• คดีสะเทือนขวัญฆ่านักท่องเที่ยวสาวชาวสวิตเซอร์แลนด์ วัย 57 ปี พบศพบริเวณน้ำตกโตนอ่าวยน ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ขณะมาท่องเที่ยวในโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ตามนโยบายรัฐบาล ในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน

  • แน่นอนได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ระหว่างที่รัฐบาลพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดระบาด ดิ้นรนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่องจ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่แรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น เริ่มจาก "สมุยพลัส" ท่ามกลางการท้วงติงของหลายฝ่าย แต่ก็ต้องเดินหน้ากอบกู้สถานการณ์

  • ก้าวต่อไปของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเป็นอย่างไร หลังการเสียชีวิตปริศนาของนักท่องเที่ยวสาว ต้องเร่งคลี่คลายหาตัวผู้กระทำผิดโดยเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับ และยังไม่รวมถึงผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้น ตัวเลขสะสมตั้งแต่เดือนเม.ย.จนถึง 5 ส.ค. อยู่ที่ 1,306 ราย เฉพาะนักท่องเที่ยวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ติดเชื้อ 43 ราย นำไปสู่การยกระดับมาตรการ เพื่อลดการเดินทางเข้าภูเก็ต และงดกิจกรรมต่างๆ แต่ไม่ยกเลิกโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

...

นับตั้งแต่การเปิดจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 ก.ค.-31 ก.ค. จากการรวบรวมของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 14,055 คน โดยมาจากประเทศสหรัฐฯ มากสุด 1,802 คน ตามมาด้วยอังกฤษ 1,558 คน, อิสราเอล 1,455 คน, เยอรมนี 847 คน และฝรั่งเศส 839 คน มีการจองห้องพัก รวม 190,843 คืน สร้างรายได้ 829 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 58,982 บาทต่อทริป แบ่งเป็นค่าที่พัก 282 ล้านบาท ค่าซื้อสินค้าบริการ 194 ล้านบาท ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 175 ล้านบาท บริการทางการแพทย์และสุขภาพ 124 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 54 ล้านบาท

"ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า เรื่องความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว เป็นจุดอ่อนในการพัฒนาภาคท่องเที่ยวของไทย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากที่ผ่านมาใครอยากทำป้าย หรือทำเสาไฟกินรี ก็ต่างคนต่างทำ แต่ไม่คิดในเรื่องประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยบางอย่างมีการพัฒนาสูง และบางอย่างมีการพัฒนาต่ำ ซึ่งไม่เคยพูดถึงเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง และเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาจะถูกขูดรีด ถูกเอาเปรียบจากภาคบริการ รวมทั้งร้านอาหาร โดยไม่ได้วางอย่างเป็นระบบ

“ถ้าอยากให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ประสบความสำเร็จ และมองไปถึงช่วงหลังโควิด จะต้องกลับมาคิดแบบองค์รวม ตั้งแต่นักท่องเที่ยวก้าวออกจากประเทศตัวเอง และกลับไป ต้องได้รับการสนับสนุนในเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และถามว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะไปต่อได้หรือไม่ อยู่ที่การสร้างดุลยภาพ ระหว่างช่วงโควิดระบาดและหลังโควิด เพราะโควิดไม่ได้เข้ามาแล้วหายไปเหมือนไข้หวัดสเปน อย่างน้อยต้องอยู่กับเรา 4-5 ปีขึ้นไป อาจอยู่ร่วมกับเราเหมือนไข้หวัดใหญ่ก็ได้"

...

สิ่งสำคัญอยู่ที่การฉีดวัคซีนให้กับประชากรให้ได้มากที่สุด มีส่วนทำให้สถานการณ์ในภูเก็ตไปต่อได้อีกหรือไม่ แม้ขณะนี้ฉีดวัคซีนเกือบครบ 70% ของจำนวนประชากร แต่เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน มีผลต่อการเปิดเมืองอย่างยั่งยืน หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้น ยังมีมุมไปต่อได้ ต้องลองเหมือนต่างประเทศ

ในกรณีอังกฤษใช้แอสตราเซเนกา และอิสราเอลใช้ไฟเซอร์ ผลออกมาพบว่าอิสราเอลที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ยั่งยืน ส่วนอังกฤษ ในระยะแรกเหมือนจะดี แต่เมื่อมาเจอสายพันธุ์เดลตา ก็ต้องปิดอีกครั้ง

เปิดประเทศ 120 วัน แทบเป็นไปไม่ได้ เมื่อวัคซีนมีจำกัด

หากวัคซีนไม่มีคุณภาพ ทำให้คนในจำนวน 100 คน ติดเชื้อ 1-2% นั่นหมายความว่าต่อให้ฉีดวัคซีนจนครบ 100% แล้วยังมีคนติดเชื้อ เพราะโควิดกลายพันธุ์ และหากมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ ก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ในรูปแบบของการท่องเที่ยววิถีใหม่เหมือนหลายๆ ประเทศ

...

“หัวใจสำคัญอยู่ที่วัคซีน ในกรณีเปิดประเทศ ต้องฉีดประชากรทั้งประเทศให้ได้ 60-70% แม้จะมีโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามาอีก ก็น่าจะเปิดประเทศได้แล้ว และคิดว่าควรเปิดประเทศต่อไป แต่ในรายจังหวัดสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ หากระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด แต่หากจะเปิดทั้งประเทศตามนโยบาย 120 วัน แทบเป็นไปไม่ได้ในเดือนต.ค. ต้องลุ้นปลายเดือนธ.ค.ว่าวัคซีนจะมาครบ 100 ล้านโดสหรือไม่ หากมาตามจำนวนก็ยังไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ 70% เพราะต้องใช้วัคซีนมากถึง 130 ล้านโดส ก็ต้องลุ้นในไตรมาส 4 อาจเริ่มมีวัคซีนทยอยเข้ามาทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา”

เพราะฉะนั้นประมาณ 30 ธ.ค. ต้องมาลุ้นกัน 50 ต่อ 50 ในการเปิดประเทศ แต่ระดับจังหวัดอาจทำได้ไม่ยาก เพราะประชากรน้อยกว่าในการระดมฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งรัฐต้องจัดสรรวัคซีนมาให้ ตามความต้องการในการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอล เพื่อเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป.

ผู้เขียน : ปูรณิมา