั้งเดียว แต่จากผลสำรวจครั้งล่าสุดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือ จังหวัดชลบุรี พี่ใหญ่ 3 ป. ได้คะแนนมา 1% แล้ว!

...

“ต้องยอมรับเลยว่าลุงป้อมมาแล้วนะ ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ซึ่งหากยังฉายภาพลักษณ์แนวนี้ออกมาได้บ่อยๆ น่าจะไปได้ดีทีเดียว เพราะดูผู้คนเริ่มรู้สึกแฮปปี้กับบทบาทของบิ๊กป้อมมากขึ้น เพียงแต่จุดอ่อนของ พล.อ.ประวิตร น่าจะอยู่ตรงที่ความทะมัดทะแมงเวลาลงพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้เท่านั้น”

พรรคภูมิใจไทย :

“แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยเหมือนพยายามส่งสัญญาณว่าพร้อมเป็นกลาง แต่คนส่วนใหญ่ยังจดจำภาพเดิมๆ เรื่องเดิมๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้คนเกิดคำถามในใจอยู่ว่า มันจะเป็นไปได้หรือ? เอาล่ะแม้ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภาพอาจจะดูกลางๆ  แต่ทุกคนไม่ได้มองมาที่คุณอนุทิน เวลามองมาที่พรรคนี้ เขามองไปที่บุรีรัมย์มากกว่า”

พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่กระแสไม่ค่อยมี และไม่เคยสนใจคะแนนจากโพลไม่ว่าสำนักใดก็ตาม แต่ 3 ข้อที่เหลือพรรคภูมิใจไทยมีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น 1.จุดขายเรื่องนโยบาย 2.ตัวบุคคล ที่ปัจจุบันสามารถดูดบรรดาว่าที่ผู้สมัครตัวตึงมารวมกันไว้ได้มากที่สุด และ 3.ทรัพยากรทางการเมืองที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ ซึ่งนอกจากจะมากแล้วยังต้องถือว่าเป็นพรรคประเภทใจถึงพึ่งได้ พร้อมทุ่มไม่อั้นแบบดุดันไม่เกรงใจใครอีกด้วย!

ลงลึกเป็นรายภาคในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง :

ภาคเหนือ :

“จากสถิติที่ผมเคยทำโพลมา สำหรับภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ผมคิดว่า พรรคเพื่อไทย น่าจะกวาดคะแนนไปได้อย่างมหาศาล และบางจังหวัดพรรคอื่นอาจไม่ต้องส่งใครลงเลยก็ได้ เพราะไม่ว่าจะส่งใครลง ก็คงเสียเงินเปล่าๆ แต่สำหรับภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะที่ จังหวัดพิษณุโลก หรือ จังหวัดนครสวรรค์ โอกาสสำหรับพรรคอื่นๆ ก็ยังคงพอมีอยู่”

ภาคอีสาน :

“สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ภาคอีสาน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการชี้ขาดผลการเลือกตั้งเลยก็ว่าได้ เพราะหากพรรคเพื่อไทยเกิดพลาดเป้าหมายไปมากๆ จนทำให้คะแนนรวมทั้งประเทศได้ต่ำกว่า 200 เสียงเมื่อไหร่ เราจะได้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นผู้นำฝ่ายค้านอีกสมัยแน่นอน”

สำหรับโอกาสที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยพลาดเป้าหมายในภาคอีสานได้ มีตัวแปรอยู่ 2 พรรคการเมือง คือ พรรคไทยสร้างไทย ของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ พรรคภูมิใจไทย"

“คุณหญิงหน่อย มีคะแนนในภาคอีสานนะครับ เพราะมีคะแนนนิยมในภาคอีสานสูงถึงประมาณ 10% ซึ่งมากกว่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกนะครับ จากผลการทำโพลล่าสุด แต่ปัญหาของคุณหญิงมีอยู่อย่างเดียวคือ คะแนนพรรคยังตามคะแนนตัวบุคคลอยู่ ส่วนกรณีของคุณอนุทิน ต้องยอมรับว่าพรรคภูมิใจไทยกวาดเอาว่าที่ผู้สมัครระดับเบอร์ใหญ่ๆ ในภาคอีสานเอาไว้ได้มากพอสมควร ฉะนั้นจึงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับพรรคเพื่อไทยแน่นอน”

ภาคใต้ :

“การมาถึงของพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาพร้อมกับขุมกำลังระดับตัวตึงอดีตขุนพลพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมาก สามารถเจาะฐานคะแนนเสียงเดิมของพรรคขวัญใจชาวใต้ไปได้จำนวนมาก จากผลการสำรวจความนิยมครั้งล่าสุด ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผมกังวลว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง พรรคประชาธิปัตย์จะยังสามารถรักษาตัวรอดให้ได้จำนวน ส.ส.ภาคใต้เท่าการเลือกตั้งครั้งก่อนเอาไว้ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้คนภาคใต้ที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 30% เลือกลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมันแปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถแย่งคะแนนมาจากพรรคประชาธิปัตย์มาได้ในสัดส่วนที่มากพอสมควรเลย”

ภาคกลาง และภาคตะวันออก :

สำหรับภาคกลาง และภาคตะวันออก น่าจะแบ่งๆ กันไปหลายๆ พรรค เพราะจากผลสำรวจล่าสุดแต่ละพรรคยังคงมีคะแนนที่ก้ำกึ่งกันอยู่ไม่ห่างกันมากนัก แม้ว่าในเบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนนำอยู่ก็ตาม

“จุดหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ ในภาคกลาง และภาคตะวันออก กลุ่มบ้านใหญ่กระจายคนในตระกูลออกไปสังกัดตามพรรคการเมืองใหญ่ๆ หลายๆ พรรคพร้อมๆ กัน เรียกว่าเตรียมความพร้อมสำหรับการขอร่วมเป็นรัฐบาลได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะก็ตาม”

กรุงเทพมหานคร :

กรุงเทพมหานคร น่าจะเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล โดยมี พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคไทยสร้างไทย เป็นตัวสอดแทรก

“ความเห็นส่วนตัวคิดว่า สนามการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ฟื้นแน่นอน โดยอาจจะได้สัก 1 หรือ 2 ที่นั่ง เพราะจากผลสำรวจครั้งล่าสุดมีคะแนนโดดเด่นในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์และป้อมปราบศัตรูพ่าย ส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้คะแนนในส่วนพื้นที่ที่ คุณชัช เตาปูน เป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงเขตสะพานสูงที่คุณประสิทธิ์ มะหะหมัด สามารถสร้างฐานความนิยมในกลุ่มคนมุสลิมเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ส่วนพรรคของคุณหญิงหน่อย ยังคงมีฐานเสียงที่โดดเด่นในที่มั่นเดิมอย่างเขตดอนเมืองและเขตสายไหม”

สรุปภาพรวมการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง :

“เอาเป็นว่า...ผมจะขอฉายภาพให้เห็นอย่างชัดๆ แบบนี้แล้วกัน พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะแย่งปลาในบ่อเดียวกัน ซึ่งจะไม่ต่างกับกรณี พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ก็จะแย่งปลาในบ่อเดียวกันเช่นกัน แต่สำหรับ พรรคภูมิใจไทย จะแปลกออกไป เพราะจะเป็นพรรคเดียวที่จะลงไปแย่งปลาในทุกบ่อ”

โอกาสและความน่าจะเป็นสำหรับการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย :

“ถามว่าโอกาสแลนด์สไลด์มีไหม...ก็อย่างที่บอกมีโอกาสมากกว่า 45% แต่ทั้งหมดนี้มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พรรคเพื่อไทย ต้องไม่ใช้เพียงปัจจัย 3 ข้อ คือ กระแส นโยบาย และตัวบุคคล แต่ต้องใช้ข้อที่ 4 คือ ทรัพยากรทางการเมืองให้เต็มที่ด้วย เพราะหากท่อน้ำเลี้ยงกะปริบกะปรอยมามั่งไม่มามั่งเหมือนการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ในขณะที่พรรคอื่นๆ เขาเปิดท่อน้ำเลี้ยงแบบเต็มที่ โอกาสสำหรับการแลนด์สไลด์เพื่อให้ได้ที่นั่งมากกว่า 250 ที่นั่ง มันก็ย่อมน้อยลงไปด้วย ฉะนั้นคำถามเดียวสำหรับประเด็นนี้คือ ผู้กุมท่อน้ำเลี้ยงหลักของพรรคตัวจริงเมื่อกดเครื่องคิดเลขบวกลบคูณหารเรียบร้อยแล้วจะกล้าเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?”.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง