อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้อ่าวไทยวิกฤติ ปะการังฟอกขาวเกือบทั้งอ่าว เผยยังมีการรายงานการฟอกขาวทุกวัน มองสถานการณ์แย่แต่ยังต้องมีหวัง แม้ช่วยรอด 1% ก็ยังดีสถานการณ์สิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไร้วี่แววว่าจะกลับมาดีได้ในเร็ววัน ยิ่งไปกว่านั้น ธรรมชาติกำลังแสดงปรากฏการณ์บางอย่าง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ให้มนุษย์ได้เห็นเป็นระยะ ราวกับจะบอกว่า โลกใกล้วิกฤติเต็มที! และเตือนให้เราตระหนักรู้ว่า 'มนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มิใช่ผู้อยู่เหนือธรรมชาติ'หนึ่งในวิกฤติธรรมชาติครั้งใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อเมษายน 2567 หลังจากที่ โนอา (NOAA) ของสหรัฐอเมริกา ออกมายืนยันว่า โลกเข้าสู่ การฟอกขาวใหญ่ของปะการัง ครั้งที่ 4 สร้างความกังวลแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี นักวิชาการไทยหลายท่านออกมายืนยันว่า ประเทศของเราก็จะหนีไม่พ้นหายนะนี้เช่นกัน ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ข่าวที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนผ่านสื่อต่างๆ ยิ่งชัดเจนว่า เป็นดั่งที่พวกเขาคาดการณ์ เพราะ 'ปะการังไทย' กำลังทยอย 'ฟอกขาว' มากขึ้น!"ปะการังในไทยรอบนี้ผมว่าวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งอ่าวไทย ที่ฟอกขาวแทบทั้งอ่าว" นั่นเป็นคำกล่าวบางส่วนของ 'นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี' อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ และยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงวิกฤติที่เป็นอยู่อ่าวไทยฟอกขาวหนัก! : อทช.ปิ่นสักก์ ระบุว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีการฟอกขาวใหญ่ทั้งหมด 3 โซน ได้แก่ โซนอันดามันตอนล่าง ตั้งแต่ภูเก็ตเป็นต้นไป โซนอ่าวไทยตอนกลาง ช่วงชุมพรไปถึงประจวบคีรีขันธ์ และ โซนอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ช่วงตราดถึงระยอง ซึ่ง 3 โซนดังกล่าว ถือว่าฟอกขาวค่อนข้างเยอะ และมีการพยากรณ์ไว้ว่า ปีนี้ฝั่งอ่าวไทยจะหนักกว่าฝั่งอันดามัน"โดยภาพรวมที่ออกมา ถือว่าอ่าวไทยหนักว่าอันดามันจริง เพราะอย่างชุมพรฟอกมาเกือบเดือน แล้วถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ปะการังก็จะเสี่ยงตาย เพราะปกติประมาณ 2 อาทิตย์ ก็แทบจะไม่รอดแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้อ่าวไทยก็มีการฟอกขาวใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะขยายวง ส่วนฝั่งอันดามันเพิ่งเริ่มฟอกได้ประมาณ 1 อาทิตย์"ทีมข่าวฯ สอบถามอธิบดีฯ ว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถเรียกว่าวิกฤติได้หรือยัง? นายปิ่นสักก์ ตอบว่า ปะการังในไทยรอบบี้ผมว่าวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งอ่าวไทย ที่ฟอกขาวแทบทั้งอ่าว ถ้าเกิดอากาศยังไม่เย็นลงสักภายใน 2 อาทิตย์ ผมว่าโอกาสที่จะตายมี 80-90% ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะมีเมฆเยอะ มีมรสุม มีฝนเข้ามา เผื่อจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น อทช.ปิ่นสักก์ กล่าวว่า "ปัญหานี้อาจจะแก้ทันทีไม่ได้ แต่เราต้องช่วยกันบรรเทา เพราะเพราะตอนนี้ที่ฟอกขาวอยู่ มันยังไม่ตายแต่เรียกว่าป่วยจากภาวะเครียด" เราถามอธิบดีต่อไปว่า ปัจจุบันยังคงได้รับรายงานเพิ่มเติมหรือไม่ ว่ามีจุดไหนที่ยังเสี่ยงฟอกขาวเพิ่มอีก?นายปิ่นสักก์ ตอบแทบจะทันทีว่า "มีทุกวันครับ" ก่อนอธิบายเสริมว่า ที่เป็นแบบนั้นเพราะอากาศยังร้อน ซึ่งตอนนี้อ่าวไทยมีปะการังแข็งเกือบทุกจุด แต่ก่อนเกาะไกลฝั่งยังไม่มีการฟอกขาว แต่ตอนนี้เกาะไกลฝั่ง เช่น เกาะโลซิน มีการสำรวจพบว่าเริ่มฟอกขาวแล้ว เพราะฉะนั้นรวมๆ แล้ว อ่าวไทยฟอกขาวเกือบทั้งอ่าว เพียงแต่ว่ามากน้อยต่างกันไป บางจุดฟอกแค่ซีด บางจุดฟอกยังไม่ตาย บางจุดฟอกจนตายแล้ว อยู่ที่ว่าจุดนั้นมีสภาพทางสมุทรศาสตร์อย่างไร หรือปะการังแข็งแรงไหม ภาพมันดูฟอกเป็นจุดๆ ก็จริง แต่ผลออกมาภาพรวมมันเยอะ ความหวังพาปะการังรอด 1% ก็ยังดี : เมื่อเราถามว่าหน่วยงานได้มีแผนดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง คำตอบของคำถามนี้ คือ ตอนนี้อุทยานบางแห่ง มีความจำเป็นต้องงดกิจกรรมที่อาจไปทำร้าย หรืออาจจะสร้างผลกระทบด้านลบต่อปะการัง เพื่อเพิ่มอัตราการรอด โดยปีนี้เรามี 3 มาตรการหลัก คือ ลด งด ช่วย"หลังจากรู้ว่าปีนี้ปะการังน่าจะฟอกขาว เราจึงมีมาตรการลดที่ร่วมกับชุมชน และภาคเอกชน เช่น ลดการใช้ครีมกันแดดที่เป็นพิษกับปะการัง หรือพยายามติดตามสถานการณ์น้ำตลอด เพื่อลดน้ำเสียที่ลงสู่ทะเล เพราะถ้าน้ำไม่ดีไปปนปะการังก็จะป่วยง่ายขึ้น และอ่อนแอลง"นายปิ่นสักก์ อธิบายต่อว่า ยกตัวอย่างอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ที่มีข่าวว่างดกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง เพราะเราต้องยอมรับว่า โดยปกติกิจกรรมดังกล่าวมีผลกระทบต่อปะการัง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น น้ำมันที่ไหลออกจากเรือ ก็เป็นเหมือนของเสียที่ไปปนกับน้ำ อาจทำให้น้ำสกปรก จนปะการังเกิดความเครียดเสี่ยงฟอกขาวเพิ่ม อุทยานเลยต้องสั่งงดนอกจากนี้ ยังมีการลดลองติดสแลนกันแดดให้ปะการังในเขตอุทยาน หรือทำสแลนกันแดดในจุดอนุบาล หรือย้ายปะการังไปโซนที่เย็นขึ้น เพราะหวังว่า จะช่วยลดปัจจัยตรงที่ทำให้ปะการังฟอกขาว เช่น อุณหภูมิ แสงแดด "จริงๆ แล้ว ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าที่เราทำมันจะดี แต่เรามีความคาดหวังว่าจะดี ซึ่งในระหว่างหวังเราก็พยายามทำให้สิ่งแวดล้อมดีด้วย เพราะปะการังเป็นสิ่งมีชีวิต เขาเหมือนมนุษย์ ที่ถ้าป่วยแล้วสภาพแวดล้อมยังแย่ก็อาจตายได้ เราได้แต่คาดหวังว่าธรรมชาติจะกลับมา ตอนนี้ทำได้เพียง ทำน้ำให้ดี ไม่มีมลพิษเพิ่มเติม"อทช.ปิ่นสักก์ ย้ำแนวทางที่ตั้งใจและตั้งมั่นว่า จากนี้ต้องประเมินผลกระทบต่อ เพื่อพยายามให้ปะการังฟื้นตัวเร็วที่สุด มิเช่นนั้นจะส่งเป็นผลกระทบแย่ต่อท้องทะเลไทย ถ้าลดได้เร็วก็คงช่วยให้การฟอกขาวลดลงได้จาก 80-90% เหลือ 50-60% หรือแม้ว่าเราจะช่วยให้รอดได้แค่ 1% ของจุดที่เกิดการฟอกขาว ก็ยังน่าจะช่วยให้การฟื้นตัวและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เป็นไปได้เร็วขึ้น ดีกว่าฟอกขาวตายจนหมดแม้ฟื้นฟูได้ แต่ยังเป็นเรื่องหนักและยาก : สำหรับการรับมือกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า หน่วยงานได้ติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่เดือนมกราคม เพราะมีข้อมูลคำเตือนจากโนอาว่า ปีนี้น่าจะเกิดการฟอกขาวใหญ่ ทางกรมฯ ได้จัดทำหน้าเว็บไซต์ที่มีหน้าติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษา และมีนักดำน้ำ นักวิชาการ ประชาชนในพื้นที่ หรืออื่นๆ ช่วยกันส่งข้อมูลมาให้เรา "เรามีแผนติดตามอยู่ตลอด ไม่เคยนิ่งนอนใจ อย่างระดับโลกถือว่าครั้งนี้ เป็นการฟอกขาวใหญ่ครั้งที่ 4 แต่ประเทศไทยเราเจอมาหลายปี และหลายรอบ ทำให้ตอนนี้เรามีคณะทำงานดำเนินการเรื่องนี้อย่างชัดเจน มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด แต่การทำงานอาจจะยากเพราะนี่ถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่มีปัจจัยทางธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง"นายปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า เรามีเทคนิคในการฟื้นฟูปะการัง ทำกันมากว่า 20 ปีแล้ว เช่น การตัดกิ่งมาขยายพันธุ์ ทั้งในห้องแล็บ ในน้ำ แพกลางน้ำ หรือ ศูนย์วิจัยต่างๆ ก็มีการวิจัยเรื่องปะการัง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟื้นฟูโดยการใช้เทคนิคอาศัยเพศ คือ การนำไข่และสเปิร์มของปะการังมาผสมกันในแล็บให้เป็นตัวอ่อน แล้วค่อยนำไปปลูก หรือการที่นักท่องเที่ยวเก็บกิ่งหักมาให้เรา เราก็เอาไปทำแพลอยกลางน้ำ อนุบาลไว้ รอนำไปปลูกซ่อมที่ปะการังเทียม หรือแหล่งปะการังอย่างไรก็ดี แม้จะมีวิธีการฟื้นฟู แต่ อทช.ปิ่นสักก์ ก็ยังแสดงความกังวลในส่วนนี้ว่า การฟื้นฟูถือเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา อย่างเก่งที่เราทำได้ก็ไม่เกินหลักร้อยไร่ ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าหนักมากแล้ว แต่หากปีนี้เราต้องเสียปะการังเป็นหมื่นไร่ ไทยจะยิ่งลำบาก เพราะในอดีตสภาพแวดล้อมดี ธรรมชาติยังฟื้นตัวเร็วอย่างน้อย 1-2 ปี แต่ตอนนี้อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปีปะการังตาย = สะเทือนทุกภาคส่วน : นายปิ่นสักก์ กล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของปะการังว่า แนวปะการังคือระบบนิเวศที่เหมือนบ้านหลังใหญ่ ถ้ายังสามารถรักษาไว้ได้ แม้จะเพียง 10-20% สัตว์น้ำที่พึ่งพิงแนวปะการังตรงนั้นก็จะอยู่รอด เราจึงพยายามไม่ให้มันตายหมด และหวังว่าจะเป็นไปได้"ถ้าหากตายหมดขึ้นมา จะเป็นเช่นไร?" เราถามกลับอทช.