1 พ.ค.ของทุกปี ตรงกับ วันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้น 52% ภาคเหนือมีผู้สูงอายุอยู่อาศัยมากที่สุด น่าสนใจว่าแรงงานหลังเกษียณมีรายได้ลดลงจากเดิม 55% ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ต้องแบกรับภาระหนี้สะสมสูง โดยที่ยังไม่มีทางออกในระยะยาว
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า 10 ปี ที่ผ่านมาแรงงานสูงอายุไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2566 มีจำนวน 5.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 52% เมื่อเทียบปี 2556 ที่มีจำนวน 3.3 ล้านคน เมื่อพิจารณาสัดส่วนแรงงานสูงอายุ พบภาคเหนือมีสัดส่วนแรงงานสูงอายุมากสุด 18.8% รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17.1% ภาคใต้ 12.1% และภาคกลาง 8.5%
เทียบกับปี 2566 แรงงานผู้สูงอายุในภาคเหนือ มีจำนวน 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 58% จาก 0.7 ล้านคน ในปี 2556 หากเทียบแรงงานสูงอายุมากที่สุดรายจังหวัด คือ เชียงใหม่ 1.9 แสนคน, เชียงราย 1.2 แสนคน และพิษณุโลก 1.0 แสนคน
ขณะที่รายได้ของแรงงานหลังเกษียณ มีรายได้ลดลง 55% เช่นปี 2566 จากรายได้ 17,984 บาท เหลือ 9,806 บาท ทำให้มีโอกาสที่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ เห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังโควิด-19 ที่หนี้เสียของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงวัยอื่น
...
ด้านอาชีพของแรงงานสูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร เฉลี่ยมีรายได้เพียง 5,513 บาทต่อเดือน และมีสัดส่วนสูงถึง 62% ของแรงงานสูงอายุทั้งหมด ส่วนใหญ่กว่า 72% มีรายได้ไม่พอชำระหนี้ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือด้วยการยืดอายุสัญญาของสถาบันการเงินที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาระหนี้สะสมข้ามสู่วัยเกษียณ.