การถือครองเก้าอี้ประธานาธิบดีในสมัยที่ 3 ของ "สี จิ้นผิง" ภายใต้การควบรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ กำลังจะพาจีนไปสู่ทิศทางไหน และจะทำให้ความขัดแย้งที่มีต่อสหรัฐฯ ขยายตัวมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงอะไรคือความเสี่ยงที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้เงื้อมมือของอำนาจที่มากล้นเช่นนี้ วันนี้ "เรา" ไปร่วมฟังบทวิเคราะห์ โจทย์ยากที่แสนท้าทายความสามารถของผู้นำจีนคนปัจจุบัน จาก "รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ในตอนที่ 2 ของการสนทนาครั้งนี้กัน...

"รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

...

สี จิ้นผิง และความขัดแย้งกับสหรัฐฯ

“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะเลวร้ายลงกว่าเก่า นั่นเป็นเพราะสิ่งที่ สี จิ้นผิง กำลังทำอยู่คือสิ่งที่ฝ่ายสหรัฐฯ มองว่าเป็นการท้าทาย”

อะไรคือความท้าทายที่ว่านี้บ้าง? :

1. ความไม่แน่นอนเรื่องการลงทุนในประเทศจีน

การก้าวสู่อำนาจในสมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง มีนโยบายที่สำคัญมากอยู่ข้อหนึ่ง คือ "เรื่องการให้น้ำหนักไปที่เรื่องระบบสังคมนิยมครอบงำทุนนิยม" ซึ่งการครอบงำที่ว่านี้ คือ ทุนนิยมที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน รวมไปจนกระทั่งถึง กลุ่มทุนภายในของจีนเอง จะต้องไม่หวังเพียงแสวงหาผลกำไร แต่จะต้องคำนึงถึงอุดมการณ์ในเรื่องความมั่นคงของจีนด้วย ตามหลักการของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ Common Prosperity

2. การขยายบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์

สิ่งที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ คือ จีนกำลังขยายบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อพยายามบอกชาวโลกว่า “ระบบการปกครองของจีนดีกว่าของสหรัฐอเมริกา” นั่นจึงเท่ากับเป็นการเผชิญหน้าเพื่อแข่งขันในเรื่องอุดมการณ์กับทางฝ่ายสหรัฐฯ โดยตรง

3. การรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ก่อนหน้าการก้าวเข้าสู่อำนาจในสมัยที่ 3 ของ “สี จิ้นผิง” ภายในประเทศจีนมีการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ที่เด่นชัดมาก คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายในภาพรวม ในขณะที่รัฐบาลจีน จะมีหน้าที่ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ทำให้ก่อนหน้านี้จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประธานาธิบดีของจีนมักจะเดินเคียงคู่กับนายกรัฐมนตรีเสมอ

หากแต่เมื่อถึงเวลาที่ “สี จิ้นผิง” ก้าวขึ้นสู่อำนาจประธานาธิบดีของจีน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่กุมอำนาจทั้งในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์, ประธานาธิบดี และผู้มีอำนาจสูงสุดในกองทัพ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ คือ “หลี่ เค่อเฉียง” นายกรัฐมนตรีของจีนเดินห่างจาก “สี จิ้นผิง” มากๆ ซึ่งนัยทางการเมืองที่แสดงออกมานี้อาจแปลความได้ว่า “หลี่ เค่อเฉียง” ไม่ใช่คนของ “สี จิ้นผิง”

และประเด็นนี้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น หลังการก้าวขึ้นสู่อำนาจในสมัยที่ 3 เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่เห็น “หลี่ เค่อเฉียง” ปรากฏตัวใกล้กับผู้นำสูงสุดของจีนอีกเลย ทำให้คาดว่าในเดือนมีนาคมปีหน้า (ปี 2023) ซึ่งจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน “นายหลี่ เฉียง” ซึ่งเป็นคนสนิทที่มีความใกล้ชิดกับ “สี จิ้นผิง” มากๆ จะถูกเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งนั่นเท่ากับ “สี จิ้นผิง” จะมีอำนาจที่ครอบคลุมเหนือรัฐบาลจีนเพิ่มขึ้นอีก

“การตัดสินใจเรื่องการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในยุคที่ 3 ของ สี จิ้นผิง จะไม่เป็นเศรษฐกิจที่มองในเชิงเศรษฐศาสตร์อีกต่อไป แต่จะเป็นการมองในเชิงของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นหลัก ซึ่งการครอบงำที่ว่านี้หมายถึง เมื่อครอบงำทางเศรษฐกิจได้แล้ว ก็อาจจะมีการนำเทคโนโลยีที่ได้จากเอกชน ไปใช้ในการพัฒนากองทัพ ด้วยเหตุนี้ ความขัดแย้งอันมีบ่อเกิดจากความไม่ไว้วางใจจะมีสูงมากมาย และนี่คือเหตุผลว่า เพราะอะไรสหรัฐฯ จึงต้องเดินหน้ากีดกันการเข้าถึงทางด้านเทคโนโลยีของจีน โดยเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”

...

สี จิ้นผิง กับหมุดหมายการทำให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจ :

วิสัยทัศน์ของจีน ณ เวลานี้ คือ 1. ภายในปี 2035 ประเทศจีนจะเป็นสังคมนิยมแบบทันสมัย คือเป็นสังคมนิยมที่มีการมองเศรษฐกิจภายใต้การดูแลของสังคมนิยม ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าแต่มีคุณภาพ นั่นก็คือ ต้องเป็นทุนนิยมที่สอดคล้องต่อความมั่นคงของประเทศจีน และ 2. ภายในปี 2049 จีนจะต้องก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก ด้วยเหตุนี้เริ่มจึงเริ่มมองเห็นปรากฏการณ์ การขยายอิทธิพลของกองทัพจีนออกไปยังดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะทวีปแอฟริกา อาเซียน และลาตินอเมริกา ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจต่อสหรัฐอเมริกา ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งสิ้น และจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายขยายตัวมากขึ้นในอนาคตแน่นอน

...

