ธุรกิจโรงแรมถือเป็นธุรกิจต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 โดยได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนปีนี้
โดนคลื่นไวรัสเล่นงานตั้งแต่ ระลอกแรก สอง สาม หรือจะสี่ จนผู้ประกอบการธุรกิจนี้โรงแรมและท่องเที่ยว จมน้ำ เลิกกิจการไปแล้วมากมาย ครั้นจะหาทางออก ขอให้รัฐบาลช่วย ก็เหมือนจะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย ในวันที่กระแสข่าวว่ารัฐจะประกาศ “ล็อกดาวน์” พื้นที่สีแดง ซึ่งเธอก็ไม่ได้รู้สึกตระหนกตกใจแต่อย่างใด เหมือนกับว่าจะกลุ่มธุรกิจโรงแรมจะไม่หนักไปกว่านี้แล้ว เพราะตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยเจออะไรที่สาหัสไปกว่านี้แล้ว
"นับตั้งแต่เกิดมา รวมถึงช่วงชีวิตของคุณแม่ด้วย ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่กระทบกับการท่องเที่ยวมากมายสาหัสขนาดนี้มาก่อน ถ้ากระเป๋าไม่หนัก สายป่านไม่ยาวก็ลำบาก หรือวันหนึ่งอาจจะต้องขายโรงแรม.."
นางมาริสา ให้ความเห็นว่า ไม่ว่าจะ "ล็อกดาวน์" หรือไม่ โรงแรมของไทยก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว โดยเฉพาะมาตรการที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมาอยู่แล้ว ตั้งแต่มีคำสั่งไม่ให้มีการเสิร์ฟอาหาร ซึ่งนอกจากร้านอาหารแล้ว ยังให้ปิดห้องประชุมด้วย เวลานี้โรงแรมในพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑล ส่วนมากมีการพิจารณาการระงับให้บริการ เพราะไม่สามารถทำธุรกิจอะไรได้
...
นายกสมาคมโรงแรมไทย ยอมรับว่าสถานการณ์ว่าตอนนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อีกทั้งมีการประเมินอีกว่า ถ้าไม่ปิด จะมีผู้ติดเชื้อทะลุวันหมื่นคน เราเองกลุ่มธุรกิจโรงแรมลำบากตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นมาแล้ว แม้ตอนนั้นจะเปิดให้บริการร้านอาหาร หรือที่ประชุมได้ แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ให้บริการไม่เกิน 25%
“จะ "ล็อกดาวน์" หรือไม่ ก็ไม่มีผลอะไร เพราะมันแย่อยู่แล้ว... เพราะตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 3 เป็นต้นมา ก็เท่ากับว่าเดินมาถึงจุดต่ำสุดของธุรกิจโรงแรมแล้ว คนที่อยู่รอดจริงๆ ขึ้นอยู่กับสายป่าน หรือนักลงทุนที่มีธุรกิจอื่นช่วยพยุง แต่ถ้าเป็นโรงแรมขนาดเล็กหน่อย บอกว่า อาจจะอยู่ได้แค่อีกเดือนเดียว โรงแรมใหญ่หน่อยก็ 3 เดือน”
ตอนนี้โรงแรมล้มหายตายเจอไปเยอะไหม มาริสา ตอบว่า หายไปประมาณ 50% โดยดูจากโรงแรมที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ส่วนคนที่อยู่ได้ก็มีพนักงานไม่ถึงครึ่ง ซึ่งในจำนวนนี้ ก็ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนเต็มเดือนอย่างที่เคยจ่ายให้ด้วย โดยจะถูกลดวันทำงานลง สลับกันมาทำงาน บางโรงแรมถูกลดเงินเดือนลงครึ่งหนึ่ง
ในภาวะปกติจะมีโรงจดทะเบียนกับสมาคม 16,282 โรงแรมโดยมีพนักงานในระบบมากกว่า 860,000 คน แต่หลังจากโควิด-19 มา คิดว่ามีพนักงานตกงานมากกว่า 460,000 คน โดยออกจากระบบภาคท่องเที่ยวไปแล้ว ที่เหลืออีกประมาณ 400,000 คน ซึ่งอาจจะได้เงินเดือนไม่เต็มเดือนด้วย เช่น การลดเวลาทำงาน เพราะโรงแรมไม่มีรายได้เลย
จากข้อมูลล่าสุดที่สมาคมโรงแรมไทย ของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีตัวเลขที่น่าสนใจหลายประเด็น ดังนี้
จากการสำรวจผู้ประกอบการโรงแรม 200 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น ASQ และ Hospitel) ในเดือนมิถุนายน 2564 มีโรงแรมเพียง 41% ยังคงเปิดกิจการ ที่เหลือ 39% เปิดกิจการเป็นบางส่วน และอีกกว่า 20% ที่ยังปิดกิจการอยู่ชั่วคราว
รายได้ โรงแรม อัตรา 49% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำมาก โดยครึ่งหนึ่งของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมดยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 10 % เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้กับช่วงปกติ
อัตราการเข้าพัก เฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำมากที่ 10% แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม ที่เฉลี่ยอยู่ 6%
...
สภาพคล่อง โรงแรมส่วนใหญ่ที่ยังให้บริการอยู่ มีสภาพคล่องลดลงอีก 20% คาดว่าดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน
การจ้างงาน และพนักงานปัจจุบัน
การจ้างงานเฉลี่ยเพียง 53% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 51% (ปัจจัยอยู่ที่โรงแรมภาคใต้และอีสาน) ส่วนพนักงานปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ 47% เทียบกับเวลาปกติ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลข จาก 860,000 คน เหลือ 400,000 คน
นางมาริสา ได้อธิบายตัวเลขข้างต้นนี้ว่า บางโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน หรือแม้แต่ภาคใต้ ที่อยู่ในจังหวัดที่มีโควิดไม่มาก เขายังเปิดให้บริการอยู่ โดยหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย หรือ จัดงานประชุมสัมมนา ได้ ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ก็ได้นักท่องเที่ยวจาก "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" และคาดว่าหลังจากวันที่ 15 พังงา กระบี่ ก็อาจจะได้ตามมา แต่...ทุกอย่างเชื่อว่าจะขึ้นอยู่ที่ จำนวนวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชน
สำหรับ ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว หากดูย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2563 เฉพาะกรุงเทพฯ พบว่า มีทั้งสิ้น 133,761 ล้านบาท ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว 30% จะเป็นรายได้ที่ทางโรงแรมและที่พักได้รับ คิดเป็นเงิน 40,128 ล้านบาท 3,344 ล้านบาท/เดือน ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ถือว่าลดลงจากปีก่อน 65%
...
“หากมองภาพรวมในปี 2562 เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน เฉลี่ย เดือนละ 33 ล้านคน แต่พอปี 2563 เฉลี่ยก็แค่เดือนละหมื่นคน เรียกว่าตัวเลขน้อยจนไม่ได้นับเป็นสถิติ เรียกว่าสถิติติดลบ 99%”
อีกประเด็นสำคัญที่ นายกสมาคมโรงแรมไทย เน้นย้ำตั้งต้น และมีตัวเลขประกอบคือ การฉีดวัคซีนให้กับคนในภาคบริการธุรกิจโรงแรม
สัดส่วนพนักงานที่ได้รับวัคซีนแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 33% โดยภาคใต้มีสัดส่วนพนักงานที่ฉีดวัคซีนแล้วสูงสุดที่ 62% จากโรงแรมในภูเก็ตที่เฉลี่ยอยู่ที่ 83% เป็นสำคัญ เพื่อสอดคล้องกับแผนเตรียมการเปิด Phuket Sandbox ในเดือนกรกฎาคม 2564
"สิ่งที่กังวลคือ ถึงแม้จะล็อกดาวน์ไปแล้ว แต่หากยังไม่มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โอกาสแพร่ระบาดอีกครั้งก็ยังมี เพราะวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งพนักงานโรงแรมทั่วประเทศ ได้วัคซีน 33% มีเพียงที่ภูเก็ตที่ได้เยอะ ส่วนพัทยา หัวหิน เชียงใหม่ ยังได้ในจำนวนน้อยอยู่ ประมาณ 10%"
6 ข้อเรียกร้องสำคัญ ช่วยธุรกิจโรงแรม
สำหรับข้อเรียกร้องที่นายกสมาคมโรงแรมไทย เป็นตัวแทนปากเสียงช่วยเพื่อนร่วมธุรกิจ มี 6 ข้อหลักดังนี้
...
