ในยุคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก มีคนเจ็บ ตาย ทุกวัน และเวลานี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

แน่นอนว่า หลายๆ อาชีพกำลังเดือดร้อน บางอาชีพเจอคำสั่งจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สั่งหยุดให้บริการ เพราะมองว่าเป็นสถานที่สุ่มเสี่ยง และหนึ่งในนั้นก็คือ “ฟิตเนส”

หนึ่ง ธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมเพาะกายฟิตเนสแห่งประเทศไทย และเจ้าของ ActLife Fitness Club กล่าวในฐานะเจ้าของธุรกิจคนหนึ่ง ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ ผมคงไปต่อไม่ไหว “ผมจะปิดกิจการแล้วครับ” จะเป็น 1 ใน 2,500 ผู้ประกอบการ จาก 5,000 ราย ที่ต้องเลิก

นายธันย์ปวัฒน์ เล่าเบื้องหลังของการทำงานว่า ในเชิงธุรกิจ เขาลงทุนไปกับ ฟิตเนส ไปแล้วกว่า 30 ล้าน ถึงแม้จะมีแค่สาขาเดียว แต่ก็ลงทุนไปมาก ใช้พื้นที่มากกว่า 1,500 ตารางเมตร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อโควิด-19 ระบาด ธุรกิจแรกๆ ที่ถูกสั่งปิดคือ “ฟิตเนส”

“ฟิตเนสโดนๆๆๆ” คุณหนึ่ง นายธันย์ปวัฒน์ พูดซ้ำๆ ด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียด

...

“ฟิตเนส คือ ธุรกิจเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ลูกค้าที่มาเล่น ก็ต่างคนต่างเล่น ไม่ได้มานั่งจับกลุ่มคุยกัน เครื่องเล่นเขาให้เว้นระยะห่าง ให้แบ่งโซน ให้ฉีดพ่นฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ เราก็ทำทั้งหมด แต่ถึงเวลา โดนปิด”

เมื่อถามว่า ผลกระทบของธุรกิจฟิตเนสในภาพรวมกระทบขนาดไหน นายธันย์ปวัฒน์ นิ่งไปสักครู่ ก่อนจะเอ่ยขึ้นว่า... “ผมเองละครับ ไม่ต้องไปหาคนอื่น ผมจะปิดกิจการแล้วครับ ผมไปไม่ไหว...มีพนักงานเกือบ 20 คน ค่าใช้จ่ายต้องจ่ายทุกเดือน ค่าเช่าพื้นที่ และอื่นๆ อีก ติดลบ 400,000 - 500,000 บาท”

จากเดิม...ก่อนจะมีสถานการณ์โควิด เรามีสมาชิกมาใช้บริการต่อวัน มากกว่า 100 คน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 40 คน และเราจะเอารายได้จากที่ไหน...

เจ้าของธุรกิจฟิตเนสขนาดใหญ่ในพื้นที่บางบอน ยอมรับว่า ทุกคนกลัว ที่จะเข้ามาเล่น คำถาม คือ ถ้าเข้ามาเล่น แต่มีการป้องกันตัวเองแค่ไหน ถ้าใส่แมสก์ เรามีเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาด

แต่สำหรับบางคน อาจจะใช้คำว่า “ไม่ได้ให้ความร่วมมือส่วนรวม” คิดซะว่าไม่เป็นไร มันก็เลยเกิดขึ้นมา

“พอเกิดขึ้น มีคนติดโควิด-19 ฟิตเนสโดนปิด เราไม่ได้เดือดร้อนคนเดียว แต่ผลกระทบมันไปถึงพนักงาน ทุกวันนี้ ผมพยายามช่วยลูกน้อง 50-70% ของเงินเดือนให้น้องๆ เพราะอย่างน้อยเขาอยู่กับเรา เขาไม่มีรายได้เลยนะครับ พ่อแม่เขาล่ะ ตัวเขาล่ะจะอยู่ยังไง ค่าเช่าหอ กิน อยู่ ถามว่าเราจะช่วยเขาทุกเดือนไหวไหม...ไม่ไหวนะครับ เราลงทุนไป 30-40 ล้าน...เราเหนื่อย” คุณหนึ่งกล่าว พลางทอดถอนใจ

