การตระเตรียมที่นำไปสู่การขยายขนาดพรรคให้เหมาะสมกับ "กติกาและสมรภูมิทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง" จนนำไปสู่การรวมตัวระหว่าง "พรรคกล้า" และ "พรรคชาติพัฒนา" ภายใต้ชื่อใหม่ว่า "พรรคชาติพัฒนากล้า" จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? มุมมองและการตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งจะเป็นอย่างไร? หลังจากก่อนหน้านี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ไปเสาะแสวงหา "คำตอบจากปาก" ของ "นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ" แกนนำพรรคไปแล้ว วันนี้ลองไปฟังอีกมุมจาก "นายกรณ์ จาติกวณิช" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้มาใหม่ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอีกชิ้นของ "พรรคชาติพัฒนากล้า" ในประเด็นคำถามเหล่านั้นกันดู

"นายกรณ์ จาติกวณิช" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

...

จุดคลิกที่ลงตัว หลักปฏิบัตินิยม :

“หลักปฏิบัตินิยมของพรรคชาติพัฒนา ที่นำเรื่องผลของงานเป็นที่ตั้ง ถือเป็นหลักวิธีการทำงานเช่นเดียวกับพรรคกล้า นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราคุยกันรู้เรื่อง”

พรรคกล้าและพรรคชาติพัฒนามีแนวความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไปด้วยกันได้ สุดท้ายจึงมีการตัดสินใจและไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากมากนักด้วย เพราะรู้สึกสบายใจที่จะทำงานด้วยกันทั้งสองฝ่าย

โจทย์หาร 100 เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลง :

“ผมคิดว่าทุกคนดูออกว่ามันเป็นการเปลี่ยนเพื่อให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ”

หากพูดกันตามข้อเท็จจริง ในตอนที่ตั้งพรรคกล้า มันยังเป็นกติกาตามรัฐธรรมนูญเดิม พูดง่ายๆ เสียงไม่ตกน้ำหาร 500 แต่พอมีการเปลี่ยนกติกาเป็นสูตรหาร 100 ซึ่งแน่นอนว่าพรรคใหญ่ย่อมได้เปรียบ เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคเล็กพรรคใหม่จึงต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ ว่าหากยังต้องการมีพลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนแนวคิดและนโยบายของตัวเองต่อไป มันมีความจำเป็นที่ควรจะต้องหันมาร่วมมือกันหรือไม่?

การเมืองและความขัดแย้ง

“พร้อมสู้ แต่เราพร้อมสู้กับเรื่อง แต่จะไม่สู้กับคน”

สำหรับประเด็นนี้ในความหมาย คือ อะไรก็ตามที่พรรคกล้ามองว่าไม่ถูกต้อง เช่น โครงสร้างราคาน้ำมัน โครงสร้างค่าไฟฟ้า หรือรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หากเป็นประเด็นเหล่านี้พรรคกล้าพร้อมสู้

เพราะความขัดแย้งทางการเมือง คือ ตัวที่ฉุดการพัฒนาบ้านเมือง และเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนเสียโอกาสตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะเราไม่อยากอยู่ในการเมืองที่ต้องทะเลาะกัน และหากจะต้องทะเลาะกัน ให้ทะเลาะกันในเรื่องความบกพร่องของโครงสร้างทางสังคมในแต่ละเรื่อง มากกว่าที่จะตั้งป้อมทะเลาะกันแบบแบ่งค่าย

ฉะนั้นหากเป็นเรื่องนโยบายที่จะไปสู่การแก้ไขปัญหา ควรมีการถกเถียงกันให้เต็มที่ และเถียงกันให้ประชาชนได้เห็นและมีโอกาสได้เลือก และเมื่อประชาชนเลือกแล้วก็ต้องเคารพในการตัดสินของประชาชน

พรรคประชาธิปัตย์ :

“ก็…ไม่ได้คิดเลยนะครับ (หัวเราะ) ...เรื่องการหวนคืน”

...

ยุทธศาสตร์การเมืองพรรคชาติพัฒนากล้า :

“พรรคการเมืองต้องเป็นของคนไทยทุกคนและทุกวัย”

เดิมทีพื้นที่เป้าหมายทางการเมืองของพรรคกล้า คือ พื้นที่กรุงเทพมหานครและตัวเมืองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเมืองเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้เช่นนั้น การออกแบบนโยบายสำหรับการหาเสียงจึงเป็นแบบการเจาะจงเป้าหมายในพื้นที่เป็นหลัก

แต่เมื่อไปรวมกับพรรคชาติพัฒนา ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ภาคอีสาน การออกแบบนโยบายหาเสียงจึงต้องเปลี่ยนไปเป็นการมองภาพรวมของประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งถือว่าตรงตามเจตนารมณ์ที่อยากทำเช่นนั้นมาโดยตลอด ที่พรรคการเมืองต้องเป็นของคนไทยทุกคนและทุกวัย ฉะนั้นพรรคจึงเปิดกว้างและยินดีรับนักการเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จากทุกฝ่ายที่มีแนวคิดเดียวกันเข้ามาร่วมเสมอ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ" แกนนำพรรคชาติพัฒนากล้า

...

การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคชาติพัฒนากล้า :

“เรารวมกันแล้ว เรามีความรู้สึกว่าในเชิงปริมาณ เรามีเพียงพอที่จะทำงานการเมืองได้”

พรรคการเมืองบางพรรคอาจมียุทธศาสตร์ว่า ต้องพยายามทำให้มีจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ให้ได้มากที่สุด จนกระทั่งทำให้อาจจะไปเน้นในเรื่องปริมาณมากหน่อย หากแต่ของพรรคชาติพัฒนากล้ากลับมียุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ว่า “ในเชิงปริมาณเรามีเพียงพอที่จะทำงานการเมืองได้” เพราะหากน้อยเกินไปก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนหากมากเกินไปบางทีก็ขาดความคล่องตัวในการเป็นตัวของตัวเอง ฉะนั้นจึงขอให้อยู่ในระดับที่เรามั่นใจว่าทำงานได้ และยังสามารถรักษาจิตวิญญาณของพรรคการเมืองที่เป็นผู้นำทางความคิดให้กับคนในสังคม รวมถึงมีพลังมากพอในการต่อสู้ให้กับประชาชน

จุดแข็งและจุดขายนโยบายเศรษฐกิจ :

“เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งทำ คือ การแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน”

ปัญหาปากท้องประชาชนในเวลานี้มี 3 มิติหลักๆ คือ 1.ราคาสินค้าแพง หรือ เงินเฟ้อ 2.รายได้ไม่เพียงพอ หรือ กำลังซื้อลดลง 3.ปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือน ซึ่งกำลังอยู่ในระดับวิกฤติจากจำนวนลูกหนี้รายบุคคลที่ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นวันละนับพันคน ฉะนั้นนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคจะนำเสนอเร็วๆนี้ จะต้องมุ่งตอบปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้ให้ได้

นอกจากนี้จะมีนโยบายที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ในเวลานี้จบมาแล้วหางานทำไม่ได้ระหว่างเรียนก็รู้สึกจิตตกว่า หากจบมาแล้วมีหนี้ที่กู้ยืมมาเรียน แต่จะสามารถหาอาชีพที่มั่นคงได้หรือไม่เหล่านั้น ให้รู้สึกว่ามีโอกาสและมีความหวัง

สำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน หรือมนุษย์เงินเดือน ที่เป็นคนชั้นกลาง ซึ่งในยุคนี้ถูกบีบพื้นที่เรียกว่าแทบจะไม่กล้าเรียกตัวเองว่าคนชั้นกลางแล้ว เพราะรายได้เพิ่มขึ้นช้ามาก ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเก่า นโยบายจะต้องตอบโจทย์เรื่องการสร้างความมั่งคั่งในชีวิต

...

ด้าน กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะมากขึ้นกว่านี้ในอีก 15 ปีข้างหน้านั้น จะต้องเป็นนโยบายที่จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่ามีคนที่คอยให้การดูแล เพราะผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่ยากจน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นบริบทสำหรับการทำงานของพรรคชาติพัฒนากล้าในยุคใหม่นี้อย่างแท้จริง

ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขต :

“กำลังพิจารณาครับ แต่ผมไม่เกี่ยงว่าจะต้องลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขต แต่หากพรรคตัดสินใจให้ลง ส.ส.เขต ก็คงลงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ผ่านมาก็ยังคงลงพื้นที่ทำงานกับมวลชนมาโดยตลอดด้วย”

กรณ์ จาติกวณิช กับ นายกรัฐมนตรี :

“ในส่วนของตัวผมเอง พูดมาตั้งแต่สมัยอยู่พรรคกล้าแล้วครับว่า ผมพร้อม ทุกวันนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีในเมื่อมีการรวมกันระหว่างพรรคกล้าและพรรคชาติพัฒนา ทุกอย่างจึงต้องมีการปรึกษาหารือและพิจารณาร่วมกับทุกๆ คนภายในพรรคชาติพัฒนากล้า ถึงความเหมาะสมในแง่ต่างๆ เสียก่อน ขณะเดียวกันทางพรรคเองก็ยังมีทั้ง คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และ คุณเทวัญ ลิปตพัลลภ ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีทั้งประสบการณ์และความสามารถ ที่อยู่ในสถานะที่พร้อมจะถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน”.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :