• ไทยรัฐทีวีเปิดแผนปี 2565 ตั้งเป้า "ชนะขาดมากกว่านี้" ในสมรภูมิธุรกิจทีวีดิจิทัล

  • ลุยเพิ่มชั่วโมงข่าวในวันเสาร์-วันอาทิตย์ จากเดิม 8 ชั่วโมง เป็น 11 ชั่วโมง ตอกย้ำจุดเด่นการเป็นสถานีข่าวของประชาชน

  • เร่งติดอาวุธผู้ประกาศข่าว ช่วยขับเคลื่อนรายการข่าว ยังเน้นความสำคัญเทคโนโลยีดึงผู้ชมให้รู้สึกมีส่วนร่วม

ภาพรวมการแข่งขันธุรกิจทีวีในปัจจุบัน ไม่ได้มีคู่แข่งแค่สถานีโทรทัศน์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังถูกท้าทายด้วยคอนเทนต์ หรือการดูเนื้อหารายการจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT : Over The Top) อย่างผู้ให้บริการออนไลน์สตรีมมิงต่างๆ ที่มาแย่งชิงเวลาดูทีวีไปจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก 

เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมทีวี ที่ทำให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไป และไม่มีใครที่ไม่ปรับตัว รวมทั้งไทยรัฐทีวี ที่ น.ส.จิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์ไทยรัฐทีวี บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด ได้เล่าถึงการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้

...

“ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจทีวีคือ คนมีทางเลือกมากขึ้น เวลาน้อยลง เราจึงมีหน้าที่ต้องแย่งเวลาของเขามาให้ได้ ตอนนี้เราไม่ได้แข่งกับทีวีอย่างเดียวแล้ว แต่แข่งกับ OTT อย่าง Netflix, Viu, WeTV เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ของเมืองไทยไม่ได้แข่งกับเมืองไทยด้วยกันเอง แต่แข่งกับคอนเทนต์อื่นๆ ทั่วโลก เมื่อคนดูไปดูคอนเทนต์ผ่าน OTT ทำให้ภาพรวมการดูผ่านจอทีวีลดลงเป็นธรรมดา เมื่อการแข่งขันรุนแรงขึ้น ทุกคนก็ต้องปรับตัวเพื่อหาความอยู่รอด หรือจะทำยังไงให้บริหารต้นทุนให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุด โดยที่คุณภาพและอรรถรสที่เราต้องการนำเสนอให้คนดูยังคงอยู่ครบถ้วน"

สำหรับปี 2565 ไทยรัฐทีวี ได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการปรับผังรายการทีวี โดยเพิ่มชั่วโมงรายการข่าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะวันเสาร์-วันอาทิตย์ จาก 8 เป็น 11 ชั่วโมง ซึ่งมีทั้งการรายงานข่าว การเจาะลึกเหตุการณ์สำคัญ และข่าวสีสันที่อยู่ในความสนใจ เพื่อให้คนดูสามารถติดตามข่าวไทยรัฐทีวีได้ครบรส สดทั้งวัน แบบไม่รู้สึกหนักหรือเครียดจนเกินไป เพื่อตอกย้ำจุดแข็งของไทยรัฐทีวี ในด้านรายการข่าว ที่คนดูให้ความเชื่อมั่นและตอบรับที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งมีเรตติ้งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า รายการข่าวของไทยรัฐทีวีได้รับความนิยมสูงกว่ารายการวาไรตี้ บันเทิง เมื่อเทียบกับช่องเดียวกัน และช่องอื่นๆ

การเพิ่มเวลาข่าวจะมาพร้อมกลยุทธ์ที่ไทยรัฐทีวีกำลังเติมให้เป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งของรายการข่าวไทยรัฐทีวีคือ ผู้ประกาศข่าวที่มีคาแรกเตอร์ชัดเจนและมีความน่าสนใจ เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าผู้ประกาศมีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนรายการ ซึ่งเป็นความท้าทายของไทยรัฐทีวีไม่น้อย จึงได้เกิดโครงการ “ไทยรัฐตามล่าหาคอเล่า” เพื่อเฟ้นหาผู้ประกาศข่าวดาวเด่น ผู้ประกาศข่าวแต่ละคนมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ข่าวหนักๆ ข่าวทั่วไป ข่าววาไรตี้

