อะไรคือภาพสะท้อนการตัดสินใจของชาวกรุงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ผู้ชนะ" ชนะเพราะอะไร? และ "ผู้แพ้" แพ้เพราะอะไร? วันนี้ "เรา" จะพาทุกท่านไปรับฟังบทวิเคราะห์จาก 3 ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่เบื้องหลัง โพลผู้ว่าฯ กทม.มาตั้งแต่ต้น คือ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล และ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล

: หากเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อาจไม่แพ้ยับเยิน 

: คนกรุง เหนื่อยล้า ความขัดแย้งทางการเมืองจนกระแส ไม่เลือกเราเขามาแน่ ปลุกไม่ขึ้น

: ชาวกรุงเทพฯ มองข้ามความขัดแย้งและต้องการผู้ว่าฯ กทม. เพื่อทำงาน

ผู้ชนะ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ :

ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ :

...

ข้อได้เปรียบของ “คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คือ ออกตัวเป็นคนแรกว่าต้องการลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ  กทม. รวมทั้งมีการแสดงความมั่นอกมั่นใจมาโดยตลอดว่า พร้อมที่จะทำงาน ซึ่งจุดนี้พูดกันตรงๆ คือ คุณชัชชาติ กอบโกยคะแนนส่วนตัวเอาไว้ล่วงหน้าก่อนคนอื่นๆ นานแล้ว และด้วยอาจจะเพราะเหตุนี้ จึงทำให้คนกรุงเทพฯ ที่ตัดสินใจล่วงหน้าเอาไว้นานแล้ว จึงไม่ยอมเปลี่ยนใจ แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการหาเสียงจะมีความพยายามปลุกเร้าในทำนองที่ว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เพื่อหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในช่วงโค้งสุดท้ายขึ้นมาก็ตาม

ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของ สวนดุสิตโพล ที่ว่า คนกรุงเทพ “จะไม่เปลี่ยนใจ” ในช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีสัดส่วนสูงถึง 91.67% ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มคนที่ “เปลี่ยนใจ” มีเพียง 8.33%

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวคะแนนในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คราวนี้ ค่อนข้างเป็นไปด้วยความระมัดระวังตัวกันสูงมาก ด้วยอาจจะเพราะเกรงว่าจะเกิดข้อผิดพลาด จนถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปแฉจนเกิดแพ้ฟาล์ว และถูกนำไปขยายผลจนกระทั่งมีผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้นก็เป็นได้

“ครั้งนี้หัวคะแนนมีความเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อย หรืออาจจะเรียกว่าเคลื่อนไหวแบบระมัดระวังตัวมาก เพราะกลัวจะกระทบต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้มาถึง เพราะหากพลาดขึ้นมาจะกลายเป็นชนักติดตัว และถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ได้”

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล

ความเห็น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา :

คุณชัชชาติ ทำการบ้านเรื่อง กทม. มาได้ดีมากและยังสามารถเกาะติดกับความเป็นอยู่ของชาว กทม.มาได้อย่างยาวนาน ขณะเดียวกันชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยสามารถทิ้งห่างคะแนนคู่แข่งแบบ 4-5 เท่า ย่อมเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า “ขั้วตรงข้ามการเมือง” เดินยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงได้อีกเช่นกันด้วย

“หากตัดสินใจเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเท่าที่ซูเปอร์โพล สอบถามความคิดเห็นประชาชนมา พบว่าได้รับความนิยมจากชาว กทม.สูง และมีการเปิดตัวและลงพื้นที่ว่าพร้อมสำหรับการเลือกตั้งมานานพอสมควร ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ บางทีผลลัพธ์ที่ได้ อาจจะไม่พ่ายแพ้ขาดกันด้วยคะแนน 4-5 เท่าแบบนี้ก็เป็นได้”

การไม่เปิดใจรับฟังเสียงของประชาชน รวมถึงไม่ได้นำข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ หนำซ้ำยังนำบุคคลที่มีฐานเสียงใกล้เคียงกันมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยเชื่อมั่นเพียงบารมีทางการเมืองเพียงอย่างเดียว “มันจึงถูกเสียงของประชาชนตัดสินและท้าทาย ตอบกลับไปให้ว่า พวกเขามีตัวตนมากกว่า”

“และนี่คือเสียงสะท้อนกลับถึงรัฐบาลว่า โอกาสมีไม่มากนักในอนาคตอันใกล้นี้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล

...

ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ :

“คำตอบง่ายๆ เลย คือ คนกรุงเทพต้องการคุณชัชชาติ และคนกรุงเทพฯ มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่ การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้ คุณชัชชาติจึงได้คะแนนจากทั้งฐานพรรคเพื่อไทย และกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อไทย รวมถึงกลุ่มที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยด้วย”

ประการแรกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมองข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปแล้วและเชื่อว่า คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สามารถเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ดีได้ รวมถึงไม่สนใจเรื่องอดีตทางการเมืองที่ผ่านมาด้วย ประการที่สอง ผลของการลงพื้นที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถให้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริงๆ และนี่คือ บทเรียนสำคัญที่สอนให้ทุกพรรคการเมืองได้เห็นแล้วว่า “อย่ายึดติดกับสงครามครั้งก่อน” เพราะสถานการณ์ ณ ปัจจุบันย่อมไม่เหมือนกับสถานการณ์ที่เคยผ่านล่วงไปแล้ว

“หลายคนไปยึดติดกับสงครามครั้งก่อน เช่น ไม่จำเป็นต้องรีบเปิดตัว เปิดตัวก่อนเดี๋ยวโดนโจมตีก่อน ไม่ใช่แล้วครับ เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดแล้วครับว่า คิดผิดแล้ว การเปิดตัวก่อน ลงพื้นที่ก่อนของคุณชัชชาติ แสดงให้เห็นชัดเลยว่ามันได้ประโยชน์ 2 ปีที่ผ่านมาช่วยสร้างฐานให้คุณชัชชาติจากเดิมที่มีประมาณ 20% จนโดดมาเป็น 30-40% และวันนี้คือ 50%”

และอีกประเด็นที่แสดงให้เห็นชัดว่า การยึดติดกับสงครามครั้งก่อนจนทำให้พ่ายแพ้คือ การปล่อยเวลาให้ล่วงเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายจริงๆ แล้วจึงพยายามหันไปเน้นกลยุทธ์ “โจมตีฝ่ายตรงข้าม” ซึ่งเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ครั้งนี้เห็นชัดเลยว่า “ไม่ได้ผล” และ “สายเกินไปแล้ว”

...

“ปี 2556 อาจจะใช้ได้เพราะการแก้ข่าวมันทำได้ยาก แต่ในยุคนี้โซเชียลมีเดียทำให้การแก้ข่าวสามารถทำได้แทบจะในทันที และสามารถตอบโต้กลับจนกระทั่งเห็นผลได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น และนี่คืออีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่พรรคการเมืองจะต้องปรับกลยุทธให้เท่าทันโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป”

ประการที่สาม การรู้จักประคองตัวเมื่อรู้ตัวเองว่า “คะแนนนำขาด” คุณชัชชาติ เดินเกมดีมากในการ “ตอบโต้” กลยุทธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายของฝ่ายตรงข้าม โดยการหลีกเลี่ยง “การปะทะวาทกรรม” จนกระทั่งทำให้เรื่องราวมันลุกลามขยายใหญ่โตออกไป ซึ่งหากสังเกตดีๆ คุณชัชชาติ จะตอบโต้เพียงสั้นๆ เช่น “ผมยืนยันว่าผมเป็นอิสระ” หรือ “ขอให้ประชาชนอย่าไปเชื่อ Fake News” จากนั้นก็จะไม่ตอบอะไรอีกเลย แค่นี้ทุกอย่างก็จบ...

“คือ...ไม่จำเป็นต้องพูด ก็ไม่ต้องพูด นั่งเรือนิ่งๆ ให้เรือมันลอยเข้าฝั่งไปด้วยตัวของมันเอง อย่าลุกขึ้นมาเต้นกระโตกกระตากจนกระทั่งเรือมันรั่ว และนี่คือวิธีปฏิบัติของผู้ที่มีคะแนนนำ”

ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล 
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล 

...

