การส่งสัญญาณที่แรงตรงชัดจาก "เจอโรม พาวเวลล์" ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่ว่า “เฟด จะยังคงใช้เครื่องมือที่มีอย่างเต็มที่เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในรอบเกือบ 40 ปีต่อไป แม้ว่าอาจจะสร้างความเจ็บปวดให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของสหรัฐฯ เพราะหากเกิดความล้มเหลวในการฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อาจจะนำไปสู่ความเจ็บปวดที่รุนแรงมากกว่า” ซึ่งเท่ากับเป็นการ “ยืนยันเจตนารมณ์” ที่ชัดเจนเกือบจะแน่นอนแล้วว่า เฟด จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องต่อไป (ปัจจุบันเหลือการประชุมเพื่อพิจารณาอีก 3 ครั้งในปีนี้ คือ วันที่ 20-21 ก.ย. 65, วันที่ 1-2 พ.ย. 65 และวันที่ 13-14 ธ.ค. 65) ถึงแม้ว่านับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วถึง 4 ครั้งติดต่อกัน จนล่าสุดไปอยู่ที่ 2.25% แล้วก็ตาม

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด

...

นั่นจึงนำมาสู่ “คำถามใหญ่ๆ” ที่ว่า การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นแบบสุดเข้มข้นของ “เฟด” อย่างแข็งขันในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอไปสนทนากับ "นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" เพื่อแสวงหา “คำตอบ” จาก “คำถามใหญ่ๆ” เหล่านั้นกันดู

“โจทย์คือทำอย่างไรเศรษฐกิจจึงจะโตพร้อมๆ กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ควบคุมได้ เงินเฟ้อก็ควบคุมได้ นั่นคือหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มต้นการสนทนากับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เฟดและดอกเบี้ยขาขึ้น :

“สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นลำดับแรก คือ สำหรับสหรัฐฯแล้ว อัตราการว่างงานจะต้องอยู่ในระดับ 4-5% และ เงินเฟ้อจะต้องอยู่ที่ 2-4% ถึงจะถือว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสมดุล”

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการอัดฉีดเงินเข้าไประบบมหาศาล เมื่อถึงเวลาดูดซับเงินออกจากระบบไม่ทัน มันจึงกลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่สูงเอามากๆ ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จึงต้องดำเนินการใน 2 วิธีการหลักๆ คือ 1.ดูดซับเงินออกจากระบบ 2.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมๆ กับการพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงาน

“เพราะในภาวะปกติ เงินเฟ้อสูง อัตราการว่างงานจะต่ำ ฉะนั้นเมื่อกดเงินเฟ้อลง โดยการขึ้นดอกเบี้ย และดูดซับเงินออกจากระบบ เขาก็จะดูว่าอัตราการจ้างงานจะลดลงหรือไม่?”

แต่ปัจจุบันเนื่องจากอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 5% “เฟด” จึงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่า หาก เฟด สามารถกดเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในระดับ 6-5% เมื่อไหร่ ก็คงจะค่อยๆ ชะลอเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้น้อยลง แม้จะยังคงเดินหน้าดูดซับเงินออกจากระบบต่อไปก็ตาม

...

สหรัฐอเมริกาและปัญหาเงินเฟ้อ :

การส่งสัญญาณของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ในความเห็นส่วนตัวขอตีความหมายว่า ถึงแม้ “เฟด” จะยังไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราการว่างงานในระดับต่ำ การเพิ่มผลผลิต หรือการค้าขาย ฉะนั้นเมื่อมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจยังคงดีอยู่ “เฟด” จึงยังคงกล้าที่จะเดินหน้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ต่อไป เพราะมีความจำเป็นในการชะลอเงินเฟ้อให้ได้ ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะแลกมาด้วยการชะลอการจ้างงาน แต่หากอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 4-4.5% ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลมากนัก “เพราะในเวลานี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจมันเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเท่านั้นเอง”

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

...

ผลกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย :

“หากถามผมว่า การส่งสัญญาณของเฟดในครั้งนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหรือไม่? คำตอบ กระทบแน่นอน!”

การอัดฉีดเม็ดเงินมากกว่า 7-8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของสหรัฐฯ มันไม่ได้กระจายอยู่เพียงแต่เฉพาะในตลาดทุนสหรัฐฯ เท่านั้น แต่มันกระจายออกไปยังตลาดทุนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อสหรัฐฯ เดินหน้าดูดเม็ดเงินกลับคืนด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เหล่านักลงทุนต่างชาติก็จะค่อยๆ ดึงเงินกลับในจุดที่คิดว่า “ลงทุนไปแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายไป”

และปัจจุบันต้องยอมรับว่า “เงินจำนวนมาก” กำลังกลับไปอยู่ใน “ตลาดพันธบัตร” หลังตลาดพันธบัตรเริ่มมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อีกทั้งบรรดานักลงทุนเองก็จะปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุน จากตลาดหุ้นไปยังตลาดพันธบัตรในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด

ผลการประชุมเฟดในอีก 3 ครั้งที่เหลือในปีนี้ :

เบื้องต้น “เฟด” คงพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อ ว่า เงินเฟ้อจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบ ค่าจ้าง และต้นทุน จนทำให้อุปทานโดยรวมลดลง (Cost-Push Inflation) เริ่มหายไปแล้วหรือยัง หากแต่ที่น่าวิตก คือ หากมันยังเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการสูง จนกระทั่งทำให้สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น (Demand Pull Inflation) ไม่ใช่เพียงแค่เกิดจาก “ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น” เหมือนเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นหลักในการตัดสินใจ เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการจะทำให้มีทั้งเงินเฟ้อในขณะที่เศรษฐกิจถดถอย แถมยังอาจเป็นเงินเฟ้อแบบขนานใหญ่ หรือที่เรียกว่า “Hyper Stagflation”

...

โดยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ เฟด จะต้องคอยเฝ้าดูเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า สิ่งที่เริ่มทำมาตั้งแต่ต้นปีนี้ “คุ้มหรือไม่คุ้ม ได้ผลหรือไม่ได้ผล” และสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่ เพราะในเวลานี้ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันก็ยังลดลงไม่มาก สงครามยูเครนก็ยังไม่จบ และมี Supply Shock อยู่ตลอดเวลา หนำซ้ำสถานการณ์โลกยังคงเต็มไปด้วยความผันผวน

แต่อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าอย่างน้อยที่สุดในช่วงปลายปีนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “เฟด” จะเริ่มผ่อนคลายเรื่องการดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงๆ ไปยาวนานแค่ไหน

สถานการณ์เศรษฐกิจไทย :

“สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศไทย”

ปัญหาเศรษฐกิจไทยในเวลานี้คือ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่นักลงทุนก็ยังไม่ลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุน ผลผลิตก็ไม่เพิ่ม พอผลผลิตไม่เพิ่ม เศรษฐกิจก็ไม่โต หรือโตน้อยมาก ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถึงแม้จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือรัฐบาลจะมีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนมากแค่ไหน ตราบใดที่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โต ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว ที่ยังไม่เติบโตได้เต็มที่

ภาคการส่งออกไทยในเวลานี้อาจจะเริ่มปรับตัวขึ้นได้บ้าง แต่ที่ยังน่าห่วงคือ ภาคการท่องเที่ยวที่แม้จะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ถึง 20% ของที่เคยมี เพราะฉะนั้นรายได้จึงอยู่ที่เพียง 1 ใน 4 ที่ไทยเคยได้เท่านั้น ทำให้จึงยังต้องรอจังหวะให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นคืนมาอีกครั้งในปีหน้าต่อไป เพราะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา ถึงแม้จะอัดฉีดเงินลงไปเท่าไร มันก็คงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

ธนาคารแห่งประเทศไทยกับดอกเบี้ย :

แบงก์ชาติก็คงค่อยๆ ทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป อย่างไรก็ดีในความเห็นส่วนตัว รู้สึกดีใจที่แบงก์ชาติมีอิสระในแง่ของการตัดสินใจว่า ความเหมาะสมของเขา กับ ผลประกอบการทางเศรษฐกิจ คุณจะใช้อัตราดอกเบี้ยอย่างไร ใช้ปริมาณเงินเท่าไร ทำให้เห็นได้ชัดว่าแบงก์ชาติเริ่มมีวิธีการในการกำกับดูแล และไม่เร่งรีบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก นั่นเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่เหมือนกับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่เติบโตเหมือนกับประเทศอื่นๆ หรือแม้กระทั่งหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเองก็ตาม

“ของไทยเราเติบโตเพียงแค่ 2-3% แถมแนวโน้มของการเติบโตในปีนี้ ซึ่งเดิมเคยคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% ก็เริ่มอาจจะต่ำกว่า 3% แล้ว การคาดคะเนเริ่มปรับลดลงต่ำลงไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจเติบโตต่ำลง แล้วเงินเฟ้อก็ยังขึ้นมาบ้าง แต่พื้นฐานยังไม่ขึ้นมามาก แบงก์ชาติจึงค่อยๆ ทยอยขึ้นดอกเบี้ยทีละระดับ ซึ่งก็น่าจะอยู่ที่ครั้งละสลึงต่อไปเรื่อยๆ เพราะหากตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงๆ มันจะมีภาระของนักลงทุน ซึ่งหากนักลงทุนและเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้เพราะติดปัญหาเรื่องภาระดอกเบี้ยที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูง เศรษฐกิจก็โตไม่ได้ การลงทุนก็ไม่มี”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เสถียรภาพรัฐบาลกับเศรษฐกิจไทย :

“สิ่งที่ต้องเร่งทำตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและสามารถชักจูงนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศไทยกันมากๆ นั่นคือหัวใจหลักเลยก็ว่าได้ในตอนนี้ เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยน้อยลงมากๆ หากเทียบกับเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่ไปลงทุนในประเทศเวียดนาม หรือมาเลเซีย ก็เลยเป็นสิ่งซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศไทยว่า นักลงทุนไม่มาประเทศไทยด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องหาให้เจอว่าเพราะอะไร ทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานโดยรวมต่างๆ ของไทยที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรยังคงได้เปรียบทั้ง เวียดนาม และมาเลเซีย ฉะนั้น จึงมีการบ้านอีกมากที่ยังต้องทำสำหรับการดึงดูดนักลงทุนเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในท้ายที่สุด.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :