หลังคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในประเทศไทยเริ่มผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ “เรา อยากรู้” คือ ปัจจุบันแนวโน้มปัญหาการฟอกเงินในประเทศไทยอยู่ ณ จุดใด และอะไรคือ “จุดอ่อนและข้อบกพร่องที่ต้องรีบแก้ไข" เพื่อให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการชำระโดยเร็วที่สุด วันนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จึงได้นำประเด็นดังกล่าวไปสอบถาม กับ "คุณชณิสรา ดำคำ" นักวิจัย ฝ่ายการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำงานวิจัยแนวโน้มการฟอกเงินในประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีการฟอกเงินผ่านนิติบุคคลและธุรกิจบังหน้า ทนายความและนักบัญชี บริษัทนำเที่ยว ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อพยายาม “ค้นหาคำตอบ” ที่ว่านี้กันดู

ชณิสรา ดำคำ
ชณิสรา ดำคำ" นักวิจัย ฝ่ายการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI

...

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มของการฟอกเงินสูง :

ประเด็นที่ 1 : ไทยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิด

การที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการค้าผ่านชายแดนมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายคน สินค้า บริการ ผ่านด่านชายแดนการค้าของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่จะสามารถขนย้ายเงินสดหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดได้ง่าย

ประเด็นที่ 2 : การค้าขายตามแนวชายแดน

ข้อมูลจากรายงานการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของประเทศไทย ปี 2560 ระบุว่า ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้เงินสดในปริมาณสูง ประกอบกับประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ประเทศ (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, มาเลเซีย) คิดเป็นพื้นที่มากถึง 5,656 กิโลเมตร และยังมีจุดผ่อนปรนเพื่อการค้า (Checkpoint for border trade) จุดผ่อนปรนพิเศษและช่องทางธรรมชาติ (Natural Border) มากถึง 89 ช่องทาง ซึ่งนับว่าเอื้อต่อการเคลื่อนย้ายทั้งประชาชน สินค้า นักท่องเที่ยว และเงินสดที่ได้จากการกระทำความผิดได้ง่าย

ประเด็นที่ 3 : การอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดตั้งธุรกิจ

ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจให้สามารถยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ง่าย สามารถดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์ หรือการใช้ทนายความหรือนักบัญชีในการตรวจสอบตัวตนของผู้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทำให้เกิดความหละหลวมในการการตรวจสอบตัวตนผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (beneficial ownership) จนอาจเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่อาชญากรใช้เพื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อเป็นกิจการบังหน้าสำหรับการฟอกเงิน

ประเด็นที่ 4 : ประเทศแห่งการท่องเที่ยว

การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในโลก การเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากเป็นจุดเสี่ยงที่จะสามารถขนเงินข้ามแดนหรือสินทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดข้ามแดนเข้ามายังประเทศไทยได้ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เสี่ยงต่อการฟอกเงินเช่นกัน

...

การฟอกเงินในประเทศไทยผ่าน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก :

จากงานวิจัยของ TDRI ที่ทำไว้เมื่อปี 2564 ระบุว่า คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ Financial Action Task Force (FATF) ได้แนะนำให้รัฐบาลไทยเฝ้าจับตาการความเสี่ยงการฟอกเงินใน 6 ธุรกิจ คือ 1. การใช้นิติบุคคลและธุรกิจบังหน้า 2. ทนายความและนักบัญชี 3. บริษัทนำเที่ยว 4. ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย 5. การเล่นแชร์ที่มีการฉ้อโกง (แชร์ลูกโซ่) 6. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

อย่างไรก็ดีธุรกิจทั้ง 6 กลุ่มนี้ แน่นอนว่าย่อมต้องมี "จุดเริ่มต้น" คือ การจัดตั้งบริษัทเหมือนๆ กันหมด ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ “อะไรคือช่องว่างและปัญหาในการจัดตั้งนิติบุคคลของประเทศไทย จนนำไปสู่การฟอกเงิน” ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากการวิจัย คือ มีอยู่ 3 รูปแบบ ที่กลุ่มอาชญากรมักนิยมเลือกใช้คือ...

1. บริษัทที่ไม่ได้มีการประกอบกิจการจริง (Shell Company) โดยรูปแบบนี้ แม้จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แต่จะไม่มีที่ตั้งของบริษัทหรือแม้แต่พนักงานเพียงสักคนเดียว เพราะบริษัทดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้สำหรับการนำเงินผิดกฎหมายโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทเพื่อทำการฟอกเงินเท่านั้น

...

โดยตัวอย่างของวิธีการนี้ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ คดีซินแสโชกุน ซึ่งอวดอ้างว่าจัดตั้งบริษัทนำเที่ยวหลอกลวงประชาชน และเมื่อมีการไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัท ที่จดทะเบียนเอาไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าเป็นเพียงบ้านร้างหลังหนึ่งที่ไม่มีการประกอบกิจการใดๆ

2. บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจจริง (Front Company) โดยรูปแบบนี้ จะมีการทั้งที่ตั้งของบริษัทและพนักงาน รวมถึงมีการประกอบธุรกิจจริง เพียงแต่...ธุรกิจที่ว่านี้ไม่ได้สร้างผลกำไรมากมายอะไร ซึ่งสุดขัดแย้งกับชีวิตสุดหรูหราฟู่ฟ่าของกลุ่มอาชญากรที่พยายามอวดอ้างกับคนสังคมผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ นั่นเป็นเพราะเงินหลังบ้านที่ได้จากธุรกิจผิดกฎหมายและนำเข้าสู่บริษัทเพื่อทำการฟอกเงินนั้น มีจำนวนมากมายมหาศาลเสียจนไม่จำเป็นต้องสนใจเรื่องผลกำไรหรือขาดทุนจากผลการดำเนินงานของบริษัทแม้แต่น้อย

โดยประเภทของธุรกิจนี้ ที่กลุ่มอาชญากรนิยมใช้ในประเทศไทยมากที่สุด คือ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ และ ธุรกิจขายสารพัดอาหารเสริมต่างๆ นานา รวมไปจนกระทั่งถึง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ

3. บริษัทจดทะเบียนแต่เลิกกิจการไปแล้ว (Shelf Company) โดยรูปแบบนี้ กลุ่มอาชญากรจะใช้วิธีไปซื้อชื่อบริษัทที่มีการจดทะเบียนเลิกกิจการไปแล้วกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อนำไปใช้สำหรับการโอนเงินเข้าบริษัทเพื่อทำการฟอกเงิน

โดย 2 วิธีการแรกคือ การฟอกเงินผ่านบริษัทที่ไม่ได้มีการประกอบกิจการจริง และ บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจจริง ถูกนำไปใช้สำหรับการฟอกเงินของกลุ่มอาชญากรแพร่หลายมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนข้อที่ 3 คือ การฟอกเงินผ่านบริษัทจดทะเบียนแต่เลิกกิจการไปแล้วนั้น จากการวิจัยพบ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก

...

เงินผิดกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ฟอกเงินในประเทศไทยมากที่สุด :

หากอ้างอิงจากการประเมินความเสี่ยงระดับชาติ และยุทธศาสตร์ด้านการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2565 ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้มีการระบุเอาไว้ว่า ความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน จากการพบความผิดมูลฐานที่มีความเสี่ยงสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่...

1. การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
2. ยาเสพติด
3. การพนัน
4. การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม
5. การฉ้อโกงประชาชน

โดยทั้ง 5 อาชญากรรมนี้มีมูลค่าโดยรวมคิดเป็น 2% ของ GDP ของประเทศไทย หรือประมาณ 351,360 ล้านบาท ส่วนช่องทางที่อาจถูกใช้กระทำความผิดที่มี ความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์, สถาบันการเงินเฉพาะกิจ, การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ผ่านผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล, นิติบุคคลบังหน้า, การขนเงินสดข้ามแดน และการฟอกเงินผ่านการซื้อขายและขนส่งสินค้า

สถานการณ์และแนวโน้มการฟอกเงินในประเทศไทยล่าสุด :

คำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินและมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้ ระหว่างปี 2562-2564 :

ปี 2562 :
จำนวนคดี : 210 คดี
มูลค่าทรัพย์สิน : 2,019 ล้านบาท
การเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้จากการยึดหรืออายัด ณ วันที่ 30 ก.ย. 62
มูลค่ารวม 37,898 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินสด 674 ล้านบาท , เงินฝากธนาคารที่อายัด 2,557 ล้านบาท, บัญชีเงินที่ได้จากทรัพย์อื่นๆ 1,588 ล้านบาท, ยานพาหนะ 345 ล้านบาท, อัญมณี เครื่องประดับ 227 ล้านบาท, อสังหาริมทรัพย์ 30,675 ล้านบาท, อื่นๆ 1,810 ล้านบาท

ปี 2563 :
จำนวนคดี : 107 คดี
มูลค่าทรัพย์สิน : 1,642 ล้านบาท
การเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้จากการยึดหรืออายัด ณ วันที่ 30 ก.ย. 63
มูลค่ารวม 38,223 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินสด 762 ล้านบาท, เงินฝากธนาคารที่อายัด 2,834 ล้านบาท, บัญชีเงินที่ได้จากทรัพย์อื่นๆ 1,755 ล้านบาท, ยานพาหนะ 320 ล้านบาท, อัญมณี เครื่องประดับ 228 ล้านบาท, อสังหาริมทรัพย์ 30,411 ล้านบาท, อื่นๆ 1,911 ล้านบาท

ปี 2564 :
จำนวนคดี : 210 คดี
มูลค่าทรัพย์สิน : 2,998 ล้านบาท
การเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้จากการยึดหรืออายัด ณ วันที่ 30 ก.ย. 64
มูลค่ารวม 42,654 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินสดในบัญชีธนาคาร 871 ล้านบาท, เงินฝากธนาคารที่อายัด 3,473 ล้านบาท, บัญชีเงินที่ได้จากทรัพย์อื่นๆ 1,755 ล้านบาท, ยานพาหนะ 4,294 ล้านบาท, อัญมณี เครื่องประดับ 209 ล้านบาท, อสังหาริมทรัพย์ 30,141 ล้านบาท, อื่นๆ 1,908 ล้านบาท

จุดอ่อนและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปราบปรามการฟอกเงินอย่างเป็นรูปธรรม :

จากการทำวิจัยพบว่า การรายงานธุรกรรมของสถาบันการเงินเพื่อแจ้งเตือนการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (suspicious transaction reporting) ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการฟอกเงิน เช่น ธุรกรรมที่ใช้เงินสด ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามารถประเมินราคาได้ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป หรือ การโอนเงินเข้าบัญชีจำนวนมากและสม่ำเสมอจนน่าผิดสังเกต ไปยังสำนักงาน ปปง. นั้น พบว่า สถาบันการเงินมีระบบตรวจสอบที่ค่อนข้างเข้มงวดและเคร่งครัด อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ แม้ว่าจะมีการส่งรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยไปยังสำนักงาน ปปง. จำนวนมากในแต่ละวัน แต่สิ่งที่งานวิจัยพบถึงความไม่พร้อมในการทำงานของระบบราชการ คือ...

1. จำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีความสามารถในการ คิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นเพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการปราบปรามการฟอกเงิน “น้อยเกินไป” จนกระทั่งบางครั้งทำให้เกิดความล่าช้าในการสกัดกั้นกลุ่มอาชญากรได้ทันท่วงที

2. ควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบราชการไทยให้มีประสิทธิภาพและเปิดเผยต่อสาธารณชนให้มากกว่านี้

“งานวิจัยของเราพบว่า ในเมื่อปัญหาทั้งหมดทั้งมวลจากการฟอกเงินในประเทศไทยมักเกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นจากการจดทะเบียนตั้งบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงควรมีความเข้มงวดในการตรวจสอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ จะเริ่มมีการตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องเรียน หรือ มักให้ความสำคัญกับเฉพาะพื้นที่ ที่มีชาวต่างชาติไปรวมตัวกันมากๆ เช่น เมืองพัทยา ภูเก็ต หรือ เกาะสมุย”

สำหรับประเด็นนี้ข้อเสนอแนะ คือ "จุดอ่อนที่สุดของระบบราชการไทย" คือ การบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน เพราะหากระบบนี้เกิดขึ้นได้จริงในระบบราชการไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาจไม่ต้องถึงกับส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจทุกๆ บริษัทว่ามีการจัดตั้งขึ้นจริงหรือไม่ เพราะเพียงแต่ดูข้อมูลบางส่วนก็สามารถชี้ชัดลงไปได้แล้วว่า “มีบริษัทใดที่น่าจะเข้าข่ายการฟอกเงินบ้าง”

“ยกตัวอย่างเช่น หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับการไฟฟ้าหรือการประปา และสำนักงานประกันสังคม เพื่อตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำประปา การใช้ไฟฟ้า หรือการจ่ายประกันสังคมให้กับพนักงานของบริษัทที่น่าสงสัยเหล่านั้น เพียงเท่านี้ก็จะสามารถมีข้อบ่งชี้ได้แล้วว่า มีความสอดคล้องกับรายงานผลประกอบการของบริษัทที่แจ้งเอาไว้หรือไม่! ขณะเดียวกันราชการไทย ควรมีความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปัจจุบันแม้แต่ข้อมูลบางอย่างของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประชาชนยังต้องเสียเงินสำหรับการใช้บริการอยู่เลย ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในแง่การตัดสินใจในการทำธุรกิจ” คุณชณิสรา ดำคำ นักวิจัยจาก TDRI ปิดท้ายการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง