เดินทางมาถึงตอนสุดท้าย สำหรับ สกู๊ปซีรีส์ ยุคโควิด กับการแข่งขันธุรกิจสตรีมมิง ที่ทุกค่ายล้วนเติบโตสวนกระแส

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เดินหน้าสัมภาษณ์ผู้บริหารหลายค่าย และวันนี้ก็ถึงคิว “Viu” ที่นำทัพสู้ศึกโดย นายธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการ Viu ประเทศไทย ที่มาเผยกลยุทธ์หมัดเด็ดในการแข่งขันคว้าชัยในศึกนี้

แม่ทัพของ Viu ประเทศไทย เปิดเผยว่า เราเป็นองค์กร หรือทีมที่คิดนอกกรอบ ในการวางแผนทุกๆ เรื่อง คือ 1 เราเป็นเจ้าแรกที่ทำโมเดลดูฟรีและจ่ายตังค์ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ณ เวลานั้น ปี 2017 ตอนนั้น คือ จ่ายตังค์ หรือไม่ก็ดูฟรีเลย เราเป็นเจ้าแรกในภูมิภาคเอเชีย 2 เราเป็นเจ้าแรกที่นำเสนอ ซีรีส์เกาหลีที่มีซับฯ ไทย ใกล้เคียงกับเวลาออกอากาศของเกาหลี มาทำในแพลตฟอร์มที่ถูกกฎหมาย”

บุกเบิกคอนเทนต์ลิขสิทธิ์ VS ของเถื่อน!

นายธวัตวงศ์ เผยว่า ช่วงที่เข้ามาทำตลาดใหม่ๆ ในปี 2017 เวลานั้น ต้องสู้กับของเถื่อนมากมาย กระทั่งมีคนถามว่า “จะไหวเหรอ เฮ้ย...มันต้องได้” เราต้องคิดให้รอบคอบ จึงเป็นที่มาโมเดลที่ดูฟรี เพราะคนที่ดูเถื่อนเขาดูฟรีอยู่ หากเราสร้างประสบการณ์ดูซีรีส์ถูกกฎหมาย และหากจ่ายตังค์จะได้ประสบการณ์ที่ดีกว่านี้ มีทั้ง HD, Full HD ไม่มีโฆษณา ดาวน์โหลดลงเครื่องได้ ซึ่งมันจะดีกว่าไปดูคอนเทนต์ที่ผิดกฎหมาย

...

“สิ่งที่ทำคือ การที่เราแปลซับฯ เร็ว ซึ่งบางเรื่องเร็วกว่า บางเรื่องเท่าๆ กัน หรือแม้บางเรื่องจะช้ากว่า แต่เรามีคอนเทนต์เยอะมาก การแปรซับฯ เร็ว วันแรกเราเข้ามาอาจจะไม่ดีที่สุด แต่เรามีทีม QC เพื่อทำให้ชัวร์ว่าคอนเทนต์เราดีมาก ตรงนั้นเราใช้เวลาตรวจสอบ อีกส่วนคือเรามีแอปฯ ซึ่งแน่นอนของเถื่อนไม่มี เพราะการมีแอปฯ ทำให้ดูจากที่ไหนก็ได้ ด้วยประสบการณ์ที่ดี”  

นอกจากนี้เราเป็นพาร์ตเนอร์กับ AIS ซึ่งทำให้สื่อถึงกลุ่มที่กว้างขึ้น ซึ่งวันแรกที่เราเข้ามา เราเป็นศูนย์ แต่ด้วยฐานของพาร์ตเนอร์ ทำให้ทุกคนรับรู้ได้ว่า ได้ดูอย่างถูกกฎหมาย ด้วยแพลตฟอร์มที่จริงจัง ทำให้ได้ประสบการณ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเล็กๆ เช่น ลิงก์ปลิว

เติบโตพุ่งพรวด สมาชิกทั่วเอเชีย 49.4 ล้านคน แปลซับฯ เร็ว มีพากย์ไทย-อีสาน

กรรมการผู้จัดการ Viu ประเทศไทย เผยว่าในช่วงเปิดตัวตั้งแต่ ปี 2017 ตั้งแต่เปิดตัวก็โตทุกปี ทั้งยอดผู้ใช้ และ Sub จ่ายเงิน ในภูมิภาคเอเชีย สมาชิก โตขึ้น 37% คนที่จ่ายเงินโตขึ้นถึง 62% เราโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนโควิด หรือแม้แต่โควิดเอง... เวลานี้ มีคนยอมจ่ายเงินเป็นสมาชิกมากกว่า 7 ล้านคน รวมกับไม่จ่ายเงินอยู่ที่ 49.4 ล้านคน ถือเป็นสถิติที่นับรวมทั้งเอเชีย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่คือ ประเทศไทย และอินโดฯ คือ คีย์หลัก 

“การแปลซับฯ เรามีการแบ่งเทียร์ เช่น คอนเทนต์ดัง ใหญ่ เราจะทำซับให้เสร็จภาย 6-8 ชั่วโมง พรุ่งนี้เช้าก็ต้องขึ้น สเตปต่อไป ขึ้นภายในเวลาเที่ยง และเทียร์สุดท้าย ภายใน 4-5 โมงเย็น ต้องขึ้น เราเป็นเจ้าแรกที่ทำคอนเทนต์พากย์ไทยเยอะขนาดนี้ มากกว่า 100 เรื่อง ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และเราเห็นแล้วว่า คอนเทนต์เกาหลีที่พากย์ไทย เจาะกลุ่มผู้ใหญ่ได้เยอะขึ้น 

สำหรับผู้ใหญ่เขาก็ไม่ได้ชอบแต่พากย์ไทย แต่ผู้ใหญ่ในภาคอีสาน เขาก็อยากได้เสียงอีสาน เราลงสำรวจความต้องการเลย และเราก็เลยได้ ไผ่ พงศธร มาพากย์ซีรีส์อีสานเลย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในแบบคนอีสาน ซึ่งเรากำลังขยายผลตรงนั้นเหมือนกัน และเรากำลังจะมีพากย์ภาษาเหนือ ซึ่งทุก segment เป็นแมสของตัวเอง ที่มีคนชอบอยู่พอสมควร  

คู่แข่ง = พันธมิตร ? 

เมื่อถามว่าใครคือคู่แข่งในสนาม แม่ทัพของ Viu เผยว่า OTT ทุกเจ้าที่แบ่งเวลาจากคนดู คือ คู่แข่ง แต่แน่นอน ว่าเราไม่ได้บอกว่าหนึ่งยูสเซอร์ ใช้บริการเดียวได้ตลอดทั้งวันได้ พูดง่ายๆ เมื่อก่อนดูทีวีก็อาจจะเปลี่ยนไปหลายช่อง ในบางทีคู่แข่งก็ขยันเป็นพันธมิตรได้เหมือนกัน เพราะแต่ละ OTT ก็จะมีจุดแข็งของตัวเอง เพื่อแชร์ตลาด ดังนั้น คู่แข่งคือ OTT ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็เป็นพันธมิตรได้ทั้งหมด 

...

ฟีดแบ็ก ไม่ไหลลื่น จ่ายแล้วยังมีโฆษณา 

สำหรับเสียงตอบรับของผู้ชม กรณีชมไม่ไหลลื่น หรือจ่ายเงินแล้วยังมีโฆษณา นายธวัตวงศ์ ยืนยันว่า เราให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 เรามีด่านหน้าในการรับเรื่องและแก้ปัญหา ส่วนใหญ่ปัญหาจากทางเทคนิคจากการใช้งาน ไม่เกิน 6 ชั่วโมงเราก็จะแก้ นอกจากปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เวลา ก็จะบอกยูสเซอร์ 

“ส่วนพรีเมียมยูสเซอร์ ที่บอกว่ายังเห็นโฆษณา เราอยากจะยืนยันว่า เราไม่มีโฆษณาคั่น ไม่มีวิดีโอ เข้ามาขัดกลาง แต่ตัวแบนเนอร์ เรายังมีอยู่ แต่เมื่อเปิดเต็มจอ มันไม่ได้ขัดต่อการรับชม เรายังย้ำว่า เราให้ความสำคัญกับประสบการณ์การรับชม” 

ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการ Viu ประเทศไทย
ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการ Viu ประเทศไทย

ออริจินัลคอนเทนต์ไทย-เกาหลี คือ หัวใจ Viu  

...

นายธวัตวงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า คอนเทนต์ไทย ซีรีส์ไทยในระดับภูมิภาคก็ดังอยู่พอสมควร ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย การผลิตซีรีส์ไทย ชื่อ การทำซีรีส์ไทย ไม่ได้แค่จะเสริมความแข็งแกร่งในไทย ยังเสริมความแข็งแกร่งในต่างประเทศด้วย ตอนนี้กำลังมีซีรีส์เรื่อง Bite me (ส่งร้อนเสิร์ฟรัก) ซีรีส์สายวาย ตั้งแต่ปีหน้า เรามองไว้อย่างต่ำ 4 เรื่อง ซึ่งโควิดมันอิมแพคครับ เปิดกล้องเมื่อไหร่ก็เดินกล้องถ่ายได้

“ปีหน้า เห็นแน่ๆ 4-5 เรื่อง ที่เป็นโปรดักชันในไทย แต่ก็ต้องดูหลายๆ อย่าง เช่น โควิด โปรดักชันต่างๆ และในระดับภูมิภาคก็จะมีของเกาหลีเข้ามาอีก 4 เรื่อง เช่นเรื่องที่ 3 จะฉายเดือนนี้ lover of the red sky และเรื่องที่ 4 เรื่องใหญ่ นักแสดงนำหญิง ซองเฮเคียว ที่แสดง descendants of the sun” 

ในอนาคตอันใกล้ เรายังเน้นคอนเทนต์เอเชีย เพราะคอนเทนต์เอเชียค่อนข้างแข็งแรง และมีอีกหลายอย่างที่ทำได้ เอาง่ายๆ คือ เราสามารถทำคอนเทนต์ไทยให้ดังไปสู่ภูมิภาคได้ในหลายๆ เรื่อง 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

...

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