กีฬามีแพ้ มีชนะ แต่...ถ้าแพ้บ่อยๆ แพ้กับทีมที่ไม่เคยแพ้ อันนี้ก็ต้องทบทวนใช่ไหม...?

ถ้าจะหาผู้รับผิดชอบกับการพ่ายแพ้ ในการแข่งขันฟุตบอล U19 ชิงแชมป์อาเซียน ในรอบรองสุดท้ายระหว่างทีมชาติไทย และ สปป.ลาว ในสกอร์ 0-2 เมื่อหลายวันก่อน คงต้องถามไปที่ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ในฐานะนายก ส.บอลไทย กับวลีที่เคยกล่าว “ใครไม่อาย...ผมอาย” ครั้งเมื่อมีการปลด “ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง” และเลือกใช้โค้ชต่างชาติ

แต่กับการพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น คำถามคือ ฟุตบอลทีมชาติไทย ก้าวอยู่กับที่หรือถอยหลังลงคลอง หรือชาติต่างๆ ในอาเซียนเก่งขึ้น? แล้วทำไมเราถึงมีสภาพเช่นนี้..

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ โค้ชตุ้ม รังสิวุฒิ ชโลปถัมภ์ ผู้บรรยายกีฬาชื่อดัง อดีต ผู้จัดการสโมสรตำรวจ และอุดรธานี เอฟซี

โค้ชตุ้ม กล่าวถึงการพ่ายแพ้ของทีมชาติไทย U19 ว่า เราคงต้องมองไปถึงการฝึกซ้อม และพื้นฐานฟุตบอล ของทีมเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือ ทีมชาติชุดใหญ่ ซึ่งพบว่าแต่ละคนมี “ความสามารถเฉพาะตัว” น้อยลง เรียกว่าแทบจะไม่มีเลย ยกเว้น “เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์” เพียงคนเดียว ที่โดดเด่น ซึ่งการเติบโตของ “เจ” ขึ้นมาในเวลานี้ก็เพราะเป็นการทุ่มเทของพ่อ พ่อพาเจไปแข่งบอลในที่ต่างๆ โดยไม่มีโรงเรียนไหนรับเขาเลย...

นี่เองคือต้นตอของปัญหาฟุตบอลไทย ที่ต้องไปเริ่มต้นเข้าสังกัดในโรงเรียนต่างๆ แทบที่จะมีการเริ่มฝึกฝนกับสโมสร กลับกันทางสโมสรก็ไปเลือกช็อปจากโรงเรียนดังๆ เทพศิรินทร์ อัสสัมชัญ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการใช้แท็กติกมากเกินไป เช่น สอนให้ส่งบอลแบบ 1-2 ออกริมเส้น โยน... ส่งผลให้เด็กมีความสามารถเฉพาะตัวน้อยไป

...

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

ชำแหละเกม ไทย แพ้ สปป.ลาว 0-2

โค้ชตุ้ม บอกว่า ปัญหาโลกแตกของทีมไทย คือ หากเจอทีมไหนเล่น “เพรสซิ่ง” ก็ไปไม่เป็น วิธีการของเราก็คือการรับในแดน ตั้งโซน แต่เมื่อเจอเกมเร็ว เพรสซิ่ง ก็ไปไม่รอด แต่ประเทศอื่น เวลานี้เขาพยายามสอนเรื่องการใช้ความสามารถเฉพาะตัว โดยเฉพาะ 1:1 แต่ของไทย “บ้าระบบ” พอเด็กถูกสอนแต่แบบนี้ เมื่อเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็เปลี่ยนแปลงไม่เป็น

ในขณะที่เด็กของชาติอื่นๆ เขาส่งเสริมให้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ เด็กที่มีพรสวรรค์ ความสามารถเฉพาะตัว ไม่ได้มีทุกคน แต่ก่อนอื่นต้องเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงอย่างเต็มที่เสียก่อน

“ถ้าไม่เชื่อ ลองไปดูเด็กโรงเรียนต่างๆ เล่น ม.1 หรือ ม.2 โค้ชจะสอนให้ใส่แท็กติกอย่างเดียว เด็กบางคนจึงรู้สึกว่า “เรียนฟุตบอล” แล้วไม่เห็นได้อะไร.. ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องไปถึงเด็กรุ่นโตขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำคือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถเสียก่อน เด็กที่มีทักษะ ไม่จำเป็นต้องมีเยอะ หรือเก่งทั้งทีม แต่อย่างน้อยในแต่ละทีมควรจะมี 1-2 คน เราต้องสอนให้เด็กแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ ที่แก้ไม่ได้ เพราะไม่ได้มีการฝึกฝนมา..”

