“ปัจจุบันยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครอยู่ ผมจึงอยากขอย้ำว่า อย่าเหมารวมว่า PM 2.5 ทั้งหมดเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะ PM 2.5 สามารถเกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงโฟกัสเฉพาะค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ภายใน PM 2.5 ต่างหาก คือ อันตรายที่แท้จริง
สำหรับกรุงเทพมหานคร การปล่อยไอเสียจากยานพาหนะ คือแหล่งกำเนิดหลัก ของ PM 2.5 ที่อันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ภายใน PM 2.5 มันประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยเฉพาะ สารก่อมะเร็ง, สารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และ โลหะหนัก
นอกจากนี้ ปฏิกิริยาทุติยภูมิ (Secondary Reaction) ที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาระหว่าง แก๊สไอเสียจากยานพาหนะและแก๊สพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ยังสร้างให้เกิด PM 2.5 ชนิดใหม่ที่เต็มไปด้วยสารพิษและมีความอันตรายมากขึ้น และปัจจุบัน มีข้อมูลว่า PM 2.5 ที่เต็มไปด้วยสารพิษ ซึ่งเกิดปฏิกิริยาทุติยภูมินี้ ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกถึงมากกว่า 30% ด้วย
...
ฉะนั้น เรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ต้องเน้นย้ำและให้ความสนใจ คือ ปัจจุบันเมืองหลวงของเรา มีสารพิษอะไรบ้างที่ปนเปื้อนอยู่ใน PM 2.5 และสารพิษที่ว่านั้น จะก่อให้เกิดอันตรายอะไรบ้าง กับ ชาว กทม. ต่างหาก!”
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิชาการผู้คร่ำหวอดเรื่องปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
และในเมื่อเมืองหลวงของประเทศไทย กำลังจะได้ผู้ว่าราชการคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง อะไรคือ ข้อเสนอที่ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อยากนำเสนอให้กับผู้ว่าฯ คนใหม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษจาก PM 2.5 อย่างยั่งยืนและไม่ขายฝันให้กับชาวเมืองหลวงกันบ้าง วันนี้ เราค่อยๆ ไปร่วมรับฟังกันทีละประเด็น
ข้อที่ 1. จัดทำค่ามาตรฐานสารพิษในชั้นบรรยากาศ :
หาก กทม. เปลี่ยน ประเทศไทยก็จะเปลี่ยน เพราะฉะนั้นในเมื่อประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำค่ามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษในชั้นบรรยากาศ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ จึงควรแสดงภาวะผู้นำด้วยการทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อชาว กทม.โดยตรง เพราะจนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครใน กทม. ที่สามารถบอกได้เลยว่า เขตไหนของ กทม. มีสารพิษอะไรตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมบ้าง หรือเขตไหนของ กทม. ที่คนต้องทนสูดสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศมากที่สุด?
...
โดยหากมีการจัดทำค่ามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษในชั้นบรรยากาศแล้ว ผลที่ตามมาคือ นอกจากจะสามารถแจ้งเตือนประชาชน จากผลการประเมินความเสี่ยงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของชาวกรุงเทพฯ ได้แล้ว บางทีรัฐบาลชุดต่อไปก็อาจจะนำเรื่องนี้ไปต่อยอดในการจัดทำค่ามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษในชั้นบรรยากาศทั่วประเทศได้ต่อไปด้วย และที่สำคัญ การศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษในชั้นบรรยากาศนั้น ยังใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับงบประมาณเกือบแสนล้านบาทของ กทม.ด้วย
ข้อที่ 2. ปลูกต้นไม้เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในอาคาร (Indoor Air Pollution) :
90% ของคนใน กทม.ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในอาคาร หากแต่สิ่งที่คนมักนึกไม่ถึงคือ มลพิษในอาคารมีความร้ายแรงมากกว่ามลพิษที่อยู่นอกอาคาร ยกตัวอย่างเช่น สารพิษที่เกิดจากเครื่องถ่ายเอกสารและคอมพิวเตอร์, แบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่มักสะสมอยู่ตามเครื่องปรับอากาศ และที่สำคัญคือ สารพิษที่ปนเปื้อนใน PM 2.5 ที่ถูกพัดเข้ามาอยู่ในอาคารและออกไปลำบาก เนื่องจากอากาศไม่ค่อยถ่ายเท ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน กทม.โดยตรงทั้งหมด
...