เหตุใดจึงพ่ายแพ้ :

1. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง :

ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ :

“คำตอบง่ายๆ เลยสำหรับกรณีนี้คือ ผู้ว่าฯ กทม. ทำไมจึงต้องมาแข่งกับ รองผู้ว่าฯ กทม.ด้วย แค่นี้ก็จบแล้ว”

เพราะหากมีการดำเนินยุทธศาสตร์เอาคะแนนของ พล.ต.อ.อัศวิน มากองรวมกับ คุณสกลธี เสียตั้งแต่แรกทุกอย่างมันก็จะง่ายขึ้น นอกจากนี้ จุดที่พลาดมากๆ ของ พล.ต.อ.อัศวิน คือ การอ้ำๆ อึ้งๆ ว่าจะลงหรือไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่แรก กว่าจะชัดเจนว่าจะลง ทุกอย่างมันก็สายเกินไปเสียแล้ว นอกจากนี้ดูเหมือน พล.ต.อ.อัศวิน เองก็ดูเหมือนจะไม่สามารถตอบคำถามสำคัญของชาว กทม. ได้อีกด้วยว่า “อยู่มา 5-6 ปี แล้ว ทำอะไรให้ กทม. ดีขึ้นได้บ้างหรือไม่? ด้วย”

ความเห็น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา :

ในช่วงแรกที่ซูเปอร์โพลสำรวจความเห็นประชาชน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พล.ต.อ.อัศวิน ได้รับคะแนนนิยมเพียงไม่เกิน 1-2% เท่านั้น ในขณะที่มากถึง 97-98% บอกว่าจะไม่เลือก พล.ต.อ.อัศวิน เพราะอยู่มา 5-6 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากนี้ การแสดงออกของ พล.ต.อ.อัศวิน ในช่วงที่ กทม. ประสบปัญหาต่างๆ ก็ดูจะไม่เข้าตาคน กทม. พอสมควร สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในความทรงจำของคนกรุงมาโดยตลอดอีกด้วย

ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ :

ประการแรก การเป็นผู้ว่าฯ กทม.มานานร่วม 5-6 ปี ทำให้มี “จุดอ่อน” ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีเยอะมาก ประการที่สอง “อายุ” ประเด็นนี้ทำให้ พล.ต.อ.อัศวิน ไม่สามารถได้คะแนนนิยมในกลุ่มเจเนอเรชัน Z ได้เลย ประการที่สาม “โชคร้าย” ในช่วงโค้งสุดท้าย จู่ๆ ก็เกิดมีฝนตกหนักจนทำให้หลายพื้นที่ของ กทม. น้ำท่วม ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” สำหรับคนเมืองหลวงมาโดยตลอด และทำให้ พล.ต.อ.อัศวิน ต้องเสียคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย

นอกจากนี้ นับตั้งแต่นิด้าโพลทำผลสำรวจคะแนนในตัว พล.ต.อ.อัศวิน เป็นต้นมา จนเห็นได้ว่า คะแนนนิยมอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 9-12% มาโดยตลอดนับตั้งแต่เปิดตัวลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งการที่ตัวเลขไม่ขยับขึ้นไปมากกว่านี้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่า ฐานคะแนนนิยมของ พล.ต.อ.อัศวิน ที่ทำมาตลอดระยะเวลาการเป็นผู้ว่าฯ กทม. น่าจะมีอยู่เพียงเท่านั้นจริงๆ

2. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ :

ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ :

เปิดตัวช้าไปสักนิด และเสียคะแนนไปพอสมควรจาก “สารพัดการรับน้องทางการเมือง” นอกจากนี้ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า บางทีชาวกรุงเทพอาจจะเกิดความรู้สึก “เบื่อ” นักวิชาการและมองภาพ “นักปฏิบัติ” และ “มีผลงาน” จาก ดร.สุชัชวีร์ ได้ยังไม่ชัดเจนนักก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังมาผสมเข้ากับ “ความสั่นคลอนภายใน” พรรคประชาธิปัตย์เข้าพอดิบพอดีในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีกด้วย

“แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจเอาลูกหม้อของตัวเองที่ทำงานในพื้นที่มายาวนาน ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ บางทีแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์แบบเหนียวแน่นอาจจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรคได้ง่ายกว่านี้ก็เป็นได้”

ความเห็น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา :

การถูกรับน้องทางการเมืองและความสั่นคลอนภายในพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่กลบ “จุดเด่น” เรื่องวิสัยทัศน์และนโยบายของ ดร.สุชัชวีร์ ไปเสียเกือบหมด อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญในการเดินทางจาก แวดวงวิชาการ สู่ แวดวงการเมืองในท้ายที่สุด