โค้ชตุ้ม รังสิวุฒิ ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถโทษเด็กได้เลย เพราะถือเป็นปัญหาสะสมมานานแล้ว หากมองนักเตะแบบ “ดุสิต เฉลิมแสน” หรือ “ตะวัน ศรีปาน” เราแทบไม่ได้เห็นแล้ว นักเตะบางคนพอมีชื่อเสียงหน่อย บอกว่าเก่งแล้ว..ซึ่งมันไม่ใช่เลย

“ผมรู้สึกเห็นใจเด็ก ที่เห็นวงการฟุตบอลเราถอยหลังลง... จะเรียกว่า “คงที่” ยังไม่ได้เลย เพราะหากเทียบกับสมัยก่อน ในอาเซียนไม่มีใครสู้เราได้ แต่ปัจจุบันไม่มีใครกลัวไทย ในขณะที่ประเทศรอบข้างเราก็พัฒนามากขึ้น ที่ผ่านมาก็ไม่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง เรียกว่า 2 ปีทีก็ค่อยมาคุยกัน เรื่องแข่งขันซีเกมส์”

ย้อนดูสมาคมกีฬาประเภทอื่นรุ่ง แต่ ส.ฟุตบอล กลับแย่ลง.. แนะทางแก้ต้องปั้นเด็ก เติบโตในสโมสร ไม่ใช่ในโรงเรียน

โค้ชตุ้ม ยังได้กล่าวถึงสมาคมกีฬาประเภทอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น กรีฑา หรือ วอลเลย์บอล นายกสมาคมวอลเลย์บอล ไม่ใช่นักกีฬาเก่าเหมือนกัน แต่คนที่เขาใช้เป็นมือขวา หรือกุนซือ ล้วนเป็นคนที่มีประสบการณ์

...

แต่เมื่อหันมามองที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย คำถามคือ...ใช้ใคร!?

การปั้นเด็ก เรามีปัญหา เพราะเด็กต้องเรียนหนังสือ เป็นนักเตะของโรงเรียน โค้ชก็สอนแบบหนึ่ง พอมาเรียนกับสโมสรก็อีกแบบหนึ่ง ทำให้เด็กเกิดการสับสน อึดอัด ซึ่งการสอนให้เด็กเก่ง มาสอนตอนอายุ 17 ปี สอนไม่ได้แล้ว

“ฉะนั้น สมาคมฟุตบอลฯ ต้องคุยกับทางโรงเรียนต่างๆ หาทางออกในเรื่องนี้ ถ้าใครอยากฝึกกับสโมสร สร้างอาชีพ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่โรงเรียนที่แข่งขันฟุตบอลกันสูงๆ อาจจะเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน แต่..มาเรียนฟุตบอลกับสโมสร พยายามดึงเด็กเข้าสังกัด ถ้าทำแบบนี้เชื่อว่าจะได้ผลที่ดีแน่นอน เพราะโค้ชโรงเรียนกับ Academe มันคนละแบบ เพราะเป้าหมายคนละแบบ โค้ชโรงเรียนต้องการแชมป์ ก็จะพยายามอัดเรื่องทีมเวิร์ก กลับกัน หากเด็กมีความสามารถให้เล่นระบบไหนก็เล่นได้”

โค้ชตุ้ม เชื่อว่า หากเด็กได้อยู่สโมสร เขาได้เห็นรุ่นพี่เล่นก็จะเกิดการพัฒนา การสร้างทีมฟุตบอล นักฟุตบอล เราต้องสร้างในหลักสากล

“อาชีพ” นักฟุตบอล มีความมั่นคง ต้องเริ่มสร้างในระดับสโมสร

...

ทีมข่าวถามว่า ปัจจุบัน “อาชีพนักฟุตบอล” มีโอกาส และมั่นคงแค่ไหน... “โค้ชตุ้ม บอกว่า “ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนที่เลือกมาเล่นฟุตบอล ต่างมีฝันเป็นนักบอลอาชีพอยู่แล้ว เพราะปัจจุบัน รายได้นักบอลก็ถือว่ามีค่าตัวสูงระดับหนึ่ง เรียกว่ารายได้ต่อเดือนหรือต่อปี สามารถอยู่ได้แล้ว ถ้าพอมีชื่อเสียงรายได้รายเดือนก็หลักแสน หรือ 2 แสนบาท เรียกว่าดีกว่าทำงานประจำ ซึ่งนักฟุตบอลส่วนใหญ่มากกว่า 80% มาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย ฉะนั้น หากมีการพัฒนาตัวเองจนมีความสามารถก็จะได้เงินสูงตามไปด้วย แต่ถ้าไม่มีชื่อเสียง ฝีเท้าระดับกลางๆ ก็ยังได้เงินเดือน 40,000 – 50,000 บาท

เราไม่มีความหวังเลย หรือสำหรับวงการ “ฟุตบอลไทย”? โค้ชตุ้ม ตอบว่า เราไม่มีหวัง เพราะสมาคมไม่สร้างความหวัง คำถามคือ สิ่งที่ทำได้เวลานี้ ทำไมคุณไม่จัดแข่งฟุตบอลเยาวชน ทำไมไม่เปิด Academy ในสโมสรทั่วประเทศ เริ่มต้นเลยตั้งแต่อายุไม่เกิน 12 ปี หรือรุ่น 15 ปี ซึ่งพออายุ 17-18 ก็อาจจะเริ่มติดชุดใหญ่แล้ว สิ่งที่สมาคมต้องสร้างคือ ต้องมี “ทัวร์นาเมนต์” ไม่ใช่แค่ไปจ้องดึงเด็กจากโรงเรียนต่างๆ ไม่ใช่แค่จับมือดีลกับโรงเรียนจัดแข่งขัน

