"ราคาพลังงาน" (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน เมื่อโลกเข้าสู่ฤดูหนาว ท่ามกลางความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ "แข็งกร้าว" มากขึ้นทุกทีๆ ระหว่างฝ่ายสหรัฐฯ และนาโต กับ ฝ่ายรัสเซียและจีน, ยุโรปจะรอดจากฤดูหนาวนี้ได้หรือไม่, อะไรคือปัจจัยที่ต้องจับตาเรื่องพลังงานท่ามกลางความหนาวเหน็บนี้ รวมถึงการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในยุคที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเป็นเช่นไร, อินเดีย และเวียดนาม คือทางเลือกใหม่ของอเมริกาหรือไม่? ทั้งหมดนี้มีคำตอบจาก รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย

...

ปัจจัยชี้ขาดปัญหาพลังงานกับฤดูหนาวปีนี้ :

1.ตัวเลขการสำรองพลังงานของประเทศในยุโรป

สำหรับประเด็นนี้ เท่าที่ตรวจดูข้อมูลพบว่าในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยและมีคลังกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ เช่น เยอรมนี น่าจะมีพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติไว้ใช้เพียงพอสำหรับฤดูหนาวที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในปีนี้แล้ว อย่างไรก็ดีสำหรับเหล่าประเทศเล็กๆที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่นัก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปใต้ ปริมาณการสำรองพลังงานในช่วงฤดูหนาวนี้ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล

2.ฤดูหนาวในปีนี้จะมีอุณหภูมิต่ำลงมากแค่ไหน

หากในปีนี้ยุโรปต้องเผชิญหน้ากับอุณหภูมิที่ต่ำลงมากๆ ปริมาณพลังงานที่เก็บกักไว้ก็จะต้องถูกนำมาใช้มากเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจมีความเป็นไปได้ว่า พลังงานที่เก็บกักไว้อาจไม่เพียงพอ และนำไปสู่การแก่งแย่งกันจัดซื้อพลังงาน จนกระทั่งทำให้ “ราคาพลังงานสูงขึ้น”

3.แนวโน้มสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สงครามที่ต่อเนื่องยาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดนั้น ล่าสุด มีแนวโน้มที่น่าวิตกเพิ่มขึ้น หลังรัสเซียเริ่มซ้อมรบด้วยอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงได้มีการกล่าวหาว่า ยูเครนอาจใช้อาวุธที่เรียกว่า “Dirty Bomb” ซึ่งแนวโน้มที่ว่านี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ราคาพลังงานมีราคาสูงขึ้นได้”

4.ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกจะถดถอยมากแค่ไหน? รุนแรงมากแค่ไหน และจะกว้างมากแค่ไหน? ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกถดถอยลงแบบรุนแรงและกว้างมากๆ อุปสงค์ที่มีต่อพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ก็ย่อมต้องลดลง และทำให้ราคาพลังงานชะลอตัวได้

5.แรงต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า “แรงต่อต้าน” การใช้พลังงานจากซากฟอสซิล (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เพื่อให้หันไปใช้พลังงานบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในยุโรป เริ่มขยายตัวออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้นทุกที ฉะนั้น หากมีการรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านกันมากๆ เพื่อให้จำกัดการใช้พลังงานจากซากฟอสซิล “ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” ย่อมมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงได้

การคาดการณ์ราคาพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง :

หากเป็นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ราคาพลังงานอาจยังไม่ได้รับผลประทบมากนัก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า จะมีการระบาย “น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve)” หรือ SPR ออกสู่ตลาดเพื่อเป็นการตอบโต้การที่ กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ประกาศลดกำลังการผลิตต่อวันลงมากถึง 2 ล้านบาร์เรล โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ดีคำถามของเรื่องนี้คือ “ในระยะยาวการดิ้นรนต่อสู้ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะสามารถประคับประคองราคาน้ำมันเอาไว้ได้นานแค่ไหน”

...

“หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา มันสู้กันได้ไม่กี่ยกหรอกครับ สหรัฐฯ บอกว่าจะระบาย SPR ออกมาอีก 15 ล้านบาร์เรลจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ซึ่งตัวเลข 15 ล้านบาร์เรลที่ว่านี้มันไม่ได้แตกต่างจาก 2 ล้านบาร์เรลมากมายอะไรนัก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ตัวเลข 15 ล้านบาร์เรลที่ว่านี้ยังเป็นยอดการใช้น้ำมันเพียงไม่ถึง 1 วันในสหรัฐฯ อีกด้วย เพราะสหรัฐฯ ใช้น้ำมันอย่างน้อย 17-18 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมด้วยว่า ปริมาณ SPR ในคลังของสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน ยังลดต่ำลงมากที่สุดในรอบ 38 ปีอีกด้วย หลังจาก 6 เดือนที่ผ่านมาได้มีการระบายปริมาณน้ำมันในคลัง SPR เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยจากรายงานล่าสุด ปริมาณน้ำมันในคลัง SPR ของสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 400 ล้านบาร์เรล จากปริมาณทั้งหมดประมาณ 700-730 ล้านบาร์เรลแล้ว

นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ ประกาศว่า จะซื้อน้ำมันคืนคลัง SPR เมื่อราคาน้ำมันลดลงในระดับ 67-72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้น ในความเป็นจริงย่อมเป็นเรื่องที่กลุ่มโอเปกพลัสไม่มีทางยินยอมให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย เพราะจะไปกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มโอเปกพลัสโดยตรง”

...

อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวเมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว คิดว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันในช่วงฤดูหนาวนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากราคา ณ ปัจจุบันมากนัก “มีความเป็นไปได้สูง”

โดยราคามันดิบที่ตลาดเวสต์เทกซัสน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนที่ตลาดเบรนท์ทะเลเหนือ น่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะหากต่ำกว่าราคาที่ว่านี้ ทางกลุ่มโอเปกพลัสน่าจะไม่ยินยอมแน่ๆ และจะต้องมีการประกาศลดกำลังการผลิตลงมากกว่าที่ประกาศไว้ที่ 2 ล้านบาร์เรลแน่ๆ

เอกภาพในกลุ่มโอเปกพลัส :

นอกจากมีการประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า ราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่ควรต่ำกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่า ภายในกลุ่มโอเปกพลัสเองยังมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะหลายๆ ประเทศรู้ดีว่า “ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาท้ายๆ แล้วสำหรับการทำกำไรจากพลังงานจากซากฟอสซิล นั่นเป็นเพราะว่าห้วงระยะเวลาสำหรับฟอสซิลในฐานะพลังงานสำคัญของโลกกำลังจะสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาอีกไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้แล้ว” ด้วยเหตุนี้กลุ่มโอเปกพลัสจึงต้องผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นและเป็นเอกภาพเพื่อหาทางทำกำไรให้ได้มากที่สุดในห้วงระยะเวลาที่เหลือนี้ เพื่อจะได้นำผลกำไรที่ได้ไปลงทุนเพื่ออนาคตต่อไป

...

“ผมว่าช่วงนี้คือช่วงท้ายๆ ของพลังงานจากซากฟอสซิลแล้วล่ะ เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าการลดการใช้พลังงานจากซากฟอสซิลจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีพลังงานทดแทนอื่นๆ เข้ามาแทนที่มากขึ้นๆ และยิ่งตอนนี้ราคาพลังงานจากซากฟอสซิลเริ่มมีราคาแพงขึ้นๆ คนก็จะยิ่งหันไปลงทุนด้านพลังงานบริสุทธิ์ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม เพิ่มมากขึ้น”

สิ่งที่ต้องจับตา การเมืองกับนโยบายด้านพลังงานที่บิดเบี้ยว :

สิ่งที่ต้องจับตาซึ่งอาจเชื่อมโยงต่อราคาพลังงานนับจากนี้เป็นต้นไป คือ การเมืองภายในของแต่ละประเทศ เพราะอีกเพียงปีเศษๆ ถัดจากนี้ สหรัฐฯ และอีกหลายๆ ประเทศสำคัญๆ ในโลกจะมีการเลือกตั้งขึ้น ซึ่งย่อมเป็นที่แน่นอนว่าฝ่ายการเมืองจะต้องพยายามออกนโยบายเอาใจประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง มันจึงมีความเป็นไปได้ว่า “อาจมีนโยบายพลังงานที่บิดเบี้ยว” เช่น การบิดเบือนกลไลราคาตลาดเพื่อหวังชนะการเลือกตั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อาจส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลก “เกิดความปั่นป่วนขึ้นอีกก็เป็นได้”

ทิศทางจีนภายใต้ยุคที่ 3 ของ สี จิ้นผิง :

ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าทิศทางของจีนภายใต้ยุคที่ 3 ของ "สี จิ้นผิง" ในด้านหนึ่งจีนจะไม่ทิ้งโลก ส่วนอีกด้านหนึ่งจะให้ความสำคัญกับภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดผ่านนโยบายที่เรียกว่า "การหมุนเวียนสองทาง" คือ ทางหนึ่งต้องการใช้เศรษฐกิจภายในประเทศให้มากที่สุด ให้มีศักยภาพสูงสุด เพราะประเทศจีนมีขนาดใหญ่โตไม่ต่างจากหนึ่งทวีปในโลก และมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน เพราะฉะนั้นจีนจึงมีโอกาสพึ่งพาตัวเองได้สูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปสงค์ หรืออุปทาน

แต่ขณะเดียวกัน จีน ก็จะยังคงแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจีนมีโอกาสในการสร้างสัมพันธ์ได้ง่ายกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่นำโดยสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้โลกจึงมีโอกาสสูงที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ไม่ต่างจากยุคสงครามเย็นในอดีต

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง มีโอกาสสูงที่อาจจะทำให้เกิดการบิดเบือนการทำงานของกลไลทางเศรษฐศาสตร์ และไม่อาจใช้ตรรกะทางเศรษฐศาสตร์เหมือนเดิมได้อีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น หลักการ Economy of Scale หรือการผลิตสินค้าออกมาให้ได้มากที่สุดโดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ก็อาจจะทำได้ยากขึ้น เพราะเมื่อมีการแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ต้นทุนในการผลิตก็ย่อมต้องสูงขึ้น และเมื่อต้นทุนสูงขึ้น โอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อยืดเยื้อยาวนานก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้หากมองให้ลึกลงไป การวางโครงสร้างทางอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในครั้งนี้ ยังเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนด้วยว่า จีนรู้ตัวเองดีแล้วว่านับจากนี้ต่อไปจะต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าผู้นำคนต่อไปของสหรัฐฯ อาจไม่ใช่ โจ ไบเดน ก็ตาม เพราะในเวลานี้ทั้งท่าทีของพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน มีจุดยืนต่อจีนแบบเดียวกันทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะทั้งสองประเทศจะหมดทรัพยากรมหาศาลไปกับการพัฒนาด้านความมั่นคง ขณะเดียวกันเมื่อทั้งสองฝ่ายแยกตัวออกจากกัน ความร่วมมือที่เคยมีมาก็จะค่อยๆ หมดสิ้นไป จนเป็นผลให้ทั้งสองฝ่ายได้รับผลกระทบในอนาคตอยู่ดี

อินเดีย เวียดนาม ทางเลือกใหม่ของสหรัฐฯ :

“ในความเห็นผม คิดว่า...เป็นการแก้ไขปัญหาแบบคิดสั้น”

ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกดีขึ้นได้ก็เพราะจากความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีการแบ่งงานกันทำ คุณถนัดอันไหน คุณทำอันไหนได้เปรียบกว่า คุณก็ไปทำเรื่องนั้น จนทำให้เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ไปทั่วโลก

นอกจากนี้ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าทั้งอินเดียและเวียดนามเล็กเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับจีน นอกจากนี้แม้ว่าอินเดียอาจมีจำนวนประชากรมากเช่นเดียวกับจีน แต่อินเดียมีระบบเศรษฐกิจแบบปิดและมีนโยบายที่ปกป้องธุรกิจภายในอันแสนเข้มงวด ฉะนั้นจึงไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศมากนัก

ส่วนเวียดนามมีขนาดเล็กทั้งในเรื่องขนาดของประเทศ, GDP หรือจำนวนแรงงาน เท่ากับเพียงหนึ่งมณฑลของจีนเท่านั้น นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ โครงสร้างทางการปกครองของเวียดนามและจีน มีอะไรที่แตกต่างกันตรงไหน? ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมด้วยว่าเวียดนามเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับรัสเซียอีกด้วย

แม้ในระยะสั้นนี้ทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างได้ผลประโยชน์ และสหรัฐฯ สามารถเชิดเวียดนามขึ้นมาถ่วงดุลจีนได้ หากแต่ในระยะยาวมันย่อมเกิดคำถามสำคัญขึ้นอย่างแน่นอนว่า “เวียดนามจะแทนที่จีนได้มากน้อยแค่ไหน” เพราะข้อแรก เวียดนามไม่มีทางถอยห่างออกจากรัสเซีย ส่วนข้อสอง สหรัฐฯ ไม่นิยมชมชอบระบบการปกครองที่ไม่เหมือนตัวเอง และเมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ ก็มักจะมีการหยิบยกสารพัดข้ออ้างต่างๆ เช่น ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มาเป็นข้ออ้างเพื่อบีบบังคับอีกฝ่าย จนกระทั่งทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมทรามลงได้เสมอ เช่นเดียวกับในกรณีของจีนใช่หรือไม่?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :