หลังโลกเริ่มพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และทำให้เหล่าเด็กนักเรียนกลับเข้าสถานศึกษาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ “บาดแผลทางสังคม” อันเกิดจากการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bully) เริ่มกลับมามีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ดังที่ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้นำเสนอไปในหลายๆ ตอนก่อนหน้านี้
อ่านเพิ่มเติม : ซีรีส์ The Glory ภาพสะท้อนบาดแผล Bully ที่ถูกราดซ้ำด้วยเกลือ
...
ฉะนั้น “คำถาม” ต่อไปที่ “เรา” อยากจะไปกันต่อก็คือ ปัญหาการ Bully ภายในสถานศึกษาของประเทศไทย มีรูปแบบอย่างไร กลุ่มเด็กที่ประสบปัญหาเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหน ผลกระทบอะไรที่เกิดขึ้นตามมา และโรงเรียนในประเทศไทย ควรมีวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร?
วันนี้ “เรา” จึงนำคำถามทั้งหมดนั้นไป “สอบทาน” กับ หนึ่งในผู้ที่ได้ศึกษาปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนของประเทศไทย เพื่อพยายามค้นหาคำตอบที่ว่านี้ดู...
“สถานการณ์การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนมีสถิติเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวัยที่เร็วขึ้น ในขณะที่ครูอาจารย์ในโรงเรียนเอง อาจจะยังไม่ได้รู้วิธีในการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน”
“พ.ญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ” นายแพทย์เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เจ้าของ งานวิจัยคู่มือปฏิบัติสำหรับการดำเนินการป้องกันและจัดการการรังแกกันในโรงเรียน เกริ่นนำถึงปัญหาการ Bully ภายในรอบรั้วสถาบันการศึกษาของประเทศไทย กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"
ปัจจัยที่มักนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนไทย :
เกิดจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน เช่น ในมุมของครอบครัว การเลี้ยงดูที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะในการแก้ไขปัญหากับเด็กตั้งแต่เล็กๆ หรือ ทักษะในเชิงของการเข้าสังคม หรือพูดง่ายๆ ว่า อาจจะเลี้ยงแบบตามใจ หรือ ประคบประหงมเด็กมากจนเกินไป รวมไปจนกระทั่งถึง ปัญหาภายในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงจนกระทั่งกลายเป็นต้นแบบให้กับเด็ก จนทำให้เด็กนำความรุนแรงเข้ามาภายในโรงเรียน
“โรงเรียนจึงกลายเป็นสถานที่การพบกันระหว่างเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ และเด็กที่เป็นผู้ล่าไปในที่สุด”
แรงจูงใจที่นำไปสู่การกลั่นแกล้งในโรงเรียน :
“ในแต่ละเคสจะมีแรงจูงใจไม่เหมือนกัน”
แรงจูงใจที่นำไปสู่การ Bully ในสถานศึกษา ในกลุ่มเด็กโตนั้น มีทั้งการที่ผู้กระทำเป็นผู้ป่วยจิตเวช เช่น สมาธิสั้น, เป็นโรคทางอารมณ์รุนแรง, มีพฤติกรรมไม่สามารถควบคุมหรือยับยั้งอารมณ์ตัวเองได้, มีปัญหาบุคลิกภาพ เช่น ต้องการเป็นหัวโจก เพื่อให้เพื่อนๆ เคารพตัวเอง
...
นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบด้วยว่า มีกลุ่มเด็กโตส่วนหนึ่ง เกิดแรงจูงใจในการกลั่นแกล้งเพื่อน เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น ตัวเองถูกกระทำที่บ้านจึงอยากมาระบายออกกับเพื่อนที่โรงเรียน
ในทางตรงกันข้าม สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก นั้น มักเกิดจากความไม่รู้ว่า สิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้นเป็นการรังแกเพื่อน เพราะคิดว่าเป็นเพียงการหยอกล้อเล่นกับเพื่อนเพื่อความสนุกคึกคะนองมากกว่า อย่างไรก็ดีสำหรับประเด็นนี้ ผู้ปกครองหรือครูอาจารย์ “ไม่ควรปล่อยผ่านอย่างเด็ดขาด” และควรรีบทำความเข้าใจกับเด็กว่า “พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ดีและกำลังทำร้ายความรู้สึกของเพื่อน” เพราะมิเช่นนั้น เด็กจะเกิดการเรียนรู้ว่า “ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้”
พฤติกรรมการกลั่นแกล้งของผู้ล่าในโรงเรียนไทย :
“ขอพูดเท่าที่พูดได้นะคะ ก็เรียกว่ามีครบทุกรูปแบบ”
โดยมีทั้งแบบการรังแกทางร่างกายและการรังแกทางวาจา โดยการรังแกทางร่างกายก็เช่น การชกต่อย, ตบตี, เตะถีบ, ผลัก, ถ่มน้ำลาย, ขโมยของ, ทำลายทรัพย์สิน หรือ แม้กระทั่งเด็กผู้ชายแกล้งเด็กผู้หญิงด้วยการเปิดกระโปรง
...
ส่วนการกลั่นแกล้งทางวาจา ยกตัวอย่างเช่น การตั้งฉายา เรียกชื่อบุพการี, พูดถึงในทางเสียหายหรือทำให้อับอาย, พูดล้อเลียนจุดอ่อนหรือปมด้อย เช่น รูปลักษณ์ สีผิว เพศ เพศสภาพ, พูดเสียดสีทำให้ขายหน้า, พูดด่าหยาบคาย, พูดข่มขู่ คุกคาม เป็นต้น
รูปแบบการรังแกกันที่พบมากที่สุดในโรงเรียนของไทย คือ การรังแกทางวาจา พูดล้อเลียน ล้อชื่อ รองลงมาคือ การรังแกกันทางสังคมหรือความสัมพันธ์ เช่น ไม่คบ ตัดออกไปจากลุ่ม หรือแม้กระทั่งการ Cyberbullying
โดยผู้ชายจะมีพฤติกรรมรังแกผู้อื่นมากกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงมักจะใช้วิธีรังแกแบบไม่เปิดเผยมากกว่าผู้ชาย ส่วนช่วงวัยที่พบการกลั่นแกล้งมากที่สุดคือ ช่วงที่เด็กเปลี่ยนผ่านจากชั้นประถมศึกษาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา แต่อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการกลั่นแกล้งมักมีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนจำนวนของผู้ที่เคยมีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนนั้น อยู่ในสัดส่วนประมาณ 20-30% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง
ความเหลื่อมล้ำและกลุ่มเด็กพิเศษ :
...
“การถูกเปรียบเทียบในเชิงวัตถุนิยม หรือมีคุณลักษณะแปลกแยกไปจากเพื่อน กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่นำไปสู่การถูกกลั่นแกล้ง”
จากการทำงานวิจัยพบว่าเด็กที่มีฐานะยากจน หากต้องย้ายไปอยู่ในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ หรือ กลุ่มเด็กที่อาจมีคุณลักษณะแปลกแยกไปจากเพื่อนๆ มักจะมีแนวโน้มสูงว่าอาจจะต้องประสบปัญหาการถูกล้อเลียนเปรียบเทียบในเชิงวัตถุนิยม หรือ ตกเป็นเหยื่อของการถูกล้อเลียนในเชิงภาพลักษณ์ส่วนบุคคล
ระดับความรุนแรงในการกลั่นแกล้งมากที่สุดเท่าที่เคยพบ :
“เท่าที่พบรุนแรงที่สุด คือ เหยื่อถูกกลั่นแกล้งทุกวัน จนกระทั่งกลายเป็นโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และเคยคิดที่จะฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครสามารถให้ความช่วยเหลือหรือเป็นที่พึ่งพาได้ และทุกๆ วินาทีที่อยู่โรงเรียนรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัย”
ผู้ล่าและเหยื่อ เผชิญปัญหาสุขภาพจิตไม่แตกต่างกัน :
“สิ่งหนึ่งที่เกิดจากการ Bully ในโรงเรียน คือ ผู้ล่าและเหยื่อจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตแทบไม่ต่างกัน”
จากงานวิจัยพบว่าทั้งผู้ล่าและเหยื่อมีแนวโน้มสูงว่าจะประสบปัญหาทางสุขภาพจิตแทบไม่แตกต่างกัน เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า จนกระทั่งนำไปสู่ ปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว หรือ ปัญหาในเชิงบุคลิกภาพส่วนตัวด้วย
“ความสำคัญของเรื่องนี้ที่ควรตระหนัก คือ การกลั่นแกล้งในโรงเรียน คือ จุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงในอนาคต นอกจากนี้การรังแกกันในช่วงวัยเด็กนั้น ยังไม่ต่างอะไรกับการสร้างแผลเป็นในจิตใจ จนบางครั้งอาจเกิดความไม่มั่นใจและกลัวการเข้าสังคมในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่ไปเลย”
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ ความห่างเหินระหว่างครู นักเรียน และการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด :
“กลุ่มเด็กที่เรียนไม่ดีนักและครูอาจจะไม่โปรดปราน มักจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และนำไปสู่พฤติกรรมในด้านลบมากขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากครูเกิดขาดทักษะในการหาทางช่วยเหลือเด็กทุกอย่างก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก”
ปัจจุบันต้องยอมรับว่า เมื่อโรงเรียนกลายเป็นสถานที่ ที่เน้นเรื่องวิชาการและการแข่งขัน ผลกระทบที่ตามมาคือ นอกจากจะทำให้ครูและนักเรียนไม่ได้ดูแลกันใกล้ชิดเหมือนเช่นในอดีตแล้ว มันยังทำให้เกิด “เด็กที่ครูชื่นชมและเด็กที่ครูไม่ได้ชื่นชมด้วย”
โดยปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับครูในเรื่องนี้ คือ ครูมักจะหาการแก้ไขปัญหาเป็นรายเคส ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้จริง เพราะเมื่อแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้ว มันก็มักจะเกิดปัญหาจากอีกหนึ่งคู่กรณีตามมาอยู่เรื่อยๆ
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เมื่อครูเลือกวิธีการลงโทษเด็กที่กระทำ “ด้วยความรุนแรง” สิ่งที่พบจากการทำวิจัยคือ “ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เลย” นั่นเป็นเพราะ...ยิ่งใช้ความรุนแรงแก้ปัญหากับเด็กที่ใช้ความรุนแรงกับเพื่อน เด็กที่มีปัญหาเหล่านั้นก็ยิ่งจะใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากยิ่งขึ้นไปอีก หรือ มิเช่นนั้นก็จะยิ่งหาทางกลั่นแกล้งเหยื่อให้รุนแรงขึ้นโดยที่ครูหรือผู้ปกครองไม่รู้อยู่ดี
“เมื่อถูกครูลงโทษด้วยวิธีการตี สิ่งที่เราพบ คือ เด็กที่ถูกรังแกจะยิ่งถูกรังแกหนักขึ้นกว่าเดิม”
การแก้ไขปัญหาการ Bully ในสถานศึกษาอย่างยั่งยืน :
“ต้องสร้างทั้งระบบในโรงเรียนให้กลายเป็นวัฒนธรรม”
หนทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือและการทำความเข้าใจของบุคลากรทุกระดับในโรงเรียนเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน (Whole School Approach) เพื่อนำไปสู่การวางระบบป้องกัน และกิจกรรมในการส่งเสริมทักษะชีวิตหรือทักษะการแก้ไขปัญหาของเด็ก รวมถึงระบบในการสร้างช่องทางให้กับเด็กที่ถูกรังแกสามารถขอความช่วยเหลือ หรือระบบการจัดการต่างๆ เช่น การอบรมครู หรือการให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหากโรงเรียนมีนโยบายชัดเจนเรื่องการสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย จนสามารถกลายเป็นวัฒนธรรมภายในสถานศึกษาได้แล้ว เด็กที่เข้ามาสู่ระบบจะค่อยๆเรียนรู้วัฒนธรรมภายในโรงเรียนและปรับตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมเหล่านั้นได้เองในที่สุด
*** หมายเหตุ งานวิจัยคู่มือปฏิบัติสำหรับการดำเนินการป้องกันและจัดการการรังแกกันในโรงเรียนถูกจัดทำขึ้นในช่วงระหว่างปี 60-62 โดยมีการเก็บข้อมูลจากนักเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่พีกที่สุดของปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ***
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก sathit chuephanngam
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง