สภาพัฒน์เผย ปี 2566 แนวโน้มเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 46.5% "รถประจำทาง" เกิดอุบัติเหตุสูงสุดราว 73.0% ชี้ปัจจัยสูงสุดเกิดจากผู้ขับขี่ รถเก่า-สภาพไม่พร้อมลุยงาน แถมดัดแปลงรถไร้มาตรฐาน!
'การคมนาคม' กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจุบันการเดินทางแบ่งออกเป็น 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่ 'รถยนต์ส่วนบุคคล' และ 'รถโดยสารสาธารณะ' แม้เราจะรู้กันดีอยู่แล้วว่ารถส่วนตัวสบายมากกว่า แต่การจะซื้อและบำรุงรักษารถสักคัน ย่อมมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงพอสมควร รวมถึงการใช้รถยนต์ส่วนตัวในบางเส้นทางอาจไม่คล่องตัวเท่าไรนัก 'รถโดยสารสาธารณะ' จึงกลายเป็นระบบขนส่งมวลชนขั้นพื้นฐานที่ใครหลายคนเลือกใช้ ไม่ว่าจะในพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ชื่อว่า 'ขนส่งมวลชนขั้นพื้นฐาน' แต่เรากลับเห็นข่าวความสูญเสียจากรถโดยสารสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง มีหลายเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจ และยังคงอยู่ในความทรงจำอันเจ็บปวดของคนไทยทั้งประเทศ ด้านสภาพัฒน์รายงาน ภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ปี 2567 เรื่อง "เมื่อต้องฝากชีวิตไว้บนรถสาธารณะ" ว่า
...
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ปี 2565 พบว่า ปริมาณการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่องจำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา (8 อำเภอ) และฉะเชิงเทรา (4 อำเภอ) มีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจำนวน 968.26 ล้านคนต่อปี
รายงานวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสาร โดยกรมการขนส่งทางบก พบว่า ปีงบประมาณ 2561-2564 สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะมีแนวโน้มลดลง จนกระทั่งเข้าสู่ปีงบประมาณ 2566 กลับมีอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.5 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นรวมกว่าร้อยละ 105.2 โดยประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนสูงที่สุด ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง 73.0% รถโดยสารไม่ประจำทาง 25.0% และรถโดยสารส่วนบุคคล 2.0%
ประเด็นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ :
โดยประเด็นน่ากังวลที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะไทย มีหลัก ๆ อยู่ 2 ข้อ คือ การมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ดีเป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และการละเลยต่อความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร
การมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ดีเป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
ข้อมูลจากสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก ปี 2566 พบว่า อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านผู้ขับขี่ ปัจจัยด้านยานพาหนะ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งร้อยละ 81.1 เกิดขึ้นจากความบกพร่องของปัจจัยด้านผู้ขับขี่ ที่ทำพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น ขับรถด้วยความประมาท ขับตามหลังระยะกระชั้นชิด ขับรถเร็ว หรือขับขณะที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ
รวมไปถึง สภาพการทำงานที่ไม่ดีบนรถโดยสาร ถือเป็นอีกปัจจัยที่เสี่ยงต่อพฤติกรรมและสมรรถนะในการขับขี่ โดยผลการศึกษาจากกรมอนามัย พบว่า ผู้ปฏิบัติงานมักประสบปัญหาทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด รำคาญ เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพการจราจร รวมไปถึงพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
การละเลยต่อความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร
ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจำแนกตามลักษณะรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ปี 2566 พบว่า จำนวนรถโดยสารทุกประเภทประสบอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ซึ่งเกิดจากปัญหาใน 2 ประเด็น ได้แก่
...
(1) รถสาธารณะส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนานและมีสภาพทรุดโทรม
สำหรับข้อนี้นอกจากอายุรถจะมีการใช้งานนาน ค่าต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายบุคลากร ต่างก็ล้วนเป็นอุปสรรคในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพรถ เนื่องจากต้องเจอกับสภาวะขาดทุน!
(2) การดัดแปลงสาระสำคัญของรถที่ไม่ได้มาตรฐาน
เช่น การติดตั้งก๊าซธรรมชาติที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ซึ่งผลจากการตรวจสภาพรถของกรมการขนส่งทางบก ปี 2567 พบจำนวนรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางติดตั้งก๊าซ CNG สะสมทั้งหมด 13,426 คันทั่วประเทศ มีเพียงร้อยละ 9.9 ที่ได้รับการตรวจสภาพ ซึ่งในจำนวนนี้เกินครึ่งไม่ผ่านมาตรฐาน
ตัวอย่างเหตุการณ์ความสูญเสีย :
ตัวอย่างความสูญเสีย อันเกิดจากอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ที่เราเชื่อว่ายังคงชัดเจนในความทรงจำของคนไทยหลายคน คือ เหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษา โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เกิดไฟไหม้บริเวณถนนวิภาวดีขาเข้า เมื่อ 1 ตุลาคม 2567 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
...
หนึ่งในสาเหตุที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้ คือ 'การติดตั้งถังแก๊สเกินมาตรฐาน' ซึ่งข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก คำนวณจากผลรวมของน้ำหนักรถเปล่า น้ำหนักถัง น้ำหนักผู้โดยสาร อุปกรณ์ส่วนควบ และอุปกรณ์อื่น ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 15,000 กิโลกรัม หรือสามารถติดตั้งถังแก๊สได้ไม่เกิน 5-6 ถัง อย่างไรก็ตาม รถโดยสารไม่ประจำทางคันที่เกิดเหตุ ติดตั้งถังแก๊สไปถึง 11 ถัง โดยแต่ละถังมีน้ำหนักราว 175 กิโลกรัม
จากการตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานรถคันดังกล่าว พบว่า ในจำนวน 11 ถัง มีการจดทะเบียนถูกต้องเพียง 6 ถัง ส่วนอีก 5 ถัง ไม่ได้อยู่ในรายการจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้นการติดตั้งบางตำแหน่งยังอยู่ใกล้กับห้องผู้โดยสารและคนขับรถ ซึ่งไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่ไม่รู้จะนำพาความสูญเสียมาเมื่อไร
หลายต่อหลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ เรามักจะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมากล่าวทำนองว่า "นี่คือความสูญเสียที่เป็นบทเรียนให้ตระหนักว่าจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก" อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าคนไทยได้ยินคำพูดลักษณะนี้มาบ่อยครั้ง แต่ก็ยังเห็นภาพฉายความสูญเสียอยู่ร่ำไป การจะลดความสูญเสียอย่างยั่งยืนนั้น นอกจากต้องพึ่งพากฎหมายที่เข้มแข็ง ยังต้องพึ่งพาจิตสำนึกของผู้บริการ ไม่ให้พึงกระทำผิดอีกด้วย
...
ภาพ : iStock