“Open Connect Balance” ธีมหลักที่ประเทศไทยภูมิใจนำเสนอต่อชาวโลกในเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย 1. เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open) หมายถึงการเปิดกว้างทางการค้าและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรี 2. สร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ (Connect) หมายถึง หลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จะมีการฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยผ่านการจัดตั้งกลไกการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยไร้รอยต่อ และ 3. สร้างสมดุลรอบด้าน (Balance) หมายถึง การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไรผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีแง่มุมใดที่น่าสนใจ และคำถามสำคัญไปกว่านั้น มันจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ด้วยฝีมือรัฐบาลไทย วันนี้ “เรา” ไปร่วมรับฟังบทวิเคราะห์ในประเด็นเหล่านั้นกับ ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษา TDRI

ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษา TDRI
ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษา TDRI

...

“การที่ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนธีมหลักคือ Open Connect Balance ในการประชุมเอเปก 2022 ในความเห็นส่วนตัว ต้องยอมรับว่าเป็นแนวความคิดที่ดีทั้งสิ้น แต่ประเด็นก็คือ...จะมีการนำไปปฏิบัติได้ดีมากน้อยแค่ไหนเพียงใด? ผมก็หวังว่าคงจะไม่เป็นเพียงแค่ Lip service เท่านั้น เพราะเวลาพูดมันพูดง่าย แต่เวลาไปทำจริงๆ มันก็มักจะมีปัญหาว่า ไม่ค่อยได้ทำกันจริงๆจังๆ แล้วก็เวลาทำ ก็มักจะไปทำแบบผิดๆพลาดๆ คนคิดอย่างหนึ่ง คนทำเป็นอีกคนหนึ่ง อีกทั้งคนที่ทำ ก็มักจะไม่ทำตรงกับที่คนคิด ได้คิดเอาไว้ ประเทศไทยเราเป็นแบบนี้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ...อะไรก็ตามที่เรานำเสนอในการประชุมเอเปกครั้งนี้ ถือเป็นข้อผูกพันธ์ ที่เราจะต้องทำให้ได้ในส่วนของเราด้วย” ดร.วิศาล เริ่มต้นการสนทนา กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

คำถามคือ...เราจะทำกันจริงหรือไม่ แล้วถ้าจะทำ ทำเป็นหรือไม่? :

Open Connect Balance :

สำหรับประเด็นการนำเสนอในการประชุมเอเปกครั้งนี้ ดร.วิศาล กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ต่อไปว่า ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าทุกอย่างดีหมดไม่มีข้อท้วงติงใดๆและทุกภาคส่วนก็คงเห็นตรงกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยจะทำจริงๆได้แค่ไหน? จะทำอย่างไร? จะมีระบบจูงใจให้เกิดพฤติกรรมในด้านภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคบริการ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน? รวมถึงจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเหล่านั้นเป็นธรรมชาติไปกับเป้าหมายที่วางไว้

“แต่จนถึงตอนนี้ ผมยังมองไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นเลย เพราะเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะไม่ชวนให้เกิดแรงจูงใจแล้ว ยังสวนทางกับเป้าหมายหรือผลลัพท์ทางเศรษฐกิจที่คาดหวังไว้ด้วยซ้ำไป”

Balance :

ความพยายามชูประเด็นเรื่องการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งดูจะเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันในการประชุมเอเปกครั้งนี้ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ในทางปฏิบัติยังห่างไกลจากแนวนโยบายนี้ หากย้อนกลับไปพิจารณามาตรการจูงใจต่างๆ ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จะพบว่าค่อนข้าง “ย้อนแย้ง” กับ นโยบาย BCG พอสมควร

ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน ที่มีมาตรการจูงใจโดยให้ผู้ลงทุนสามารถนำ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าขนส่งมาหักภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเป็นการเปิดทางไปสู่การสนับสนุนให้นักลงทุนสามารถใช้ทรัพยากรเหล่านั้นได้ฟรีๆ แถมให้รางวัลเพิ่มให้อีกหนึ่งเท่าตัว ซึ่งเป็นการจูงใจให้ใช้ทรัพยากรอย่างเกินจำเป็นใช่หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามสำคัญ คือ “คุณคิดว่านักลงทุนเหล่านั้นจะตั้งใจประหยัดการใช้ทรัพยากรได้จริงหรือ?”

...

“เขาจะประหยัดทำไม ในเมื่อยิ่งใช้มากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งหักภาษีได้มาก คุณว่าจริงไหม?”

นอกจากนี้ ไทยควรพยายามปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเลิกทำในสิ่งที่ไม่เก่ง แล้วไปทำในสิ่งที่เก่ง และเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ภาครัฐกลับไปยืดอายุการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลแก่นักลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน คำถามสำคัญสำหรับประเด็นนี้ คือ “คุณคิดว่านักลงทุนเหล่านั้นจะกระตือรือล้นที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันหรือไม่?”

“เขาจะต้องไปปรับเปลี่ยนทำไม ในเมื่อไม่มีแรงจูงใจหรือแรงกดดันที่จะทำให้เขาต้องปรับเปลี่ยน เขาก็อยู่แบบนั้นของเขาไปจนกว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้จนกว่าจะมีทางเลือกใหม่ที่มีผลตอบแทนสูงและความเสี่ยงต่ำกว่า ฉะนั้นเราจึงต้องหาเครื่องมือใหม่ๆเพื่อล่อให้เขาปรับเปลี่ยนจริงไหม?”

Open และ Connect :

“กรณีการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) หรือ FTA เวลาศึกษาก็ให้ฝ่ายนักวิชาการเป็นผู้ทำวิจัยพร้อมข้อเสนอแนะได้อย่างเต็มที่ แต่พอถึงเวลาไปเจรจากับประเทศคู่ค้าเข้าจริงๆก็กลับไม่ยอมเปิดเสรีภายใต้ FTA นั้น กับใครได้ง่ายๆ เช่น พยายามลดภาษีศุลกากรแต่น้อยๆ ทำให้มีผลในการเปิดเสรีการค้าน้อยมากและช้าเกินควร”

...

ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมีการทำความตกลงเขตการค้าเสรีจำนวนมาก เรียกว่าไม่น้อยหน้าใครในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หากลองไปวิเคราะห์ตามข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน จะพบว่า “ไทยแทบไม่ได้ลดกำแพงภาษีเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลง FTA เลยก็ว่าได้” โดยสินค้าตัวไหนที่ประเทศคู่เจรจาเก่งกว่า ผลการเจรจามักจะไม่ค่อยมีการยอมลดกำแพงภาษี ยังคงปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ โดยรอเวลานานกว่าจะลดภาษีอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่กลับกันสำหรับกรณีสินค้าที่ประเทศคู่เจรจา ไม่เก่งในการผลิตสินค้าใด เราก็ยินยอมลดภาษีศุลกากรให้ประเทศนั้น

กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ ผลการทำความตกลงการค้าเสรีของไทย ทำให้ไทยมีโครงสร้างภาษีศุลกากรแตกต่างกันระหว่างชนิดสินค้า ระหว่างประเทศคู่ค้า และระหว่างกรอบความตกลงการค้าเสรีต่างๆ

สิ่งที่มักเกิดขึ้นตามมา คือ ภาระในการตรวจปล่อยสินค้าให้ตรงตามข้อผูกพัน คำถามสำหรับประเด็นนี้คือ “เมื่อเป็นแบบนี้ประเทศไทยจะได้อะไรจากการทำ FTA?"

ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการมีโครงสร้างภาษีศุลกากรที่ซับซ้อนเช่นนี้ หากไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่เข้าใจ ว่ามันจะสร้างการ “บิดเบือน” การค้า “แทนที่จะได้ซื้อของจากผู้ผลิตที่เก่ง ก็จะซื้อน้อยกว่าที่ควร เพราะมีการตั้งกำแพงภาษีที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงกว่าที่ควร และซื้อจากประเทศที่ไม่เก่งมากกว่าที่ควร เมื่อเป็นแบบนี้ คำถามสำคัญ คือ ตกลงประเทศไทยได้หรือเสีย?”

“อาจเป็นความเข้าใจผิดว่า การลดภาษีศุลกากรเป็นการเสียประโยชน์ของประเทศ ความจริงคือ ภาครัฐมีรายได้จากภาษีศุลกากรลดลง ผู้ผลิตในประเทศที่ไม่เก่งเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศ

...

ผู้บริโภคในประเทศได้ประโยชน์ คือ ได้สินค้าคุณภาพดีขึ้นและราคาถูกลง ผลลัพธ์โดยรวมของประเทศได้ประโยชน์สุทธิใช้ทรัพยากรในประเทศมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและประชาชนได้รับสวัสดิภาพสังคมสูงขึ้น

การปกป้องกันผู้ผลิตในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยอ่อนแอลง เพราะนอกจากเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรแล้ว ยังเป็นผลให้ไม่เกิดการปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีประสิทธิภาพและผลิตภาพสูงขึ้น

“มาตรการทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาเกิดจาก การคิดที่ไม่ละเอียดมากพอ คือคิดแต่ว่าจะจูงใจนักลงทุนแต่ไม่ได้คิดถึงนัยสำคัญที่มีของแต่ละเครื่องมือที่ใช้ ว่าในท้ายที่สุดมันจะนำไปสู่พฤติกรรมอะไร และเป็นพฤติกรรมที่เราพึงประสงค์หรือไม่?”

ด้วยเหตุนี้ “ภาครัฐ” ซึ่งในที่นี้หมายถึง “รัฐบาลและระบบราชการไทย” จะต้องใช้ความละเอียดให้มากขึ้นในการจัดทำขั้นตอนและเครื่องมือทางเศรษฐกิจต่างๆให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้ “ผลลัพท์” ตามสิ่งที่ได้เสนอในการประชุมเอเปกครั้งนี้

เอเปก กับ ผลลัพท์เขตการค้าเสรี :

“หากถามว่าเหตุใดเอเปกก่อตั้งกันมาตั้งนานแล้ว จึงไม่สามารถบรรลุเรื่องการทำความตกลงเขตการค้าเสรีเสียที คำตอบของเรื่องนี้ คือ เพราะเอเปกไม่ได้เป็นเวทีสำหรับการมาแลกเปลี่ยนมาตรการทางการค้าการลงทุน ที่จะเป็นตัวชี้วัดของการเปิดเขตการค้าเสรี”

ในความเห็นส่วนตัว เอเปก คือ เวทีของความคิด นโยบายเป็นหลัก ไม่มีการเจรจาต่อรองเรื่องการค้าอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะมีเป้าหมายในประเด็นนี้อยู่ก็ตาม เพียงแต่เป็นมันเป็น “เป้าหมาย” ที่ไม่มีการผูกพันธ์ระหว่างกัน และเป็นไปในลักษณะ การกำหนดเจตนารมณ์ด้วยใจ ด้วยวาจา ไม่มีเงื่อนไขหรือข้อแลกเปลี่ยน พอกลับบ้านก็ไม่มีใครทำอะไร ทุกอย่างก็จบ ซึ่งแตกต่างจากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ที่มีพันธะผูกพัน (แม้อาจจะผูกพันไว้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม) อย่างเห็นได้ชัด "ดร.วิศาล บุปผเวส" ที่ปรึกษา TDRI ให้ความเห็นในท้ายที่สุด...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง