ผ่านไป 12 วัน หลังโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” นำร่องเป็นจังหวัดแรกเมื่อ 1 ก.ค. ตามนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ก่อนเดินหน้าต่อใน 9 จังหวัด เริ่มคิวต่อไป “เกาะสมุย” วันที่ 15 ก.ค.นี้ และต้องลุ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดแบบรายวัน เพื่อประเมินว่าโครงการจะได้ไปต่อหรือไม่?

ภายใต้เงื่อนไข จะต้องไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดเกิน 15 คน ต่อ 1 แสนประชากรใน 1 สัปดาห์ หรือ 90 คนต่อสัปดาห์ หรือเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ เป็นการระบาดใหม่ในพื้นที่ ซึ่งจะกระทบต่อแผนการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน และขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในภูเก็ต ยังถือว่า "เอาอยู่"

ข้อมูลจนถึงวันที่ 11 ก.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามา “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” กว่า 4 พันคน ในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด 6 ราย ถูกนำส่งกระบวนการรักษาในโรงพยาบาล และกักตัวดูอาการผู้ร่วมเดินทาง

นอกจากนี้ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดในไทย เพราะบางประเทศได้ขึ้นบัญชีประเทศไทยต้องระมัดระวังในการเดินทาง หากสามารถควบคุมได้จริง จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะหลั่งไหลเดินทางเข้ามา

...

“อรรถนพ พันธุกำเหนิด” ในฐานะผู้ประกอบการโรงแรมและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ต้องปรับตัวหลายด้านเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด กล่าวในมุมมองส่วนตัวว่า เคยเตือนเรื่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ไว้ 2-3 ครั้ง ให้ระวังกัน โดยเฉพาะเรื่องการติดเชื้อโควิด ภาวนาอย่าให้เกิด สุดท้ายเป็นอย่างที่คาดไว้ และแผนการรับมือไม่มีความชัดเจน ถ้ายังไม่รีบแก้ไข นักท่องเที่ยวจะไม่กลับมาภูเก็ตอีกนาน

“ตอนนี้ต้องรีบทำความชัดเจนว่าจะหยุดหรือไปต่อ ถ้าหยุดอาจจะเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ดีกว่าไปต่อแล้วเสียทั้งเศรษฐกิจและเสียชีวิตกัน ถึงตอนนั้นก็ต้องหยุดอยู่ดี หยุดตอนนี้จะเสียน้อยกว่า อาจมีเวลาให้พอได้แก้ตัว เพื่อเปิดเมืองแบบจริงจังในช่วงไฮซีซั่น ก่อนจะเสียหายระนาวไปมากกว่านี้ แต่ถ้าหยุดคงต้องกลับไปทำให้เชื้อเป็นศูนย์ ต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน แล้วค่อยมาวางแผนทุกอย่างใหม่ให้รัดกุมกว่าเดิม”

ในการทำให้เชื้อโควิดเป็นศูนย์นั้น คงต้อง “ล็อกดาวน์” เหมือนเดือนเม.ย. ปี 2563 เนื่องจากขณะนี้นักท่องเที่ยวในประเทศมีน้อยมาก เทียบกับก่อนหน้านี้ และที่สำคัญจะไม่มีนักท่องเที่ยวไปอีกสักพัก จนกว่าเหตุการณ์ทั้งประเทศจะดีขึ้น

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ต้องพูดถึง “แซนด์บ็อกซ์” เพราะไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวมากันมากมายตามคาด เนื่องจากเปิดแบบไม่เต็มที่ และนักท่องเที่ยวบางส่วนยังรอดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้นักท่องเที่ยวหลายคนทยอยกลับ เพราะกังวลสถานการณ์ รวมทั้งตามที่บอกคือเราบอกเปิด แต่หลายอย่างยังปิดอยู่ ทำให้ข่าวที่นำเสนอออกไปทั่วโลก เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ “แซนด์บ็อกซ์” ออกมาไม่ค่อยดี

...

จี้รัฐจัดหาวัคซีน mRNA ฉีดคนภูเก็ต สร้างความเชื่อมั่น

เขาเห็นว่ารัฐบาลควรจัดหาวัคซีนเข็ม 3 ชนิด mRNA ป้องกันการติดเชื้อได้ดี โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา นำมาฉีดกระตุ้นให้คนภูเก็ตทุกคน จะทำให้สร้างภูเก็ตโมเดลได้ก่อน แล้วรอดูค่อยทำแบบเดียวกันถ้าจะเปิดส่วนอื่น หรือคนภูเก็ตและต่างชาติที่อาศัยในภูเก็ต ช่วยกันหาวัคซีน mRNA จากประเทศที่คนเขารักภูเก็ต บริจาควัคซีนให้คนภูเก็ต จะได้ไม่เป็นข้อครหา ซึ่งคงไม่เกิน 800,000 โดส จากจำนวนประชากรและประชากรแฝง รวมทั้งแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

“ถ้าทำสองอย่างนี้ทั้งหมด คงใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน แผนเปิดประเทศช่วงไฮซีซั่น คงไม่ยาก เริ่มประมาณช่วงคริสต์มาส แต่คงได้เปิดก่อนสัก 2 เดือน เพื่อทำพีอาร์และการตลาดไปทั่วโลก สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว เปิดแล้วเปิดจริง ทุกร้าน ทุกธุรกิจเปิดหมด นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมได้เต็มที่อย่างเสรี ไม่มีกฎเยอะแยะไปบังคับ แต่ก่อนเข้ามาต้องฉีดวัคซีนและตรวจเชื้อมาก่อน และตรวจที่สนามบินอีกรอบ”

...


อีกอย่างต้องยอมรับว่าโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน มีการติดเชื้อขึ้นแน่นอน ระหว่างการเปิดทุกอย่างแบบเสรี แต่ถ้าประชาชนเกิน 80% ได้รับวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้ดีระดับหนึ่ง การติดเชื้อจะน้อยลงมาก จากการแพร่เชื้อทำได้ยาก เพราะทุกคนมีเกราะป้องกัน รวมถึงอัตราการเข้าโรงพยาบาล และอัตราการตายจะน้อยลง เพราะฉะนั้นรัฐต้องให้ความรู้ประชาชน เพื่อต้องอยู่กับโรคระบาดนี้ให้ได้ โดยไม่ตื่นตระหนก

สิ่งสำคัญ คือ การตรวจเชื้อเชิงรุกในระหว่างเปิดการท่องเที่ยวแบบเสรี รัฐต้องพยายามทำให้ประชาชนได้รับการตรวจโควิดอย่างน้อย แบบ “Rapid Antigen Test” เดือนละ 2 ครั้ง หรือ 15 วันครั้ง เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากคนปกติให้ได้เร็วที่สุด ส่วนงบประมาณในการตรวจ อาจมาจากรัฐบางส่วน หรือประชาชนและนักท่องเที่ยวเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งต้องทำโมเดลขึ้นมาพิจารณา

ในกรณีนักท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือการเดินทางข้ามจังหวัด ให้ใช้กฎเดียวกันกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม และมีใบตรวจเชื้อภายใน 14 วันก่อนเข้าภูเก็ต สำหรับแรงงานหรือชาวบ้านที่เดินทางข้ามจังหวัด มีการตรวจเชื้อให้ฟรีอยู่แล้ว ผลใช้ได้ 14 วัน แต่ทุกคนต้องฉีดวัคซีน 2 เข็มเป็นอย่างน้อยถึงจะเข้าภูเก็ตได้

...

“การจะให้ประเทศกลับมารอบนี้ ภูเก็ตโมเดล น่าจะเป็นหนูทดลองที่ดี แต่รัฐต้องวางแผนระยะยาวให้ภูเก็ตด้วย เพื่อประโยชน์จากการให้ประชาชนคนภูเก็ตเป็นคนทดลองในเรื่องนี้”

สิ่งที่รัฐควรทำควบคู่กันไป ต้องตั้งศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์ เรื่องต่างๆ ของภูเก็ตโมเดล ผ่านทางช่องทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์เป็นหลัก โดยมี 2 ภาษา ให้กับนักท่องเที่ยว และคนในท้องถิ่น เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้น และจัดสรรงบประมาณพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็น World destination สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรข้าราชการและระบบงานบริการต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานสากล เน้นการปราบปรามการทุจริต และผู้มีอิทธิพล

ส่งเสริมต่างชาติลงทุน ให้สิทธิ์วีซ่า 30 ปี ดึงดูดท่องเที่ยว

นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูเก็ตอย่างเต็มที่ เพื่อเอาเม็ดเงินเข้าประเทศให้เร็วที่สุด โดยอาจออกกฎหมายเอื้อต่อการลงทุน เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อาจเพิ่มระยะเวลาเช่าที่ดินเป็น 90 ปี หรือเป็นเจ้าของคอนโดได้ 100% ให้สิทธิ์วีซ่า 30 ปี สำหรับคนที่ลงทุนในภูเก็ตเกิน 30 ล้านบาท เป็นต้น

รวมถึงการเปิดประมูลให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว ไม่เก็บภาษีจากกำไร หากนักลงทุนต้องการเอากำไรออกนอกประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยรัฐจะได้ภาษีจากแวตและอื่นๆ อยู่แล้ว รวมทั้งเกิดการจ้างงานอีกมหาศาล

“รัฐบาลควรสร้างแบรนดิ้งในระดับโลกให้ภูเก็ต เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และนักลงทุนเข้ามา เหมือนครั้งหนึ่งเราเคยทำอเมซิ่งไทยแลนด์ ได้สำเร็จ และด้านอื่นๆ ยังมีอีกมาก แต่ถ้าทำได้ภูเก็ตจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของโลก ไม่ใช่คิดแค่จะเอานักท่องเที่ยวตอนนี้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้พ้นไป รัฐคงต้องวางแผนระยะยาว แล้วภูเก็ตจะยั่งยืน เพราะมีหลายคนพร้อมจะช่วยทำ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งคนบริหารต้องรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างจริงใจ”.