ปิ่นสักก์ ตอบว่า จะมีผลกระทบกับสัตว์น้ำและมนุษย์ ที่ไปใช้ประโยชน์จากแนวปะการังตรงนั้น คือ ถ้ามันตายปุ๊บเราก็จะเห็นผลกระทบทันทีว่า บริเวณนั้นจะไม่มีสัตว์น้ำเพราะไม่มีที่อยู่อาศัย หรือรายได้ของมนุษย์ก็จะหาย จุดนั้นเราไปดำน้ำไม่ได้ เพราะไม่เหลือความสวยให้น่าดำดูอีกแล้ว เหลือแต่ซากขาวๆ ที่เคยสวยงาม"ที่ผ่านมาทะเลไทยสมบูรณ์ได้ เพราะมีระบบนิเวศสำคัญที่ช่วยเพิ่มสัตว์น้ำอยู่ 3 ส่วน คือ ป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง แต่ตอนนี้ป่าชายเลนก็ลดจำนวนลงเหลือแค่ประมาณ 1.7 ล้านไร่ หญ้าทะเลปีนี้ก็ตายหลายหมื่นไร่ คราวนี้ถ้าปะการังตายอีกจะยิ่งแย่ไปใหญ่""ถ้าปะการังตายหมดจริง มันจะเริ่มกระทบกับเศรษฐกิจสังคม การท่องเที่ยวลด รายได้ประเทศลดไปด้วย คนหาปลายากขึ้น เราต้องซื้อปลาแพงขึ้น ฉะนั้น เราต้องช่วยกันทุกฝ่าย ไม่ไปซ้ำเติมให้แย่กว่าเดิม ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โลกร้อน ทุกคนได้รับผลกระทบหมด"ตัวอย่างการฟอกขาวของปะการังไทย : ทีมข่าวฯ ขอพาคุณผู้อ่านไปอัปเดตกันหน่อยดีกว่า ว่าตอนนี้สถานการณ์ปะการังไทยเป็นอย่างไรบ้าง โดย อ้างอิงข้อมูลจาก โครงการพัฒนาระบบประเมินการเกิดปะการังฟอกขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นชุดข้อมูลปรับปรุงล่าสุด วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567ฝั่งอ่าวไทยมีปะการังฟอกขาวกว่า 49 จุด จุดปะการังฟอกขาว 51-90% เช่น เกาะเต่า (อ่าวโฉลกบ้านเก่า, กลางอ่าว), เกาะคราม, เกาะง่ามน้อย, หาดเจ้าหลาวจุดปะการังฟอกขาว 11-50% เช่น เกาะเต่า (อ่าวโตนด 2 เมตร), เกาะไข่ ทิศตะวันออก, เกาะไข่ ทิศใต้, เกาะทะลุ (อ่าวมุก), เกาะผี, เกาะมันใน, เกาะมาตราจุดปะการังฟอกขาว 1-10% เช่น เกาะนมสาว, เกาะวังนอก, เกาะหมาก, เกาะหินน้ำลาย, กองหินแพ (ชุมพร)จุดที่ปะการังมีสีจาง เช่น เกาะเต่า (อ่าวเมา), เกาะเต่า (อ่าวโฉลกบ้านเก่า), เกาะแมลงป่อง, เกาะไข่ ทิศใต้, แหลมแสมสารจุดที่ไม่พบปะการังฟอกขาว ได้แก่ เกาะแมว (ปากทะเลสาบสงขลา), เกาะมัดโกง, เกาะมารวิชัย และ เกาะล้าน (หาดเกเร) ฝั่งอ่าวไทยมีปะการังฟอกขาวกว่า 22 จุด จุดปะการังฟอกขาว 51-90% เช่น เกาะกา, เกาะปิง (อุทยานแห่งชาติสิรินาถ), เกาะปู, เกาะศรีบอยาจุดปะการังฟอกขาว 11-50% เช่น เกาะโบยใหญ่, เกาะกูดูใหญ่, อ่าวน้ำเมาจุดปะการังฟอกขาว 1-10% เช่น เกาะยา, หาดหลังเขา, หมู่เกาะสุรินทร์ (อ่าวเต่า, อ่าวสุเทพ, อ่าวผักกาด)จุดที่ปะการังมีสีจาง เช่น เกาะเฮ, แหลมพันวา, หมู่เกาะสุรินทร์ (อ่าวแม่ยาย, อ่าวบอน)จุดที่ไม่พบปะการังฟอกขาว ได้แก่ เกาะแหวน, เกาะพีพีเล, เกาะรอกน้อย, เกาะราชาใหญ่ (อ่าวขอนแค), แหลมพันวา, หมู่เกาะสุรินทร์ (อ่าวสุเทพ) และ อ่าวป่าตองกราฟิก : จุฑาพันธุ์ สุขสัมพันธ์ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, iStockอ่านบทความเพิ่มเติม : ฟอกขาวครั้งใหญ่ โลกร้อนฉับพลัน ปะการังเสี่ยงสูญพันธุ์?ทะเลอุ่น! ปะการังฟอกขาว สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ สะเทือนเศรษฐกิจห่าฝนถล่มดูไบ โลกรวน ร้อน 3 เท่า วิถีอันตรายที่มนุษย์ยากหลบเลี่ยงน้ำท่วมทะเลทรายดูไบ โลกรู้อะไรบ้างจาก Climate Change