“ถ้าเด็กติดสังกัดสโมสร ตั้งแต่อายุ 12 ปี เด็กคนนั้นจะภูมิใจแค่ไหน แล้วก็ไปเรียนหนังสือกับโรงเรียนใกล้ ตกเย็น ก็ไปซ้อมบอลกับสโมสร แบบนี้ดีกว่าไหม หรือจะส่งไปแข่งกับบอลโรงเรียนก็ทำได้ แบบนี้พออายุ 14-15 ปี เซ็นสัญญาเขาสังกัดได้แล้ว แบบนี้เด็กจะมีขวัญกำลังใจ แล้วสมาคมฯ ก็จัดทัวร์นาเมนต์การแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันมีน้อยและฉาบฉวย ลองดูต่างประเทศสิ เด็กๆ อยากมาเรียนกับสโมสร ขนาดโรนัลโดยังอยากให้ลูกมาอยู่แมนยูฯ เลย สิ่งที่กล่าวมานี้เคยพูดมาทั้งสิ้น แต่ไม่เห็นทำ...”

...

ฟุตบอลไทยถอยหลัง ส.บอลไทย ต้องรับผิด แก้ปัญหาที่ราก

สิ่งที่เกิดขึ้น สมาคมฟุตบอลฯ ควรทำอย่างไร นายรังสิวุฒิ บอกว่า แน่นอนสมาคมฯ ต้องรับผิดชอบภาพรวมทั้งหมด 1. ต้องแก้ปัญหา ด้วยการวางรากฐาน จัดการแข่งขันตั้งแต่เด็กเยาวชน 2. ระบบผู้จัดการทีมฯ คำถามคือ ควรจะมีอยู่หรือไม่

“การมีผู้จัดการทีมฯ มันเป็นเรื่องล้าหลัง หมดสมัยไปแล้ว รุ่น “วรวีร์ มะกูดี” แทบไม่มีผู้จัดการทีมเลย เขาให้ตัวแทนสมาคมฯ เข้ามาดูแล ในขณะที่ “โค้ชต่างชาติ” ที่เข้ามา เขาก็เกรงใจ ที่ผ่านมามักมีคำพูดว่า “คนไทยอยู่เป็น” แต่โค้ชต่างชาติก็ “อยู่เป็น” เช่นกัน โค้ชต่างชาติก็จะเอาใจคนจ่ายตังค์”

โค้ชตุ้ม กล่าวว่า เวลานี้ไม่ว่าโค้ชคนไหนมาก็เหนื่อย เพราะทรัพยากรที่มีผลิตไม่ทัน สิ่งที่ควรทำ ควรเปลี่ยนระบบการเล่นก่อน นักเตะในไทยลีก หลายคนมีศักยภาพเล่นได้ การเล่นบอลแบบไทยต้องเล่นแบบใช้ความคล่องตัว จะว่าไปรุ่น “ซิโก้” ถือว่าทำถูกแล้ว ใช้ประโยชน์จากความตัวเล็ก เคลื่อนที่เร็ว ต่อบอลกันเร็ว ด้วยที่ตัวเล็ก บางครั้งฝรั่งก็วิ่งตามเราไม่ทัน พลิกตัวช้ากว่า แต่ปัญหาเรื่องแผงหลัง ก็ต้องไปแก้ ซึ่งเวลานั้นถือว่าทีมชาติไทยเล่นได้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ดูแล้วเพลิน เล่นกันทั้งทีม เสียดายที่เราทิ้งโอกาสในการพัฒนาตรงนั้น

มีหลายฝ่ายกดดัน นายก ส.บอลไทย ควรลาออก โค้ชตุ้ม กล่าวว่า นี่ก็คือปัญหา เวลาจะเลือกตั้งนายกฯ สมาคม ก็อย่าเลือกเขาสิ แต่...มีปัญหาคือ สโมสรต่างๆ ก็ไปเลือก อีกทั้งคนที่เป็นผู้บริหารสมาคมฯ กลับไม่ได้คนที่มีความรู้จริงๆ ไปนั่งทำงาน บางคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ก็เลยไม่ลงสมัคร บางคนอยู่ในวงการฟุตบอลมาทั้งชีวิต ก็ไม่ได้ทำงานสมาคม

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานของ “โค้ช” คือ ควรให้อิสระในการทำงาน และฝรั่งใช่ว่าจะดีเสมอไป โค้ชไทย เก่งๆ เยอะ บางคนไปเรียนโค้ช ใช้เงิน 4-5 แสน กลับมาก็ไม่ให้โอกาสเขา การใช้งานโค้ช ต้องให้อิสระแล้วผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ โดยเฉพาะการทำทีมชาติ คุณต้องให้โอกาส เลือกตัวนักเตะจากทั่วๆ จริงๆ ส่วนจะทำรูปแบบไหน ก็ต้องออกแบบให้เหมาะกับคนไทย เชื่อว่า หากทำดี ในอาเซียน เราก็สามารถก้าวข้ามได้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