สี จิ้นผิง กับประเด็นปัญหาจากการควบรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ :

การเมือง :

“การควบรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในด้านหนึ่งอาจทำให้ สี จิ้นผิง มีความเข้มแข็งมากขึ้นทั้งในเรื่องการเมืองและความมั่นคง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเข้มแข็งในลักษณะนี้อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงได้เช่นกัน”

ความเข้มแข็งทางการเมืองภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ แม้อาจทำให้ภายในประเทศจีนสงบนิ่งลงได้ชั่วขณะ หากแต่มันอาจเป็นการเก็บเงียบความไม่พอใจเอาไว้แบบลับๆ นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งต้องไม่ลืม คือ การตรวจสอบอย่างเข้มข้นที่ว่านี้ มักมีการใช้เรื่องการตรวจสอบการคอร์รัปชันเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งในด้านหนึ่งจะเป็นการทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีการนำประเด็นนี้มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองรวมอยู่ด้วย ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการค่อยๆ เพิ่มศัตรูไปโดยปริยาย ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้อาจกลายเป็นเชื้อไฟที่รอวันปะทุใหญ่ได้ในอนาคต

เศรษฐกิจ :

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ “ปัญหาเรื่องปากท้อง” เพราะปัจจุบันประเทศจีนกำลังเผชิญหน้ากับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี อีกทั้งบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังคาดการณ์ว่าจากนี้ไปอีกประมาณ 5-10 ปี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อย่างดีที่สุดอาจขยายตัวได้เพียง 4% เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากจะทำให้จีนไม่สามารถหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางตามวิสัยทัศน์การเป็นประเทศสังคมนิยมแบบทันสมัยภายในปี 2035 ได้สำเร็จแล้ว

ปัจจุบันจีนยังคงถูกรุมเร้าด้วยสารพัดปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ, การถูกกีดกันจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงถึง 300% ของ GDP, ผลกระทบจากนโยบาย Zero-COVID, และวิกฤติหนี้เสียในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย

...

“เมื่อถูกปิดกั้นทางการเมืองแต่เศรษฐกิจดี ประชาชนอาจพอยอมรับได้ แต่กลับกัน หากถูกปิดกั้นทางการเมืองแล้วเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีอีก ผมเชื่อว่ามีปัญหาแน่นอน และนี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากๆ สำหรับ สี จิ้นผิง ว่าจะสามารถบริหารเศรษฐกิจภายใต้แรงกดดันจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ เพื่อตอบสนองต่อทิศทางการเป็นมหาอำนาจและรักษาความสงบภายในประเทศเอาไว้ได้อย่างไร”

สี จิ้นผิง กับ พันธมิตร BRICS :

“ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า BRICS ไม่น่าจะไปกันได้ไกล เพราะเป็นการรวมกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันเองภายในอยู่แล้ว”

เป็นไปได้ยากมากที่ BRICS จะมีการรวมกลุ่มกันได้อย่างใกล้ชิด เพราะอินเดียไม่มีทางไว้ใจจีนแน่นอน หรือแอฟริกาใต้และบราซิล ก็คงไม่ได้ให้ผลประโยชน์อะไรกับรัสเซียได้มากนัก เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อหาประโยชน์ต่างตอบแทนได้ในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น เช่น การสร้างอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ และพันธมิตร รวมถึง การพูดคุยกันในส่วนที่พอจะต่อรองกันเองได้ในเรื่องความร่วมมือทางการค้า แต่จะให้เป็นการรวมกลุ่มกันแบบมีแก่นสารนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะทั้ง 5 ประเทศคือ จีน รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ต่างมีทิศทางในทางภูมิรัฐศาสตร์และความมั่นคงที่แตกต่างกัน

สี จิ้นผิง กับการประชุมเอเปกในประเทศไทย :

“อาจมีการแสดงบทบาทที่แนบแน่นกับรัสเซีย แต่คงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเต็มที่กับฝ่ายรัสเซียเท่าใดนัก”

ในความเป็นจริงแล้ว รัสเซียต้องพึ่งพาจีนมากกว่า เพียงแต่ในเวลานี้จีนและรัสเซียพูดง่ายๆ คืออยู่ในหัวอกเดียวกันเรื่องความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายจึงดูแนบแน่นกัน อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ จีนมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และยุโรปมากกว่ารัสเซีย ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันได้จากการที่ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ (Olaf Scholz) ของเยอรมนี เพิ่งเดินทางไปยังประเทศจีนครั้งแรก เพื่อทำข้อตกลงกับ บริษัทคอสโก้ ชิปปิ้งไลน์ (COSCO SHIPPING Lines) ของจีน เรื่องการเข้ามาถือหุ้นถึง 44.9% ของท่าเรือคอนเทนเนอร์ในเมืองฮัมบูร์ก

เพราะฉะนั้น จีนจึงไม่ได้อยู่กับรัสเซียเต็มที่ และบทบาทนี้ก็ยังจะคงอยู่ต่อไปในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมเอเปกที่ประเทศไทย หรืออย่างเก่งที่สุด จีนอาจจะพูดกว้างๆ เช่น ขอให้มีความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางด้านอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามยูเครน หรือเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจากันเท่านั้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง