ยอดการส่งออกมะพร้าวไปยังต่างประเทศ ปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้น 128% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นสินค้าเกษตรดาวเด่น ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันเกษตรกรผู้ปลูกกลับประสบปัญหาด้านราคา ทำให้กลไกนายทุนข้ามชาติเข้ามากดราคา จนน่าเป็นห่วง

“สุรกิตติ ศรีกุล” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ มีมูลค่าส่งออกเติบโตก้าวกระโดด ปี 2565 มีผลสำรวจของกรมวิชาการเกษตร พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการส่งออกมะพร้าว 689,034 ตัน เป็นมูลค่า 17,748 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 128%

โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอม ที่ปลูกในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมดั้งเดิม ทำให้มีรสชาติโดดเด่น เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ

จีนเป็นแหล่งส่งออกมะพร้าวอันดับ 1 ของไทย คาดว่ามูลค่าส่งออกจนถึงสิ้นปีนี้ มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มว่าการเติบโตของการส่งออกมะพร้าวจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวแกง ในพื้นที่มากขึ้น เพื่อทดแทนพืชเกษตรชนิดอื่น

...

มะพร้าวน้ำหอมยังมีตลาดส่งออกที่สดใส แต่มะพร้าวแกง ที่ใช้น้ำกะทิ ขณะนี้ถูกประเทศแถบยุโรปสั่งห้ามนำเข้า เนื่องจากพบว่าไทยมีการใช้แรงงานลิง ในการเก็บมะพร้าว และเข้าข่ายการทรมานสัตว์ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรละเว้นการนำลิงมาใช้งาน

ส่วนมะพร้าวน้ำหอม หน่วยงานภาครัฐเตรียมรณรงค์ให้เกษตรกรมารับรองมาตรฐาน GAP เพื่อรองรับการส่งออก และทำให้ชาวต่างประเทศยอมรับมะพร้าวไทยมากขึ้น แต่เกษตรกรจะมีต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานนี้ต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่สายพันธุ์คุณภาพที่ปลูก ไปจนถึงการเก็บผลผลิต ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวแกง เช่น น้ำกระทิ ยังได้รับความนิยม ส่วนมะพร้าวน้ำหอม ที่มีการแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวหรือไซรัป ยังเติบโตต่อเนื่องจากผู้บริโภคในจีน

“ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ ส่งมะพร้าวน้ำหอมสดไปขายในจีนจำนวนมาก แนวโน้มถ้ามีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมาตรฐาน จะทำให้ตลาดมะพร้าวไทยเติบโตมากขึ้น ถือเป็นสินค้าการเกษตรสำคัญ ที่มีราคาสูงเทียบเท่ากับทุเรียนได้”

สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือ เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในไทย ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องโครงสร้างราคา เนื่องจากมีล้งต่างชาติ หรือพ่อค้าคนกลาง ที่มารับซื้อมะพร้าวในราคาถูก แต่นำไปขายราคาแพง ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน จนเกษตรกรบางส่วน ไม่เพิ่มพื้นที่ในการปลูกมะพร้าว เพราะมองว่าต่อให้ปลูกมากขึ้น ราคาขายกลับได้ผลตอบแทนไม่เหมาะสม

“หลายพื้นที่ปลูกมะพร้าว มีล้งจีนมารับซื้อ สิ่งนี้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข เพราะชาวต่างชาติเหล่านี้เข้ามาทำลายระบบกลไกราคา ด้วยการกินค่าส่วนต่างสูง อนาคตหากไม่มีการเข้ามาควบคุม สุดท้ายจะเหมือนกับปัญหาล้งจีนที่เข้ามาซื้อทุเรียน”

ขณะนี้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เริ่มประสบปัญหาต้นทุน เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ต้องซื้อมะพร้าวสดจากนายหน้า ที่ค้ากำไรเกินควร ทำให้ผู้ผลิตบางรายต้องยุติการผลิตบางช่วง จนส่งผลต่อตลาดการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย

เกษตรกรที่เริ่มหันมาปลูกมะพร้าว แนะนำให้หาพันธุ์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะมะพร้าวแกง ที่ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร เพาะกล้าอ่อนออกมาไม่ทัน เนื่องจากมียอดจองข้ามปี ในศูนย์เพาะต้นกล้าจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี แต่สำหรับเกษตรกรที่เริ่มปลูก ช่วง 5 ปีแรกยังเก็บผลผลิตไม่ได้ ควรปลูกพืชอื่นแซม เพื่อเก็บผลผลิตสร้างรายได้ก่อนที่มะพร้าวจะให้ผล

“มะพร้าวน้ำหอมที่ขายในไทยส่วนหนึ่งเป็นมะพร้าวจากสวนของชาวบ้านที่ไม่สามารถส่งออกได้ แต่มะพร้าวแกงที่นำกะทิมาประกอบอาหาร ในไทยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์".