วาเลนไทน์ ท่ามกลางเทศกาลแห่งความรัก แต่ความสัมพันธ์มือที่สามในสังคมไทยกลับมีมากขึ้น บางคนได้รับผลกระทบจนเป็นโรคเรื้อรัง เช่น มองโลกในแง่ลบ ไม่มีความสุข และอาจฆ่าตัวตายได้ หากไม่รู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“ผศ.ดร.ชมพูนุท ศรีจันทร์นิล” อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรักในรูปแบบมือที่สาม ปัจจุบันมีความซับซ้อน เนื่องจากมีเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้คนมีการติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น และเกิดสัมพันธ์กันในโลกออนไลน์ และมีแนวโน้มว่าคนหนึ่งคนอาจมีความรักมากกว่า 3 คน โดยคนที่เป็นเหยื่อในความสัมพันธ์นี้ ส่วนใหญ่จะสูญเสียความเชื่อใจในคนรัก และส่งผลทำให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจในรูปแบบอื่นตามมา

สำหรับคนที่ถูกนอกใจ จะมีสภาวะขาดความมั่นใจ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนเดียวที่ได้รับความรัก เมื่อความรู้สึกเหล่านี้ก่อตัวมากขึ้น จะทำให้ความรู้สึกในการที่ชื่นชมตัวเองลดลง หรือในอีกกรณีอาจมีความรู้สึกว่า ตัวเองไม่ดีพอ โดยโทษแต่ตัวเอง จนทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตตามมา 

“ในบางคนที่มีความรู้สึกผูกติดกับคนรักที่นอกใจ จะมีความรู้สึกโหยหาในสิ่งเดิม เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนที่ไร้คุณค่า”

...

คนที่สูญเสียความรัก ในเชิงจิตวิทยาขั้นแรกจะมีปฏิกิริยาในการปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น ขั้นต่อไปจะนำไปสู่ความโกรธแค้นทางอารมณ์ ตัวอย่างเช่น โกรธคนรักที่นอกใจ โกรธมือที่สามที่เข้ามาในความสัมพันธ์ และโกรธตัวเอง โดยความรู้สึกเหล่านี้จะวนเวียนเป็นวงจร

จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงของการต่อรอง ทั้งกับตัวเอง คนที่นอกใจ และมือที่สาม ตัวอย่างเช่น ต่อรองว่าถ้ากลับมาคืนดีแล้วจะเป็นคนรักที่ดี ไปจนถึงต่อรองให้มือที่สามเลิกมายุ่งกับคนรัก แต่ถ้าการต่อรองเหล่านั้นไม่ได้รับการตอบรับ จะทำให้เกิดความเสียใจ เศร้าซึม เก็บตัว ไม่อยากพบเจอผู้อื่น บางคนพัฒนาสู่โรค PTSD มองโลกในแง่ลบ ไม่มีความสุข ชีวิตหม่นหมอง มีอาการไม่สนใจในสิ่งที่เคยชอบทำ รู้สึกแปลกแยก ร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย กลัวและพยายามหลีกเลี่ยง ไม่กล้าเผชิญเหตุการณ์ที่เคยประสบเหตุ หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้น

สุดท้ายคนที่ถูกนอกใจจะไปถึงขั้นที่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเลิกรากับคนรัก หรือให้อภัยแล้วเดินไปต่อด้วยกัน โดยส่วนใหญ่คนที่ให้อภัยคู่รักที่นอกใจได้ จะมีความคิดในเชิงบวก ขณะเดียวกันก็อาจมีสถานะทางสังคมที่ต้องพึ่งพิงอีกฝ่าย เช่น เป็นแม่บ้าน ไม่ได้ทำงาน จึงต้องพึ่งพิงสถานะการเงินของอีกฝ่าย

สำหรับคนที่นอกใจ ทางจิตวิทยาถือว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีคู่ครองหลายคน ก่อนพัฒนามาสู่สังคมแบบคู่ครองเดียว ดังนั้นกรอบความคิดในการมีคู่ครองเดียวจึงเป็นส่วนที่สำคัญในการกำกับเพื่อไม่ให้ไปสร้างปัญหาให้กับตัวเองและผู้อื่น ขณะเดียวกันในทางสังคมก็จะมีบทลงโทษผู้ที่กระทำผิด เช่น ประณาม ตีตรา

ขณะเดียวกัน เชิงกฎหมายจะมีการเรียกร้องค่าชดเชยจากการมีความสัมพันธ์ในมือที่สาม ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นมาตรการทางสังคมที่ช่วยควบคุมไม่ให้ความสัมพันธ์ของมือที่สามเลยเถิดจนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น.