1.เร่งฉีดวัคซีนให้กับทุกภาคส่วนรวมไปถึงพนักงานโรงแรมทั่วประเทศ โดยยังพบว่าจังหวัดท่องเที่ยวอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้รับการวัคซีน โดยต้องฉีดให้ทั่วถึงประชากรแฝง ซึ่งหากทำได้ครอบคลุม ก็ไม่จำเป็นต้องกักตัวนาน ภาคท่องเที่ยวก็จะเดินต่อได้
“เราได้เห็นตัวอย่างแล้วว่าภูเก็ต มีคนติดน้อยมาก มีการฉีดวัคซีนมากๆ ก็จะทำให้ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้"
2.มาตรการช่วยเหลือเงินกู้และพักชำระหนี้ “ลดต้น หยุดดอก” เพื่อพยุงผู้ประกอบการจะได้ไม่ต้องขายกิจการทิ้ง แต่เอากรรมสิทธิ์ไปพักไว้ และมีโอกาสได้ซื้อคืนในภายหลัง รวมไปถึงการเข้าถึงเงินทุกดอกเบี้ยต่ำ
“บางคนอาจจะเต็มใจที่จะขายกิจการทิ้ง...แต่บางคนใช้น้ำพักน้ำแรงสร้างขึ้นมาก็ไม่อยากที่จะขาย”
3.มาตรการทางภาษี
ขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิอาจจะเกิดขึ้นในปีต่อไปอีก 5 ปี (Tax Loss Carry Forward)
ขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ต่อไปอีก 2 ปี
4.มาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า
พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย)
- ขอส่วนลดค่าไฟฟ้า 15% ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
- ขอจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง โดยยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) และยกเลิกการคิดค่าไฟฟ้าในอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ TOU Tariff On Peak : เวลา 09.00-22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์ ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้า เป็นระยะเวลาอีก 6 เดือน ถึง 1ปี
- ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระเงินค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยแบ่งชำระเป็นงวดและไม่เรียกเก็บเงินดอกเบี้ย
5 มาตรการ “ซ่อมสร้าง จ้างคน”
- โครงการสนับสนุนค่าจ้าง เพื่อพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยว อุดหนุนร้อยละ 50 ของค่าจ้างพนักงานไม่เกิน 7,500 บาท (เพดานสูงสุดของประกันสังคม เท่ากับ 15,000 บาท) ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
6. ประกันสังคมเข้าช่วยเหลือ “ลูกจ้าง” หากมีการล็อกดาวน์ หรือไม่สามารถเปิดกิจการได้
“สิ่งที่เราพยายามผลักดัน คือ มาตรการพยุงการจ้างงานโรงแรมที่เขายังเปิดบริการอยู่ ซึ่งถือว่า “กระท่อนกระแท่น” เมื่อไปคุยกับแบงก์ แบงก์บอกทำไมยังดันทุรังจ้างงาน เราเองทำงานด้วยกันก็มีความผูกพัน เราเองอยากจะช่วยเขา ไม่อยากให้เขาต้องลาออก หรือ คิดว่าวันหนึ่งอาจจะมีนักท่องเที่ยวกลับมา เราจึงหวังว่า จะมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวไทยบ้าง”
นายกสมาคมโรงแรม กล่าวต่อว่า ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งเป็นต้นทุน “พักต้น หยุดดอก” เพราะเราผู้ประกอบการ “ไม่มีรายได้เลย” เงินที่เรากู้มา ก็เอามาจ่ายเงินเดือนพนักงาน เอามาจ่ายหนี้สิน หนี้เก่า หนี้ใหม่ หรือ วันข้างหน้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็ต้องมีเงินก้อนหนึ่งไว้สำรองเพื่อใช้จ่าย จ้างพนักงานกลับมา ปัดกวาดเช็ดถู ปรับปรุงสถานที่รองรับ
“ทีแรกเราหวังว่า อาจจะมีนักท่องเที่ยวไทย จัดประชุมสัมมนาในโรงแรมต่างๆ แต่...เห็นสถานการณ์คงตอบได้เลยว่า “ยากแล้ว” ยิ่งมีข่าวว่าจะ “ล็อกดาวน์” ก็คงต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะคลี่คลาย เราหวังลึกๆ ว่า ภายในเดือนกันยายน จะสามารถจัดสัมมนาในโรงแรมได้ แต่สุดท้ายมันขึ้นอยู่ที่วัคซีน.. เพราะถ้าเรามีภูมิจากวัคซีน เราอาจจะรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับวัคซีนได้ด้วย แต่สุดท้ายจะขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐที่จะช่วยเหลือได้...” นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน