จากเหตุการณ์ ยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก (Martial Law) กลางดึกของวันที่ 3 ธ.ค. 67 ให้ทหารเข้าตรึงกำลังในพื้นที่ ก่อนที่ไม่ถึง 6 ชั่วโมงต่อมา ต้องประกาศยกเลิกเนื่องจากประชาชนชาวเกาหลีใต้ออกมาต่อต้านโดยทันที ขณะที่ ส.ส. ฝ่าวงล้อมเข้ารัฐสภา เปิดประชุมด่วนในเวลาตี 1 ลงมติคว่ำกฎอัยการศึกดังกล่าว (อ่านข่าว : สรุปไทม์ไลน์ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก ก่อนจบใน 6 ชั่วโมง)
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่จับตามองของผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่คนไทยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจนแฮชแท็ก #เกาหลีใต้ ติดเทรนด์อันดับ 1 ในเว็บไซต์ X (ทวิตเตอร์) และอดไม่ได้ที่จะนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในประเทศของเรา หลายคนก็ให้ความเห็นว่าเราจะให้เรื่องที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้นี้ จะเป็นบทเรียนเสริมสร้างประชาธิปไตยไทย และป้องกัน “รัฐประหาร” อย่างไรได้บ้าง?
หลากหลายวิวาทะ เปรียบเทียบการเมืองไทย-เกาหลีใต้
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 23.13 น. รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์แสดงความเห็นเรื่องนี้ผ่านเว็บไซต์ X ระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ไม่ใช่การรัฐประหารโดยกองทัพ แต่คือการลุอำนาจของประธานาธิบดีที่กำลังเผชิญปัญหาคอร์รัปชันและคะแนนนิยมตกต่ำ จึงฉวยใช้การประกาศกฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือ หวังว่าจะปราบฝ่ายค้าน แต่ประชาธิปไตยเกาหลีใต้เดินมาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปง่ายๆ แล้ว” ซึ่งโพสต์นี้ถูกรีโพสต์ไปเกือบ 2 หมื่นครั้ง
...
ก่อนที่ต่อมาวันที่ 4 ธ.ค. รศ.ดร.ประจักษ์ จะโพสต์ถึงเรื่องนี้อีกครั้งหลังมีการยกเลิกกฎอัยการศึก โดยยกให้เป็นบทเรียน ระบุว่า “บทเรียนจากเกาหลีใต้ ชี้ให้เห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสำคัญอย่างไร หันกลับมามองสังคมไทย เรายังอยู่ภายใต้กรงขังของรธน. 60 ซึ่งเป็นมรดกของการรัฐประหาร ของ คสช.อยู่เลย ตราบใดที่สังคมไทยไม่สามารถผลักดันให้มีรธน.ฉบับใหม่ ก็ยากที่เราจะเจริญก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งได้”
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.พรรคประชาชน ได้โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 เวลา 23.49 น. ระบุว่า “กำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ในเกาหลีใต้ ด้วยความรู้สึกชื่นชมการต่อสู้กลับของประชาชนและนักการเมือง ในการใช้กลไกสภายกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี และหวังว่ากองทัพจะทำตามกฎหมายแทนที่จะทำตามอำเภอใจของประธานาธิบดี
หากประชาชนเกาหลีใต้ปกป้องประชาธิปไตยได้สำเร็จ ชัยชนะนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศอื่น (รวมถึงไทย) ในการวางแนวทางป้องกันรัฐประหาร ซึ่งต้องดำเนินการ 2 อย่างคู่ขนาน
1. แก้กฎหมาย (เช่น รธน. / พ.ร.บ. กฎอัยการศึก) เพื่อติดอาวุธให้ประชาชนมีเครื่องมือหรือกลไกในการต่อต้านและต่อกรกับผู้ก่อรัฐประหาร
2. รณรงค์ทางความคิดให้ประชาชนและนักการเมืองทุกฝ่าย (ไม่ว่าสนับสนุนหรือสังกัดพรรคใด) มีจุดยืนร่วมกันในการออกมาปกป้องประชาธิปไตย”
เช่นเดียวกับนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคประชาชน ที่ได้โพสต์ถึงประเด็นนี้เช่นกัน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 67 เวลา 00.44 น. โดยระบุว่า “ส่งกำลังใจให้ชาวเกาหลีใต้ปกป้องประชาธิปไตยให้ได้ ผมเชื่อว่าความสำเร็จของเกาหลีใต้ต่อระบอบประชาธิปไตยจะเป็นแสงไฟอันสว่างไสวให้กับประเทศอื่น ๆ ที่จะต้องต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยกันต่อไป ทุกครั้งที่ประชาธิปไตยชนะในประเทศหนึ่ง ความสำเร็จนี้ล้วนส่งต่อหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่น ๆ ได้เสมอ
พูดถึงประเทศไทยกันบ้าง ปัจจุบันมีร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ค้างอยู่ในสภา ร่างนี้จะเป็นร่างกฎหมายที่ให้อำนาจสภาในการตีตกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของฝ่ายบริหารได้ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว ภายใน 7 วันจะต้องมาขอสภา โดยต้องชี้แจงและนำเสนอแผนต่อตัวแทนประชาชนถึงเหตุและความจำเป็นของการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว
...