คุณหนึ่ง เผยว่า ทุกๆ เดือน เราติดลบเดือนละครึ่งล้าน ร้านก็เปิดให้บริการไม่ได้ ถึงเปิดได้ก็ขาดทุน อาจจะมีคนมาใช้บริการแต่น้อยมาก ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ที่ผ่านมา ตอนนั้นยังไม่ระบาดมาก เปิดได้ จากเดิมที่มีสมาชิกมาใช้บริการวันละมากกว่า 100 คน แต่ตอนนั้นมีประมาณ 40 คน รายได้จากเดือนละ 8-9 แสนบาท เหลือประมาณแสนต้นๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ค่าไฟเดือนละเป็นแสน ค่าเช่าพื้นที่อีก

มีทางไหนจะช่วยธุรกิจฟิตเนสได้บ้าง นายธันย์ปวัฒน์ ยอมรับว่า เวลานี้คิดหนักมาก เพราะเราไม่มีเงินสด ถ้าจะเดินต่อ เราก็ไม่มีเงินแล้ว

หนึ่ง ธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต
หนึ่ง ธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต

...

เมื่อตอนโควิด-19 ระบาดรอบ 1-2 มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับภาครัฐในฐานะกรรมาธิการกีฬา ตอนนั้นมีธุรกิจฟิตเนสใหญ่ๆ สาขาเยอะๆ เข้าไปร่วมพูดคุยด้วย สิ่งที่เขาและเราขอคือการเข้าถึงเงินกู้ Soft Loan จากธนาคารรัฐ เพราะบางคนไม่มีอะไรค้ำประกัน

“เงินที่ขอกู้ ก็ไม่ได้เยอะแยะ ขอแค่ 1-2 ล้าน เพื่อเอามาใช้หมุนให้ธุรกิจมันเดินต่อได้ พอเราคุยกับภาครัฐ ภาครัฐรับเรื่อง แต่เมื่อไปคุยกับแบงก์ บอกว่า ผู้บริหารธนาคารยังไม่สั่ง เป็นแบบนี้ ก็ทำอะไรไม่ได้”

พอมาถึงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีโอกาสได้เป็นตัวแทน สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายฟิตเนสและบุคลากรผู้ฝึกสอน Personal Trainer

“เราขอให้ท่านช่วยคุยกับ ก.คลัง เพื่อประสานกับธนาคารภาครัฐ หรือ SMEs ให้หน่อย เพื่อหาแนวทางให้กลุ่มธุรกิจที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อขอเงินกู้ 1-2 ล้านบาท เพื่อมายื้อให้อยู่ได้ และผ่อนจ่ายระยะยาวได้ไหม ซึ่งพวกเราจะนำมาใช้ในช่วง 3-4 เดือนนี้ เท่าที่พูดคุย คือ ท่านรับปากว่าจะเอาเรื่องนี้ไปคุยในที่ประชุม ผมอยากจะขอร้องให้เรื่องนี้ผ่านให้ได้ เพราะถ้าไม่ผ่าน พวกผมก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน”

...

นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะให้ช่วยเหลือเชิงนโยบาย เช่น ให้ประชาชนทั่วไปมาสมัครสมาชิกฟิตเนส 1 ปี สมมติราคา 15,000 บาท ภาครัฐจะช่วยให้ไปหักภาษีได้ 3 เท่าตัว นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย นอกจากได้สุขภาพแล้ว ยังได้คืนภาษี

หรือกับ การไฟฟ้าฯ จะช่วย waive (ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม) หรือ ช่วยลด หรือ ผ่อน ได้ไหม ยกตัวอย่าง ฟิตเนสผม เสียค่าไฟเดือนละ 1 แสน เราต้องมีรายได้เท่าไร ถึงจะได้เงิน 1 แสน

“สิ่งที่ผมพูด คือ รายละเอียดที่บางคนไม่ได้มอง แต่มันคือการลดต้นทุน เพื่อให้เราสร้างให้เกิดรายได้ก่อน ถ้าทำได้เราเดินต่อได้ แต่ถ้าไม่ได้ ผมเชื่อว่า ฟิตเนส ในประเทศไทยที่มีประมาณ 5,000 แห่ง จะตายไป 2,500 แห่ง ก็คือ 50% ซึ่งผมคือ 1 ในนั้น”

ในฐานะผู้ประกอบการ ผมน้ำตาตก ณ วันนี้ไม่มีรายได้เกี่ยวกับฟิตเนสเลย บางธุรกิจอะลุ่มอล่วยเปิดได้ แต่ฟิตเนส..ไม่ได้?

“ผมขอวิงวอนให้เห็นใจ พวกผมกำลังจะจมน้ำตาย ขอเพียงหยิบยื่นห่วงยางให้สัก 1-2 ห่วง ให้พวกผมได้เกาะหน่อย และคนที่ยืนข้างหลังพวกผมจะยังมีลมหายใจต่อ”

...

ธันย์ปวัฒน์ เชื่อว่าโควิด มันอยู่กับเราตลอดชีวิต สิ่งเดียวที่ทำได้ คือพวกเราต้องมีภูมิคุ้มกัน นั่นหมายถึงต้องมีวัคซีน เราหวังว่า ถ้าวัคซีนมาทั่วถึง ทุกอย่างจะกลับมา ไม่ใช่แค่ด่านหน้าจะได้ แต่ระดับรากหญ้า คนที่เดินชนกันตลอดก็ต้องได้ด้วย เพราะคนเหล่านี้เขายังนั่งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีคำสั่งผ่อนผันให้เปิดสวนสาธารณะได้ ส่วนตัวเข้าใจว่า ส่วนสาธารณะ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศไหลผ่านสะดวก เช่นเดียวกัน ฟิตเนสบางแห่ง ก็ไม่มีแอร์

“อย่าปฏิเสธเลยนะครับว่า คนที่ไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ไม่นั่งเก้าอี้ ไม่จับอุปกรณ์ต่างๆ เป็นไปไม่ได้ แต่ในฟิตเนส ก็เช่นเดียวกัน ฟิตเนส ดูแลดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะทุกคนที่มาใช้บริการเขามีพื้นที่ของตัวเอง ผมเองเป็นแบรนด์เล็กๆ แขน-ขา เล็กๆ ถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่ มีสาขาเยอะ คนเดินเรื่องได้มากกว่านี้”

หนึ่ง ธันย์ปวัฒน์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ถ้าไม่ได้เงินกู้ Soft Loan คงอยู่ไม่ได้ ถึงเพราะแม้เวลานี้จะปิดให้บริการ แต่ค่าใช้จ่ายยังเดินตลอด เพราะหลายส่วนยังเก็บเงินเราเหมือนเดิม

“ถ้าไปต่อไม่ได้ เราก็ต้องยอม เพราะจะมามัวตีอกชกตัว ร้องขอว่า “อย่าๆ” มันก็ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ คิด ถ้า “ไปต่อ” ก็อาจจะเจ็บเรื่อยๆ “พอแค่นี้” การตัดนิ้วทิ้ง ก็อาจจะยังเหลือมือ เมื่อมีโอกาสก็อาจจะกลับมาใหม่ได้ แต่ถ้าอุ้มมันไว้ มือเราอาจจะเน่า

สิ่งเดียวที่เป็นความหวังคือ รอ วัคซีนเข้ามาเยอะๆ และให้สถานการณ์ดีขึ้น....ขอว่า อย่าเกิด “คลัสเตอร์” ที่เกี่ยวกับสุขภาพเกิดขึ้น ถ้ามี..อย่างแรกที่โดนคือ “ฟิตเนส” ซึ่งบางทีเราก็คิดนะ ถึงมันจะเกิดขึ้น ก็สั่งปิดเฉพาะจุดที่เกิดเหตุก็เพียงพอ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