ต้องยอมรับว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สำหรับ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. กองทุนที่มีไว้ช่วยเหลือเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่อยากได้ทุนเรียนหนังสือ ถึงแม้รู้ทั้งรู้ว่า ความจริง คนที่มากู้ ก็อาจจะไม่ใช่ครอบครัวยากจนทั้งหมด แต่อย่างน้อยการได้ช่วยเหลือดังกล่าว ก็ยังถึงผู้คนที่อยากเรียนหนังสือจริงๆ ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

กระทั่ง หลายวันที่ผ่านมา ก็มีข่าว หนุ่มคนหนึ่ง ติดหนี้ กยศ. ถึงขั้นจะโดนยึดคอนโดฯ และสุดท้าย ก็มีการเจรจาปิดหนี้ ด้วยการลดดอกเบี้ยไปถึงหลักแสนบาท

เมื่อใครได้เห็นข่าวก็ถึงขั้นดราม่ากัน ว่าทำไมไปช่วยเหลือคนที่ผิดนัดชำระหนี้แบบนั้น หรือกระทั่งล่าสุด ก็ถึงขั้นล่ารายชื่อให้ยกเลิกจ่ายหนี้กันไปเลย (อ่านข่าว ตอบดราม่า ล่าชื่อ “ยกเลิกหนี้ กยศ.” ยกเคส ซื้อรถเป็นล้าน แต่ค้างหนี้ 3 แสน)

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าสถานะกองทุนว่า ตอนนี้มีการปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เงินให้กู้ยืม 696,802 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีการปิดบัญชีไปแล้ว 1,633,702 คน เหลืออยู่ในช่วงกำลังศึกษา ซึ่งถือเป็นช่วงปลอดหนี้ 1,056,958 คน อีก 3,458,429 คน กำลังผ่อนชำระ

...

สำหรับ ผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 2,002,917 ราย (39%) คิดเป็นเงินต้น 83,004 ล้านบาท ส่วนผู้กู้ที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ 3,089,214 ราย (61%) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ชำระปิดบัญชี 1,633,702 ราย ชำระหนี้ปกติ 1,455,512 ราย 

ส่วนการเตรียมเงินเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา กู้ในปีงบ 2565 กองทุนได้เตรียมเงินงบประมาณ 38,000 ล้านบาท รองรับ นร.-นศ. กว่า 600,000 ราย ได้รับอนุมัติ 288,849 ราย

“เงินส่วนนี้ไม่มีข้อจำกัดและไม่มีโควตา เรียกว่า ถ้ามีคนมาขอกู้ถึง 7 แสนคนก็คาดว่าน่าจะยังให้กู้ได้ เพราะคิดว่ามีเงินกู้เพียงพอ แม้ดูตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้ที่ดูสูง แต่เรามีการชำระเข้ามา และพอหมุนเวียนไปได้”

ผู้จัดการกองทุน กยศ. เผยว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทาง กยศ. พยายามช่วยเหลือคนที่กู้ยืม โดยเราได้ลดดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ จาก 1% ลดเหลือ 0.01% ถ้ามาปิดบัญชีเลย จะลดเงินต้นให้ 5% ส่วนกรณีคนที่ผิดนัดชำระหนี้ เราจะลดเบี้ยปรับให้ เหลือ 0 บาทเลย หรือคนที่ค้างชำระงวด ยกตัวอย่างค้าง 4 งวด แล้วมาจ่ายให้ทันงวด แบบนี้จะลดเบี้ยปรับให้ 80%

อธิบายดราม่า ลดเบี้ยปรับ 1 แสน

กรณีตัวอย่างที่มีคนจะถูกยึดคอนโดฯ นายชัยณรงค์ กล่าวว่า เคสนี้ เขาเป็นหนี้ราว 3 แสนกว่าบาท แต่ถูกบังคับคดีจะยึดคอนโดฯ 3 ล้าน ซึ่งกรณีนี้ เขาแจ้งว่าต้องการจะปิดบัญชี จึงไม่ได้คิดเบี้ยปรับประมาณ 1 แสนบาท

กรณีที่เกิดขึ้น จึงเกิดดราม่า...ทำไมคนเบี้ยวนัดชำระหนี้ จึงถูกช่วยเหลือขนาดนั้น ผู้จัดการกองทุน กยศ. ยืนยันว่า "ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะเราตั้งเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน เพราะเราปล่อยกู้ให้กับคนเป็นล้านคน ซึ่งเราบอกกับทุกคนว่า หากใครผิดนัดชำระหนี้ เราจะไม่คิดเบี้ยปรับให้เลย ถ้าต้องการมาปิดบัญชี เรื่องนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรพิเศษ และไม่ใช่เคสแรก"

"หลายคนที่เรียนจบแล้ว และกลายเป็นคนที่เริ่มสร้างฐานะ คนส่วนหนึ่งก็มีรถ มีบ้าน บางครั้งเราก็เข้าใจว่า คนส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องไปซื้อของที่จำเป็นในชีวิตก่อน บ้าน รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ในขณะที่ กยศ. เองก็มีดอกเบี้ยที่ถูกมาก อาจจะชำระเป็นส่วนหลังก็ได้ เพราะจ่ายรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ช้า ก็อาจจะถูกยึดรถ"

นายชัยณรงค์ ยืนยัน กยศ. ก็เข้าใจทุกคน ถึงแม้แต่คนที่ผิดนัดชำระหนี้ ก็ยังลดเบี้ยปรับให้ จาก 7.5% เหลือ 0.5%

...

ปลื้มใจ 4 ปี ไม่เคยใช้เงินแผ่นดิน เป็นเงินรุ่นพี่ ส่งต่อรุ่นน้อง

“สิ่งที่ดีใจคือ วันนี้เราไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินอีกแล้ว โดยเริ่มไม่ได้ใช้ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งตอนนี้เราใช้เงินหมุนเวียนอยู่ ซึ่งมีสินทรัพย์ราว 3.6 แสนล้าน ซึ่งถือเป็นเงินที่ “รุ่นพี่” ชำระเพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือรุ่นน้อง”

เมื่อถามว่า ได้มีรุ่นพี่มาชำระเงินกู้มากขึ้น หลังเกิดเคส “ครูวิภา บานเย็น” หรือไม่ นายชัยณรงค์ ยอมรับว่ามีส่วนหลายอย่าง เพราะเคสครูวิภา ทำให้คนทั่วไปรู้จัก กยศ. มากขึ้น ซึ่งคนเคยเป็นหนี้ มีความเข้าใจผิดว่า “ไม่ต้องใช้คืน” ก็ได้ แต่เมื่อเกิดเคสครูวิภา ทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้น

ตอนนี้ ครูวิภา ตอนนี้ไม่ต้องจ่ายเงินแล้ว บางคนปิดจบไปแล้ว บางคนก็ยังเหลืออยู่ ซึ่งเวลานี้ครูวิภาไม่ต้องแบกภาระเรื่องนี้แล้ว ส่วนเงินกู้ที่เหลือ ที่ครูเคยค้ำให้ นักเรียนที่กู้ก็แสดงตัวมาชำระหนี้ต่อ ครูเองก็ไม่ถูกยึดทรัพย์และไม่ต้องจ่ายเงินแทนลูกศิษย์อีก

แล้วกรณีที่คล้ายครูวิภา ที่เคยเกิดขึ้น เป็นอย่างไรกันต่อ ผู้จัดการ กองทุน กยศ. บอกว่าวันนี้เรามีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเวลานี้ผ่านวาระ 1 แล้ว หากผ่านสภาฯ จริงๆ ก็จะสามารถช่วยเหลือแปลงหนี้ใหม่ได้

ยกตัวอย่าง คนที่เคยถูกฟ้องและยึดทรัพย์ไปแล้ว เราจะเปิดโอกาสให้เขามาแปลงหนี้ใหม่ ด้วยการเอาหนี้เดิมเป็นอันระงับ แล้วหนี้ใหม่เอามาผ่อนต่อ หากผ่อนต่อแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร “เบี้ยปรับ” เราก็จะยกหนี้ให้ เราขอแค่เงินต้นคืน เพื่อขอส่งมอบโอกาสให้เด็ก

...

นักเรียนกู้ได้ ไม่จำเป็นต้องมีคนค้ำประกัน

ผู้จัดการกองทุน กยศ.ยืนยันว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือการ “ยกเลิกค้ำประกัน” ซึ่งปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษากู้เงินไม่จำเป็นต้องมีคนค้ำ ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีเคส พ่อแม่ที่เป็นลูกหนี้ และโดนฟ้อง ต่อมามีลูกมาขอกู้อีก เราก็ยังให้กู้ ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น ซึ่งยืนยันว่า กยศ. ต้องการให้โอกาสคนได้เรียน

ส่วนกรณีการ “หักเงินเดือน” ลูกหนี้ ตรงนี้เรามีกฎหมายตัวหนึ่งที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ได้ เราจะรู้ว่าเขาทำงานที่ไหน ซึ่งเมื่อเราทราบว่าเขาทำงานที่ไหน ก็จะแจ้งไปยังนายจ้าง เพื่อขอให้หักเงินเดือนตามที่เขาได้มีการตกลงกับเรา เช่น ปีละ 12,000 บาท เราก็หักเดือนละ 1,000 บาท บางคนอาจจะจ่ายไม่ไหว เราก็ลดให้เหลือเดือนละ 10 บาท ก็ได้ ซึ่งเราถือว่าเราเป็นกองทุนที่ให้โอกาส

ช่วงท้าย ผู้จัดการกองทุน ได้ฝากไปถึงบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือพ่อแม่ว่า ไม่ต้องเป็นห่วง กยศ. ยังคงเป็นหลักประกันให้กับเด็ก ไม่ว่าใครเดือดร้อน สามารถกู้ได้ทุกคน และการกู้ไม่ได้ยาก ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ เราให้ค่าเทอม ค่าครองชีพอีกเดือนละ 3,000 บาท เรียนจบ 2 ปี ยังถือเป็นช่วงปลอดหนี้ และมีเวลาผ่อนอีก 15 ปี โดยคิดดอกเบี้ยแค่ 1%

...

ส่วนคนที่เป็นหนี้แล้ว อยากให้ช่วยส่งมอบโอกาสให้รุ่นน้อง มีน้อยก็ชำระน้อย มีมากก็ชำระมาก อยากให้อยู่ด้วยความเข้าอกเข้าใจ

สิ่งที่ปรับเปลี่ยนสำคัญคือ การชำระเงินคืน ซึ่งที่ผ่านมามีการตัดที่ดอกเบี้ยก่อนทำให้ไม่ถึงเงินต้น ซึ่งต่อมามีการปรับเปลี่ยนด้วยการตัดเงินต้นก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย และดอกเบี้ยปรับ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น

“เงินกู้แบบนี้หากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อจริงๆ ถือว่า กยศ. เป็นฝ่ายที่ไม่คุ้มค่า แต่เราเป็นกองทุนของรัฐ ที่ต้องการให้เป็น “ทุนมนุษย์” เพื่อให้โอกาสเข้าถึงการศึกษา... เวลาคนเราขาดโอกาส จึงได้ตัดสินใจกู้เงินไป ซึ่งในความเป็นจริง หลังจากที่กู้เงินไปแล้ว และเรียนจบ เขาไม่ได้เอาเงินมาใช้หนี้ทันทีนะ เขายังเอาไปใช้จ่ายในชีวิต ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อมือถือใหม่ พอถึงจุดหนึ่ง แล้วก็ชำระหนี้ กยศ. ไม่ไหว ซึ่งความจริง กองทุน กยศ. ถือเป็นกองทุนที่มีความ “ใจดี” ที่สุดแล้ว เพราะเราคิดดอกเบี้ยรายปี แตกต่างจากเงินกู้อื่นๆ” ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Chonticha Pinijrob  

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