"ปีหน้าจะเน้นการเล่าเรื่อง การทำข่าวให้เข้มข้นขึ้น จริงๆ แล้วข่าวเหมือนกันทุกช่อง แต่ผู้ประกาศจะช่วยเสริมให้มีอรรถรสในการรับชมมากยิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่เราจะเน้น ถ้านอกเหนือจากตัวรายการ เราก็จะพยายามสร้างผู้ประกาศเหล่านั้นให้มีตัวตน มีจุดยืนที่ชัดมากขึ้น"

จากจุดเริ่มต้นของการเปิดสถานีไทยรัฐทีวีเมื่อปี 2557 ที่ตั้งโจทย์ของช่องคือ คิดต่างอย่างเข้าใจ และความเป็นหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมทีวีและไม่มีรายการละคร ไทยรัฐทีวีจึงเลือกทำรายการข่าวไทยรัฐนิวส์โชว์มาชนในช่วงไพรม์ไทม์ที่ช่องทีวีรายใหญ่ที่อยู่มาก่อนมีละคร และบันเทิงวาไรตี้ดึงผู้ชมอยู่ และในวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า คิดถูกที่คิดต่างอย่างเข้าใจ

"พอทำไปก็รู้สึกว่าคิดถูกเพราะเป็นภาพจำและเป็นทางเลือกที่ชัดเจนและ เป็นการย้ำจุดยืนที่ชัดเจนของเราว่าคือข่าว เพราะไพรม์ไทม์จะเป็นช่วงที่คนจดจำว่าช่องเราคืออะไร และน่าพอใจระดับหนึ่ง เพราะเรตติ้งข่าวเราได้เรตติ้งสูงกว่าละคร เราก็ชนะมาหลายครั้งมาก ก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะมาถึงจุดที่เรตติ้งข่าวค่ำสูงกว่าละคร แต่ถ้าได้เพิ่มกว่านี้อีกก็ดี เพราะคู่แข่งก็มีเรตติ้งสูสีกับเราค่อนข้างมาก แม้เราจะมีการผลัดกันแพ้ชนะบ้าง แต่เราอยากชนะขาดกว่านี้"

...

นอกเหนือจากนี้การเล่าเรื่องด้วยภาพประกอบเสมือนจริง ที่ใช้เทคโนโลยี Immersive ไทยรัฐทีวีก็ยังคงให้ความสำคัญต่อไป และยังจะได้เห็นในรายการข่าวที่หลากหลายกว่าเดิม เพราะการนำเสนอด้วย Immersive ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าได้รับความสนใจจากผู้ชม ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่มาจากองค์ประกอบหลายอย่างที่ น.ส.จิตสุภา บอกว่า เมื่อนำมาอยู่ในรายการแล้วกลมกล่อมกำลังดี 

“จุดที่จะทำให้ตื่นเต้นหรือว้าวก็คือ การออกแบบนวัตกรรมหรือเทคนิคลูกเล่นให้เข้ากับเนื้อหา เป็นองค์ประกอบทางศิลปะ อย่างเช่นเมื่อครั้งรายงานข่าวการค้นหา 13 ชีวิตหมูป่าที่ติดถ้ำ จังหวัดเชียงราย การเสนอนั้นไม่ได้ว้าวด้วยความเสมือนจริงเพียงอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับประเด็นและกระแสข่าวในตอนนั้นด้วยว่าจะช่วยให้ใส่ลูกเล่นเข้าไปได้เยอะขนาดไหน เป็นการออกแบบให้คนทางบ้านรู้สึกมีส่วนร่วม นี่คือสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งการที่คนดูรู้สึกมีส่วนร่วม จะทำให้รู้สึกว้าวแล้วเกิดกระแสขึ้นมาได้”

และจุดแข็งนี้จะยังคงเห็นในไทยรัฐทีวีปีหน้า ที่ตอนนี้กำลังดูเหตุการณ์ต่างๆ ว่าจะสามารถนำเสนอได้อย่างไรบ้าง เช่น การเลือกตั้ง ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมและมีประสบการณ์ใหม่ๆ กับการรายงานข่าว

...

นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มประเภทรายการอื่นที่นอกเหนือจากการรายงานข่าว เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มเติม เช่น วาไรตี้ โดยที่โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เอาข่าวมาต่อยอดหรือไปพัฒนาเพื่อเป็นรายการอะไรใหม่ได้บ้าง เช่น เกมโชว์จากข่าว ซีรีส์จากข่าว นี่คือสิ่งที่ไทยรัฐทีวีต้องพยายามหาต่อไป.