ซึ่งประเด็นนี้ สามารถทำได้ทันที ผ่านการใช้พระราชบัญญัติการจัดการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 เรื่องการควบคุมอาคาร ด้วยการออกระเบียบให้ทุกอาคารใน กทม. ไม่ว่าจะเป็น อาคารสำนักงาน, อพาร์ตเมนต์ คอนโดมีเนียม, ต้องปลูกต้นไม้ในอาคาร หรือ ระเบียง เพราะพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นตามอาคารสูงนี้เหล่านี้ นอกจากจะสามารถช่วยดักจับ PM 2.5 ได้ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคารได้แล้ว ยังช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย
ข้อที่ 3. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหามลพิษในกรุงเทพ :
สำหรับประเด็นนี้ จุดตั้งต้นมันคือ ต้องยอมรับกันก่อนว่า กทม. เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายและคละเคล้าไปด้วยช่วงวัยที่แตกต่างกัน การรับรู้และทัศนคติเกี่ยวกับปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ย่อมมีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมจากภาครัฐที่ผ่านมา ซึ่งโดยมากมักจะเป็นแนวทางแบบ “เหมาเข่ง” จึงมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
...
แต่กลับกัน หาก ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วยการส่งเสริมให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษในกรุงเทพมหานครโดยตรง งานวิจัยเหล่านั้นจะนำไปสู่ข้อมูลสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการสร้างส่วนผสมเรื่องวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษที่เหมาะสมและลงตัวให้กับทุกๆ กลุ่มคนและช่วงวัยเหล่านั้นได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ กรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นผู้ร่วมผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย
“การลงทุนกับสิ่งก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ย่อมมีวันเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลงทุนไปกับมันสมองของเยาวชนในชาติ แต่ผมยังไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้ จากบรรดาผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนไหนเลย” ศ.ดร.ศิวัช กล่าว
ข้อที่ 4. Work From Home :
มีข้อมูลที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่าในช่วงล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สามารถช่วยลดปัญหา มลพิษทางอากาศที่ปนเปื้อนอยู่ใน PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้จริง
ด้วยเหตุนี้ ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่า หลังจากนี้เมื่อใดก็ตามที่กรุงเทพมหานคร ต้องเผชิญหน้ากับ สภาพอากาศเลวร้ายมีการกดทับของมวลอากาศ จนกระทั่งทำให้ค่ามลพิษในอากาศ เช่น สารก่อมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น หน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ นอกจากจะมีการแจ้งเตือนชาว กทม. ให้สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้านเหมือนเช่นในช่วงล็อกดาวน์แล้ว ยังควรจะต้องมีการบังคับใช้มาตรการ Work From Home กับ เจ้าหน้าที่และนักเรียนในสังกัด กทม. ทุกคน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษใน กทม.
“ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ จากวิกฤติโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทุกคน ควรตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง คือ การขายฝันเรื่องการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เพราะนอกจากอาจจะทำไม่ได้ตามที่หาเสียงไว้ เพราะเกินกว่าอำนาจที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครมี และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว
ประเด็นที่ผมนำเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ใน กทม.นี้ จะเห็นได้ว่า แทบไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอะไรมากมายอะไรเลย หนำซ้ำยังจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้อีกด้วย ผมจึงอยากวิงวอนให้ บรรดาว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ได้นำข้อเสนอของผมไปพิจารณาเพื่อปรับใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาให้กับชาว กทม. หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่างที่เกี่ยวข้อง :