ร่างกฎหมายฉบับนี้เคยถูกเสนอตั้งแต่สภาชุดที่แล้ว น่าเสียดายที่สภาชุดที่แล้วได้คว่ำร่างกฎหมายดังกล่าวลงไป ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากบทเรียนของเกาหลีใต้ถึงประเทศไทย นักการเมืองไทยจะเห็นโอกาสนี้ในการสนับสนุนให้สภาสามารถที่จะคว่ำการใช้อำนาจพิเศษใด ๆ ที่เป็นการลิดรอนหรือทำลายระบอบประชาธิปไตยลงไปได้”
ขณะที่ “ใบตองแห้ง” นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์การเมืองชื่อดัง โพสต์ถึงกรณีนี้ผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.67 เวลา 08.14 น. ระบุ “รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีประกาศกฎอัยการศึก สภายับยั้งได้ กฎหมายไทย(ไม่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ) นายกฯ ประกาศกฎอัยการศึกไม่ได้ ผบ.ทบ.ประกาศกฎอัยการศึกจับนายกฯ ถ้าจะฉวยกระแสเกาหลี แก้กฎหมายเรื่องนี้ก่อนเลย”
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามการเมืองไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.67 เวลา 08.50 น. ระบุ ประเทศไทย ประกาศกฎอัยการศึกง่าย แต่ยกเลิกกฎได้ยากมาก หลายคนทั้งรู้สึกแปลกใจ ชื่นชม และดีใจไปกับประเทศเกาหลีใต้ที่สามารถต่อต้านการล้มล้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ
...
แต่อย่าพึ่งคิดว่าโมเดลนี้จะเอามาใช้กับประเทศไทยได้ เพราะของไทยผู้ที่มีอำนาจสั่งประกาศกฎอัยการศึก คือ "ทหาร" และการจะยกเลิกประกาศได้นั้นต้องมีพระบรมราชโองการ โดยได้ยกตัวอย่างกรณี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ออกประกาศกองทัพบก เรื่อง "การประกาศใช้ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก" มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราใน พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และมีอำนาจเชิญบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่
ซึ่งตาม พ.ร.บ. นี้ ให้อำนาจกับ "ผู้บังคับบัญชาทหาร" ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่า 1 กองพัน ประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ (ดังนั้น ผบ.ทบ. ก็ประกาศใช้ทั่วประเทศได้) ซึ่งอำนาจนี้ ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลแต่อย่างไร เพียงแค่แจ้งให้ทราบหลังประกาศใช้ และการยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึก ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะต้องประกาศออกมาเป็น "พระบรมราชโองการ" ด้วย ซึ่งก็ต้องขึ้นกับว่าผู้มีอำนาจในขณะนั้นๆ จะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าขอถวายหรือไม่ ถ้าเป็นทหารคุมอำนาจอยู่ ก็คงไม่ทำง่ายๆ
“(พ.ร.บ. กฎอัยการศึก) นับว่าเป็นกฏหมายที่ปัญหามาก ทั้งในด้านความโบราณล้าหลัง และความขัดแย้งต่อระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจในการประกาศนี้ไม่ได้อยู่ในมือของผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่อยู่ในมือของ "ทหาร" ส่วนการที่ประชาชนคนไทย จะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการประกาศกฏอัยการศึกนั้น ก็คงไม่ได้เห็นง่ายๆ เช่นกัน เพราะขนาดรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ยังยอมรับการประกาศกฏ แต่โดยดี”
...