“จากผลสำรวจซูเปอร์โพลพบว่า แฟนพันธุ์แท้พรรคประชาธิปัตย์ถึง 50% เลือก ดร.สุชัชวีร์ นอกจากนี้ ยังได้รับคะแนนจากกลุ่มขั้วตรงข้ามอยู่บ้างด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับ ดร.สุชัชวีร์ จึงถือว่าเป็นการเปิดตัวบนเวทีการเมืองที่ดีพอสมควร”

ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ :

ฐานคะแนนของคุณสุชัชวีร์ หลังเปิดตัวสมัครผู้ว่าฯ กทม. มีเพียงประมาณ 3% กว่าๆ เนื่องจากเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อยสำหรับคนกรุงเทพมหานครทั่วๆ ไป ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ มี 4% กว่าๆ รวมกันได้เพียงแค่ 8% เท่านั้น ซึ่งห่างไกลกับคุณชัชชาติ ซึ่งที่ลงพื้นที่มา 2 ปี ฐานคะแนนเสียงวิ่งไปร่วม 30% กว่าๆ เข้าไปแล้ว และกว่าที่ คุณสุชัชวีร์ จะเริ่มเป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการหาเสียงไปนานพอสมควรอีกด้วย แต่เสน่ห์ของคุณสุชัชวีร์ คือ การปราศัยหาเสียง ฉะนั้นการเริ่มสร้างฐานเสียงได้ในครั้งนี้จะมีผลดีต่อการเล่นการเมืองต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

3. สกลธี ภัททิยกุล :

ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ :

ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ความพยายามปลุกเร้าเรื่องการแบ่งขั้วทางการเมือง น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับชาวกรุงเทพฯ ที่กำลัง “เหนื่อยล้า” ณ เวลานี้ เพราะคนกรุงเทพฯ อาจจะรู้สึกว่า ความขัดแย้งต่างๆ ทางการเมือง “ไม่ได้ช่วยอะไร” และอาจจะยิ่งทำให้เกิดความ “แตกแยก” มากขึ้นอีกด้วย

ความเห็น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา :

การเปิดลงสมัครที่ล่าช้าในขณะที่ฝ่ายคุณชัชชาติทำคะแนนทิ้งห่างไปไกลมากแล้ว นอกจากนี้กว่าที่ผู้ใหญ่ในขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกันจะพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ก็ดูช้ามากเกินไป จนกระทั่งทำให้การปรับกลยุทธ์ การเชื่อมประสานการทำงาน เพื่อสร้างพลังและกระแสความนิยมผ่านอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงตอบสนองความต้องการของประชาชนจึงไม่ทันการณ์

“ในความเห็นส่วนตัวผม หากมีความชัดเจนเสียตั้งแต่แรกว่าจะส่งเพียงคนเดียวอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดูน่าลุ้นมากกว่านี้ก็เป็นได้ เพราะในช่วงโค้งสุดท้าย คะแนนคุณสกลธีดีขึ้นกว่าในช่วงเปิดตัวมาก”

ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ :

เปิดตัวช้า และเกิดการตัดคะแนนในกลุ่มผู้สนับสนุนที่ใกล้เคียงกันของ พล.ต.อ.อัศวิน ซึ่งหากจะว่ากันตามจริง หากมีการตัดสินใจส่งคุณสกลธี หรือ พล.ต.อ.อัศวิน ลงสมัครแค่คนใดคนหนึ่ง บางทีอาจทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนตัดสินใจได้ง่ายกว่านี้ และอาจจะได้คะแนนมากกว่านี้ก็เป็นได้

หากแต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตสำหรับ คุณสกลธี คือ คะแนนเสียงที่ได้รับในครั้งนี้ต้องถือว่า “ดีเกินคาด” ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการตัดสินใจใช้ “กลยุทธ์การเทคะแนนให้” มาช่วยส่วนหนึ่งในช่วงโค้งสุดท้าย แต่คะแนนที่ได้รับมาเหล่านี้ สามารถนำไปใช้สำหรับเส้นทางอนาคตทางการเมืองได้เช่นเดียวกับกรณีของ คุณสุชัชวีร์ เช่นกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :